เคยรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกบางสิ่งบางอย่างจ้องมองหรือเปล่า
ท่ามกลางความเงียบสงัดยามวิกาลในคืนวันที่ 31 มีนาคม 2020 ชายหนุ่มชาวเม็กซิกันคนหนึ่งกำลังรีบเดินกลับบ้านด้วยใจที่สั่นเต้นจากความกลัว ถึงแม้ว่าจะยังพอมีแสงสลัวจากดวงจันทร์สาดส่องผ่านเมฆทมึนตกกระทบพื้นดินทำให้มองเห็นทางเดินอยู่บ้าง แต่บรรยากาศไม่น่าไว้วางใจรอบตัวกลับทำให้เขาไม่อาจสลัดทิ้งความหวั่นเกรงพ้นไปจากใจได้หมด มิหนำซ้ำเขายิ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะถูกความมืดกลืนกินในไม่ช้า
จังหวะนั้นเขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อยู่ดีๆ แสงสว่างจากดวงจันทร์ก็ริบหรี่ลง เขารวบรวมความกล้าที่มีอยู่น้อยนิด เงยหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วพลันผงะ เพราะสิ่งที่เห็นไม่ใช่ดวงจันทร์ แต่เป็นดวงตาโกรธแค้นของปีศาจ
มันกำลังจับจ้องมายังเขาไม่ละสายตา ความกลัวทำให้เขาสับสนจนทำอะไรไม่ถูก ร่างกายเปียกชุ่มด้วยเหงื่อ ขาแข็งทื่อก้าวไม่ออกอยู่พักใหญ่ ทว่าเมื่อรวบรวมสติได้ เขาจึงรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นแค่ภาพลวงที่เขาเติมแต่งขึ้นเองจากจินตนาการ
สาเหตุที่เขามองเห็นเป็นตา เพราะนึกถึงภาพวาด L’ange déchu (The Fallen Angel) หรือเทวภูตตกสวรรค์ ในปี 1847 ของ อเล็กซานเดอร์ คบาเนล (Alexandre Cabanel) จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้ถ่ายทอดความเคียดแค้นและความขบถให้ปรากฏอยู่ในดวงตาเดือดดาลของลูซิเฟอร์
ตามความเชื่อของเทพปกรนัมกรีกและศาสนาคริสต์ ลูซิเฟอร์ (Lucifer) คืออดีตเทพหรือทูตสวรรค์ แต่ด้วยความทนงตนและเย่อหยิ่งในอำนาจจึงพยายามก่อกบฏหวังโค้นล้มเทพสูงสุด แต่การกลับไม่สำเร็จ เขาจึงถูกพิพากษาให้ตกจากสวรรค์ กลายเป็นปีศาจตัวแทนความชั่วร้ายในท้ายที่สุด
คำถามคือทำไมคนเราจึงมองเห็นภาพอะไรก็ตามเป็นสิ่งอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะใบหน้ามนุษย์ แม้ว่าภาพที่เห็นกับสิ่งที่คิดไม่มีความสัมพันธ์หรือข้องเกี่ยวต่อกันเลยสักนิด
หากยังรู้สึกว่าค้านสายตา ลองดูภาพต่อไปนี้แล้วให้คะแนนตัวเอง โดยมีเกณฑ์ง่ายๆ เพียงข้อเดียวคือ แต่ละภาพมีค่า 1 คะแนน จะได้คะแนนก็ต่อเมื่อมองเห็นหน้ามนุษย์หรือลักษณะคล้ายคลึงกับใบหน้าในภาพนั้นๆ แบบทดสอบนี้ประกอบด้วยภาพถ่ายทั้งหมด 10 ภาพ รวม 10 คะแนน (อ่านรายละเอียดของแต่ละภาพได้ที่ท้ายบทความ)
ภาพที่ 01/10
ภาพที่ 02/10
ภาพที่ 03/10
ภาพที่ 04/10
ภาพที่ 05/10
ภาพที่ 06/10
ภาพที่ 07/10
ภาพที่ 08/10
ภาพที่ 09/10
ภาพที่ 10/10
ผลการทดสอบไม่มีถูกหรือผิด แต่ยิ่งได้คะแนนมากเท่าไหร่ แสดงว่ายิ่งมีแนวโน้มมองเห็นสิ่งต่างๆ เป็นใบหน้ามนุษย์มากเท่านั้น แล้วการเห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความไม่ปกติทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติด้วย เพราะโดยทั่วไปแล้ว ในชีวิตประจำวันของทุกคนต่างมีโอกาสมองเห็นสิ่งธรรมดาคับคล้ายคับคลากับอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Pareidolia หรือ แพริโดเลีย
Pareidolia เป็นคำใหม่ที่เกิดจากคำในภาษากรีก คือ คำว่า para (παρά) หมายถึง เทียบเคียงหรือเหนือกว่า และคำว่า eidolon (εἴδωλον) หมายถึง รูปร่างหรือภาพที่ปรากฏ แต่ความหมายที่แท้จริงของ Pareidolia อธิบายครอบคลุมถึงสิ่งเร้ารูปแบบต่างๆ ที่มนุษย์รับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัส อาจเป็นภาพที่ตามองเห็น หรือเสียงที่หูได้ยิน แต่สมองแปลความคลาดเคลื่อนและผิดพลาดไป โดยเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์หรือความทรงจำเกิดเป็นความคุ้นเคยว่าสิ่งที่รับรู้มีลักษณะคล้ายกับสิ่งอื่น ซึ่งเคยเห็นและเคยฟังมาก่อน
ถึงตรงนี้ ย้อนกลับไปตอบคำถามที่ค้างไว้ช่วงต้นบทความได้แล้วว่า ทำไมชายหนุ่มชาวเม็กซิกันจึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นตวงตาดุดันของลูซิเฟอร์ ก็เพราะเป็นไปได้ว่าเขาเคยเห็นภาพวาด แล้วสมองเลือกจดจำภาพนั้นไว้ เมื่อเห็นภาพอื่นที่คล้ายกัน สมองจึงจับคู่ระหว่างสิ่งเร้าใหม่กับความจำเก่า เกิดการทับซ้อนของภาพ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ Pareidolia ในที่สุด
ตัวอย่างของ Pareidolia ไม่ได้จำกัดแค่ภาพใบหน้ามนุษย์เท่านั้น บางคนอาจมองเห็นเป็นรูปร่างสัตว์ ตัวละครดังในการ์ตูนหรือภาพยนตร์ รวมทั้งวัตถุสิ่งของ เหมือนเวลามองรูปทรงของก้อนเมฆที่ค่อยๆ เคลื่อนลอยบนฟ้าแล้วเห็นเป็นรูปต่างๆ หรือเห็นกระต่ายบนดวงจันทร์ แต่สาเหตุที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า Pareidolia คือปรากฏการณ์เห็นใบหน้ามนุษย์ในสิ่งของก็เพราะเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นง่ายและบ่อยกว่า
ปรากฏการณ์ Pareidolia จึงเป็นทั้งความขำขันเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเสริมจินตนาการ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจสร้างความแตกตื่นขึ้นได้ โดยเฉพาะในหมู่คนที่เคร่งครัดกับหลักความเชื่อบางอย่างหรือศรัทธาต่อหลักคำสอนและศาสดาของศาสนา ซึ่งมีแนวโน้มเกิด Pareidolia มากกว่าคนอื่น เมื่อมองเห็นภาพลักษณะคลุมเครือ ก็มักจะตีความเข้าข้างความงมงายและเรื่องโชครางที่ตนเองนับถือ เช่น เห็นต้นไม้ออกดอกออกผลผิดรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นำโชค
ดังนั้น ข้อเตือนใจและเตือนสติที่มนุษย์เรียนรู้ได้จาก Pareidolia ก็คือ สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะสมองอาจเล่นสนุกกับการแปลผลภาพจนทำให้หลงคิดไปว่า ภาพตรงหน้าคือความจริง ทั้งๆ ที่เป็นการล่อลวงชวนให้เผลอคิดไปไกลเท่านั้นเอง
อ้างอิง
- Rebecca J. Rosen. Pareidolia: A Bizarre Bug of the Human Mind Emerges in Computers. https://bit.ly/3guqqaA
- Stephanie Pappas. Why It’s Perfectly Normal to See Jesus in Toast. https://bit.ly/3xf6LSy
- Virginia Hughes. Why Do We See the Man in the Moon?. https://on.natgeo.com/3wqyOi3
รายละเอียดภาพถ่ายที่ใช้ทดสอบ
- ภาพที่ 01: ภาพถ่ายพื้นผิวหินคล้ายหน้าคนบนดาวอังคารในปี 1976 บันทึกโดยยานไวกิ้ง 1 (Viking 1) ขององค์การสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกา หรือ NASA
- ภาพที่ 02: ภาพหลังคากระเบื้องของบ้านหลังหนึ่งในย่านพักอาศัยของทรานซิลเวเนีย ประเทศโรมาเนีย
- ภาพที่ 03: ภาพตัดขวางของ Marram grass หรือใบพืชตระกูลหญ้าที่ขึ้นบนทราย ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูรายละเอียดภายในเซลล์พืช เป็นภาพเก่าที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 1984
- ภาพที่ 04: ภาพขนมปังชีสที่ใช้เวลาอบนานเกินไปจนเกิดรอยไหม้สีดำบนชีสแผ่น เจ้าของเห็นเป็นภาพพระเยซูคริสต์
- ภาพที่ 05: ภาพคราบกาแฟที่เหลืออยู่ในก้นแก้ว
- ภาพที่ 06: ภาพวาดตระกร้าใส่ผลไม้กลับหัว โดย จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด (Giuseppe Arcimboldo) จิตรกรชาวอิตาลีผู้มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 16
- ภาพที่ 07: ภาพกล้องสาธารณะสำหรับส่องดูท้องฟ้าที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
- ภาพที่ 08: ภาพอัลตร้าซาวด์อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ของคุณแม่ชาวอเมริกันวัย 39 ปี หากหมุนภาพทวนเข็มนาฬิกา 90 องศา จะเห็นเป็นพัลพาทีน (Sheev Palpatine) หรือ ดาร์ธ ซิเดียส (Darth Sidious) ตัวละครสำคัญในมหากาพย์ภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส (Star Wars)
- ภาพที่ 09: ภาพพื้นผิวต้นไม้ในฤดูร้อน
- ภาพที่ 10: ภาพคราบสกปรกและรอยเปื้อนบนพื้นคอนกรีตของบ้านอายุเก่าแก่หลังหนึ่งในประเทศสเปน ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 1971 เชื่อกันว่าเป็นภาพอาถรรพ์ที่ย้ายตำแหน่งได้เอง แต่ทั้งหมดน่าจะเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงที่เกิดจากฝีมือมนุษย์