อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) จำไม่ได้ว่าเธอมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 คริสตี้คือนักเขียนนิยายแนวสอบสวนสืบสวนชาวอังกฤษคนสำคัญ แต่อยู่ๆ ระหว่างโด่งดังสุดขีดอยู่นั้น ในเดือนธันวาคมปี 1926 เธอก็หายตัวไปอย่างลึกลับ ตำรวจกว่าพันนาย อาสาสมัครอีกราวหนึ่งหมื่นห้าพันคน และเครื่องบินอีกหลายลำร่วมกันค้นหาเธอตามพื้นที่ห่างไกลต่างๆ การหายตัวไปของคริสตี้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งใน The New York Times กระนั้นก็ไม่มีใครพบเธอจนกระทั่ง 10 วันให้หลัง
คริสตี้ถูกพบในสภาพหลงๆ ลืมๆ ในโรงแรมแห่งหนึ่งของเมืองฮาร์โรเกต ประเทศอังกฤษ ขณะเธอแจ้งชื่อเข้าพักด้วยชื่อ เทราซา นีลี (Teresa Neele) ซึ่งเป็นนามสกุลของชู้รักของสามีตน
หมอหลายคนได้ตรวจอาการของเธอ และอธิบายว่าเธอได้สูญเสียความทรงจำระยะสั้นจากผลกระทบของโรคซึมเศร้าที่เธอเคยเผชิญมาก่อนหน้า
คริสตี้ไม่ได้อธิบายว่าเธอไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร—จุดที่เหมือนชีวิตของเธอระเบิดออก สติสัมปชัญญะตกร่องขาดหาย หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า มันอาจเกิดขึ้นจากความเศร้าและความเครียด เพราะในช่วงนั้นสามีของเธอ พันเอกอาร์ชี คริสตี้ (Archie Christie) กำลังขอเธอหย่าขาด และในคืนที่เธอหายตัวไป สามีของเธอก็กำลังออกไปหาชู้รัก ที่มีนามสกุลว่า ‘นีลี’ ซึ่งคริสตี้หยิบมาใช้เป็นชื่อเข้าพักในโรงแรมที่เธอถูกพบในอีก 10 วันหลังจากนั้น ส่วนคนอีกกลุ่มก็คิดว่านั่นคือวิธีโปรโมตนิยายของเธอ
ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คริสตี้ไม่ได้บอกใครว่าเธอไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ Agatha Christie: An Autobiography เธอกล่าวถึงชีวิตแต่งงานอันล้มเหลวไว้แค่ประโยคสั้นๆ ว่า “ไม่มีความจำเป็นใดที่จะเอ่ยถึง” ด้วยซ้ำ
แต่สำหรับคนธรรมดาที่กำลังเคลื่อนทะยานไปสู่วินาทีข้างหน้าอยู่เสมอ การหยุดชะงัก เพื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเสียบ้าง และถามว่า “เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร?” ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควรละเลย เพราะการเดินทางมาสู่จุดที่เรารู้สึกไม่โอเคจนอยากลบเลือนเหตุการณ์ในอดีตที่เคยผิดพลาดยังไม่ใช่จุดจบ ในทางตรงข้าม การคิดเช่นนั้นก็กลับยิ่งขัดขวางหนทางที่อาจดูสดใสขึ้นได้ในอนาคต
แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) นักจิตวิทยาและนักเขียนชาวอเมริกันเคยพูดบนเวที Ted Talks ในหัวข้อ The psychology of your future self ไว้ว่า
“ชีวิตมนุษย์คือกระบวนการที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเราเข้าใจผิดไปว่ามันเสร็จสิ้นแล้ว ตัวตนที่คุณเป็น ณ ตอนนี้ เป็นสิ่งชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว พอๆ กับตัวตนชั่วคราวที่คุณเคยเป็นมาก่อนหน้า สิ่งที่คงที่แน่นอนในชีวิตนี้ นั่นก็คือความเปลี่ยนแปลง”
นักจิตวิทยาอีกคนอย่าง จูเลียนา เบรนส์ (Juliana Breines) บอกว่า มันมีเหตุผลดีๆ มากมายที่เราควรพิจารณาเส้นทางในอดีตกว่าที่เราจะเดินทางมาถึงจุดนี้ เช่น มันสามารถยกระดับอารมณ์ของเราได้ แค่เพียงเปลี่ยนมุมมองและถามว่า เราได้รับอะไรจากอดีตมาบ้าง แทนที่จะถามว่าเราเสียอะไรไป หรือผลวิจัยที่ยืนยันว่า การมองกลับไปข้างหลังมันไม่ได้ทำให้เราติดค้างอยู่ในอดีต แต่กลับทำให้เรามองอนาคตอย่างมีหวังมากขึ้นต่างหาก
ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่กิลเบิร์ตบอกว่า “เวลาเป็นพลังที่ทรงอำนาจ มันเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่เราพึงพอใจ มันเปลี่ยนคุณค่าต่างๆ ที่เรายึดถือ มันเปลี่ยนบุคลิกภาพด้านต่างๆ ของเรา… …มันเป็นจุดผกผันของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น มันเป็นช่วงเวลาที่พวกเรา ได้กลายเป็นตัวของตัวเองในที่สุด”
ก็เหมือนเรื่องการหายตัวไปอย่างลึกลับของอกาธา คริสตี้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเธอลืมจริง หรือแกล้งลืมว่าเธอไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร แต่หากเธอไม่ถามคำถามที่ว่า “เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร?” เสียเลย เธอก็คงไม่สามารถมูฟออนจากชีวิตแต่งงานอันพังภินท์ และแต่งงานครั้งใหม่กับนักโบราณคดีนาม เซอร์แม็กซ์ มาล์โลวาน (Max Mallowan) ซึ่งจากหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เธอก็ค่อนข้างใช้ชีวิตแต่งงานครั้งที่ 2 อย่างมีความสุข จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1976
แล้วคุณล่ะ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
อ้างอิง
- abc7.com. 5 incredible stories of people with memory disorders. https://bit.ly/3nhCDlg
- englishforpsychology.eu. The Mysterious Disappearance — podcast. https://bit.ly/3ixrbOM
- Juliana Breines. 5 Surprising Reasons You Should Look Back on Your Past. https://bit.ly/33vn6GM
- Dan Gilbert. The psychology of your future self. https://bit.ly/3iuhvVy
- Domagoj Valjak. Agatha Christie disappeared for ten days in 1926. https://bit.ly/3jxFdl2