‘เวลา’ คือสิ่งสำคัญของชีวิต
หลายเรื่องราวในชีวิตที่เรายังคิดตัดสินใจไม่ได้ ‘เวลา’ อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในแง่มุมที่ว่า เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องที่เคยคลุมเครือมักจะชัดเจนยิ่งขึ้น และทำให้เราตัดสินใจได้อีกครั้ง เพราะเวลาเปิดโอกาสให้ตกตะกอนความคิดกับเรื่องที่เคยรู้สึกสับสน จนเกิดเป็นความเข้าใจในท้ายที่สุด เวลายังสะท้อนให้รู้ได้แม้กระทั้งสิ่งที่อยู่ในหัวคิด
เชื่อหรือไม่ แค่วาดหน้าปัดนาฬิกา ก็พอจะบอกใบ้ให้รู้ได้คร่าวๆ ว่า การทำงานของสมองและความจำของเราในตอนนี้ ยังแข็งแรงปกติดีหรือมีบางอย่างผิดแปลกไป
ก่อนเริ่มต้นอ่านบทความ เราอยากให้ผู้อ่านทุกคนหากระดาษเปล่ามาหนึ่งแผ่นพร้อมปากกาหนึ่งด้าม เพื่อลงมือวาดหน้าปัดนาฬิกาทรงกลมขนาดใหญ่หนึ่งเรือน โดยใส่ตัวเลขให้ครบถ้วน แล้ววาดเข็มนาฬิกาบอกเวลา 11 โมง 10 นาที
สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการวาดภาพนี้ ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาว่าจะต้องรีบวาดให้เสร็จเร็วๆ ภายในไม่กี่นาที เพราะไม่มีการจับเวลาใดๆ สามารถใช้เวลาวาดนาฬิกานานเท่าไหร่ก็ได้จนกว่ารู้สึกพอใจ
หากวาดเสร็จแล้วจึงจะอ่านบทความจากนี้ต่อไปได้
ผลลัพธ์สุดท้ายของภาพวาด ควรเป็นภาพหน้าปัดนาฬิกาตามโจทย์ที่กำหนดไว้ คือเส้นวงกลมของหน้าปัดต้องชัดเจนและสมมาตรไม่บิดเบี้ยว ตัวเลข 1 ถึง 12 ต้องอยู่ในทิศทาง (ตำแหน่ง) ที่ถูกต้องของกรอบหน้าปัด เช่น ตัวเลข 12 อยู่ทิศเหนือ ตัวเลข 3 อยู่ทิศตะวันออก ส่วนเข็มนาฬิกาต้องชี้บอกเวลา 11 โมง 10 นาทีพอดี หมายความว่า เข็มยาวชี้ไปยังตัวเลข 2 และเข็มสั้นชี้ไปยังตัวเลข 11
หากภาพนาฬิกาไม่เป็นไปตามนี้ เช่น หน้าปัดบิดเบี้ยวไม่เป็นรูปวงกลม ตัวเลขบอกเวลาขาดๆ เกินๆ ทิศทางของตัวเลขอยู่ผิดที่ผิดทางหรือไม่ตรงตำแหน่ง เข็มนาฬิกาบอกเวลาอื่นซึ่งแตกต่างจากโจทย์ หรืออาจวาดออกมาไม่ได้เลย ในกรณีเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงว่า ความทรงจำของผู้วาดอาจกำลังมีปัญหาจากความผิดปกติทางกายภาพและการทำงานของของสมอง
ความน่าสนใจของแบบทดสอบนี้จึงอยู่ที่ว่า ‘หน้าปัดนาฬิกา’ กับ ‘ความทรงจำของสมอง’ เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร
บุคคลแรกที่นำ ‘นาฬิกา’ มาใช้ประเมินการทำงานของสมอง คือ เฮนรี่ เฮด (Henry Head) นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษ เขาต้องการคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียทักษะจัดวางภาพ โครงสร้าง และที่ว่าง (Constructional Apraxia) จึงเริ่มต้นใช้ทดสอบในปี 1915 โดยวิธีต่างๆ ทั้งให้ผู้ป่วยเขียนบอกเวลา และอ่านเวลาจากหน้าปัด เพราะนาฬิกาคือสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน
ต่อมา แมคโดนัล คริทช์ลีย์ (Macdonald Critchley) นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษได้พัฒนาวิธีประเมินด้วยการวาดภาพหน้าปัดนาฬิกา โดยให้ผู้ป่วยวาดบอกเวลา ณ ขณะนั้น เขาเรียกวิธีนี้ว่า Free-Drawn Clock เพื่อตรวจหาความบกพร่องการสื่อความด้วยการพูด (Aphasia) และความบกพร่องในการทำกิจกรรมทั่วไปที่เป็นกิจวัตร (Apraxia)
ในเวลาไล่เลี่ยกัน อีดิธ คาเพลน (Edith Kaplan) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้บุกเบิกการทดสอบทางประสาทวิทยา ได้เพิ่มเติมรายละเอียดการวาดภาพให้มีมาตรฐานนอกเหนือจาก Free-Drawn Clock โดยให้ผู้ป่วยคัดลองภาพจากหน้าปัดนาฬิกาต้นแบบ และกำหนดเข็มบอกเวลาไว้ที่ 11 นาฬิกา 10 นาที
เหตุผลสำคัญที่ต้องเป็น ‘หน้าปัดนาฬิกา’ ก็เพราะว่า ประกอบด้วยรูปทรงและสัญลักษณ์พื้นฐาน คือ วงกลม ตัวเลข และเส้นตรงหรือลูกศร ซึ่งวาดได้โดยไม่ต้องใช้ทักษะทางศิลปะ อาศัยเพียงความเข้าใจเวลา ซึ่งเป็นพื้นฐานการรับรู้ของมนุษย์ที่ช่วยยืนยันได้ว่า อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่มีมาตรฐานอ้างอิงชัดเจนเป็นจุดของเวลา ทั้งหมดเป็นผลรวมสะท้อนการทำงานของสมองอย่างเป็นระบบ ตามองภาพ สมองคิดประมวลผล สั่งการร่างกายให้วาดตามโจทย์ด้วยการระลึกความจำถึงหน้าปัดนาฬิกา
จนกระทั่งในช่วงปี 1980 เคนเนธ ชูล์แมน (Kenneth Shulman) จิตแพทย์ชาวแคนาดา และ มาร์ติน รอธ (Martin Roth) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ นำการวาดรูปหน้าปัดนาฬิกา (The Clock Drawing Test หรือ CDT) เป็นแบบทดสอบย่อยใน Mini Mental State Examination (MMSE) หรือชุดแบบประเมินสมรรถภาพของสมองเบื้องต้น ซึ่งนิยมใช้แพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ การวาดรูปหน้าปัดนาฬิกายังเป็นส่วนหนึ่งของแบบทดสอบทางประสาทวิทยาอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้แต่ละแบบทดสอบมีเกณฑ์การแปลผลแตกต่างกันออกไป แต่จุดประสงค์หลักที่ทุกแบบทดสอบมีร่วมกันคือ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะถดถอยหรือความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง (Cognitive Impairment) ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ความบกพร่องเรื่องการรับรู้สิ่งแวดล้อม การกะระยะ และตำแหน่งที่อยู่ของสิ่งรอบตัว (Spatial Dysfunction) และอาการสูญเสียความสนใจครึ่งซีกเนื่องจากความผิดปกติของสมอง (Neglect Syndrome)
สำหรับภาพวาดหน้าปัดที่ผิดไปจากปกติ แบ่งออกเป็น 6 แบบ
(1) ขนาดหน้าปัด (size of the clock) ควรเหมาะสมกับขนาดกระดาษ โดยทั่วไปอนุญาตให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1.5 นิ้ว จนถึง 5 นิ้ว หากวาดใหญ่มากกว่า 5 นิ้ว อาจเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ส่วนขนาดเล็กกว่า 1.5 นิ้ว มักพบในผู้ป่วยโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้เซลล์ประสาทค่อยๆ เสื่อมสมรรถภาพ จนเคลื่อนไหวทางร่างกายได้ลำบาก
(2) เส้นบิดเบี้ยวเกิดเป็นรูปร่างแปลกตา (graphical difficulties) เพราะควบคุมกล้ามเนื้อได้ไม่ดีหรือมืออ่อนแรง (dysarthria-clumsy hand) ทำให้เขียนเส้นหรือเขียนตัวเลขออกมายึกยือ แม้จะอ่านยากแต่พอมองออกว่าเป็นนาฬิกาที่มีตัวเลขบอกเวลาต่างๆ
(3) เลือกตอบสนองเฉพาะตัวกระตุ้น (โจทย์) อย่างตรงไปตรงมา (stimulus-bound response) ทำให้ไม่สนใจสิ่งอื่นๆ หรือไม่แปลความหมายของโจทย์ที่ทำให้ภาพหน้าปัดสมบูรณ์ ลักษณะที่พบบ่อย คือ หลังจากได้รับโจทย์ให้บอกเวลา 11 โมง 10 นาที ผู้วาดอาจเขียนเข็มนาทีชี้ไปที่ตัวเลข 10 ซึ่งเป็นอาการในผู้ป่วยโรคพากินสันที่มีภาวะสมองเสื่อมร่วม (Parkinson’s Disease with Dementia)
(4) ประมวลความทรงจำ ประสบการณ์ และความรู้ในอดีตบกพร่อง (conceptual deficits) ทำให้วาดนาฬิกาไมได้เลย หรือวาดออกมาไม่เป็นหน้าปัดนาฬิกาที่สมบูรณ์ เช่น ตัวเลขไม่ครบ เข็มนาฬิกาไม่อยู่กึ่งกลาง ผู้วาดอาจอยู่ในภาวะระบบประสาทเสื่อมของโรคพาร์กินสัน
(5) กะระยะผิดพลาด จัดวางตำแหน่งบกพร่อง (spatial/planning deficits) ความผิดพลาดที่พบส่วนมาก มักเกี่ยวข้องกับตัวเลข เช่น เขียนตัวเลขกองกันด้านเดียวของหน้าปัด ไม่เอียงซ้ายก็เอียงขวา ซึ่งเป็นอาการเด่นชัดของการสูญเสียความสนใจครึ่งซีกเนื่องจากความผิดปกติของสมอง (Neglect Syndrome)
(6) วาดเกิน (perseveration) ผู้วาดมักเขียนเข็มนาฬิกามากกว่า 2 เข็ม หรือไม่ก็เขียนตัวเลขมากกว่า ตัวเลข 12 ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้วาดอาจอยู่ในภาวะของโรคอัลไซเมอร์
แม้ว่าการวาดหน้าปัดนาฬิกาเป็นเพียงแบบทดสอบคัดกรองเบื้องต้น (screening test) เพื่อประเมินความเสี่ยงเท่านั้น ไม่สามารถชี้ชัดหรือตัดสินอาการเจ็บป่วยได้ในทันที เพราะการวินิจฉัยแยกโรคมีขั้นตอนการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามหลักทางการแพทย์ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลรอบด้านอื่นๆ ประกอบ
แต่การวาดหน้าปัดนาฬิกาที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร กลับกลายเป็นผลลัพธ์ที่บอกความเสี่ยงและความเป็นไปได้บางอย่างจากความผิดปกติทางสมองไว้อย่างเหลือเชื่อ
อ้างอิง
- Donald Eknoyan, Robin A. Hurley, and Katherine H. Taber. The Clock Drawing Task: Common Errors and Functional Neuroanatomy. https://bit.ly/3bNbzWo
- Francis R. Frankenburg. The clock drawing test: A useful screening and teaching tool. https://bit.ly/380o93s
- Lisa A Young. 3 versions of the Clock Drawing Test for cognition. https://bit.ly/3b3YFEd
- Hazan E, Frankenburg F, Brenkel M, Shulman K. The test of time: a history of clock drawing. Int J Geriatr Psychiatry. 2018 Jan;33(1):e22-e30. doi: 10.1002/gps.4731. Epub 2017 May 26. PMID: 28556262.