life

ภาพที่คุณกำลังจะได้เห็น ไม่ใช่ Photo Hunt หรือเกมจับผิดภาพที่เล่นเอาสนุก ถึงแม้จะมีโจทย์คล้ายคลึงกัน คือหาจุดแปลกปลอมในภาพ แต่นี่คือแบบทดสอบที่เดิมพันด้วยความเป็นความตาย

ในการทดสอบนี้ คุณต้องสวมบทบาทเป็น ‘ศัลยแพทย์’ ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดปอดและทรวงอก ซึ่งกำลังปรึกษาหารือกับรังสีแพทย์อย่างเคร่งเครียดเพื่อเตรียมการผ่าตัดรักษาคนไข้มะเร็งปอด ผลจากการวินิจฉัยโดยฉายรังสีตรวจหาความผิดปกติบริเวณอก พบเนื้อร้ายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 2-4 เซนติเมตร จำนวน 9 ก้อน ทุกก้อนมองเห็นได้ชัดเจนบนแผ่นฟิล์มเอกซเรย์เป็นจุดสีขาวลักษณะค่อนข้างกลม

อีกไม่กี่ชั่วโมงจะถึงเวลาผ่าตัดจริง ทุกอย่างเตรียมพร้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อวางแผนการผ่าตัดอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด คุณจำเป็นต้องยืนยัน ‘ตำแหน่ง’ ของก้อนเนื้อทั้งหมดที่อยู่ในปอดกับรังสีแพทย์อีกครั้ง เพราะการลงมีดคือความเสี่ยงของคนไข้ ซึ่งจะคลาดเคลื่อนและผิดพลาดไม่ได้เด็ดขาด

คุณต้องตรวจดูภาพเอกซเรย์ด้านล่างนี้ และนับจำนวนเนื้อร้ายซึ่งมีอยู่ 9 ก้อน แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดพื้นที่แสดงผลภาพบนเว็บไซต์ ทำให้ขนาดก้อนเนื้อที่ปรากฏคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่อุปสรรคสำหรับคุณ เพราะหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของศัลยแพทย์คือ eagle’s eyes หรือมีตาเฉียบแหลมและแม่นยำดุจนกอินทรีจับจ้องเหยื่อได้ไม่คลาดสายตา

ย้ำอีกครั้ง ภายในปอดของคนไข้มีเนื้อร้าย 9 ก้อน ซึ่งมองเห็นเป็นจุดวงกลมสีขาว คุณต้องระบุตำแหน่งให้ครบถ้วน

ภาพเอกซเรย์ (CT scan) ดัดแปลงจาก Trafton Drew and Jeremy Wolfe (2013)
Photo: Pijitra Phomkham / Shutterstock

เอาล่ะ คุณลืมบทบาทศัลยแพทย์ไปได้เลย รวมถึงตำแหน่งเนื้อร้ายนั่นด้วย เพราะทั้งหมดคือการลวงให้คุณหลงเชื่อ จะได้เพ่งความสนใจอยู่กับจุดขาวในปอดเท่านั้น คุณไม่ทันสังเกตเห็นด้วยซ้ำว่า บนแผ่นฟิล์มเอกซเรย์มีสิ่งแปลกปลอมมากกว่าเนื้อร้ายเสียอีก มันคือ ‘กอริลลา’ คุณมองเห็นหรือเปล่า? ถ้าไม่เชื่อลองย้อนกลับขึ้นไปดูภาพเอกซเรย์อีกครั้ง

ไม่แปลกหากคุณมองไม่เห็น เพราะคนส่วนใหญ่ก็มองไม่เห็นเหมือนกัน แม้กระทั่งคนเป็นแพทย์จริงๆ มากถึง 83% ก็ยังมองไม่เห็นเจ้ากอริลลาที่ว่า เป็นไปได้อย่างไร ร่างกายกำลังเล่นมายากลอยู่อย่างนั้นเหรอ?

ความจริงคือแบบทดสอบนี้เรียกว่า selective attention test ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการวัดคุณภาพสายตา จึงบอกไม่ได้ว่าตาของคุณดีหรือไม่ แต่ใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์ inattentional blindness หรือภาวะตาบอดจากการไม่ได้สนใจ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนมองไม่เห็นกอริลลา

ภาพต้นฉบับกอริลลา
Photo: Volkova Natalia / Shutterstock

ปกติรอบตัวเรามีสิ่งเร้ามากมายที่เรียกร้องให้เราหันเห่ความสนใจไปมองหรือฟัง เมื่อเราเพ่งสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความตั้งใจมากๆ เราจะสนใจแต่สิ่งนั้นเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจสิ่งอื่นๆ ที่เหลือ เช่น เราเลือกฟังเสียงพูดของเพื่อน ขณะสังสรรกันในงานเลี้ยงรื่นเริงที่อื้ออึงจากทั้งเสียงคนอื่นๆ และเสียงดนตรี เรียกปรากฏการณ์นี้ได้อีกอย่างว่า cocktail party effect หรือขณะมองหาสิ่งที่ต้องการซื้อบนชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต แม้กระทั่งอุบัติเหตุรถชนกันบนท้องถนน เพราะใจของคนขับจดจ่อจ้องหน้าจอโทรศัพท์ ทำให้ไม่ทันมองเห็นรถคันข้างหน้า ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการเลือกสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น

เมื่อเลือกสนใจเฉพาะอย่าง หรือ selective attention จะทำให้เราพลาดสิ่งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน แม้ว่าสิ่งนั้นจะโดดเด่นมากๆ ขนาดโผล่ขึ้นมาให้เห็นเต็มตา หรือเปล่งเสียงดังให้ได้ยินเต็มหู แต่เราไม่ได้สนใจแต่แรก สิ่งนั้นจึงไร้ค่าไร้ความหมายสำหรับเรา เพราะอยู่นอกเหนือความสนใจ

แล้วกอริลลาเกี่ยวอะไรด้วย?

ช่วงทศวรรษที่ 1970 อุลริค ไนส์เซอร์ (Ulric Neisser) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน ออกแบบการทดลองหนึ่งขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่อง selective looking หรือการมองแต่สิ่งที่สนใจ โดยกำหนดให้อาสาสมัครดูเทปบันทึกภาพกลุ่มคนกำลังรับส่งลูกบาสเกตบอลไปเรื่อยๆ หน้าที่ของอาสาสมัครคือนับจำนวนครั้งที่ฝ่ายเสื้อสีขาวส่งลูกบาสเกตบอลให้กัน

ผลการทดลองพบว่า อาสาสมัครนับจำนวนรับส่งลูกลูกบาสเกตบอลได้ครบถ้วน โดยไม่เห็นว่าระหว่างทดสอบมีผู้หญิงชุดดำเดินถือร่มผ่านในเทปบันทึกภาพ เพราะสมาธิของพวกเขาจดจ่ออยู่กับผู้เล่นเสื้อสีขาวเท่านั้น

ผู้หญิงชุดดำเดินถือร่ม
Photo: Neisser, U., & Becklen, R. (1975). Selective looking: Attending to visually specified events.

การทดลองนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ แดเนียล ไซมอนส์ (Daniel Simons) และ คริสโตเฟอร์ ซาบริส (Christopher Chabris) ศาสตราจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา สร้างการทดลองแบบเดียวกันในปี 1990 เพียงแต่ครั้งนี้ พวกเขานึกสนุกให้คนใส่ชุดกอริลลาเดินเข้าไปอยู่ในเทปบันทึกภาพแทนผู้หญิงถือร่ม

ผลการทดลองยังคงเป็นเหมือนเดิม อาสาสมัครไม่ทันสังเกตเห็นว่ามีกอริลลาเดินผ่านไป เพราะขนสีดำของกอริลลาช่วยอำพรางตัวมันให้กลมกลืนไปกับฝ่ายผู้เล่นบาสเกตบอลเสื้อสีดำ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่อาสาสมัครให้ความสนใจ ทุกอย่างที่นอกจากจากผู้เล่นเสื้อสีขาว จึงกลายเป็นสิ่งล่องหนชั่วคราวที่ตาของเราเลือกไม่มอง ไซมอนส์และคริสโตเฟอร์ตั้งชื่อในปรากฏการณ์นี้ว่า the invisible gorilla

ภาพเปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงถือร่มและกอริลลา ซึ่งให้ผลการทดลองในทิศทางเดียวกัน
Photo: Simons, D. J., & Chabris, C. F. (1999). Gorillas in Our Midst: Sustained Inattentional Blindness for Dynamic Events

เจ้ากอริลลาล่องหน จึงสะท้อนให้มนุษย์รู้ตัวว่า ในภาวะที่เรารู้สติสัมปชัญญะ มีสมาธิจดจ่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่มองเห็นตรงหน้าคือภาพรวมทั้งหมดของความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่ควรต้องเห็นเต็มตา แต่เรากลับเลือกไม่สนใจ

เมื่อไม่ทันมองเห็นจึงสรุปเองว่าไม่มีอยู่จริง จนกว่าจะมีคนทักและแสดงหลักฐานยืนยัน เราจึงจะรู้ตัวทีหลังว่าคิดผิดมาตลอด

 

อ้างอิง 

  • Ben Ambridge (2015). Psy-Q: Test Your Psychological Intelligence. London : Profile Books. 
  • Drew, T., Võ, M. L.-H., & Wolfe, J. M. (2013). The Invisible Gorilla Strikes Again: Sustained Inattentional Blindness in Expert Observers. Psychological Science, 24(9), 1848–1853. https://doi.org/10.1177/0956797613479386
  • Neisser, U., & Becklen, R. (1975). Selective looking: Attending to visually specified events. Cognitive Psychology, 7, 480–494. 
  • Simons, D. J., & Chabris, C. F. (1999). Gorillas in Our Midst: Sustained Inattentional Blindness for Dynamic Events. Perception, 28(9), 1059–1074. https://doi.org/10.1068/p281059 
  • Siri Carpenter. Sights Unseen. https://www.apa.org/monitor/apr01/blindness