ทำความรู้จักที่มาและความหมายของ “I Have A Dream” Project with Street Children แฟชั่นเซตที่ชวนเด็กไร้บ้านมาเป็นนายแบบ-นางแบบ
“I Have A Dream” Project with Street Children เป็นโปรเจคท์ที่สะกิดให้คนที่ผ่านไปผ่านมาหน้าช้อป Greyhound สยามเซ็นเตอร์และสยามพารากอน เกิดความสงสัยว่าเด็กข้างถนนทั้ง 9 คนนี้ เป็นใคร มาจากไหน
พวกเขาเป็นเด็กๆ ที่อยู่ในการดูแลของศูนย์เดอะฮับสายเด็ก (The Hub Saidek) ศูนย์พัฒนาเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชุมชนหัวลำโพง ที่วันดีคืนดี เจ้าหน้าที่สื่อสารของมูลนิธิสายเด็ก 1387 ก็ส่งข้อความไปคุยกับ บี – บดินทร์ อภิมาน Creative Director แห่ง Greyhound Original ทางอินบ็อกซ์เพจของแบรนด์ หลังเห็นแฟชั่นโชว์คอลเลกชัน Autumn Winter 2019 “Street of Bangkok” และรู้สึกว่า น่าจะเชื่อมโยงเข้ากับ ‘เด็กสตรีท’ ของมูลนิธิได้
บดินทร์ตอบรับคำชวนนี้ ด้วยการเชิญเด็กๆ ที่สมัครใจเป็นนายแบบนางแบบทั้ง 9 คน มาถ่ายแบบในคอลเลกชัน 40 ปี Greyhound เพื่อสื่อถึงแนวคิด #FromFashionToLife ที่เป็นการนำแฟชั่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของผู้คน กับอีกคอนเซ็ปต์อย่าง I Have A Dream ที่นำมาจากวาทะอมตะของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน ที่เคยลั่นประโยคนี้เอาไว้ในการปราศัยเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกอบอาชีพและอิสรภาพของพลเมือง เพื่อบ่งบอกถึงการมีสิทธิที่จะฝัน โดยไม่จำกัดสีผิว ชนชั้น และสถานะทางสังคม
หนูอยากเป็นหมอ ผมอยากเป็นทหาร ฉันอยากเป็นช่างยนต์ ผมอยากเป็นนักเต้น ฯลฯ ความฝันเหล่านี้จึงไม่มีผิด-ถูก หรือสูง-ต่ำ “ทุกคนต่างก็ต้องการเป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น เหมือนกับพวกเราทุกคน ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยกันทั้งนั้น” บดินทร์ย้ำถึงการนำความฝันของเด็กทั้ง 9 มาเล่าผ่าน 1 ประโยค โดยไม่ขุดคุ้ยดราม่าส่วนตัวมาตีแผ่ให้มากความ
ชวนเด็กมาถ่ายแบบ แล้วไงต่อ? หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยไม่ต่างกับตัวของบดินทร์เองในตอนแรก ที่กลัวว่าเขาจะเป็นเหมือนคนที่แค่ไปสร้างโรงเรียนทิ้งไว้ในถิ่นทุรกันดาร แต่กลับไม่มีครูไปสอน
“กิจกรรมแบบนี้เป็นการนำองค์กรไปสู่สังคมภายนอก” เจ้าหน้าที่มูลนิธิอธิบายความตั้งใจให้กระจ่างยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีใครเข้าไปสานต่อโครงการเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กเหล่านี้ ขอแค่พื้นที่ในการย้ำเตือนให้คนในสังคมรับรู้ถึงการมีอยู่ก็พอ
แต่อย่างน้อยที่สุด การถูกจับมาแต่งหน้า ทำผม แปลงโฉม และถ่ายรูป ก็ได้จุดประกายความมั่นใจในตัวเองให้เกิดขึ้นในเด็กบางคน อย่างสไปรท์ เจ้าของฝันอยากเป็นแดนเซอร์ ที่หลังจากถ่ายแฟชั่นเซ็ตนี้เพียงไม่กี่วัน เขาก็ขอออกจากมูลนิธิเพื่อไปไล่ตามความฝันบนเส้นทางของตัวเอง
นอกเหนือไปจากตัวเด็กทั้ง 9 คนที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง บดินทร์ยังอยากส่งสารไปถึงผู้คนที่มีโอกาสได้เห็นภาพถ่ายเซ็ตนี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่างเช่นกัน
“โปรเจคท์เพื่อการกุศลส่วนใหญ่ ถ้าไม่เอาเด็กมาทำให้ดูน่าสงสาร ก็มักจะใช้ดาราในการนำเสนอ ทั้งๆ ที่คนหน้าตาดีแบบดาราถือเป็นคนจำนวนน้อยมากในสังคม ในขณะที่เด็กๆ เหล่านี้เป็นคนที่จริงกว่า และใกล้ตัวมากกว่า แค่บางทีเราก็ปฏิเสธที่จะนึกถึงว่ามีคนเหล่านี้อยู่รอบตัว”