การตกอยู่ในวังวนการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่สอง อาจทำให้การเฝ้าระวังอันตรายจากโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ไปบดบังอีกหนึ่งภัยเงียบที่ยังคงเดินหน้าทวีความรุนแรงต่อไปเรื่อยๆ ราวกับเป็นคลื่นใต้น้ำลูกมโหฬาร
นั่นคือ สภาวะโลกร้อน ที่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนอย่างหนักหน่วงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ
ไล่มาตั้งแต่ปี 2018 ที่เกิดคลื่นความร้อนพัดผ่านยุโรปตามหลังฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด ทำให้มีผู้สูงอายุเสียชีวิตนับพันคน และในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน เกิดไฟไหม้ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ปี 2019 ออสเตรเลียเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งติดต่อกันยาวนานถึง 4 ปี รวมถึงผู้คนในประเทศอินเดียที่ต้องทนทุกข์กับอุณหภูมิที่สูงถึง 50 องศาเซลเซียส
และในเดือนสิงหาคม ปี 2019 เกิดไฟป่าในบราซิลที่เผาผลาญเป็นอาณาบริเวณกว้างกว่าปีก่อนถึงสองเท่าตัว
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนักวิทยาศาสตร์ต่างก็เคยคาดการณ์กันล่วงหน้าไว้แล้วว่าสภาพอากาศของโลกจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพียงแต่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าสภาวะการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้
โดยเฉพาะเมื่อนักธรณีวิทยาธารน้ำแข็งออกมายอมรับ ว่าในปัจจุบันน้ำแข็งละลายเร็วกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้เมื่อสิบปีก่อนถึงสามเท่า โดยในศตวรรษนี้ ระดับน้ำทะเลไม่ได้สูงขึ้นแค่ 2-3 เซ็นติเมตร แต่สูงขึ้นเป็นเมตร!
หากจะคำนวณให้เห็นภาพยิ่งขึ้น นักธรณีวิทยาธารน้ำแข็งคาดการณ์ว่า เมื่อน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายหมด ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 70 เมตร
แน่นอนว่าพื้นที่ของท้องทะเลก็จะเพิ่มขึ้น และประเทศที่มีอาณาเขตติดทะเลก็จะค่อยๆ จมน้ำลงไปเรื่อยๆ
จากตัวอย่างที่ยกมาคนไทยอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะต่อให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรคงได้รับผลกระทบช้ากว่าใครเพื่อน
แต่ยังมีอีกหนึ่งความลับที่เราอาจจะยังไม่รู้ ก็คือ ที่จริงแล้วประเทศไทยอยู่ใกล้ขั้วโลกในระดับที่ห่างแค่ปลายจมูก
ขั้วโลกดังกล่าว ก็คือ ขั้วโลกที่สาม หรือที่ราบสูงทิเบต ที่ได้รับสมญาว่าเป็นดินแดนแห่งหลังคาโลก เพราะเป็นเขตที่ราบสูงที่มีภูเขาล้อมรอบถึง 3 ด้าน ได้แก่ เทือกเขาคุนหลุน เทืองเขาคาราโครัม และเทือกเขาหิมาลัย
นักนิเวศวิทยาของจีนจึงนิยามพื้นที่บริเวณนี้ว่าไม่ต่างอะไรจากขั้วโลก เพราะเป็นดินแดนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามที่มีน้ำแข็งปกคลุมรองจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
ดังนั้น อิทธิพลจากภาวะโลกร้อนในที่ราบสูงทิเบตย่อมส่งผลกระทบไปยังผู้คนกว่า 1.5 พันล้านชีวิต หรือคิดเป็นจำนวนหนึ่งในห้าของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ และพึ่งพาแม่น้ำสายสำคัญๆ ที่มีต้นน้ำอยู่ในที่ราบสูงทิเบตในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำคงคา กรรณลี พรหมบุตร สินธุ สัตเลช อิรวดี สาละวิน ฮวงโห แยงซี และแม่น้ำโขง
ลองจินตนาการว่าที่ราบสูงทิเบตเปรียบเสมือนถังน้ำใบใหญ่ที่สุดของโลกที่ใส่น้ำไว้เต็มปรี่ แล้ววันดีคืนดีจู่ๆ ถังน้ำใบยักษ์ก็คว่ำลง จะเกิดอะไรขึ้น…
แม้ในความเป็นจริง การละลายของธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบตจะไม่ได้ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ไหลบ่าลงมาจากเทือกเขาหิมาลัยแบบฉับพลัน แต่อุณหภูมิบนที่ราบสูงทิเบตที่เพิ่มสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยทั่วโลกเท่าตัว ก็ทำให้ธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกที่สามกำลังละลายในอัตราความเร็วเพิ่มขึ้น ทำให้นอกจากธารน้ำแข็งสายเล็กๆ กว่า 500 สายจะละลายหายไปจนหมดแล้ว ผลการวิจัยยังรายงานว่าบรรดาธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดก็กำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
นอกจากนี้ การตัดไม้ทำลายป่าเป็นวงกว้างบนที่ราบสูงทิเบตยังทำให้ปริมาณแสงอาทิตย์สะท้อนจากหิมะขึ้นไปในอากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงลมมรสุมต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในทิเบตเท่านั้น แต่กินอาณาบริเวณในหลายประเทศโดยรอบทั้งหมด
สภาวะการณ์ดังกล่าวย่อมสะเทือนใจชาวทิเบตมากกว่าใครในโลก เมื่อบ้านที่เคยสงบสุขอย่างสันโดษและเพียบพร้อมด้วยธรรมชาติอันอุดมของพวกเขาถูกทำลายจนพลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“ก่อนที่จะถูกจีนยึดครอง ทิเบตเป็นดินแดนที่สวยสดงดงาม มีธรรมชาติซึ่งยังไม่ถูกทำลายท่ามกลางสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์พิเศษ ช่างน่าเศร้าที่ในช่วงหกสิบปีที่ผ่านมานี้ สัตว์ป่าและระบบนิเวศที่เปราะบางของทิเบตได้ถูกทำลายไปเกือบหมดภายใต้การยึดครองของจีน สิ่งน้อยนิดที่ยังพอหลงเหลืออยู่จะต้องได้รับการปกป้อง เราจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของทิเบตให้กลับมามีสภาพสมดุลดังเดิม”
องค์ทะไลลามะที่ 14 ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ทรงเอ่ยถึงบ้านเกิดของพระองค์ไว้ในการให้สัมภาษณ์กับ ฟรันซ์ อัลท์ ผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อมชาวเยอรมัน ซึ่งรวบรวมไว้ในหนังสือ บ้านหลังเดียวของเรา คำวิงวอนเพื่อโลกและภูมิอากาศ (Our Only Home: A Climate Appeal to the World by H.H. The 14th Dalai Lama and Franz Alt)
“เมื่อแรกที่อาตมาลี้ภัยจากทิเบตเข้ามายังอินเดีย อาตมาไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งแรกที่อาตมาได้ยินคนบอกว่า “น้ำนี้ดื่มไม่ได้” อาตมาแปลกใจที่น้ำสกปรก ในประเทศทิเบต เวลาที่เดินผ่านลำธาร เราจะดื่มน้ำจากลำธารอย่างไม่มีปัญหาเลย ต่อมา อาตมาถึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับมลภาวะ และค่อยๆ รู้มากขึ้นเกี่ยวกับระบบนิเวศ”
ดังนั้น จากเดิมที่องค์ทะไลลามะทุกพระองค์ในอดีตทรงมีภารกิจหลักในฐานะผู้นำของพุทธศาสนาสายทิเบต พันธกิจขององค์ทะไลลามะที่ 14 ผู้ต้องเผชิญหน้ากับหลากหลายปัญหาแห่งศตวรรษที่ 20 ทั้งการทำลายล้างและความทุกข์จากภัยสงคราม และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงผนวกหน้าที่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วยอย่างเต็มพระทัย
และพระองค์เชื่อมั่นว่า จริยธรรมจะเป็นอาวุธสำคัญในการต่อกรกับปัญหานี้ได้ดีที่สุด
จริยธรรมดังกล่าวเป็นจริยธรรมแบบโลกวิสัย หรือ ‘จริยธรรมเชิงนิเวศน์’ ซึ่งเป็นแนวคิดในการสลายพรมแดนของประเทศชาติ ศาสนา รวมถึงวัฒนธรรม แล้วมุ่งเน้นให้มนุษย์ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าภายในจิตใจของตนเอง เช่น สติ ความกรุณาต่อสรรพสัตว์ การฝึกอบรมจิต ฯลฯ
“การจะทำให้โลกสงบสุขขึ้นและมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น บางครั้งเรากลับชี้นิ้วไปที่คนอื่น แล้วบอกว่าเขาควรทำนั่นทำนี่ แต่ความเปลี่ยนแปลงจะต้องเริ่มที่ตัวเราในฐานะปัจเจก”
“หากคนหนึ่งคนมีความกรุณามากขึ้น ความกรุณาของเขาก็จะส่งอิทธิพลต่อไปถึงคนอื่นๆ แล้วเช่นนี้เอง เราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงโลก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าธรรมชาติพื้นฐานของเราคือ ความกรุณา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก” พระองค์ทรงขยายความถึงการเริ่มต้นงานอนุรักษ์ที่ควรเกิดขึ้นจากการเกิดความกรุณาเป็นพื้นฐานสำคัญ
“ประชากรโลกเจ็ดพันล้านคนจะต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน เราไม่มีเวลาจะมัวมาคิดว่านี่ประเทศของฉัน นั่นทวีปของเธอ อีกต่อไป แต่เราจำเป็นจะต้องมีสำนึกรับผิดชอบระดับโลกให้มากกว่าเดิม” องค์ทะไลลามะยังได้ส่งสาส์นไปถึงบรรดานักการเมืองทั่วโลกว่า ควรลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเด็ดขาดได้แล้ว หลังจากที่มีการประชุมว่าด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศกันมาแล้วกว่า 20 ครั้ง
“แค่ออกมาแสดงทัศนะหรือจัดการประชุมนั้นยังไม่พอ แต่เราจะต้องเขียนตารางเวลาเอาไว้เลยว่าจะลงมือเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรและเมื่อใด”
ในหนังสือ บ้านหลังเดียวของเราฯ ได้เสนอทางออกสำหรับภาครัฐไว้ 5 ประการ ได้แก่
- เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม จากน้ำ จากชีวมวล และพลังงานความร้อนใต้พิภพ
- งดใช้พลังงานจากถ่านหินและจำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้
- เปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า เช่น จักรยานไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และเพิ่มขนส่งสาธารณะขึ้นอีกเท่าตัว
- ปฏิเสธการใช้ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืชแล้วเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์
- ปลูกป่าและฟื้นฟูผืนดินที่แห้งแล้งให้กลับมาเขียวขจีในทุกประเทศทั่วโลก
แต่ก็อย่างที่อ้างถึงข้างต้น ที่แม้แต่พระองค์เองยังทรงต้องสะกิดไปยังนักการเมืองทั่วโลก ที่ยังคงรีๆ รอๆ ในการออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ลงมือปฏิบัติเสียที จนทำให้เด็กสาววัยเพียง 16 ปีอย่าง เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เหลืออด และเดินหน้าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมเต็มตัว โดยเธอยังคงออกมาเคลื่อนไหวให้บรรดาผู้นำทางการเมืองได้สะดุ้งสะเทือน และมุ่งเน้นให้ชาวโลกตระหนักถึงปัญหานี้ร่วมกัน
องค์ทะไลลามะจึงทรงเน้นย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐบาลหรือนักการเมืองขยับตัว แต่สามัญชนก็เริ่มลงมือกู้โลกด้วยตัวเองได้ทันที แข่งกับแต่ละวินาทีที่ทุกขั้วโลกกำลังละลาย
“ในระดับปัจเจก เราควรเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ควรใช้น้ำและไฟฟ้าให้น้อยลง ปลูกต้นไม้ และลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (ถ่านหิน) ที่ต้องอาศัยเวลานับล้านปีในการก่อตัว เราควรใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม หรือจากความร้อนใต้พิภพ”
หรือถ้าจะเริ่มต้นในแบบเดียวกับพระองค์ก็ไม่ทรงหวงวัตรปฏิบัติแต่อย่างใด
“เวลาออกจากห้อง อาตมาจะปิดไฟ อาตมาอาบน้ำฝักบัวแทนที่จะลงไปแช่ในอ่าง อาตมาฉันเนื้อสัตว์แต่น้อย และสนับสนุนให้คนอื่นทำแบบเดียวกัน”
อ้างอิง
- องค์ทะไลลามะที่ 14 กับฟรันซ์ อัลท์ เขียน, นัยนา นาควัชระ แปล. บ้านหลังเดียวของเรา. สวนเงินมีมา, 2564.