life

เคยรู้สึก ‘อิจฉา’ ใครมากๆ จอยากทำให้ชีวิตของคนๆ นั้นพังไม่เป็นท่าบ้างหรือเปล่า?

เราคุ้นชินกับภาพตัวร้ายในละคร ที่บางครั้งก็เรียกกันว่า ‘ตัวอิจฉา’ เพราะมักจะเป็นฝ่ายเบียดเบียน ทำลายความสงบสุข และเป็นอุปสรรคขวากหนามในชีวิตตัวอื่นตลอดเวลา จนสุดท้าย ตัวอิจฉาก็มักพบจุดจบที่ไม่ค่อยดีนัก คนส่วนมากจึงเติบโตขึ้นมาพร้อมการปลูกฝังว่าความอิจฉาริษยาเป็นสิ่งไม่ดี

คริสต์ศาสนาบัญญัติให้ ความอิจฉาริษยา (Envy) เป็นหนึ่งในมหาบาป 7 ประการ ที่พัฒนาต่อจากตะกละ (Gluttony) และโลภะ (Greed) เช่นเดียวกับอีกหลายศาสนาที่เห็นตรงกัน ว่าความอิจฉาไม่ต่างจากไฟแผดเผาใจ นอกจากทำให้เราไม่ยินดีในความสำเร็จของผู้อื่นแล้ว ยังนำไปสู่การรังเกียจตัวเอง หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นอยากทำร้ายและสร้างความเสียหายแก่คนที่ตนอิจฉา

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้นำทางศาสนา นักปรัชญา รวมถึงนักจิตวิทยาต่างมองความอิจฉาเป็นสิ่งชั่วร้ายที่มนุษย์ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ กระทั่งไม่กี่ปีให้หลังเริ่มมีผลการศึกษาบางชิ้นเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับความอิจฉา ว่า ไม่ได้มีเพียงด้านร้ายๆ ที่เป็นความรู้สึกแง่ลบคอยกัดกินใจเราจนทำร้ายทั้งตัวเองและผู้อื่นเสมอไป แต่ทุกคนอาจสามารถใช้ความอิจฉาเป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้

ดร.เดวิด ลัดเดน (David Ludden) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกัน จาก Georgia Gwinnett College สหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้สนใจศึกษาเรื่องความอิจฉาอย่างจริงจัง ได้เขียนอธิบายการค้นพบของเขาไว้ในบทความ Can Envy Ever Be a Positive Emotion? มีใจความสำคัญว่า ความรู้สึกของมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อน หากมองเพียงผิวเผินคงไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าความรู้สึกใดผิดหรือถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอารมณ์ล้วนมีสองด้านเสมอ ความอิจฉาก็เช่นกัน

ลัดเดน แบ่งความอิจฉาออกเป็น 2 ประเภท คือ ความอิจฉาแบบมุ่งร้าย (Malicious) และ ความอิจฉาที่ไม่มีพิษภัย (Benign) ทั้งสองอย่างนี้มีจุดเริ่มต้นไม่ต่างกัน คือการมองเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ เขาได้ในสิ่งที่เราไม่ได้ เขามีในสิ่งที่เราเฝ้าฝันอยากจะมีมาโดยตลอด แต่การตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ลัดเดนได้อธิบายเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างสังคมของคนทำงาน

เมื่อเพื่อนร่วมงานในบริษัทได้รับการเลื่อนขั้น และตำแหน่งนั้นคือตำแหน่งที่เราคาดหวังมาตลอด ความอิจฉาแบบมุ่งร้าย จะทำให้เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบในเชิงลบขึ้นมาทันที ความผิดหวังอาจทำให้คิดว่าเพื่อนคนนั้นไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับ หรือเขาได้มันมาด้วยวิธีสกปรก จนเกิดความรู้สึกอยากทำร้ายแย่งชิงสิ่งที่เขามีมาเป็นของตน ความอิจฉาประเภทนี้เป็นสาเหตุของความเกลียดชังอันจะนำไปสู่ความเสียหายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

ในทางตรงกันข้าม ความอิจฉาที่ไม่มีพิษภัยในมุมมองของลัดเดน คือการยอมรับอย่างยินดีและทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พยายามแทนที่ความรู้สึกไม่ดีทั้งหลายด้วยการเรียนรู้ว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้นคืออะไร เปิดใจพูดคุย ลองขอคำแนะนำจากเขาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับการพัฒนาตัวเองต่อไป

แล้วจะเปลี่ยนความอิจฉาเป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จได้อย่างไร?

ดร.กฤติ เชน (Kriti Jain) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาพฤติกรรมองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ ชาวอินเดีย จาก IE University ประเทศสเปน แนะนำวิธีเปลี่ยนความอิจฉาให้เป็นแรงผลักดันสู่ความสำเร็จไว้ดังนี้

1. ยอมรับและเคารพในตนเอง เมื่อรู้ตัวว่ากำลังอิจฉาสิ่งแรกที่ควรทำคือยอมรับและเข้าใจ อย่าคิดว่าตัวเองแย่หรือเป็นคนไม่ดี เพราะความรู้สึกอิจฉาเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน พยายามไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นแต่จงมองหาจุดเด่นในตัวเองให้เจอ เคารพในความสามารถที่มีและภูมิใจกับมัน จะทำให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น

2. ยินดีในความสำเร็จของผู้อื่นอย่างจริงใจ ลองจินตนาการว่าเราจะรู้สึกดีแค่ไหนถ้าได้ร่วมยินดีไปกับความสำเร็จของใครสักคน เปลี่ยนการจ้องมองด้วยความอิจฉาหรือความคิดน้อยเนื้อต่ำใจโกรธแค้นว่าตัวเองด้อยกว่า หันมาชื่นชมยินดีอย่างไม่มีอคติ นอกจากจะสร้างความสบายใจแล้วยังเป็นตัวช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ด้วย

3. ใช้ความสำเร็จของคนรอบข้างเป็นแรงบันดาลใจ เรียนรู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จนั้น พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ใช้ความพยายามไปมากขนาดไหน อาจเริ่มจากการสังเกต เข้าไปพูดคุยขอคำปรึกษา นำแนวทางที่ได้มาวิเคราะห์และปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง

เมื่อเรายอมรับและเรียนรู้ก็จะเข้าใจว่าความอิจฉาเป็นเพียงอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถผ่านเข้ามาทักทายได้เสมอ ความอิจฉาก็เหมือนกับไฟ จะปล่อยให้แผดเผาทำลายตัวเองหรือเปลี่ยนเป็นไฟแห่งความพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาในชีวิตก็ได้ทั้งนั้น นั่นเป็นเหตุผลที่ควรเรียนรู้วิธีควบคุมและจัดการอารมณ์นี้ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง ก็จะรู้ว่าความอิจฉาไม่ได้แย่เสมอไป

 

อ้างอิง