life

คุณรู้สึกว่าสเตตัสด่าทอลอยลมในโซเชียลมีเดียของใครบางคนอาจหมายถึงคุณ, คุณเริ่มจินตนาการว่าไม่มีใครแคร์คุณเมื่อไม่ได้รับการทักทายพูดคุยเป็นระยะเวลาหนึ่ง, คุณรู้สึกถูกตัดขาดออกจากกลุ่ม โดนเมินเฉยใส่ ต่อไม่ติด และเริ่มคิดว่าใครหลายคนไม่ชอบขี้หน้าคุณ

ฉันโดนเกลียดอยู่หรือเปล่า? 

แน่นอนว่า การเป็นมนุษย์ย่อมต้องมีทั้งคนรักและชังเป็นเรื่องธรรมดา แต่อีกแง่หนึ่ง ความรู้สึกที่ว่าทุกคนกำลังเกลียดเรา บางครั้งมันอาจมีที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า Cognitive distortions หรือ กระบวนการรับรู้อัน ‘บิดเบือน’ รูปแบบการคิดที่ขาดเหตุผลที่ส่งผลต่อการรับรู้ความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เราจะพบเจอได้บ้างบางครั้งในชีวิต

Cognitive distortions ถูกตั้งข้อสังเกตและกลายมาเป็นประเด็นพูดคุยในวงการจิตวิทยาโดย แอรอน เบค (Aaron Beck) จิตแพทย์ชาวอเมริกันในทศวรรษ 1960 และตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของ Cognitive distortions คือสิ่งที่แอรอน เบค เรียกว่า selective abstraction หรือแนวโน้มที่เรามักโฟกัสไปที่รายละเอียดอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่สนใจจะพิจารณาถึงบริบทสำคัญอื่นๆ รอบข้าง ซึ่งมักรู้จักในอีกชื่ออย่าง Mental Filter

โดยส่วนใหญ่แล้ว Cognitive distortions มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (depression) หรือคนที่ตกอยู่ในภาวะวิตกกังวล (anxiety) แต่มันก็สามารถหลอกหลอนและทำให้ทุกคนตกเป็นเหยื่อได้เช่นเดียวกัน โดยจิตแพทย์อย่าง ทิโมธี เลกก์ (Timothy J. Legg) อธิบายไว้ในเว็บไซต์เกี่ยวกับสุขภาพชื่อดังอย่าง healthline.com แบ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ที่บิดเบือนไว้ 4 สาเหตุ คือ

1.Catastrophizing – หรือความกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเราไม่ได้รับการทักทายพูดคุยกับใครสักคนเป็นระยะเวลาหนึ่ง Cognitive distortions มักทำให้กระบวนการรับรู้ของเราบกพร่อง และเริ่มคิดในแง่ลบว่าไม่มีใครสนใจในตัวเรา

2.Personalization การตัดสินเหตุการณ์บางอย่างโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น เมื่อเพื่อนมีระยะห่างจากเรา เรามักคิดว่ามันเป็นเรื่องส่วน และต้องมีบางอย่างจากตัวเราเป็นสาเหตุ ทั้งที่พวกเขาอาจมีเหตุผลอื่นๆ หรือแค่ไม่มีเวลาให้ก็เท่านั้น

3.Mind-reading – การเดาใจคนอื่นในทางลบ เช่น คนนั้นคนนี้ต้องเกลียดฉันแน่ๆ โดยไม่มีเหตุผลมาสนับสนุน ขณะที่พวกเขาก็ไม่ได้แสดงหลักฐานใดว่าเกลียดเราจริงๆ

4.All-or-nothing thinking – ความคิดสุดขั้วในด้านใดด้านหนึ่ง การแบ่งว่าโลกนี้มีแค่ขาวกับดำ ถ้าคนอื่นไม่รักหรือแคร์ฉัน เท่ากับพวกเขาเกลียดฉัน ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นตรรกะที่ผิด เราเป็นมนุษย์ และความรู้สึกของเราก็มีสเปกตรัมที่หลากหลาย การไม่รักกัน จึงไม่ได้หมายความว่าเราจะเกลียดกันเสมอไป

‘เกลียดแรกพบ’ (Hate at First Sight)

แต่แน่นอนว่า ทั้งหมดนั้น ไม่ได้ความว่า การเกลียดกันโดยไร้เหตุผล หรือการ ‘เกลียดแรกพบ’ (Hate at First Sight) ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยพูดคุยกันไม่มีจริง คุณก็อาจเคยเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกหมั่นไส้ หรือไม่ชอบขี้หน้าใครบางคนอย่างไม่ทราบสาเหตุ และก็อาจเคยเป็นฝ่ายถูกโดนเกลียดทั้งที่ไม่เคยไปทำอะไรให้พวกเขาเลย

เจซซี่ วอร์เนอร์-โคเฮน (Jessy Warner-Cohen) นักจิตวิทยาและอาจารย์จาก Hofstra University ชี้ไปยัง first impression หรือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อแรกพบ ที่เกิดจากสมองชื่อเรียกยาก 3 ส่วนด้วยกันคือ amygdala, posterior cingulate cortex และ dorsomedial prefrontal cortex ที่เป็นตัวควบคุมความรู้สึก ความทรงจำด้านอารมณ์ และเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเรา 

“ในสาระสำคัญคือ อารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำ และการตัดสินใจของคุณ มักดำเนินไปด้วยกันในอัตราเร่งที่รวดเร็ว” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกของเราที่เกิดกับใครบางคนเมื่อแรกพบนั้น เกิดขึ้นมาอย่างแทบจะเป็นอัตโนมัติจากเพียงการเห็นรูปลักษณ์ภายนอก และการที่รูปลักษณ์ภายนอก หรือพฤติกรรมแค่บางด้านของคนคนนั้นกระตุ้นให้เรานึกถึงใครบางคนในความทรงจำทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก

“ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อแรกพบ ส่วนใหญ่แล้วยืนอยู่บนฐานของการผสมผสานระหว่างการรับรู้ถึงความรู้สึกได้รับการต้อนรับ และการรับรู้ถึงความรู้สึกว่าเรากำลังถูกคุกคาม ร่วมกับประสบการณ์ส่วนตัวและภาวะของอารมณ์ ว่ามันเป็นอย่างไรระหว่างเราเจอกับคนคนนั้น”

โดย วอร์เนอร์-โคเฮน สรุปว่า

“พวกเราทุกคนมีอคติ ไม่ว่าอยากจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม และอคติเหล่านี้ก็ส่งอิทธิพลต่อกระบวนการประมวลผลข้อมูลใหม่ๆ โดยทั่วไปเราชอบที่จะยืนยันว่าข้อมูลที่เราเคยเชื่อนั้นเป็นความจริง สิ่งนี้ส่งผลอย่างมากต่อความรู้สึกเมื่อแรกพบ เมื่อเราเจอผู้คนใหม่ๆ เราจึงตัดสินผู้คนเหล่านั้นตามกับสิ่งที่เราเชื่ออยู่เดิม”

เธอหมั่นไส้ฉัน แล้วมาfollowฉันทำไม?

เรื่องของความเกลียดนั่นซับซ้อนซ่อนเงื่อน และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้ก็คือ ผู้คนมากมายแม้จะปวารณาตนเป็น hater ของใครอีกคน แต่ก็กลับยัง follow ตามติดชีวิตของคนที่ตัวเองเกลียดเป็นเงาตามตัว ที่ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า ราวกับพวกเขาคือ ‘เมน’ (Main) ของตัวเองในมุมกลับ

ทำไม?

เปกกี เคิร์น (Peggy Kern) จากศูนย์จิตวิทยาเชิงบวกแห่ง University of Melbourne อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า มันคือสิ่งเสพติด “มันทำให้เลือดของเราเดือดพล่านเมื่อเราเห็นโพสต์ของคนที่เราไม่ชอบใจ แต่เราก็ยังกลับไปส่องใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า”

และอีกหนึ่งประโยคคมๆ อย่าง “ความรู้สึกโกรธทำให้เราระลึกได้ว่า เรายังมีชีวิต” โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า บางครั้งความรู้สึกเกลียดใครบางคน ก็ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง “เรารู้สึกดีขึ้นกับตัวเองเมื่อเราตัดสินคนอื่น เช่นความรู้สึกที่ว่าอย่างน้อยฉันก็ไม่ได้แย่เหมือนคนคนนั้น”

ในเรื่องความเกลียดชังระหว่างกัน สำหรับนักเขียนอเมริกันชื่อดังอย่าง เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) เขาเคยเขียนไว้อย่างน่าพิจารณาว่า

“ผมคิดว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้คนดื้อดึงยึดติดอยู่กับความเกลียดชังก็คือ พวกเขาสัมผัสได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ความเกลียดชังหายไป พวกเขาจะถูกบังคับให้เผชิญกับความเจ็บปวด”

ทว่าอีกด้านหนึ่ง เคิร์นก็เตือนว่าการจ่อมจมกับความเกลียดชังมากเกินไปก็ส่งผลร้ายได้เหมือนกัน 

“คุณอาจลากหน้าจอมือถืออย่างรวดเร็วด้วยความรู้สึกไม่พอใจ แต่แล้วเวลาก็ผ่านไปเป็นชั่วโมงๆ โดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งนั่นกลับทำให้คุณรู้สึกเกลียดตัวเอง” 

และโดยส่วนใหญ่แล้วด้านลบของความเกลียดชัง หรือการ hate-follow เช่นนี้ ก็มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาว มากกว่าความรู้สึกดี อะดรีนาลีนหลั่งใหล จากความเกลียดชังชั่วครั้งชั่วคราว

นั่นล่ะ เราเป็นมนุษย์ และคำว่า ‘มนุษย์’ ก็ช่างซับซ้อน เมื่อเราต่างเกลียดที่จะรัก และบางคราวก็รักที่จะเกลียด

 

อ้างอิง

  • Timothy J. Legg. How to Cope When You Feel Like Everyone Hates You. https://bit.ly/3tGk7qc
  • Matthew Whalley. Cognitive Distortions: Unhelpful Thinking Habits. https://bit.ly/3tFZsT2
  • Joseph Lamour. Why you instantly dislike certain people. https://bit.ly/3jEbo3a
  • Kellie Scott. Why do we hate-follow people on social media?. https://ab.co/3tF6mbc