life

หลังจากกระแส ‘ฮุกกะ’ (Hygge) และ ‘ลุกกะ’ (Lykke) ปรัชญาความสุขจากเดนมาร์กผ่านพ้น พอเข้าสู่ปี 2017 ชาวโลกผู้ขี้เบื่อก็หาสิ่งใหม่มาแทนที่

หนังสือ Lagom: The Swedish Art of Balanced Living โดย Linnea Dunne ที่ได้รับการแปลหลายภาษาทั่วโลก (Photo: near.st)

นิตยสารโว้ก (Vogue) ผู้ทรงอิทธิพลด้านการกำหนดเทรนด์และไลฟ์สไลต์ ก็ได้ชุบชีวิต ‘ลากอม’ (Lagom อ่านว่า ลา – กอม) แนวคิดที่พูดถึงการปรับสมดุลในชีวิต ซึ่งฝังรากมายาวนานในสวีเดนให้ชาวโลกรู้จัก โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมา ‘ฮุกกะ’ เป็นการให้ความสำคัญเฉพาะห้วงอารมณ์หนึ่ง เช่น ความรู้สึกสบายอารมณ์ขณะจิบโกโก้ใส่มาร์ชเมลโลว์อุ่นๆ สักแก้ว หรือการได้ดื่มด่ำมื้ออาหารกับคนคุ้นเคยท่ามกลางแสงเทียนวูบไหว

แต่ ‘ลากอม’ นั้นเป็นวิถีที่จะมาปรับสมดุลการใช้ชีวิตในภาพใหญ่ให้เข้าที่เข้าทาง

พอดี ดีที่สุด

ลากอม มีรากศัพท์มาจากวลี “Laget om.” ที่ชาวไวกิ้งนิยมพูดขณะส่งแก้วไวน์วนรอบโต๊ะ หมายถึงให้ทุกคนจิบไวน์คนละอึกแต่พอประมาณ เพื่อที่ไวน์แก้วนั้นจะได้เพียงพอสำหรับทุกคนบนโต๊ะ

ตามคำจำกัดความที่มักพบเห็นกันบ่อยๆ  ลากอมคืออะไรที่ ‘Not too little, not too much. Just right.’

แปลง่ายๆ ว่า ‘ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป พอดีๆ’

และแม้แต่ในสวีเดนเองก็มีสุภาษิตที่ว่า ‘Lagom är bäst.’ หรือ “ความพอดีนั้นดีที่สุด”

Lagom ความพอดี
สุภาษิตสวีเดนที่ว่า ‘Lagom är bäst.’ หรือ “ความพอดีนั้นดีที่สุด”
“ความสมดุลที่พอดี” หัวใจสำคัญของ Lagom (photo: https://pixabay.com)

พอดี = สมดุล

บทความชิ้นหนึ่งจาก Lifehacker นำเสนอว่า การใส่แก่นความเป็น ลากอม ลงไปในวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกิน การแต่งกาย การใช้ชีวิต และการทำงาน จะช่วยให้ชีวิตมีสมดุลมากขึ้น

อย่างเช่นทำงานก็ควรทำแต่พอดี เมื่อถึงเวลาเลิกงานก็หมายถึงได้เวลาเดินออกจากที่ทำงานแล้ว

(Photo: https://pixabay.com)

ในอเมริกา การทำงานนอกเวลาอาจเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ที่สวีเดน การทำงานล่วงเวลานั้นแสดงถึงการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือหมายถึงปริมาณงานที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ เรายังสามารถใส่ลากอมเข้าไปในวิถีชีวิตด้านอื่นๆ เช่น การจัดการเสื้อผ้า เหมือนที่บทความ How to Lagom Your Wardrobe จาก Independent นำเสนอว่าเพียงใส่ใจดูแลรักษาเครื่องแต่งกายสักนิด หรือหัดซ่อมแซมในส่วนที่พอทำได้ เช่น เปลี่ยนซิป เปลี่ยนกระดุม สอยชายเสื้อ ฯลฯ ก็จะยืดอายุการใช้งานของเหล่านั้นให้ยาวนานขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ ซึ่งเป็นการใช้สอยที่ ‘เกินพอดี’

Lagom ลากอม
หนึ่งในคอนเซปต์ของ Lagom คือใส่ใจดูแลรักษาเครื่องแต่งกาย หรือหัดซ่อมแซมเสื้อผ้าด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่ เพราะอาจเป็นการใช้สอยที่ ‘เกินพอดี’ (Photo: https://pixabay.com)

ลากอม เกินพอดีในสายตาชาวสวีดีช?

อย่างไรก็ตาม คนสวีเดนบางคนก็ไม่ได้รู้สึกหลงใหลได้ปลื้มกับ ‘ลากอม’ เพราะคิดว่าแนวคิดดังกล่าวให้ความรู้สึกเคร่งครัด เหมือนคริสต์นิกายลูเธอร์แรนมากเกินไป ซึ่งชวนอึดอึดเกินกว่าจะนำมาเป็นหลักดำเนินชีวิตแบบชิคคูล

แถมนิยามที่นิตยสารโว้กเขียนเปรียบเทียบ ลากอม กับนมชนิด ‘mellanmjölk’ หรือนมกึ่งพร่องมันเนย คือ ความน่ารักน่าเอ็นดูของความเป็นกลาง ที่ไม่ได้ลีนจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้อุดมไปด้วยไขมันเช่นกัน

Lagom ลากอม นม milk mellanmjölk
นิตยสารโว้กเปรียบเทียบ Lagom กับนมชนิด ‘mellanmjölk’ หรือนมกึ่งพร่องมันเนย ที่ให้ความรู้สึกเป็นกลาง (Photo: storhushall.se)

แต่ข้อเขียนดังกล่าวก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไร เนื่องจากคำว่า mellanmjölk ในภาษาสวีดิช หากนำมาใช้นิยามตัวบุคคล ภาพยนตร์ หรือรสนิยมการตกแต่ง ก็พึงสังวรณ์ไว้ว่า นั่นอาจจะเป็นการดูหมิ่นมากกว่าจะเป็นคำชมอย่างที่โว้กพยายามนำเสนอ

นอกจากนี้ ชาวสวีเดนบางส่วนก็เห็นว่า ลากอม คือหนทางสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ที่นำสังคมสวีเดนไปสู่ภาวะที่ทุกคน ‘ลอยตัวเหนือปัญหา’ คือไม่เผชิญหน้า ไม่ขัดแย้ง และพยายามเป็นกลางมากเกินไป

เห็นได้จากสถานการณ์ทางการเมืองของสวีเดน ที่มักมีการหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ซึ่งทำให้ไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด ไม่มีการตัดสินอย่างเด็ดขาด ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการการจัดการอย่างไร หรือจะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน

เหล่านี้ล้วนเป็นเหรียญอีกด้านที่ถูกนำเสนอเพื่อคานกระแสไลฟ์สไตล์แบบลากอม ซึ่งก็เป็นธรรมดาโลกที่เมื่อเกิดกระแสนิยมในสิ่งใดอย่างท่วมท้น ในไม่ช้าย่อมมีกระแสเห็นต่างสิ่งนั้นตามมา

และแท้ที่จริง หากเปรียบลากอมเป็นเหรียญ ลากอมอาจไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่งของเหรียญ แต่เป็นด้านที่อยู่ตรงกลางระหว่างเหรียญสองด้านนั้น

lagom ลากอม
บรรยากาศการใช้ชีวิตในแนว Lagom ที่สวีเดน (Photo: www.lifehacker.com.au)

 

FACT BOX

สต็อกโฮล์ม Stockholm
ทิวทัศน์กรุงสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงประเทศสวีเดน (Photo:flickr by chas B)
  • ถึงบทความหลายสำนักจะนำเสนอว่าคนสวีเดนทำงานกันแบบชิลๆ เข้าออกตรงเวลา แถมมีเวลาพักระหว่างงาน แต่ค่า GDP ต่อหัวของสวีเดนจัดอยู่ในลำดับที่ 11 (สำรวจโดย IMF ในเดือนตุลาคม 2016) ในขณะที่อเมริกาอยู่ลำดับที่ 8 ซึ่งทิ้งห่างสวีเดนเพียง 4 อันดับเท่านั้น

 

อ้างอิง: