life

‘รักตัวเอง’ ให้ได้ก่อนจะไป ‘รักคนอื่น’

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินประโยคอันแสนคลาสสิกนี้ เมื่อเรากับเพื่อนถกเถียงกันถึงเรื่องความรักไปถึงจุดหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ต้องการจะมอบความรักให้ใครสักคน หรือไม่ก็เพิ่งประสบกับความล้มเหลวในเรื่องความรักมาหมาดๆ

ประเด็นที่น่าสนใจนั้นอยู่เบื้องลึกภายในประโยคนี้ ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ใช่ไหม ที่เราจะรักคนอื่นเป็นก็ต่อเมื่อรักตัวเองเป็นก่อน

ประโยคเงื่อนไขทำนองนี้มักจะใช้สอนใจหรือใช้ทำใจสำหรับคนที่ไม่เคยเชื่อในความรัก แต่สำหรับคนที่เคยผ่านประสบการณ์หนักๆ ในเรื่องความรักมาแล้ว ประโยคเดียวกันนี้อาจกลายเป็นบทเรียนที่ผูกมัดความคิดและทัศนคติในเรื่องความรักและความสัมพันธ์จนแทบจะดิ้นไม่หลุด พร้อมยอมจำนนให้อย่างเต็มหัวใจว่า ต่อจากนี้ไปเราจะต้องเป็นเช่นนี้เสมอ

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ความรักเป็นความรู้สึกพิเศษที่แสนจะเรียบง่าย เวลาที่เรามองความรักเป็นเรื่องซับซ้อน นั้นก็เพราะตัวเราเองปรุงแต่งความรักให้เต็มไปด้วยส่วนผสมที่รกรุงรังเกินไป ทำให้มันมีรสชาติหวานจับใจ หรือไม่ก็ขมจนฝาดลิ้นไปเลย ความรักจึงไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกอย่างที่มันควรจะเป็นอีกต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อเราจะหาทฤษฎีใดๆ หรือคำสอนใดๆ มาอธิบายความรักก็กลับแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยอื่นๆ เหล่านั้นด้วยเสมอ

ความรักของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน แล้วเราจะหาความเที่ยงแท้ของประโยคที่ว่า ‘รักตัวเองให้ได้ก่อนจะไปรักคนอื่น’ ได้มากน้อยแค่ไหน

แน่นอนว่าการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์จะช่วยไขความสงสัยในเรื่องความรักนี้ได้

แบบแรก ถ้าเราตีความคำว่ารักตัวเอง เป็นเรื่องเดียวกันกับ ‘ความภูมิใจในตัวเอง’ (self-esteem)

คนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ โดยส่วนใหญ่มักจะขาดความมั่นใจ ลามไปถึงความไม่ไว้วางใจในคนอื่น ไม่สามารถเชื่อใจใครได้ และไม่กล้าตัดสินใจอะไรจริงจังเพราะกลัวความล้มเหลว คนแบบนี้มีมุมมองต่อโลกในเชิงลบจนกลายเป็นพฤติกรรมที่บ่อนทำลายความรักให้พังลงในที่สุด

ในทางตรงกันข้าม คนที่มีความภาคภูมิใจในตนสูงเกินไปจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง บางครั้งอาจสูงเกินความเหมาะสมจนเกิดเป็นความรู้สึกว่าตนเองดีพอพร้อมที่จะเป็นผู้กำหนดรวมทั้งยุติความสัมพันธ์และความรักของตนได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

สรุปได้ว่า ทั้งคนที่รักตัวเองและไม่รักตัวเอง ในความหมายเดียวกับ self-esteem จึงล้วนสามารถล้มเหลวในความรักได้ทั้งสิ้น เพียงแต่มีรายละเอียดของเหตุผลที่แตกต่างกันเท่านั้น

แบบที่สอง รักตัวเองในความหมายว่า ‘หลงตัวเอง’ (narcissism)

ความหลงตัวเอง คือความรักตัวเองอย่างมาก มากกว่าคนอื่นใด ซึ่งจะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวตามมา เพราะมองเห็นแต่ตัวเองเป็นอันดับแรกก่อนเสมอ และมักจะพยายามเอาเปรียบผู้อื่น หวังเอาชนะในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ เพื่อทำให้ตนเองเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

ในท้ายที่สุดแล้วคนที่หลงตัวเองมากๆ ก็จะไม่มีความรู้สึกอยากหรือต้องการมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับใครได้อย่างแท้จริง และจบลงด้วยความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน โดยลักษณะบุคลิกภาพเช่นนี้ สามารถพบได้บ่อยในคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองสูง

แบบที่สาม จำกัดความคำว่ารักตัวเองเป็น ‘การยอมรับตนเอง’ (self-acceptance)

การยอมรับตัวเองในที่นี้คือการยอมรับว่าตัวเองดีพอสมควร ไม่น้อยจนจับต้องไม่ได้ และไม่มากจนเกินความพอดี การยอมรับในสิ่งที่ตนเป็นทำให้เกิดความเข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง นำไปสู่ความสามารถในการเข้าใจเห็นใจ และมีเมตตาต่อตนเอง (self-compassion) ได้

ข้อดีคือทำให้สามารถยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในทุกๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องความรัก และที่สำคัญคือพร้อมให้โอกาสตัวเองได้แก้ไขและปรับปรุงข้อผิดพลาดเหล่านั้นอีกด้วย การยอมรับตนเองจึงทำให้มีความสุขมากกว่า มีความวิตกกังวลและซึมเศร้าน้อยกว่า รวมทั้งเป็นการปรับทัศนคติให้ตัวเองเดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งในความหมายนี้คือการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนอื่นนั้นเอง

จากทั้งสามแบบ ยืนยันได้ว่าการที่เรารักตัวเองไม่สามารถการันตีหรือรับรองว่าเราจะรักคนอื่นได้ 

ดังนั้น ประโยคเงื่อนไขที่แฝงคำสอนสั่งว่าถ้ารักตัวเองเป็น ก็จะทำให้รักคนอื่นเป็นและนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มั่งคง ความรักที่ยังยืนอย่าง ‘รักตัวเองให้ได้ก่อนที่จะไปรักคนอื่น’ จึงไม่ถูกต้องทุกกรณีเสมอไป

ในความเป็นปัจเจกบุคคล ทุกคนมีความแตกต่างกันเป็นพื้นฐาน เราจึงไม่สามารถนำชุดความคิดใดความคิดหนึ่งมาสร้างกรอบให้เกิดการเหมารวมในเรื่องความรักได้

เมื่อเราทราบแล้วว่าการรักตัวเอง ไม่ได้ทำให้เรารักคนอื่นได้ (ดี) อีกข้อสงสัยที่เกิดขึ้นตามมาคือ แล้วจะมีอะไรที่ทำให้เราสามารถรักคนอื่นได้ดีเป็นความรักที่ประสบผลสำเร็จ

ดูเหมือนว่า คาริล รัสบัลต์ (Caryl Rusbult) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม มีคำตอบให้เราจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จนสามารถสรุปผลการศึกษาและพัฒนาเป็นทฤษฎีต้นแบบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ที่เรียกว่า Investment Model of Commitment Processes ซึ่งได้รับความสนใจและมีอิทธิพลอย่างมากในวงการจิตวิทยา

ทฤษฎีนี้ประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

  • ความพึงพอใจ (satisfaction) การมีความพึงพอในใจพฤติกรรมและการกระทำที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ทำให้มีความสุข และมีโอกาสที่ความรักจะยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วย
  • ทางเลือก (alternatives) ทางเลือกในที่นี้คือทางเลือกในความสัมพันธ์การมีอิสระในการเลือกอย่างเต็มที่ เช่น การตัดสินใจคบหาดูใจกับใครสักคนจะทำให้มีความรักที่ดี ซึ่งดีกว่าความสัมพันธ์ที่ไม่มีทางเลือกใดเลยต้องทนคบกันด้วยใจที่เป็นทุกข์ รอเพียงวันเลิกราที่หวังเป็นกุญแจไขประตูที่อยู่สุดปลายอุโมงค์
  • การลงทุน (investment) การลงทุนในความสัมพันธ์ ทั้งการทุ่มเททั้งกายและใจ การให้เวลาได้ใช้ร่วมกัน เป็นการลงทุนที่ไม่สามารถถอนทุนคืนได้ย่อมทำให้เกิดความผูกพันทางอารมณ์ ลดโอกาสที่เลิกรักกันได้

ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎีองค์ประกอบทั้งสามที่ครบถ้วนสมบูรณ์นี้จะนำไปสู่ความรักที่ประสบผลสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงเราต่างรู้ดีว่าทุกคนล้วนแตกต่างเหมือนกันจึงทำให้ไม่มีสูตรสำเร็จความรักใดที่จริงแท้แน่นอนเสมอไป

อย่างน้อยที่สุดก็พึงระลึกไว้ว่าประโยค ‘รักตัวเองให้ได้ก่อนที่จะไปรักคนอื่น’ ถือเป็นเพียงหนึ่งในนั้น