life

เรากำลังเก็บข้อมูลของคุณ ไม่ว่าคุณจะอ่านบทความนี้จบหรือไม่ แชร์และกดไลก์หรือเปล่า พฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของคุณก็ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเราเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนั่นคงทำให้คุณไม่สบายใจนัก

มีนิยาย หรือหนังมากมายเกี่ยวกับอนาคตในยุคดิสโทเปียที่มนุษย์ทุกคนจะถูกฝังชิปติดตามไว้ในตัว แต่ความจริงก็คือ พวกเราต่างถูกฝังชิปไว้เรียบร้อย (ด้วยความยินดีด้วยซ้ำ) เพียงแค่สิ่งนั้นเราเรียกมันว่า โทรศัพท์

ความกังวลในเรื่องของ ‘ความเป็นส่วนตัว’ (Privacy) ถูกพูดถึงและถกเถียงในวงกว้างมานานหลายปี นับตั้งแต่เราฝากเวลาในชีวิตเกินครึ่งไว้บนโลกออนไลน์ ที่ซึ่งการบริโภคและพฤติกรรมการใช้งานแต่ละครั้งจะถูกเก็บข้อมูล นำไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า Big Data สู่การแปลงค่า ประมวลผล แล้วนำมากำหนดกลยุทธ์เพื่อชักจูง จนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดของเราอีกทีในโลกของทุนนิยม ก็เหมือนที่เราสงสัยว่าแค่เสิร์ช หรือพูดกับเพื่อนว่า อยากไปเที่ยวที่ไหน อยากกินอะไร ทำไมโฆษณาที่มีความเกี่ยวข้องกับความสนใจนั้นๆ ถึงผุดมาให้เห็นบนหน้าจอโทรศัพท์ไวเหลือเกิน

คำถามคือ ถ้าเราอึดอัดใจกับภาวะเช่นนี้ มีใครช่วยเราได้บ้าง?

First Major Penalty of GDPR

ปี 2018 สหภาพยุโรปผ่านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีชื่อว่า GDPR (General Data Protection Regulation) อันมีผลให้บริษัทต่างๆ ที่มีผลิตภัณฑ์ซึ่งเชื่อมโยงกับการสอดส่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ปกป้องข้อมูล (Data Protection Officer) เพื่อทำให้มั่นใจว่าพวกเขาปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าว

กระทั่งมกราคม 2019 ก็นับเป็นครั้งแรกที่มีการเรียกค่าเสียหายภายใต้กฎหมายฉบับนี้ โดยทางการฝรั่งเศสยื่นฟ้องให้กูเกิลต้องจ่ายเงินราวๆ 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากความผิดที่กูเกิลไม่มีความโปร่งใสต่อนโยบายปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ แถมยังไม่มีการขอการยินยอม (consent) จากผู้บริโภคในการยิงสื่อโฆษณา

iOS 14

16 กันยายน 2020 Apple ปล่อยระบบปฏิบัติการใหม่ iOS 14 และดูเหมือนว่าพวกเขาจะให้ความใส่ใจกับเรื่องความปลอดภัยในความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้น โดยมีฟีเจอร์เด่นๆ ดังนี้ 

  • จำกัดการเข้าถึงรูปภาพและโลเคชั่น: ไอเดียก็คือสำหรับบางแอพพลิเคชั่นที่เรารู้สึกไม่เชื่อถือเท่าไรนัก เราสามารถจำกัดการเข้าถึงตำแหน่งที่อยู่จริงๆ ของเรา (GPS) และเปิดให้แอพเห็นแค่พื้นที่ที่เราอยู่แบบคร่าวๆ ได้ ส่วนคลังรูปภาพ เราก็สามารถเลือกได้เช่นกันว่าจะให้แอพนั้นๆ เห็นรูปภาพรูปใดของเรา โดยไม่จำเป็นต้องเห็นภาพในคลังทั้งหมด
  • ยากต่อการติดตามเมื่อต่อ Wi-Fi: iOS 14 จะแสดง MAC address ที่แตกต่างออกไปในแต่ละครั้งที่คุณเชื่อมต่อ Wi-Fi เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดูแลระบบ track คุณได้ง่ายๆ 
  • ยกเลิกการรับ cookie บน Safari: หากคุณใช้เว็บบราวเซอร์ Safari ของ iOS 14 เข้าเว็บไซต์ เว็บไซต์นั้นๆ จะไม่สามารถเก็บพฤติกรรมการใช้เว็บของคุณได้อีกต่อไป
  • สัญลักษณ์แจ้งเตือนการใช้งานต่างๆ: เพื่อความโปร่งใสเมื่อใช้แอพต่างๆ บน iOS 14 ระบบจะแสดงสัญลักษณ์แจ้งเตือน เช่น มีจุดเขียวปรากฏให้เห็นบนหน้าจอเมื่อมีการใช้กล้อง หรือจุดสีส้มเมื่อมีการใช้ไมโครโฟน
  • ตรวจได้ว่าแอพต่างๆ กำลังเก็บข้อมูลอะไรของเราบ้าง: ฟีเจอร์นี้ถูกประกาศออกมาแล้ว แต่ยังต้องรอให้ใช้งานได้จริงในการอัพเดทครั้งต่อๆ ไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มมั่นใจในเรื่องความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้น

The Future of Privacy

หลังจากโลกออนไลน์ และการบริโภคผ่านช่องทางไซเบอร์ไม่ใช่โลกที่คนธรรมดาทั่วไปควบคุมได้มานานหลายปี มันก็ดูเหมือนจะกำลังกลับมาเป็นโลกของเราอย่างแท้จริงอีกครั้ง 

การสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในความเป็นส่วนตัวจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของผู้ประกอบการต่างๆ ในอนาคต เพื่อเพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือของแบรนด์

และการเติบโตแบบก้าวกระโดดของข้อมูลอันมหาศาล ก็กำลังจะสร้างความท้าทายขนานใหญ่ในการปกป้องมันในทางเดียวกัน

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2023 ประชากรโลกจะได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสูงถึง 63% หรือมากกว่าในปัจจุบันถึง 10%

แน่ละว่า ยังมีปัญหามากมายที่เราควรกังวล เช่น อัตราขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (cybersecurity) เพราะระบบการศึกษาตามพัฒนาการอันรวดเร็วของการคุกคามความเป็นส่วนตัวไม่ทัน ซึ่งจะพุ่งสูงถึง 3.5 ล้านตำแหน่งในปี 2021 จากรายงานของ Cybercrime Magazine หรือความสามารถของเหล่าแฮกเกอร์ที่มีแต่จะสูงและซับซ้อนขึ้นจนเราป้องกันตัวเองได้อย่างลำบาก หรือการเพิกเฉยต่อความปลอดภัยของความเป็นส่วนตัวของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่ยังละเมิดสิทธิประชาชนของตัวเองอยู่เนืองๆ โดยที่ในหลายประเทศมีการประกาศแบนการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อรักษาความปลอดภัย (Encryption) ในแอพแชท เช่น WhatsApp, iMessage, Snapchat ด้วยซ้ำ อีกทั้งผลสำรวจในปลายปี 2019 จาก International Association of Privacy Professionals (IAPP) ยังเผยว่า องค์กรต่างๆ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย GDPR และมีเพียง 9% จากผลสำรวจ 370 ชุดเท่านั้นที่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ได้

กระนั้นความหวังที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าใครกำลังจ้องจะเก็บเกี่ยวข้อมูลของเราก็ยังมีอยู่ อันจะเห็นได้จากการลงทุนในเรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์ของบริษัทต่างๆ ที่ในปี 2019 เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2018

เพราะไม่ว่าเราในฐานะผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะอยากปิดบังข้อมูลของตนและอยากรักษาความเป็นส่วนตัวไว้แค่ไหน เราก็ควรมีสิทธิเพลิดเพลินไปกับการใช้อินเตอร์เน็ตของตัวเองได้ โดยในปัจจุบันได้เกิดนวัตกรรมและทางออกใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ (แม้ส่วนใหญ่แล้วแอพพลิเคชั่น หรือบริการเหล่านั้นยังเป็นแค่เวอร์ชั่นทดลอง) เช่น JedAI บริการจากอิสราเอลที่จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถติดตามการใช้งานสมาร์ตโฟนของผู้ใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปแตะต้องข้อมูลส่วนตัว 

Photo: https://figleaf.com

หรือแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ FigLeaf ที่โดดเด่นจนทะลุเข้าสู่รอบสุดท้ายของรางวัล World Changing Ideas Awards ปี 2020 ประเภทแอพพลิเคชั่นที่จัดโดย fastcompany.com ได้ โดยมันจะช่วยสร้างพาสเวิร์ดอันซับซ้อนของเราในแอคเคาท์ต่างๆ แล้วเข้ารหัสอีกครั้งเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น แถมยังช่วยจำพาสเวิร์ดยากๆ ให้ เอื้อต่อการใช้งานเว็บไซต์ที่หลากหลายได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้มันยังช่วยสแกนแอคเคาต์ที่เรามีอยู่ ว่าเกิดรูรั่วบ้างหรือไม่ได้ในทันที และที่น่าตื่นเต้นสุดๆ ก็คือ มันยังสามารถช่วยสร้างหน้ากากมาสวมทับทั้งแอคเคาท์อีเมล หรือกระทั่งบัตรเครดิตของเรา เพื่อให้การกรอกข้อมูลต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลจริงลงไปตรงๆ อีกต่อไป

“วิธีที่อินเตอร์เน็ตถูกสร้างขึ้น ทำให้คุณจำเป็นต้องมอบข้อมูลส่วนตัวให้มัน คุณไม่มีทางเลือกอื่น และนี่คือปัญหาใหญ่” ยูรีว์ ดวอยนอส (Yuriy Dvoinos) หนึ่งในผู้สร้าง FigLeaf แสดงความคิดเห็น “ในสภาพแวดล้อมที่คุณถูกสอดส่องอย่างหมดจด มันย่อมทำให้พฤติกรรมของคุณเปลี่ยนไป และถ้าเปรียบเทียบคำอุปมานี้กับโลกออนไลน์ เราจะพบว่านั่นคือโครงสร้างของโลกในตอนนี้”

ดังนั้นความมุ่งหวังในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว จึงอาจเป็นอะไรที่คล้ายกับคำประกาศถึงภารกิจของ FIgLeaf ที่ว่า

“When privacy is a choice, humanity is free.”

“เมื่อไหร่ที่ความเป็นส่วนตัวกลายเป็นตัวเลือก เมื่อนั้นมนุษยชาติจะเป็นอิสระ”

 

 

อ้างอิง