life

อะไร อะไร คือ อะไร ? 

อะไร อะไร (Arai Arai) เป็นชื่อของตึกแถวย่านวงเวียน 22 ที่ด้านในมีทั้งคาเฟ่ ร้านหนังสือ เป็นทั้งออฟฟิศ เป็นที่พักสายตาไว้งีบหลับ บางคืนเปลี่ยนเป็นบาร์ บางวันก็มีวงสนทนาที่ออกรสจนคนไม่อยากกลับบ้าน ถ้าจะตอบว่าอะไรอะไรคืออะไร ก็คงเป็นอะไรก็ได้

บ้าน ออฟฟิศ โรงเรียน ไม่ว่าสถานที่ไหนก็มีหน้าที่ของมัน เราไปเรียนที่โรงเรียน นอนหลับอย่างสบายใจที่บ้าน ตื่นไปทำงานหลังขดหลังแข็งที่ออฟฟิศ แม้จะมีสถานที่มากมายที่เราไปเยือนไปหนึ่งวัน แต่สำหรับบางคนก็ดูเหมือนว่าจะยังขาดอะไรไป นั่นเป็นเหตุผลที่ต้องมี ‘อะไร อะไร’ ขึ้นมา

โปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ เต – เตชิต จิโรภาสโกศล และ ชาติ – สิรภพ ขำอาจ ที่อยากให้มีพื้นแบบหนึ่งที่เขาตามหา ที่ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่คาเฟ่ ไม่เคยถูกนิยามว่าเป็นอะไร แต่คล้ายๆ กับ ‘บ้าน’ ที่ถูกยกมาไว้กลางเมือง เป็นคาเฟ่ที่นั่งได้นานๆ เป็นร้านหนังสือที่เหมือนห้องสมุด เป็นเหมือนบ้านเพื่อนสนิทที่แวะเวียนมาเมื่อไหร่ก็ได้

“ที่ทำงานของเราตั้งอยู่ในเมืองเก่าแถวๆ นั้น แต่บ้านพวกเราอยู่ไกล บ้านชาติอยู่พุทธมณฑลบ้านผมอยู่ลาดพร้าว ผมอยากมีที่ที่มานั่งพักได้ อยากเช่าตึกไว้นอนเพราะบ้านไกล เดินทางลำบาก เลยชวนเพื่อนมาช่วยกันเติมตึกให้เต็ม” เตบอกกับเรา

เต (ซ้าย) และ ชาติ (ขวา)

ทั้งเตและชาติคลุกคลีอยู่ในวงการนักออกแบบ ก่อนจะโคจรมาพบกันด้วยอาชีพ ‘กระบวนกร’ หรือ ‘Facilitator’ หน้าที่ของกระบวนกรคือออกแบบกระบวนการ จัดวงประชุม ออกไปคุยกับคน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นคนชวนคุย ถ้ากระบวนกรอยู่ในวงประชุม เขาจะรับหน้าที่ยิงคำถามทำให้วงสนทนาเกิดการโต้ตอบกัน 

ถ้าคนหนึ่งเป็นน้ำ อีกคนเป็นน้ำมัน กระบวนกรคงเหมือนอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifier) สารชนิดหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองกลายเป็นเนื้อเดียวกันได้

“แรกๆ เราทำในฐานะเป็นงานที่ได้เงิน แต่ความจริงมันคือสิ่งที่เราชอบและอยากทำ พอได้เจอคนเยอะและเข้าไปในพื้นที่แปลกๆ ในต่างจังหวัด พื้นที่เหล่านั้นผลักดันให้เราได้เรียนรู้วิธีแลกเปลี่ยน เราเลยอยากทำพื้นที่ที่เกิดการแลกเปลี่ยนแบบนั้นได้ การมีพื้นที่ทางกายภาพจะทำให้เกิดประโยชน์ เกิดการแลกเปลี่ยนบางอย่างขึ้น” ชาติเล่าให้ฟัง

เตจึงเสริมต่อว่า

“เราคิดว่าเราน่าจะสร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนเปิดใจจอยกับบางเรื่องได้ ที่ร้านเรา ก่อนขึ้นไปชั้น 2 ก็มานั่งจิบกาแฟชิวๆ ก่อนได้ จริงๆ พื้นที่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สกิลของผมกับชาติที่มีอยู่คือถ้ามีคนนั่งอยู่ 2 วงสนทนาพวกผมจะทำยังไงก็ได้ให้ทั้ง 2 วงนี้คุยกัน หาอะไรไปอยู่ตรงกลางที่เชื่อมเขาเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ เครื่องดนตรี หนังสือ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เอาไว้เชื่อมคนแปลกหน้าสองคนที่นั่งข้างๆ กันให้มาคุยกัน”

‘อะไร อะไร’ เป็นชื่อที่ชนะโหวต 

ความหมายสำหรับเตคือพื้นที่ที่เป็นอะไรก็ได้ เหมือนข้อความบนผนังที่ต้อนรับผู้มาเยือนบอกว่าที่นี่เป็นทั้ง ‘สโมสร ดาดฟ้า สตูดิโอออกแบบ ศิลปินในพำนัก ที่นอนและอาหารเช้า ที่ทำงานชั่วคราว พื้นที่นิทรรศการ โรงละคร…’

อีกหนึ่งความหมายคือ ‘ดูมีอะไร’ ก่อนหน้านี้เขาเป็นดีไซน์เนอร์ที่มองเห็นแต่สิ่งสวยงาม สมมาตร และถูกต้องตามหลักการออกแบบ หลังจากมาเป็นกระบวนกรและได้ลงพื้นที่ชุมชน เขามองเห็นบ้านเรือนของผู้คนที่ดูระเกะระกะ แต่เขากลับพบมุมมองที่สวยงามได้ ‘อะไร อะไร’ จึงเป็นสิ่งที่บอกกับเขาว่าทุกอย่างไม่ได้สมบูรณ์แบบ มันมีอะไร อะไร ซึ่งหมายถึงความสวยงามในแบบของมัน

 

วงเวียน 22 

โปรเจ็กต์ยกบ้านมาไว้กลางเมืองเริ่มขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาดพอดิบพอดี จึงทำให้มีความทุลักทุเลอยู่ไม่น้อย แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ตระเวนหาที่ทางและมาตกลงปลงใจลงหลักปักฐานที่ตึกแถว 3 ชั้นอายุ 80 ปี ในย่านวงเวียน 22 ใกล้ๆ กับเยาวราช

“ตอนแรกไปดูหลายที่ แต่แน่นอนว่าเราชอบอยู่ในย่านเมืองเก่าและทำเลที่ตรงนี้ไม่ได้ไกลจากรถไฟฟ้า ผมว่าเสน่ห์ของแต่ละย่านคือมันจะมีคาแรคเตอร์ของมัน ถ้าเป็นเยาวราชเราก็จะเห็นคนจีน แถวข้าวสารก็จะเห็นอีกแบบ เราไปโบ๊เบ๊ก็จะเห็นตัวละครอีกแบบ ถ้าเป็นวงเวียน 22 เราก็มีคนที่เป็นอัตลักษณ์อยู่”

“คนมักรู้สึกว่าเป็นย่านโคมแดง เป็นย่านอันตราย พูดตรงๆ เลยคือย่านนี้มีผู้หญิงขายบริการเยอะ แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันเท่ดีนะ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แต่ก็มีชีวิตชีวา พอคิดแบบนี้ผมเลยเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีคนที่น่าสนใจเยอะ มีเสน่ห์ มีคาแรคเตอร์ เขาก็จะดึงดูดคนรูปแบบที่ต่างออกไป และกรองคนบางกลุ่มออกไป บางคนก็กลัว แต่ก็มีคนที่ไม่กลัวเช่นกัน”

“แต่ก่อนตึกข้างล่างยังเป็นไซต์ก่อสร้าง ประตูยังล็อคไม่ได้ บางทีผมก็ต้องนอนที่นั่น วันนั้นผมเปิดประตูเข้ามาแล้วไม่เห็นว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างหน้า เขาชะโงกหน้ามาถามว่าเราเป็นอะไรหรือเปล่า โอเคไหม เหมือนเขาคิดว่ามันอันตราย อยากจะช่วย ผมว่ามันก็เป็นการปฏิสัมพันธ์ ถ้าเราคุยกับเขามันก็ไม่มีอะไร เราก็เลยบอกไปว่าเราอยู่ข้างบนได้ พี่ไม่ต้องห่วง เขาก็รับทราบ”

นอกจากจะอยู่ในย่านวงเวียน 22 แล้ว ใกล้ๆ ยังเป็นซอยนานา ที่ปัจจุบันมีบาร์ดีๆ คาเฟ่ฮิปๆ กลิ่นอายจีน-ไทยตั้งอยู่ทั้งเส้น ตกดึกคึกคักแต่ไม่จอแจเท่าเยาวราช แม้ว่าในละแวกตึกจะเงียบสงบ แต่ถ้าอยากอยู่ท่ามกลางผู้คนให้มีชีวิตชีวาก็เดินไปอีกได้ไม่ไกลนัก

ตึกเก่าที่ดูมีอะไร อะไร

สร้างตึกใหม่นั้นทำง่าย แต่จะทำตึกให้เก่านั้นทำยาก ความเก่าที่ยังเก๋าของอาคารเดิมจึงทำให้สวยไปอีกแบบ แบบที่ดูมีอะไรอะไรอย่างที่เตบอก ส่วนชาติก็ถูกใจดีไซน์ตึกตั้งแต่แรกเห็น เพราะไม่ได้ตรงเป๊ะ แต่มีความโค้งเอียงคล้ายตัว L ซึ่งดูมีอะไรอะไรเช่นกัน

เตเปรียบเปรยว่าเขาเป็นเหมือนคนมีพื้นที่แล้วแบ่งสรรปันส่วนให้เพื่อนแต่ละคน แต่ละชั้นจึงไม่ได้ออกแบบพร้อมกันทีเดียว แต่เป็นสไตล์ใครสไตล์มัน ต่างคนต่างเติมสิ่งที่ตัวเองชอบ คาแร็คเตอร์ชัดเจน ขัดใจสถาปนิกนิดหน่อยแต่กลับถูกใจคนอยู่

ชั้นแรกคือร้านกาแฟของชาติชื่อว่า FH/FH Slow Bar Coffee หรือ From Here From Home มีสโลว์บาร์ที่ชาติตั้งใจใช้เมล็ดกาแฟไทย ใช้วัตถุดิบหลักๆ จากท้องถิ่นในประเทศไทย เป็นคาเฟ่ที่ชาติบอกว่ามานั่งได้ยาวๆ ไม่ต้องกลัวว่าบาริสต้าจะมาไล่ถ้าไม่สั่งกาแฟเพิ่มอีกแก้ว ในพื้นที่เดียวกันนั้นมีมุมเสื้อผ้ามือสอง มีหนังสือให้อ่าน มีเครื่องดนตรี มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่อยากจะลองเปิดเพลงอะไรก็ได้อีกด้วย

“เราไม่ได้ห้ามแตะแผ่นเสียงเพราะมันจะพัง เราว่าคนก็มีความเกรงใจ มีความบอบบางกับสิ่งที่เขามาทำในพื้นที่อื่นอยู่แล้ว รู้สึกว่ามันก็เป็นคอมมอนที่คนมาตรงนี้ มันไม่ได้มีอะไรที่ทำให้เขากล้าทำ แต่ตัวบาริสต้าต้องเชิญชวน บอกเขาว่าด้านล่างนี้ทำสิ่งเหล่านี้ได้นะ” ชาติบอกกับเรา

เมื่อมวลข้างในตึกอบอวลด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจจึงทำให้เกิดระบบสมาชิกตึกขึ้นมา ซึ่งเราอาจไม่ค่อยได้เห็นที่ไหนบ่อยๆ แต่ก็เกิดขึ้นแล้วที่นี่

 “ตอนนี้เรามีเมมเบอร์ แล้วเมมเบอร์แต่ละคนเป็นคนประหลาดทั้งนั้น” เตพูดติดตลก

“แต่ละคนเป็นคนมีของ มีมุมมองที่ดี คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะได้เจอหนึ่งในพวกเราเป็นอันดับแรก ได้คุยกันแล้วคิดว่าน่าสนใจ น่าสนุก”

“ประตูของเราเป็นประตูไม้เก่าที่เคยอยู่บ้านชาติมานาน แต่เป็นระบบสแกนนิ้ว มันไม่ได้ล็อกถ้าเป็นเมมเบอร์ก็จะสแกนนิ้วเข้ามาใช้ตึกได้ 24 ชั่วโมง มาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องพกกุญแจด้วย ฟังก์ชันนี้สะท้อนกลับมาถามเราเองว่าแล้วคนแบบไหนที่เราจะเชื่อใจให้สแกนนิ้วเข้ามา ทั้งๆ ที่ในห้องนี้มีอุปกรณ์ทำกาแฟ มีหนังสือ มีเหล้า มีทรัพย์สินมากมาย ผมว่ามันต้องเป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่แค่เป็นเพื่อนของผมหรือเพื่อนของชาติ แต่หมายถึงเพื่อนที่เราไว้ใจกัน”

“ที่นี่ไม่ได้มีกฎว่าถ้าฉันจะรับคนใหม่ ทุกคนต้องตกลงร่วมกัน แต่ถึงจุดหนึ่งมันมีเซนส์ว่าคนที่เข้ามาใหม่ถือว่าต้องคุ้นเคยกับคนที่อยู่ที่นี่แล้วระดับหนึ่ง และคนที่อยู่มาก่อนก็จะรู้สึกคุ้นเคยกับคนที่เข้ามาใหม่เช่นกัน” เตบอกกับเรา

“ถึงจะไม่มีกฎแต่ทุกคนเคารพกัน ยกตัวอย่างเวลาไปแฮงเอาท์กลับมาแล้วไม่รู้จะไปต่อที่ไหนก็มาต่อที่ตึกได้ หลังจากที่เสร็จภารกิจแล้วทุกคนก็เก็บของและเคลียร์พื้นที่เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเป็นภาระของใคร เมื่อเข้ามาตอนไหนก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้องมาทำงานเท่านั้น จะเรื่องชีวิตหรือมีตติ้งก็มาได้ และเมมเบอร์ยังสั่งเครื่องดื่มในราคาพิเศษด้วย” ชาติเสริม

เดินขึ้นมาบนชั้น 2 เป็นร้านหนังสือ Vacilando Bookshop ของ ปิ่น – วิทิต จันทามฤต ช่างภาพผู้หลงใหลโฟโต้บุ๊กและเป็นเหมือนนักสะสมไปในตัว เขาเป็นหนึ่งในเพื่อนที่เข้ามาจอยในตึกเดียวกัน ที่นี่มีทั้งหนังสือธรรมดาและส่วนใหญ่เป็นโฟโตบุ๊คที่น่าสนใจหลายเล่มจากทั่วโลก  ซึ่งนอกจากจะเป็นร้านหนังสือแล้ว อีกหนึ่งความตั้งใจคืออยากให้เป็นห้องสมุดที่มานั่งคุยเรื่องหนังสือเฉยๆ ก็ได้ 

ถัดไปในชั้นเดียวกันคือพื้นที่โล่งว่างๆ เอาไว้จัดกิจกรรมอะไรอะไรก็ได้ เช่นที่ผ่านมาเคยมีละครเวทีแบบเพอร์ฟอร์แมนซ์ มีแสดงดนตรี จัดโฟกัสกรุ๊ป ฉายหนัง ไปจนถึงจัดไฟทำเป็นสตูดิโอถ่ายภาพนิ่งก็ยังได้ บางทีคนที่แวะเวียนมาจัดกิจกรรมก็เป็นเพื่อนๆ ของพวกเขา หรือวันไหนมีนักดนตรีบังเอิญผ่านมาเห็นตึกแล้วอยากจะจัดคอนเสิร์ตก็มี

ชั้น 3 ตอนแรกตั้งใจจะให้เป็นโฮมออฟฟิศที่ขึ้นไปนั่งทำงานได้ไปประชุมนอนก็ได้ นอนพักผ่อนก็ดี แต่ปัจจุบันส่วนหนึ่งของชั้นถูกจับจองโดย Placebo Club ห้องบำบัดที่บำบัดทั้งทางกายและจิตวิญญาณไปด้วย เป็นศาสตร์การเยียวยาทางเลือกฉบับชาวทิเบตผสมผสานกับไสยเวท (Witchcraft) 

นอกจากนี้บนชั้น 3 ยังมีไพรเวทบาร์ของเต ที่จะเปิดทำการเฉพาะในวันที่เพื่อนๆ มาหา แล้วเสิร์ฟค็อกเทลฝีมือเขาให้เพื่อนชิม แล้วนั่งคุยกันได้อีกด้วย

“บริการอีกอย่างที่ผมคิดว่าที่นี่มีคือการคุยกัน บางทีทุกคนไปนั่งอยู่ตรงคาเฟ่ข้างล่างและมีความรู้สึกว่าอยากลองคุยกันดู เลยอยากเชิญชวนว่าถ้ามาที่นี่อยากให้มาคุยกัน บางทีอย่างชาติเองเหนื่อยมาจากไหน ถึงที่นี่ปุ๊บไม่มีอะไรทำ มีเครื่องดนตรีอยู่ก็หยิบมาเล่นได้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่อยากเล่นก็เล่นได้” ชาติเล่าให้ฟัง

 

ทำไมคนเราต้องคุยกัน ?

หลังจากที่คุยกับชาติและเตมาสักพัก สิ่งที่เรารับรู้ได้จากสปิริตของกระบวนกรคือพวกเขาอยากให้ ‘คนคุยกัน’ เพราะเชื่อว่าบทสนทนานั้นจะนำพามาซึ่งบางสิ่ง พาไปสู่หมุดหมายใหม่ๆ ทั้งสองเชื่อในพลังของบทสนทนา และอยากให้อะไร อะไร เป็นพื้นที่ที่ชวนให้คนมาคุยกัน

“อาจจะเป็นเนเจอร์ของเราด้วย เราไม่ได้เป็นคนตั้งใจเรียนขนาดนั้น เราอ่านหนังสือ เราก็อ่านนวนิยาย เราไม่ได้หาข้อมูล แต่เราได้ความรู้ใหม่ๆ ได้รู้ทัศนคติจากคนเยอะมากเพราะมีพื้นที่ให้คุยกัน บ้านชาติอยู่ปริมณฑล โลกของชาติจะแคบมาก แต่การที่มันมีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนมันทำให้คนได้อะไรบางอย่าง อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องแบกรับความเหนื่อยล้าไว้คนเดียว เราเลยอยากเป็นตัวกลางในการสร้างที่ที่ทำให้คนเหนื่อยมาเจอเรา มาอยู่ในคอมมูนิตี้นี้แล้วรู้สึกว่าได้รับการเยียวยา หรือบางทีมาแล้วได้อะไรกลับไป เช่น ฉันไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย แต่พอได้คุยกับอีกคนหนึ่งก็เข้าใจ หรือฉันคิดงานไม่ออกแล้วฉันมาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นที่นี่ก็ได้ ถ้าเขาพร้อมจะแชร์ ยิ่งในตอนนี้เราว่ามนุษย์ต้องการสังคม แค่เจอหน้ากันแต่ไม่ต้องพูดก็รู้สึกดีได้แล้ว เหมือนเรามีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ” ชาติกล่าว

“ผมว่าตอนนี้คนเข้าไปอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เมตาเวิร์สกัน ผมก็เล่นนะ แต่ทุกครั้งที่เล่น ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกว่าป่วย ไม่รู้ทำไมยิ่งเพื่อนเยอะยิ่งไม่คอนเน็คท์มากกว่าเดิม พอผมได้มาทำอะไร อะไร ผมถึงรู้ว่าเราไม่ได้ต้องการเพื่อนจำนวนมากขนาดนั้น แต่ต้องการเพื่อนที่รู้สึกว่าเล่าได้ทุกเรื่อง ไม่ต้องมีคนมากดไลก์ก็ได้ ขอแค่มาฟังกัน มาเถียงกัน ผมว่าโลกออฟไลน์มันไม่แบน มันมีมิติมากกว่านั้น พอเมตาเวิร์สมา ผมยิ่งรู้สึกว่าต้องรีบสร้างสิ่งเหล่านี้ เพราะผมไม่เห็นตัวเองอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นในรูปแบบที่สุขภาพจิตดีเลย” เตเล่าพลางหัวเราะ เขาเล่าต่ออีกว่า

“เรามองว่าตรงนี้เป็น Social club เป็นสโมสรทางสังคม ซึ่งผมว่าสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ขาดไปคือสังคมที่เป็นสังคมจริงๆ ผมกับชาติไปต่างจังหวัด ด้วยความเป็นกระบวนกรเราต้องลงพื้นที่ และได้เห็นว่าต่างจังหวัดเขามีสังคม ในหมู่บ้านรู้จักกันหมด ใครป่วยเขารู้ ใครคลอดลูกเขารู้ ส่วนเราอยู่ในเมือง บ้านข้างๆ เป็นใคร เป็นอะไรเราไม่เคยรู้เลย กรุงเทพฯ มันมีกำแพงที่มองไม่เห็น ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่ที่อะไรอะไร เราทำให้กำแพงหายไป”

เมื่ออะไร อะไรเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งสองคนหวังว่าในอนาคตก็อยากให้มีพื้นที่แบบอะไร อะไรอีกทั่วเมืองเพราะเชื่อว่ายังมีคนเมืองผู้โดดเดี่ยวอีกหลายคนที่ยังต้องการพื้นที่แบบนี้

“สปิริตของความเป็นสังคมในเมืองมันหายไป ตอนนี้ทุกคนดิ้นรนกันเยอะมาก มันไม่ผิดหรอกนะเพราะสังคมมันบีบบังคับให้เราต้องดิ้นรนแบบนี้ เวลาที่กวางมันวิ่งหนีสิงโตอยู่ มันคงไม่มานั่งสนใจเพื่อนมัน เพราะตัวมันเองก็ไม่อยากโดนแดก ต้องวิ่งหนีให้เร็วที่สุดเหมือนกัน ผมว่าคนกรุงเทพฯ เป็นแบบนั้น เราเป็นกวางที่กำลังวิ่งหนีจนมองไม่เห็นกัน”

“มีคนคนหนึ่งเข้ามาแล้วเขาบอกว่ารู้สึกว่าได้รับการดูแล ได้รับการฮีลลิ่ง ผมว่าจริงๆ แล้วแทบไม่มีใครฮีลกันเลยด้วยซ้ำ เราแค่คุยกันว่าวันนี้กูวิ่งหนีสิงโตมาเหนื่อยมาก อีกคนบอกว่ากูวิ่งหนีเสือดาวมาเหนื่อยฉิบหาย มันเหมือนเรามีเพื่อนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน”

“คงไม่พูดว่าที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพียงแต่มันทำให้กวางที่กำลังวิ่งเร็วๆ ได้หยุดแล้วมองดูกัน ที่นี่ไม่มีสิงโตเข้ามาแดกมึงหรอก เดี๋ยวมึงก็ได้ออกไปวิ่งหนีต่อนะ แต่ก่อนจะออกไป มึงจะได้มานั่งคุยกับกวางด้วยกัน” เตทิ้งท้าย

และนี่คือเรื่องราวของตึกเก่าหน้าตาธรรมดาๆ ที่เข้าไปแล้วจะได้เจออะไร อะไร คุณอาจเป็นคนธรรมดาผู้โดดเดี่ยวในเมืองหลวง เป็นกวางที่วิ่งหนีเอาชีวิตแทบไม่รอด หรือจะให้เป็นสิงโตที่ที่วิ่งตามเหยื่ออย่างเหนื่อยล้า ก็สลัดคราบนักล่าไปนั่งพักใจ จิบกาแฟที่อะไร อะไร ก่อนก็ได้ 

 

Arai Arai  (อะไร อะไร)

ที่อยู่ : 587 ถนนไมตรีจิต แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 

Instagram : @araiarai_22

โทร. 0885992426