life

อีก 30 ปีข้างหน้า วันที่ได้นั่งย่างเนื้อหน้าเตาอาจกลายเป็นแค่เรื่องเล่าในอดีต

อาหารมีวิวัฒนาการมาทุกยุค อีก 30 ปีต่อจากนี้ไม่ว่ารูปแบบของอาหารจะเปลี่ยนไปแบบไหน ที่แน่ๆ มันจะเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับสภาพอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปแบบไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม ในอนาคตเราอาจไม่มีร้านเนื้อย่าง ร้านหมูกระทะให้เห็นกันตามมุมถนน เพราะเราแทบไม่มีพื้นที่เหลือพอสำหรับเลี้ยงสัตว์ และโลกอาจแบกรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ไหวอีกต่อไป 

พื้นที่เกษตรกรรมของโลก 75 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้ไปกับการเลี้ยงสัตว์และปลูกอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมนี้ยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน ภายในปี 2050 โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกสองพันล้านคน ซึ่งอาจทำให้โลกรองรับการผลิตไม่ไหวอีกแล้ว เพราะนอกจากเราจะไม่มีพื้นที่ป่าเพียงพอให้ถางไปทำฟาร์ม ก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ยังยิ่งทำให้โลกร้อนแบบกู่ไม่กลับอีกด้วย

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ EAT-Lancet ที่เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ การเพาะปลูก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก คาดว่าทางออกสำหรับความต้องการที่ไม่สิ้นสุดนี้คือ ในอนาคตมนุษย์เราจะต้องกินผัก ผลไม้ และพืชตระกูลถั่วเพิ่มเป็นสองเท่า และลดการบริโภคเนื้อแดงและน้ำตาลที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายลงราว 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะเป็นการเพิ่มตัวเลือกอาหารใหม่ๆ แล้ว วิธีนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคตอีกด้วย  

เมื่อถึงวันนั้น แน่นอนว่าอาหารของเราจะเปลี่ยนไป แล้วหน้าตาของเมนูในอนาคตจะเป็นแบบไหน becommon ขอชวนทุกคนนั่งไทม์แมชชีนไปยังปี 2050 แล้วดูกันว่าคนจากโลกอนาคตเขากำลังกินอะไรกัน

 

‘Plant-based meat’ 

เนื้อที่ทำจากพืช 

มนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากเป็นสองเท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และไม่มีวี่แววว่าจะลดลงเลยแม้แต่น้อย หนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้คือการหาสิ่งทดแทน Plant-based meat หรือ เนื้อที่ทำจากพืช จึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่ดีและกำลังได้รับความนิยม

เนื้อจากพืชอาจไม่ใช่อาหารแปลกใหม่สักเท่าไหร่นัก เพราะจัดอยู่ในหมวดอาหารมังสวิรัติที่ทุกคนคุ้นเคย แต่นี่เป็นอาหารมังฯ ที่กำลังอัพเลเวลขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื้อจากพืชในอนาคตจะใช้เทคโนโลยีในการแต่งทั้งรส กลิ่นและเนื้อสัมผัสให้เหมือนกับเนื้อจริงๆ ที่จะทำให้ลืมกลิ่นโปรตีนเกษตรแบบเดิมๆ ไปได้เลย 

ในอเมริกามีหลายบริษัทกำลังแข่งขันกันพัฒนาเนื้อจากพืชให้ออกมาเสมือนจริงและถูกปากผู้บริโภค หนึ่งในนั้นคือ Impossible Foods ที่ผลิตเนื้อเบอร์เกอร์จากพืชส่งให้เบอร์เกอร์คิง (Burger King) ไปทำเป็นเมนูวอปเปอร์ ตัวเนื้อทำมาจากโปรตีนข้าวสาลี โปรตีนมันฝรั่ง น้ำมันมะพร้าว สารปรุงรส และส่วนประกอบสำคัญคือ ฮีม (Heme) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เนื้อจากพืชมีรชาติเหมือนเนื้อวัวจริงๆ เดิมทีฮีมเป็นโมเลกุลที่พบได้ทั้งในพืชและสัตว์ แต่บริษัทผลิตฮีมจากพืชโดยการหมักยีสต์และดัดแปลงพันธุกรรมขึ้นมา เมื่อผสมลงในเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชก็จะช่วยให้รสชาติคล้ายเนื้อจริงๆ 

อุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโตอย่างคึกคัก เมื่อเกิดการแข่งขันขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าในอนาคตเราจะหาซื้อเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชได้ตามร้านทั่วไปในราคาที่ถูกลง กินกันได้ในชีวิตประจำ โดยไม่ต้องไปตามหาในมุมเล็กๆ ของซูเปอร์มาร์เก็ตอีกต่อไป 

‘Cultured meat’ 

เนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องแลป 

ข่าวดีสำหรับคนชอบเนื้อ และยังอยากกินเนื้ออยู่ อีกหนึ่งทางเลือกคือ เนื้อที่เพาะในห้องแลป ที่ใช้ตัวอย่างเนื้อเยื่อของสัตว์เพียงไม่กี่เซลล์มาเพาะให้ได้เนื้อปริมาณหลายสิบตัน

นวัตกรรมนี้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2013 โดย มาร์ค โพสต์ (Mark Post) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย มาสทริชต์ ในเนเธอร์แลนด์ เขาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากสเตมเซลล์ของวัวจนกลายเป็นเนื้อบดสำหรับทำแฮมเบอร์เกอร์

ต่อมาบริษัท Eat Just จากอเมริกาก็ผลิตเนื้อไก่จากห้องแลปขายเป็นครั้งแรกที่ร้านอาหารในสิงคโปร์เมื่อปี 2020 โดยได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์แล้วว่าปลอดภัย ไร้การปนเปื้อน และมีคุณค่าทางสารอาหารเหมือนกับเนื้อสัตว์ทั่วไป 

เนื้อสัตว์ที่ได้จากห้องแลปนั้นจะช่วยลดการปนเปื้อนของแบคทีเรียต่างๆ ที่มาจากมูลสัตว์ อีกทั้งยังได้เนื้อที่ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ และเป็นวิธีที่ทำให้เราไม่ต้องทำฟาร์มปศุสัตว์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป อีกทั้งยังหยุดวงจรการทรมานสัตว์ที่เกิดขึ้นในการผลิตแบบอุตสาหกรรม

ในอนาคตเนื้อสัตว์อาจไม่ได้หายไปจากจานอาหารของพวกเราเสียทีเดียว แต่อาจมีปริมาณน้อยลง เพราะการเลี้ยงเพื่อบริโภคจะพิถิพิถันขึ้น ทำให้เราได้กินเนื้อสัตว์คุณภาพดีกว่าเดิม ไม่ใช่เนื้อราคาถูกที่ผลิตทีละเยอะๆ เช่นทุกวันนี้ 

 

‘3D printing food’ 

อาหารสามมิติ สัมผัสเหมือนจริง  

ความสุนทรีย์ในการกินอาหารที่ทำจากพืชจะยังคงไม่เปลี่ยนไป เราจะไม่ต้องทนทุกข์กับเนื้อสัมผัสเย็นๆ หยาบๆ ของผักเสมอไป เพราะเทคโนโลยีการพิมพ์อาหารแบบ มิตินั้นสามารถจำลองพื้นผิวและเนื้อสัมผัสของอาหารให้เหมือนกับต้นฉบับได้

เทคโนโลยีการพิมพ์ มิติกำเนิดขึ้นตั้งแต่ 30 ปีก่อน เพื่อใช้สร้างโมเดลเสมือนจริง และมีการนำมาใช้จริงในอุตสาหกรรมอาหารแล้ว เช่น สำหรับเชฟที่สร้างอาหารรูปทรงแปลกใหม่ หรือช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหากับการเคี้ยวอาหาร ที่ทำให้ยังได้กินอาหารรูปทรงเหมือนจริง ทว่าเป็นมิตรกับการย่อย

เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้โลกมองไกลไปถึงความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต หากเราไม่สามารถทำฟาร์มปศุสัตว์ได้อย่างสะดวกสบายเหมือนเดิม แล้วจะมีอะไรมาเป็นสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์ Redefine Meat สตาร์ตอัพสัญชาติอิสราเอล จึงทดลองทำสเต็กจากเครื่องพิมพ์ มิติ ที่มีเนื้อสัมผัส มันแทรก เหมือนกับเนื้อจริงทุกประการ และวางแผนว่าจะวางจำหน่ายในร้านอาหารยุโรประดับไฮเอนด์ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากจะทำให้ได้เนื้อเสมือนจริงแล้ว การพิมพ์แบบ มิติยังเป็นอีกส่วนที่ช่วยลดปริมาณเศษอาหารอีกด้วย เพราะในเศษอาหารบางชนิดยังเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการพิมพ์ได้ นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและลดของเสียอันเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนอีกด้วย 

 

‘แมลง’ 

แหล่งโปรตีนชั้นดี 

แม้แมลงจะไม่ใช่อาหารมื้อหลัก แต่เป็นอีกแหล่งโปรตีนทางเลือกที่น่าสนใจ จากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN Food and Agriculture Organisation) ระบุว่ามีประชากรโลกอย่างน้อย พันล้านคนบริโภคแมลงเป็นอาหารเป็นปกติ

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเชื่อว่าในอนาคตเราจะต้องหาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ เพื่อมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ทางออกแรกคือการลดโปรตีนที่ไม่จำเป็นออกไป และอีกทางเลือกหนึ่งคือหันไปหาแหล่งโปรตีนทางเลือก เช่น แมลง เพราะในแมลงอุดมไปด้วยโปรตีน อีกทั้งยังมีไขมัน โปรตีน วิตามิน ไฟเบอร์ และแร่ธาตุสูง นอกจากนี้แมลงยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเนื้อสัตว์ในอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยแบคทีเรียและยาปฏิชีวนะ  

 

‘สาหร่าย’ 

เพาะง่าย โตง่าย สารอาหารเพียบ 

สาหร่ายสามารถเติบโตได้ในสระน้ำได้เช่นเดียวกับปลา แต่มีต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่ถูกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า สามารถยังเติบโตได้ง่ายทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ในตัวสาหร่ายอุดมไปด้วยแคลเซียม โปรตีน เหล็ก วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผลไม้หรือผักชนิดอื่นๆ จึงทำให้สาหร่ายเป็นอาหารชั้นดีของทั้งคนและสัตว์

Terramino Foods สตาร์ตอัพในซานฟรานซิสโกได้พัฒนากระบวนการที่สามารถเปลี่ยนสาหร่ายให้เป็น ‘เบอร์เกอร์ปลาแซลมอน’ ที่มีหน้าตา รสชาติและกลิ่นเหมือนปลาจริงๆ 

คิมเบอร์ลี ลี (Kimberlie Le) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทดังกล่าว เล่าว่าปัญหาของการบริโภคปลาคือเรามีการตกปลากันมากเกินไป อีกทั้งเนื้อปลายังสะสมมลพิษเอาไว้มากมาย ทั้งสารปรอทและไมโครพลาสติก อาหารจากสาหร่ายจึงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้การกินอาหารในอนาคตยั่งยืนได้

อ้างอิง