‘ชีวิตที่ดีเกิดจากความสัมพันธ์ที่ดี’
นี่คือบทสรุปจากงานวิจัยอันโด่งดังของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ใช้เวลายาวนานถึง 75 ปี ติดตามศึกษาคนกลุ่มหนึ่ง ตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยชรา เพื่อหาคำตอบว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร?
โรเบิร์ต วาลดิงเจอร์ (Robert Waldinger) หัวหน้าทีมวิจัยรุ่นที่ 4 ที่เข้ามาสานต่องานวิจัยดังกล่าว เผยข้อสรุปจากข้อมูลมหาศาลหลายหมื่นหน้า ว่าความสุขแท้จริงไม่ได้เกี่ยวกับความร่ำรวย ชื่อเสียง หรือการทำงานหนัก
แต่เกิดจาก “ความสัมพันธ์ที่ดี… ซึ่งจะช่วยให้เรามีความสุขและแข็งแรง”
คุณโรเบิร์ตเน้นว่า ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเรื่องของคุณภาพ ไม่ใช่แค่ปริมาณ
การมีคนที่ไว้ใจอย่างลึกซึ้งแม้เพียงหนึ่ง นั้นสำคัญกว่าการมีคนรู้จักนับพัน แต่ไม่รู้สึกแนบสนิทกับผู้ใด
“เมื่อเร็วๆ นี้ มีการสำรวจคนยุคมิลเลนเนียล โดยถามพวกเขาว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของพวกเขาคืออะไร” คุณโรเบิร์ตกล่าวใน TED : What makes a good life? Lessons from the longest study on happiness ที่พูดถึงงานวิจัยดังกล่าว
“มากกว่า 80% ตอบว่า ความร่ำรวย และอีก 50% บอกว่าเป้าหมายในชีวิตอีกอย่าง คือการมีชื่อเสียงโด่งดัง
“เรามักจะถูกสอนให้มุ่งไปที่งาน ทุ่มเทให้กับงาน และประสบความสำเร็จให้มากขึ้น
“เราถูกฝังหัวว่านี่คือสิ่งที่เราต้องไขว่คว้า เพื่อที่จะมีชีวิตที่ดี…”
ถึงตรงนี้ คนที่อยู่ในวัยแสวงหาที่กำลังเผชิญหน้ากับความรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข อาจรู้สึกสะกิดใจ โดยเฉพาะคนที่มีทุกสิ่ง ไม่ว่าเงิน ชื่อเสียง หรือตำแหน่งงานที่ดี
คำถามคือ ถ้าความสัมพันธ์ที่ดีคือที่มาของความสุขและชีวิตที่ดีเหมือนที่คุณโรเบิร์ตบอกไว้ เราจะเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
หนึ่งในคำตอบที่อาจดูธรรมดามากๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างยืนยันเหมือนกัน
นั่นคือ “การฟัง”
1. เป็นผู้ฟังที่ดี
ทุกคนล้วนปรารถนาที่จะได้การรับฟังและเข้าใจ แต่คนส่วนใหญ่กลับหมกหมุ่นกับการคิดถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการจะพูดต่อ มากกว่าจะฟังคนอื่นจริงๆ
วิธีที่จะช่วยให้เราเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นคือ ตั้งสติ สูดลมหายใจ แล้วเอาใจเขามาใส่ใจเรา ด้วยความรู้สึกที่ว่า เราจะเป็นผู้รับฟัง ด้วยการตั้งใจฟังคนตรงหน้าจริงๆ และจงใช้เวลากับห้วงเวลานั้น
2. ฟังแล้วถาม
วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้คนรู้ว่าเราฟัง คือเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อสาร แล้วสิ่งนั้นจะแปรเป็นคำถาม ที่สะท้อนว่าเราฟังเขาอยู่จริงๆ
วิธีถามด้วยการทวนเรื่องที่อีกฝ่ายพูด เช่น “สิ่งที่ฉันได้ยินคุณพูดคือ…” แล้วต่อด้วยคำถาม จะช่วยให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ว่า เราตั้งใจฟังเขาอยู่จริงๆ ซึ่งจะช่วยให้อีกฝ่ายอยากเปิดใจ และรู้สึกว่าเราคือคนที่เขาอยากคบหาและพูดคุย
3. ฟังมากกว่าคำพูด
เวลาที่อีกฝ่ายพูด อย่าโฟกัสเพียงแค่เนื้อหาหรือน้ำเสียงเท่านั้น ให้สังเกตสีหน้าและภาษากายด้วย เพื่อที่จะทำความเข้าใจและเชื่อมโยงกับอีกฝ่ายได้มากขึ้น
4. จดจำในสิ่งที่สำคัญ
การจดจำชื่อคนที่เราพูดคุยด้วย ถือเป็นก้าวแรกในการสานความสัมพันธ์ และเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
นอกจากชื่อ การจดจำรายละเอียดต่างๆ ของอีกฝ่าย เช่น สมาชิกครอบครัว งานอดิเรกที่ชอบ ชื่อสัตว์เลี้ยง ฯลฯ เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินต่อไป ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงการฟังอย่างสม่ำเสมอและใส่ใจ
แน่นอน ไม่มีใครจดจำรายละเอียดชีวิตของอีกฝ่ายได้ทั้งหมด (ขนาดชีวิตตัวเอง บางทียังลืม) แต่ถ้าเราใส่ใจอีกฝ่ายด้วยใจจริง
อย่างน้อยที่สุด เราจะไม่ลืมสิ่งสำคัญ ซึ่งมีไม่กี่สิ่งในชีวิตของพวกเขา
5. เปิดเผย จริงใจ ถ่อมตัว
ถึงที่สุด ไม่ว่าใครก็ตาม ต่างต้องการอยู่กับคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ นั่นคือคนที่เปิดเผย จริงใจ รวมถึงมีความถ่อมตัว ซึ่งหมายรวมถึงการไม่ขี้โอ่หรือชอบนินทาว่าร้ายผู้อื่น
แต่การจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ยั่งยืนนั้น ล้วนต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง ไม่ต่างจากการวิ่งมาราธอน
และคำเชยๆ อย่าง ‘ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน’ นี้ยังคงเป็นจริงเสมอ
กลับมาที่คุณโรเบิร์ตอีกครั้ง ในตอนท้ายของ TED คุณโรเบิร์ตยกข้อเขียนของมาร์ก ทเวน (Mark Twain) นักเขียนชาวอเมริกันชื่อดังในช่วงศตวรรษที่ 19 ปิดท้ายการบรรยาย
“หลายศตวรรษก่อน มาร์ก ทเวน ได้มองย้อนกลับไปในชีวิตของเขา และได้เขียนสิ่งนี้ครับ…
‘ชีวิตสั้นนัก จนไม่มีเวลา สำหรับการทะเลาะ
การขอโทษ การอิจฉาริษยา และการต่อว่า
มีเพียงเวลาเพื่อรัก
และจะว่าไปแล้ว ก็แสนสั้นเช่นกัน’
อ้างอิง:
- Scott Mautz. An 81-year Harvard Study Says Staying Happy and Mentally Sharp Boils Down to 1 Thing. http://bit.ly/339QLlt
- Robert Waldinger. What makes a good life? Lessons from the longest study on happiness. http://bit.ly/34czRDV
- Harvey Deutschendorf. 7 Key Habits For Building Better Relationships. http://bit.ly/2QC5zqq