life

หลายครั้งที่เรามองเห็นตัวเองผ่านสายตาของคนอื่นได้ชัดเจนยิ่งกว่ายืนมองดูตัวเองหน้ากระจกเงาด้วยซ้ำ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ย้อนกลับไปในปี 1955 โจเซฟ ลุฟท์ (Joseph Luft) และ แฮร์รี อิงแกรม (Harry Ingham) สองนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้นำเสนอแนวคิดเพื่อทำความเข้าใจตัวตนของมนุษย์ พวกเขาสรุปเนื้อหาทฤษฎีทั้งหมดออกมาเป็นแผนภาพคล้ายหน้าต่างเรียกว่า The Johari Window หรือหน้าต่างของโจฮารี โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ช่อง ภายในพื้นที่เหล่านั้นคือที่อยู่ของตัวตนต่างแง่มุม ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะเลือกเปิดเผยหรือซุกซ่อน จะแสดงออกหรือต้องการปิดบัง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวิธีปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล

ต่อให้ตัวตนของมนุษย์จะยากแท้หยั่งถึงสักขนาดไหน แต่ก็พอจะทำความเข้าใจได้ด้วยหน้าต่าง 4 ช่องที่ลุฟท์และอิงแกรมสร้างขึ้นไว้ใช้อธิบายตัวตน 4 แบบ ซึ่งมีอยู่ภายในตัวทุกคน

ช่องบนซ้าย คือ open self (ทุกคนรู้)

เป็นตัวตนที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา เรารู้ตัวและตั้งใจแสดงพฤติกรรมนั้นซึ่งมีจุดประสงค์ชัดเจนให้คนอื่นเห็นและเข้าใจได้ทันที เช่น ยิ้มให้ หัวเราะเสียงดัง รวมถึงความคิดความอ่าน ทัศนคติ มุมมอง ยิ่งเรามีท่าทีเปิดกว้างต่อความเป็นตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้อื่นก็จะตอบโต้ด้วยท่าทีที่เปิดเผยเหมือนกัน ทำให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น

ช่องบนขวา คือ blind self (เราไม่รู้ แต่เขาดูออก)

เป็นพื้นที่บอด เพราะเราแสดงพฤติกรรมออกไปโดยไม่รู้ตัว แต่ผู้อื่นรับรู้ได้ เขามองเห็นตัวเราในมุมที่เราเองไม่เคยสังเกตมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นข้อเสียหรือจุดบกพร่องที่เราอาจทำผิดพลาดจากความไม่ตั้งใจและไม่ได้ตระหนักรู้ว่าตนเองได้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมลงไป เราจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อผู้อื่นเตือนหรือชี้แนะ ซึ่งต้องยอมรับและปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น หากไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง จะยิ่งสร้างปัญหาและความขัดแย้งกับผู้อื่น

ช่องล่างซ้าย คือ hidden self (เรารู้อยู่คนเดียว)

เป็นตัวตนที่เราเก็บซ่อนไว้ไม่ให้ใครล่วงรู้ มักจะเป็นความรู้สึกนึกคิดภายในใจ หรือเป็นพฤติกรรมลับที่ไม่เคยแสดงออกให้ใครเห็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า หากคนอื่นรู้เข้าจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทันที อาจสร้างความห่างเหินหรือทำให้ไม่สนิทใจจนไม่อยากรู้จักกันอีกต่อไป เช่น ในใจเกลียดชังคนนี้มาก แต่ต้องทำทีท่าว่ารู้สึกดี ภาพที่คนอื่นเห็นจึงตรงข้ามกับความจริงที่ใจคิด

ช่องล่างขวา คือ unknown self (ไม่มีใครรู้)

เป็นตัวตนที่รอการค้นพบ โดยไม่รู้ว่าจะเจอหรือไม่ และจะเจอเมื่อไหร่ แต่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อพบเจอประสบการณ์ใหม่หรือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น เราอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถหรือพรสวรรค์ด้านใดด้านหนึ่งมากๆ จนกว่าจะได้ลองทำหรือหยิบจับสิ่งนั้น นอกจากนี้ยังรวมถึงพฤติกรรมที่เราอาจแสดงออกมาภายใต้สถานการณ์คับขัน เช่น เมื่อต้องต่อสู้เอาชีวิตรอด

หน้าต่างของโจฮารีจึงยืนยันความจริงเกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์ว่า ไม่มีใครรู้จักตนเองได้อย่างถ่องแท้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นตลอดเวลา จุดนี้เองเป็นทั้งเหตุผลและความหวังที่ทำให้คนเรารู้จักปรับพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นได้เสมอ นำไปสู่เป้าหมายหลักที่ลุฟท์และอิงแกรมเสนอไว้เป็นแนวทางเพื่อพยายามขยายช่องบนซ้าย หรือ open self ให้ใหญ่ขึ้น ด้วยวิธีดังนี้

1. เปิดเผยตัวตนมากขึ้น โดยแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ และมุมมองของชีวิตกับผู้คนรอบตัว เพื่อให้เกิดความความเชื่อใจและไว้วางใจต่อกัน เพิ่มความสนิทชิดเชื้อ

2. หมั่นถามความเป็นเราจากคนที่คิดดีและหวังดีกับเรา อาจเป็นคนในครอบครัว คนรัก เพื่อนสนิท และหัวหน้างาน เพราะทำให้เรามองเห็นตัวตนในอีกแง่มุมได้ เพื่อพัฒนาส่วนที่ดี และแก้ไขส่วนที่แย่

3. สังเกตและทบทวนความสัมพันธ์ บางครั้งความเกรงใจทำให้คนอื่นเลือกไม่พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเราโดยตรง แต่เขาจะแสดงออกด้วยท่าทีที่ผิดไปจากปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้เราระวังการกระทำของตัวเองให้มากขึ้น

ท้ายที่สุดเมื่อเราขยาย open self ได้ใหญ่กว่าช่องอื่นๆ แสดงว่าเราเข้าใจตัวเอง และเข้าขึ้นตัวตนของผู้อื่น ซึ่งความเข้าใจจะคอยทำหน้าที่เป็นกาวคอยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันให้คงอยู่ไม่จางหาย แต่ถ้าหากชีวิตปราศจากความเข้าใจ ก็คงไม่อาจรักษาความสัมพันธ์ใดๆ ไว้ได้เช่นกัน

 

อ้างอิง

  • Luft, J. and Ingham, H. (1955). The Johari window, a graphic model of interpersonal awareness. Proceedings of the western training laboratory in group development. Los Angeles: University of California, Los Angeles.
  • Samuel López De Victoria. The Johari Window. https://bit.ly/33lg6eP