life

ลองนั่งนิ่งๆ แล้วหลับตาลงจินตนาการว่ากำลังเล่นปิงปอง

ถ้าฝ่ายตรงข้ามตีลูกมาทางซ้าย เรามีเวลาเหลือเฟือสำหรับพินิจอย่างช้าๆ ว่า จะหวดกลับด้วยท่าทางแบบไหนกันดี 

เราเป็นเจ้าของเกมนี้ เป็นเจ้าของแม้กระทั่งเวลาทุกวินาทีตอนนี้ เพราะภาพตรงหน้านี้กำลังเกิดขึ้นใน ‘จินตนาการ’ ของเราเอง 

แม้เกมนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ตัวเราที่นั่งจินตนาการเมื่อสักครู่กลับได้เรียนรู้วิธีรับมือกับลูกปิงปองได้ไม่ต่างจากลงสนามแข่งจริงๆ นี่คือพลังของจินตนาการที่เกิดขึ้นในสมองอันแสนวิเศษของมนุษย์ 

นั่นเป็นหนึ่งในเทคนิคที่เรียกว่า การฝึกโดยใช้จินตภาพ (Imagery) หรือ การนึกภาพ (Visualization) ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะด้านจิตวิทยาการกีฬา ที่เหล่านักกีฬาจะจินตนาการถึงแมตช์แข่งขันประหนึ่งว่าได้ลงสนามจริงๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้ไปไหน เพียงนั่งนิ่งๆ วาดภาพในจินตนาการเท่านั้น 

 

จิม เดวีส์ (Jim Davies) เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการรับรู้จากสถาบันวิทยาการการรับรู้ (Institute of Cognitive Science) ที่มหาวิทยาลัย Carleton ประเทศแคนาดา เขาอธิบายอย่างเข้าใจง่าว่า เพียงแต่จินตนาการ เราก็สามารถฝึกฝนและออกกำลังกายได้โดยที่ไม่ต้องลุกจากโซฟา 

การนึกภาพว่าตัวเองกำลังแข่งขันหรือเล่นกีฬาอะไรสักอย่างจะทำให้เราได้เรียนรู้เทคนิคและเล่นได้ดีขึ้นกว่าเดิมไม่ต่างอะไรกับการลงสนามจริง และยิ่งเห็นผลได้ดีในกีฬาที่ต้องใช้สมาธิสูง เช่น กอล์ฟ ที่ผู้เล่นจะต้องใช้สมาธิสูงภายใต้แรงกดดัน ต้องมองเห็นภาพว่าลูกจะลงหลุมได้อย่างไรก่อนจะตัดสินใจตี 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับการจินตนาการกับกีฬากอล์ฟ นักวิจัยทดลองโดยมีเงื่อนไขว่าแต่ละครั้งที่ผู้เล่นจะพัตลูกลงหลุม ให้หยุดคิดเพื่อจินตนาการว่าลูกจะลงหลุมได้อย่างไร ผลปรากฏว่ากลุ่มคนที่จินตนาการก่อนจะตีลูกกอล์ฟ สามารถทำคะแนนได้สำเร็จมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้จินตนาการถึง 30 เปอร์เซ็นต์ 

เดวีเรียกสิ่งนี้ว่า พลังของการรับรู้ (Power of proprioception)’ เพราะนี่คือการใช้สมองสั่งการให้ประสาทสัมผัสทั้ง ของร่างกายรับรู้ทุกการเคลื่อนไหวของการเล่นกีฬาชนิดนั้นอย่างแจ่มแจ้ง ไมว่าจะเป็นมือกำลังจับไม้กอล์ฟ ตาที่เพ่งมองไปที่หลุม การวางขาในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งเสียงหวีดหวิวของลมในสนามที่พัดมากระทบใบหน้า แม้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่สมองกำลังช่วยให้ร่างกายได้เรียนรู้การตีกอล์ฟได้ไม่ต่างอะไรกับการลงสนามจริง 

ไม่ใช่แค่การทดลองธรรมดา แต่จินตนาการถูกหยิบยกมาใช้ในการฝึกฝนด้านกีฬามาอย่างยาวนาน เพราะการฝึกโดยใช้จินตนาการเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเรื่องเวลา สถานที่ และข้อจำกัดด้านร่างกาย เราสามารถเผชิญกับเหตุการอันตรายในความคิดได้โดยไม่ต้องกลัวว่าร่างกายจะบาดเจ็บ 

ดร.โจเซฟีน เพอร์รี (Josephine Perry) นักจิตวิทยาด้านกีฬาเป็นอีกคนหนึ่งที่ช่วยให้นักกีฬาฝึกฝนการเล่นให้เก่งขึ้นด้วยวิธีจินตนาการ เธอยังเสริมอีกว่ายิ่งจินตนาการให้สมจริงได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ผลมากเท่านั้น 

เพอร์รีสร้างหลักสูตรที่เป็นรูปเป็นร่างสำหรับการฝึก เธอเขียนสคริปต์เสียงขึ้นมา และแชร์ให้นักกีฬาฟังผ่านสมาร์9โฟน โดยในนั้นคือการจำลองสถานการณ์ในสนามแข่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางหรือสิ่งกีดขวาง ราวกับว่ากำลังแข่งขันอยู่จริงๆ โดยเธอจะแนะให้พวกเขารู้ว่าควรทำอย่างไรภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ นี่เป็นการทำงานทางด้านจิตวิทยาที่นอกเหนือไปจากการฝึกในสนาม ที่เธอเชื่อว่าได้ผลไม่ต่างกัน 

 เกิดอะไรในสมองเมื่อเรากำลังจินตนาการ 

ไม่ว่าจะตีปิงปองจริงๆ หรือตีในจินตนาการ คนเราจะใช้สมองส่วนเดียวกัน 

สมองเป็นเหมือนกระดาษเปล่าที่ถูกบันทึกด้วยเรื่องราวต่างๆ มนุษย์จะใช้ประสาทสัมผัสเป็นตัวเก็บข้อมูลและนำมาบันทึกลงในสมอง สมองจะจดจำสิ่งต่างๆ เอาไว้ เมื่อต้องกลับไปค้นข้อมูล เราก็จะนำเรื่องเก่าๆ ที่เคยบันทึกเอาไว้ออกมา 

สมองของคนเราเชี่ยวชาญเรื่องการประมวลผลข้อมูลเก่าๆ ที่คุ้นเคย เช่น ครั้งแรกที่เราเห็นแมงมุม มันกระโดดมาบนแขนและทำให้รู้สึกตกใจ นั่นทำให้เรารู้สึกกลัว ครั้งต่อมาที่เห็นแมงมุมเราก็จะรู้สึกกลัวขึ้นมาโดยอัโนมัติ เพราะความกลัวถูกบันทึกไว้คู่กับแมงมุม และทุกครั้งที่เรารู้สึกกลัวแมงมุม เท่ากับว่าเรากำลังขีดย้ำร่องรอยเดิมๆ ในสมองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

 

ถึงอย่างนั้น ธรรมชาติก็ไม่ได้ใจร้ายเกินไป เพราะมนุษย์เราสามารถเขียนเรื่องใหม่ขึ้นมาแทนเรื่องเก่าได้ และหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ได้เป็นอย่างดีคือ ‘จินตนาการ 

คนเราไม่ต้องกลัวแมงมุมไปตลอดชีวิตหรอกน่า… 

ถ้า ‘ความกลัว’ คือการขีดเส้นทับรอยเดิม จินตนาการจะมาช่วยขีดเส้นใหม่ๆ ลงบนสมองของเรา จินตนาการจะพาเราออกจากเส้นทางเดิม ทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบประสาทเส้นใหม่เข้าด้วยกัน 

จินตนาการส่งผลถึงการรับรู้จริงในระดับเซลล์ประสาทและจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ร่างกายเมื่อต้องลงมือปฏิบัติจริง หากเราจินตนาการว่ากำลังเล่นเปียโนเพลงใหม่ คิดถึงนิ้วมือที่กดลงบนแป้นเกิดเป็นเสียงโน้ตแต่ละตัว ประสาทสัมผัสที่ทำงานกับนิ้วมือก็จะได้รับการฝึกฝนไปด้วย เมื่อถึงเวลาที่ต้องเล่นจริงๆ ก็จะพริ้วและชำนาญมากขึ้น 

หรือแม้แต่แพทย์ที่ทำการผ่าตัด ก่อนที่จะลงมือจริงๆ การจินตนาการจะช่วยให้พวกเขาสงบจิตใจ ผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เมื่อคนเราบันทึกเรื่องใหม่ลงในสมองได้ นั่นหมายความว่าเราเปลี่ยนการรับรู้ในชีวิตจริงได้ นักวิจัยจากสถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institutet) ในสวีเดนค้นพบว่าจินตนาการเปลี่ยนการรับรู้ของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี 

คริสโตเฟอร์ เบอร์แกลนด์ (Christopher Bergland) อดีตนักกีฬาที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนด้านวิทยาศาสตร์เล่าว่า เขาพยายามเปลี่ยน ‘ความเหนื่อย’ ให้เป็น ‘ความสุข’ ด้วยการจินตนาการว่าความเหนื่อยเป็นความสุขของเขา เพื่อให้ร่างกายเชื่อว่ายิ่งเหนื่อยก็ยิ่งมีความสุข นั่นก็ทำให้เขาอึดขึ้นกว่าเดิม และประสบความสำเร็จในการลงแข่งแต่ละครั้ง 

ปลดปล่อยความกลัว 

เมื่อมนุษย์เราเขียนเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วยจินตนาการ ไม่ใช่แค่การฝันกลางวันที่ทำให้มีความสุข แต่ทางการแพทย์ได้ชวนให้ผู้ป่วยมาจินตนาการเพื่อรักษาตัวเองไปด้วย และสิ่งนี้ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีมาเสมอ เช่น การนำจินตนาการมาบำบัดความกลัว 

โดยพื้นฐานแล้วสมองไม่ได้เรียนรู้ที่จะกลัว แต่เราบันทึกความกลัวในสมอง 

ประมาณหนึ่งในสามของผู้คนในอเมริกาเป็นโรคกลัว โรควิตกกังวล รวมถึงโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวช เกิดจากการที่ผู้ป่วยเผชิญกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายจนสร้างบาดแผลไว้ในใจ 

ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา แพทย์พยายามบำบัดขั้นต้นด้วย วิธีการสัมผัส (Exposure therapy)  โดยจะให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่พวกเขากลัวอย่างซึ่งๆ หน้า ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสของจริงหรือจินตนาการ โดยที่จะต้องอยู่ในระยะปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายจากสิ่งตรงหน้า 

เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นไม่เป็นอันตราย ผู้ป่วยก็จะค่อยๆ คลายจากความกลัว การรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลมาเสมอ เพียงแต่ในตอนนั้นยังไม่มีการวิจัยว่าการรักษาด้วยวิธีนี้ส่งผลต่อสมองของมนุษย์เราอย่างไร 

กระทั่งปัจจุบัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ และ โรงเรียนแพทย์ไอคาน (Icahn School of Medicine) ได้ทำการทดลองเรื่องภาพในสมอง และผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่าจินตนาการเป็นเครื่องมืออย่างดีที่ช่วยให้คนเราเอาชนะความกลัวและวิตกกังวลได้ 

โดยพื้นฐานแล้วสมองไม่ได้เรียนรู้ที่จะกลัว แต่จากการสัมผัสบางสิ่งครั้งแรกแล้วรู้สึกกลัว เราได้บันทึกความกลัวลงไปในสมอง การแสดงออกครั้งต่อไปเมื่อเจอสิ่งเดิมจึงมาในรูปแบบของความกลัว หากได้เผชิญหน้ากับสิ่งนั้นในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย หรือจินตนาการถึงอยู่เสมอๆ โดยที่ร่างกายไม่ได้รับความอันตราย ความกลัวจะค่อยๆ หายไป และในทางสถิติแล้วการเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าที่น่ากลัวโดยการสัมผัสของจริงนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกับการเผชิญในจินตนาการเลยแม้แต่น้อย 

จินตนาการถึงตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม 

ผลการศึกษาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลิมัท ประเทศอังกฤษ พบว่าการจินตนาการจะช่วยให้คนเราลดน้ำหนักได้สำเร็จ โดยไม่ใช่แค่จินตนาการถึงช่วงเวลาออกกำลังกาย งดของหวานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการมองภาพของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการลดน้ำหนักอีกด้วย 

ดร.ลินดา โซลบริก (Linda Solbrig) หัวหน้าการวิจัยครั้งนี้เสริมว่าการลดน้ำหนักจะมีโอกาสสำเร็จได้หากจินตนาการถึงเป้าหมายให้เห็นภาพชัดเจน ยิ่งไปกว่าการเห็นภาพคือการจินตนาการว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างหากมีรูปร่างอย่างที่ใจต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเหินได้สะดวกขึ้น แข็งแรงมากขึ้น ไม่เจ็บป่วยง่าย ได้ใส่เสื้อผ้าแบบที่ชอบ 

Placebo Effect : ใช้ความคิดเยียวยาความเจ็บป่วย 

Placebo effect คือ ภาวะที่ผู้ป่วยหายป่วยได้เองจากการรักษาด้วยยาหลอก (Placebo) อาจเป็นแป้งหรือวิตามินที่ไม่มีสรรพคุณอะไร แต่ขั้นตอนการรักษาส่วนที่สำคัญคือบอกผู้ป่วยว่านี่เป็นยาที่รักษาให้หายขาดได้ การทำให้พวกเขาเชื่อว่ากินยาแล้วจะหายป่วย เป็นกลไกของสมองที่ทำงานเหมือนกับการฝึกฝนด้วยจินตนาการ 

โดยการรักษาแบบนี้ใช้ในโรคซึมเศร้าไปจนถึงโรคพาร์คินสัน นักวิจัยระบุร่างกายจะตอบสนองต่อความคิดเชื่อมั่นว่าจะต้องหาย โดยจะสร้างภูมิคุ้มกันหรือการปล่อยฮอร์โมนบางชนิดเพื่อออกมาเยียวยาตัวเอง 

 

ไม่ใช่แค่การรับรู้ ภาพ รส กลิ่น เสียง ความรู้สึกต่อบางสิ่งเร้าที่เปลี่ยนไปแล้วทำให้ร่างกายของมนุษย์ได้รับการเยียวยาเพียงเท่านั้น แต่การจินตนาการยังถูกนำมาช่วยเปลี่ยนวิธีการมองโลกและตัวตนของเราอีกด้วย 

มีนักวิจัยมากมายที่ทำการทดลองเกี่ยวกับพลังของความคิดที่จะส่งผลกับชีวิตของคน อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญมากมายที่นำเอาวิธีจินตนาการไปใช้เพื่อสร้างความสุข สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนความคิดลบที่มีต่อตัวเองและมองโลกในแง่ดีขึ้นกว่าเดิม 

เมื่อรู้วิธีการทำงานของจินตนาการแล้ว ลองหยิบไปใช้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวพรีเซนท์งาน ฝึกวาดรูป หรือคิดถึงตัวเองในชุดออกกำลังกายเพื่อขุดให้ลุกจากเตียงแล้วไปยิม เชื่อว่าพลังของจินตนาการจะนำผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาให้เราได้เชยชม 

 

อ้างอิง