life

เสียดาย’ เป็นคำหนึ่งที่เปรียบเหมือนใบมีดล่องหน มันทั้งบาดและเสียดแทงใจตลอดเวลาที่ยังรู้สึกหรือนึกถึง คอยสร้างแผลสดที่ไม่มีวันแห้งตกสะเก็ด

แม้เวลาผ่านมานานเท่าไหร่ แต่กับบางเรื่องหรือบางเหตุการณ์ในอดีตที่เราคิดเสียดาย เพราะไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขอะไรให้ดีขึ้น กลายเป็นสิ่งค้างคาอยู่ในสำนึก ซึ่งไม่อาจสลัดทิ้งหรือลบเลือนให้หายไปจากใจได้โดยง่าย ซ้ำร้าย สิ่งเหล่านั้นที่เราเสียดายยังทำร้ายใจให้รู้สึกเศร้าหรือถึงขั้นโกรธเกลียดตัวเองทุกครั้งที่หวนคิดถึงเรื่องราวในวันวาน

แล้วคุณล่ะ มีเรื่องที่ติดค้างอยู่ในใจชวนให้ ‘เสียดาย’ หรือเปล่า?

อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เสียใจ เพราะรู้สึกผิดกับสิ่งที่คิด ทำ และพูดออกไปในตอนนั้น อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับความใฝ่ฝัน ความต้องการปรารถนาที่ยังไม่เคยทำ หรือไม่มีโอกาสได้ลงมือทำให้สำเร็จเสร็จสิ้น เรื่องค้างคาใจทั้งหมดนี้เรียกอย่างรวมๆ ว่า Unfinished Business หรือกิจธุระที่คั่งค้างไว้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่กระทบกระเทือนความรู้สึกและความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่คอยกระตุ้นเร้าให้เราตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อผ่อนคลายความคับข้องใจให้บางเบาลง

เดิมทีแนวคิดเรื่อง Unfinished Business เริ่มต้นมาจากกลุ่มจิตวิทยาเกสตัลท์ (Gestalt Psychology) ในประเทศเยอรมนี โดยคำว่า gestalt สื่อความหมายถึงรูปร่างหรือรูปแบบ เพราะให้ความสนใจเรื่องการรับรู้ภาพรวมใหญ่หรือส่วนประกอบย่อยในแต่ละเหตุการณ์ ซึ่งมองได้สองนัยหรือมากกว่าหนึ่งมุมมอง ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับปัจจุบันเพราะกำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ตรงหน้า ไม่ใช่อดีตที่ผ่านพ้นและจบลงไปแล้ว ไม่ใช่อนาคตซึ่งเป็นเพียงการคาดเดาถึงสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ดังนั้น กลุ่มจิตวิทยาเกสตัลท์จึงมองธรรมชาติของมนุษย์ว่า เป็นผลรวมจากประสบการณ์ ความคิด อารมณ์ และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและเรารับรู้ได้ โดยมนุษย์เป็นอิสระจากอดีตเพื่อมีชีวิตอยู่กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละคนมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร และจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองเลือก ส่วน Unfinished Business จะกลายเป็นปัญหา ความผิดพลาด หรืออุปสรรคที่เข้ามาแทรกแซงไม่ให้เราใช้ชีวิต ณ ปัจจุบันได้อย่างราบรื่นตามที่ใจต้องการ Unfinished Business

โดยทั่วไป คำว่า Unfinished Business ใช้จำกัดความถึงประสบการณ์ติดค้างใจ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นมานาน แล้วไม่ได้รับการตอบสนองหรือจัดการให้จบสมบูรณ์ ในอีกแง่หนึ่ง จึงคล้ายกับเป็นปมเชืองผูกมัดเราไว้ พันธนาการไม่ให้ก้าวพ้นความรู้สึกผิด เช่น ทะเลาะกับเพื่อนสนิท ผิดใจกับแฟนที่เคยรักกันมากๆ ทำไม่ดีกับใครบางคนทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่สมควรทำ หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่สร้างรอยเร้าในใจถึงขั้นเป็นสาเหตุให้ยุติความสัมพันธ์ลง

แต่ความน่าเสียใจที่ทำให้ Unfinished Business กลายเป็นประสบการณ์ที่แสนเจ็บปวดของชีวิตใครหลายคน คือความจริงที่ได้รับรู้ว่า ในชั่วชีวิตนี้เราไม่มีโอกาสคลายปมเชือกนั้นอีกแล้ว เพราะการสูญเสียจากความตายได้พรากคนที่เราเคยผิดใจกันไปอย่างไม่มีวันคืนกลับได้ดังเดิม ไม่ได้เจอกันอีกแล้ว ไม่มีใครอยู่ให้เรากล่าวขอโทษและปรับความเข้าใจที่ดีต่อกันอีก แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่สิ่งเดียวที่ทำได้คือทำใจยอมรับความจริง

เช่นเดียวกับความใฝ่ฝันหรือความต้องการบางอย่างที่ยังทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ เพราะเงื่อนไขในชีวิตไม่เอื้ออำนวยหรือสนับสนุน เรื่องทำนองนี้มักทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่บ่อยครั้ง ต่อให้พับเก็บความฝันนั้นไปแล้ว แต่ตราบใดที่เคยเป็นความปรารถนาในใจ ย่อมไม่มีทางที่สิ่งเหล่านี้จะหายไปจากความคิดหรือความจำ ถึงแม้จะเป็นเพียงเรื่องทั่วไปที่ถูกมองว่าเล็กน้อยอย่าง อยากกินไก่ทอดร้านดัง หรืออยากไปทะเลสักครั้งในชีวิตก็ตาม

หนึ่งในคำแนะนำที่ดีที่สุดจึงเป็นการแก้ไขเหตุการณ์ค้างคาใจที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ระบายความรู้สึกและสิ่งที่ค้างคาใจออกมาผ่านวิธีการต่างๆ ได้ทั้งพูดคุยและเขียน แต่ถ้าทำเช่นนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ควรปลอยวางเพื่อให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตโดยไม่กล่าวโทษตัวเองซ้ำสอง รู้จักให้อภัยทุกคนในเหตุการณ์นั้น รวมถึงให้อภัยตัวเอง เปลี่ยนเป็น Finished Business ในฐานะบทเรียนสำคัญในชีวิต ซึ่งจะคอยทำหน้าที่เตือนใจเราให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง

แม้เจ็บปวด แต่อดีตเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด จึงเป็นหนทางสำคัญที่เป็นหลักประกันได้ว่า ในอนาคตเราจะไม่มีคำว่า ‘เสียดาย’

 

อ้างอิง 

  • Dave Mann. (2010). Gestalt Therapy: 100 Key Points and Techniques. Routledge/Taylor & Francis Group.