life

“โทรศัพท์เครื่องนี้มีรูปกี่รูป เราเคยกลับไปลบบ้างไหม”

คู่สนทนาชี้มาที่โทรศัพท์เครื่องเก่ากึ้ก ที่ก่อนหน้านี้จำได้ว่ามีรูปอยู่สองหมื่นปลายๆ แต่พอลองเปิดดูในอัลบั้มภาพอีกทีก็พบว่าทะลุเลขสามไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย

เจ้าของคำถามเมื่อครู่คือ ‘อิม – อิมยาดา เรือนภู่’ หรือ ‘แมวอิม’ นักจัดระเบียบบ้านจาก ‘แมวบิน’ ที่ชวนเราไปสำรวจว่าที่ชีวิตของเรามันยุ่งเหยิงอยู่นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข้าวของที่ระเกะระกะ หรือรูปซ้ำๆ ที่เต็มมือถือที่ไม่เคยเข้าไปลบหรือเปล่า

วันนี้เธอและทีมงานเพิ่งปิดเคสเคลียร์ห้องในอพาร์ทเม้นท์กลางเมืองที่ใช้เวลาจัดถึงวันครึ่ง

แมวบิน

แมวบิน ไม่ใช่นักทำความสะอาด แต่เป็นคนเก็บกวาด จัดข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบ ด้วยการเข้าไปค้น ไปรื้อทุกซอกทุกมุม เอาของที่ไม่จำเป็นไปทิ้ง เก็บของที่ระเกะระกะมาแยกประเภท จัดให้เข้าที่ เข้าทางจนบ้านเรียบร้อย มองไปทางไหนก็สบายตา ที่สำคัญอยู่แล้วสบายใจ

หัวเรือหลักคือ ‘แมวอิม’ ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เรียนจบด้านการโรงแรม เคยทำงานเป็นผู้จัดการในโรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอนโด ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับ ‘พื้นที่’ ทั้งสิ้น 

อีกคนสำคัญคือ ‘วา-ปริยาภา ริ้วทอง’ หรือ ‘แมววา’ เพื่อนซี้นักจัดบ้านที่ถนัดงานละเอียด ด้านการจัดของกระจุกกระจิกให้เรียบร้อย สวยงาม 

“วาเป็นคนชอบซื้อ ชอบสะสม เป็นคนมีระเบียบ เวลาที่เขาซื้อของมาเยอะๆ จะมีวิธีจัดให้สวย ส่วนอิมเป็นคนชอบทิ้ง ปล่อยวาง เลยชวนวามาทำด้วย เพราะอยู่คนเดียวไม่มีพลัง เราทิ้งอย่างเดียว ไม่ชอบงานละเอียด จุกจิก ตอนนี้เราเลยมี 2 ทีม แต่ทั้งทีมอิมและทีมวารับเคสหนักได้เหมือนกัน เพียงแต่เราจะเหมาะกับลูกค้าคนละแบบ เพราะบางคนก็ห้ามทิ้งของ”

สกิลจัดบ้านนี้ได้แต่ใดมา ? อิมเล่าว่าครอบครัวสอนให้ทำงานบ้านตั้งแต่เด็กๆ เธอจึงชอบจัดบ้านไปโดยปริยาย และรับจัดบ้านแบบฟรีแลนซ์มานานกว่า 10 ปีแล้ว วันหนึ่งลองไปโพสต์ผลงานของตัวเองในกลุ่มบนเฟสบุ๊ก ผลตอบรับดีเกินคาด จนเธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำมา ‘จัดบ้าน’ ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุด ในนาม ‘แมวบิน’ ที่ตอนนี้มีคิวแน่นเอี้ยดไปยันปีหน้า

“ตอนแรกลูกค้าคิดว่าเราทำความสะอาด เราก็อธิบายว่ามันคือการจัดบ้าน พอคนรู้ว่าเราไม่ใช่แม่บ้าน เขาก็ยิ่งต้องการ เพราะงานของแม่บ้านจะไม่ได้เข้าไปคุ้ย ไปรื้อเหมือนเรา เราเรียนรู้วิธีจัดบ้านมาทั้งชีวิต โดยเฉพาะตอนเรียนการโรงแรม เรารู้วิธีเก็บของให้เนียน ไม่รก สบายตาคนเห็น”

“ที่บ้านเราเป็นผู้รับเหมา ก่อนหน้านี้งานทุกอย่างที่ทำค่อนข้างเกี่ยวกับบ้านหมดเลย แต่เราคิดว่างานประจำไม่ได้เหมาะกับเรา เพราะเราแทบไม่ได้ดึงศักยภาพที่มีออกมาใช้เลย  ก็มานั่งนึกดูว่าเราเก่งอะไร และนึกได้ว่าเราเก่งงานบ้านมากเลย เราชอบจัดของ ประกอบกับช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่คนอยู่บ้าน เราเห็นว่าหลายบ้านเขาอยู่กันแบบรกๆ เยอะมาก เลยตัดสินใจทำแมวบิน”

ชื่อ ‘แมวบิน’ ก็มีที่มาไม่ซับซ้อน เพราะอิมชอบแมวและเลี้ยงแมว จึงเอามาต่อท้ายด้วยคำว่าบินกลายเป็น ‘แมวบิน’ ซึ่งให้ความรู้สึกเบาสบาย เหมือนความรู้สึกหลังจากที่บ้านเป็นโล่ง เป็นระเบียบ

บริการของ ‘แมวบิน’ เรียกได้ว่ารับจัดระเบียบบ้านทั่วราชอาณาจักร ทั้งห้องเล็ก ห้องใหญ่ บ้านทั้งหลัง อาคารพาณิชย์กี่ชั้นต่อกี่ชั้น จัดห้องเวชภัณฑ์ในองค์กร แมวบินก็จัดให้ได้ โดยราคาของแต่ละเคสจะประเมิณจากขนาดของพื้นที่ สถานที่ และความยาก-ง่ายในการจัดเก็บ จึงมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น

แมวบินมีบริการหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเก็บของย้ายบ้าน แกะกล่องจัดเข้าบ้านหลังใหม่ เก็บห้องคนอกหัก รวมถึงเคสจัดบ้านเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคสะสมของ และ Death cleaning เคลียร์บ้านก่อนตายสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายและคนชรา

 

เปิดหน้าต่าง ปักดอกไม้ลงแจกัน

ให้ ‘ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า’ มีความหวังในชีวิต

แมวบินเชื่อว่าการจัดบ้านเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขจัดความเศร้า บรรเทาความทุกข์ เมื่อข้าวของถูกเคลียร์ จิตใจก็พร้อมสำหรับการเริ่มต้นใหม่ 

“ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จ้างเรามาเพราะเขาอยากรีเซ็ตเพื่อเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ส่วนใหญ่จะให้ทิ้งของ”

“ความยากของเคสเหล่านี้คือเราต้องหาวัตถุอันตราย พวกของมีคม กรรไกร ก๊าซ และสารเคมีต่างๆ บางเคสเราเจอคัตเตอร์ 20 อัน ก็ต้องเก็บทิ้งหมด จะไม่อนุญาตให้เขาเก็บไว้ เพราะเวลาที่ดิ่งอาจพยายามทำร้ายร่างกายตัวเองได้ ถ้าหน้าต่างเปิดออกง่ายก็ล็อกให้แน่นหนา ถ้าห้องมีระเบียง ก็เอาของไปวางขวางเอาไว้”

“บางเคสที่ระเบียงของเขารกมันมีที่มานะ บางคนอาจคิดว่าเขาขี้เกียจเก็บหรือเปล่า แต่จริงๆ เขาตั้งให้เป็นแบบนั้นเพื่อยั้งไม่ให้ตัวเองออกไปข้างนอกได้ง่าย เราก็เข้าไปจัดสะอาดขึ้น แต่ยังหาอะไรมาวางขวางไว้เหมือนเดิม” 

“ผู้ป่วยบางคนชอบอยู่ในห้องมืดๆ เอาเทปกาวไปปิดหน้าต่างไม่ให้แสงเข้าเลย เราก็ต้องไปเอาเทปกาวออก อยากให้เขาเจอแสงแดดทุกวัน ช่วยบำบัด เหมือนต้นไม้ที่เบ่งบานตอนได้เจอแสงแดด 

“แล้วต้องใช้ศิลปะเข้าช่วย เอาดอกไม้ใส่แจกัน วางกระถางต้นไม้ หยิบตุ๊กตาที่เคยหมกอยู่ในซอกมาจัดวางให้มุ้งมิ้ง จัดหนังสือให้น่าอ่าน ให้ห้องสวย ให้เขาเห็นว่าชีวิตยังสวยงาม”

 

ชวน ‘ผู้ป่วยสะสมของ’ ตัดใจทิ้งของ 

โรคเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นมากที่สุดในผู้ป่วยอายุ 50-69 ปี ผู้ป่วยมักจะมีอาการผูกพันกับสิ่งของ ตัดใจทิ้งไม่ได้ และสะสมของไม่จำเป็นเอาไว้จำนวนมาก เช่น หนังสือพิมพ์เก่า ขวดแชมพู กล่องพัสดุ ฯลฯ และหน้าที่ของแมวบินคือการเข้าไปช่วยเคลียร์ของจำเป็นเหล่านั้น โดยมีข้อแม้ว่าคนที่ขอความช่วยเหลือต้องเป็นตัวผู้ป่วยเองเท่านั้น

“ผู้ป่วยบางคนรู้สึกว่าตัวเองใกล้ตายแล้ว เขาเหงา โดดเดี่ยว ต้องการมีอะไรอยู่ข้างๆ ให้ตัวเองไม่เหงา บางครั้งครอบครัวอาจไม่เข้าใจ ลูกก็บ่น ก็ว่า แต่ของที่เขาสะสมไว้ไม่เคยว่าเขาเลย เขาเลยรู้สึกว่าสิ่งที่พูดไม่ได้และยังเป็นเพื่อนกับเขาก็คือสิ่งของเหล่านี้ เป็นเหมือนพรรคพวก เหมือนเกราะป้องกัน”

“ผู้ป่วยสะสมของบางคนเขาไม่ยอมรับว่าตัวเองมีอาการนี้ ถ้าตัวเขาไม่ติดต่อมาเอง เราจะไม่รับเคสเลย เพราะอาจโดนฟ้องได้ และเราไม่รู้ว่าของเหล่านั้นมีความหมายกับเขาขนาดไหน ส่วนมากการทำงานมักจะยุติกลางคัน แต่เคสที่ต้องการความช่วยเหลือและติดต่อมาเองก็มี เพราะเขายอมเลยรับว่าเป็นปัญหากับชีวิตเขา เขาเริ่มเป็นภูมิแพ้แล้ว ต้องแก้ปัญหาแล้ว” แมวอิมเล่าให้เราฟัง 

 

Death cleaning

เคลียร์บ้าน เคลียร์ใจให้จากไปอย่างสงบ

 

บางครั้งเขาไม่ได้อยากเก็บของไปจนตาย แต่แค่ไม่รู้ว่าต้องทิ้งอะไรบ้าง เพราะไม่มีเรี่ยวแรงพอจะไปค้น

 

ผู้ว่าจ้างในเคสนี้ส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่กำลังจะเสียชีวิต ซึ่งในช่วงเวลาเหล่านั้นเขาอาจจะลุกจากเตียงไปไหนไม่ได้แล้ว แต่ยังมีสิ่งของที่ต้องสะสางเพื่อให้ตัวเองตายตาหลับ จากโลกนี้ไปอย่างสงบ 

“เคสนี้สำหรับคนที่อยากเคลียร์ข้าวของเป็นครั้งสุดท้าย บางครั้งเขาไม่ได้อยากเก็บของไปจนตาย แต่แค่ไม่รู้ว่าต้องทิ้งอะไรบ้าง เพราะไม่มีเรี่ยวแรงพอจะไปค้น นี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เขาตายตาไม่หลับ ในเมื่อร่างกายเขาไม่พร้อม เราจึงเป็นคนเข้าไปช่วย”

“บางคนเดินไม่ได้ บางคนนอนติดเตียง พอสายตาของเขาเห็นอยู่แค่นั้นเขาก็จะรู้สึกกังวลว่า เอ๊ะ บนชั้นสองมีของอะไรอยู่บ้าง ถ้วยชามเซรามิกที่ซื้อมาจากฝรั่งเศสเซ็ตนั้นไปอยู่ที่ไหน เราต้องรวบรวมมาแล้วบอกเขาว่ามันอยู่ตรงนี้” 

“ส่วนมากจะเก็บของทั้งหมดไว้ในห้องเดียว เพื่อให้เขารู้ว่าโลกที่ฉันกำลังจะจากไปมีอยู่เท่านี้ ไม่ให้ต้องสงสัยว่าฉันมีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง บางคนเขาจะรู้สึกว่าตายตาหลับ ไม่มีห่วง เพราะมีคนจัดการให้หมดแล้ว เรียกได้ว่าตายแบบสะอาดหมดจด ไร้กังวล ตายแบบที่ลูก หลาน พี่ น้อง ไม่ต้องมาทะเลาะกันแย่งสมบัติ”

 

กฎเหล็กของการเดินเข้าบ้านคนอื่น

เราจะรู้ได้ทันทีว่าใครคือแมวบินเพราะระหว่างออกปฏิบัติการจัดบ้าน สมาชิกของทีมจะสวมเสื้อสีดำตัวโคร่งที่ปักคำว่าทีมนี้มียูนิฟอร์มที่ปักอักษรสีเหลืองคำว่า ‘แมวบิน’ เด่นหราอยู่ด้านหลัง 

สาเหตุที่ต้องเป็นเสื้อไร้กระเป๋าและกางเกงเลกกิ้งที่แนบกับตัว นั่นเป็นเพราะไม่ให้มีช่องไว้ใส่ของ ให้ลูกค้าสบายใจว่าจะไม่มีการแอบหยิบนู่น หยิบนี่ใส่กระเป๋าออกมาด้วย

นอกจากเรื่องชุด อิมยังเข้มงวดกับการเลือกลูกทีมจัดบ้าน รวมถึงมีข้อบังคับต่างๆ มากมาย เพราะงานของแมวบิน หมายถึงการเข้าไปรื้อ ค้น ทุกซอก ทุกมุมในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น ความปลอดภัยจึงสำคัญ 

กฎหลักๆ มีอยู่ 2 ข้อคือ  1.ห้ามขอของลูกค้า และ 2. เก็บเรื่องเคสเป็นความลับ

“ทีมงานต้องห้ามขอของลูกค้า เพราะถ้าเราเป็นคนบอกให้เขาทิ้งของ แต่เราดันอยากเอาของเหล่านั้นกลับบ้านเสียเอง มันดูย้อนแย้ง และถ้าทีมงานเจอทรัพย์สินมีค่าในบ้าน ก็ต้องแจ้งวากับอิมเสมอ ก่อนเข้าบ้านและหลังทำงานเสร็จ ลูกค้าจะต้องเข้ามาตรวจตัวเราด้วย ว่าเราส่งงานแล้ว หากมีอะไรหายอาจไม่ใช่ความรับผิดชอบของเราแล้ว”

“อีกเรื่องคือห้ามเอาเรื่องของลูกค้าไปเล่าต่อ การทำงานในบ้านคนอื่นเป็นเรื่องพิเศษ เพราะไม่มีใครที่ดีๆ จะเดินเข้าไปในบ้านคนอื่นได้ แล้วเราเข้าไปรื้อของ เราเจอความลับ เจอใบรับรองแพทย์ว่าเขาเป็นโรคอะไร นี่คือสิ่งที่เราต้องเก็บเงียบ มันละเอียดอ่อนมาก เพราะเขาไว้ใจเรามาก 

“ตอนทำคนเดียวเราก็ไว้ใจตัวเรา แต่พอมีทีมเข้ามา เราจะต้องมีระบบจัดการความปลอดภัยให้ลูกค้า คนที่เรารับมาต้องเป็นคนที่เรารู้จัก อย่างอิมกับวาเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมานาน คนที่เข้ามาก็ต้องเป็นคนที่เราทั้งสองคนรู้จักด้วย”

 

วิธีตัดใจ ให้กล้าทิ้งของ

“ทุกคนชอบถามว่าของมันหายไปไหนหมด เราทิ้งหมดเลยเหรอ”

คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่ลูกเพจมักจะถามแมวบินอยู่เสมอๆ หลังจากได้เห็นรูป Before – After ที่แมวบินเปลี่ยนห้องรกให้เป็นห้องเนี้ยบ 

“ไม่มีใครจ้างคนอื่นเพื่อให้มาทิ้งของตัวเอง เพราะเขาทิ้งเองก็ได้ จริงๆ การทิ้งมันมีรายละเอียดมากมาย อย่างสารเคมีบางอย่างที่ต้องทิ้ง บางคนเอาสารเคมีอันตรายไปไว้กับแอลกอฮอล์ เก็บไว้กับเหล้า ไฟไหม้ขึ้นมาบูมเลยนะ บางทีเราเจอแก๊สกระป๋องปิคนิคมา เราก็ต้องขออนุญาตทิ้ง เพราะถ้าไม่ได้ไปปิคนิควันนี้ก็ทิ้งไปก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอันตรายขึ้นตอนไหน”

“ตัวเราอยู่ในฐานะผู้รับจ้าง เขาเป็นผู้ว่าจ้าง เราก็ตามใจลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเขาไม่ทิ้ง เราก็แพ็คใส่กล่องให้ แต่บางทีเราก็ต้องเตือนสติเขาว่าต้องตัดใจ มันยากที่จะทำให้คนตัดใจทิ้งได้ จนกว่าของเหล่านั้นจะมีเอฟเฟ็คต์กับชีวิต”

อิมเล่าว่าทุกมุมในบ้านของเธอนั้นเป็นระเบียบ เรียบร้อย ไม่มีของวางระเกะระกะแม้แต่กล่องกระดาษทิชชู พวกขวดซอส ขวดน้ำปลาในครัวก็ถูกเก็บอย่างมิดชิด สิ่งมีชีวิตเดียวที่นอนเอกเขนกไม่เป็นที่ เป็นทางได้อย่างสบายใจก็มีแค่น้องแมวเท่านั้น นั่นเป็นเพราะเธอรู้วิธีเลือกทิ้งของและเลือกของเข้าบ้านเท่าที่จำเป็น

“ถ้ามีของซ้ำกัน สีเดียวกันก็ทิ้งไป อย่างเสื้อผ้าที่ใส่ไม่ได้แล้วและไม่มีแววจะผอมลง เราต้องอย่าโกหกตัวเอง เราไม่แนะนำให้ทิ้ง แต่ให้แปลงเป็นเงินก่อน จากนั้นเอาไปบริจาค และเลือกทิ้งเป็นทางสุดท้าย”

“ถ้าไม่เข้ากับบ้าน ถ้าไม่มีที่วาง ถ้าไม่มีที่เก็บ ก็ไม่ซื้อ ปกติอิมเป็นคนไม่ค่อยซื้อของอยู่แล้ว อย่างรองเท้าก็มีแค่สองคู่ ใช้กระเป๋าอยู่ใบเดียว เป็นคนประหยัด เลยมีของน้อย แต่คนเรามีหลายแบบ บางคนเขาไม่ประหยัดก็ได้เพราะเขามีเงิน”

“แต่เราไม่ได้มีเงินเหลือพอที่ซื้อของซ้ำๆ กันเยอะขนาดนั้น จะมีแค่บางอย่างที่ซื้อซ้ำๆ เช่น เครื่องสำอางที่จะไม่ผลิตแล้ว ลิปสติกสีที่ชอบ แต่ถ้าเรารวยก็ไม่แน่นะ ฉันก็กลัวเหมือนกันนะ” อิมเล่าติดตลก

 

คนเราเกิดมาตั้งกี่ปี เราเคยรู้บ้างไหมเรามีของอะไรบ้าง คนที่รู้ทุกอย่างนั้นแทบจะไม่มีเลย

แต่มันจะดีมากที่วันหนึ่งคุณได้รู้ว่าคุณมีอะไรบ้าง ชีวิตจะสบาย

 

ทิ้งแล้วไปไหน ?

“คนเราเหมือนคอมพิวเตอร์ที่เมโมรีเต็มได้ วันหนึ่งก็ต้องเคลียร์บ้าง”

ในทุกจังหวะสำคัญของชีวิตจะถือเป็นโอกาสที่อิมจะได้ ‘เคลียร์’ สิ่งที่คั่งค้างในชีวิตของตัวเอง เธอเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ ‘เซ็ตซีโร่ (Set zero)’ ทุกๆ มิติของชีวิต ทิ้งขยะไม่จำเป็น เคลียร์เมโมรีมีพื้นที่ว่างสำหรับบันทึกเรื่องราวใหม่ๆ อีกครั้ง

“คนเราเกิดมาตั้งกี่ปี เราเคยรู้บ้างไหมเรามีของอะไรบ้าง คนที่รู้ทุกอย่างนั้นแทบจะไม่มีเลย แต่มันจะดีมากที่วันหนึ่งคุณได้รู้ว่าคุณมีอะไรบ้าง ชีวิตจะสบาย สังเกตว่าคนที่รู้จะเป็นมั่นใจ ชัดเจน ไม่สะสม ไม่วุ่นวาย มีความสุข ปล่อยวาง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว”

“ตรงกันข้ามกันถ้าเราไม่รู้ ไม่เป็นระเบียบ ชีวิตก็จะยุ่งเหยิง ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ บางทีลืมนัด หงุดหงิด เพราะของในชีวิตเราเยอะเกินไปและไม่เคยถูกเคลียร์” 

“การเซ็ตซีโร่ชีวิตให้กลับไปเหมือนทารกอีกครั้งคือหลักสูตรที่อิมทำกับตัวเอง ทารกเหมือนผ้าขาว ยิ่งโต ผ้าเราก็ยิ่งหมอง เราทำให้ตัวเองกลับไปเป็นผ้าขาวอีกครั้ง

“เราต้องถามตัวเองว่าบัญชีเก่าๆ เคยปิดไหม บัตรเครดิตเคยปิดไหม มียอดเงินเท่าไหร่ ต้องเคลียร์ทั้งแลปท็อป โทรศัพท์ ผมเผ้า สุขภาพ ร่างกาย และความสัมพันธ์  เราคุยกับใครไว้บ้าง เคยขอโทษ บอกลาใครบ้างไหม ตา ยาย พ่อ แม่ สุขภาพเป็นอย่างไร เคยโทรไปหาบ้างไหม ญาติๆ เขาเป็นอะไรอย่างไรบ้างในทุกวันนี้”

“เมื่อรีเซ็ตตั้งแต่ข้อ 1 ถึง 10  ได้แล้ว สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำคือการอาบน้ำ แต่ไม่ใช่อาบน้ำธรรมดา ต้องนานอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง คุณต้องสระผม แคะขี้หู ขี้ตา ลงมาที่ผิว เล็บ เท้า พอร่างกายสะอาด โทรศัพท์โล่ง การเงินโล่ง หนี้สินเคลียร์หมด เชื่อไหมว่าโคตรเบา ไปต่อได้แบบสวยๆ ”

“คุณแม่ คุณพ่อ ตา ยาย ของอิมเสียแล้ว ตอนนี้ไม่มีใครแล้ว การเงิน ธนาคาร อิมรีเซ็ตหมดแล้ว ข้างหลังอิมเคลียร์มาก ชีวิตอิมเลยมีแต่แพลนที่ไปข้างหน้า” เธอทิ้งท้าย