life

“ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อย”

วลีเจ็บจี๊ดที่แรงแต่จริง เพราะเราต่างก็รู้ดีว่าบ่อยครั้ง ‘ความหน้าตาดี’ นั้นเป็นใบเบิกทางที่ทำให้ได้รับโอกาสมากมาย แต่มันเป็นแบบนั้นเสมอไป…จริงหรือ ? เราจะชวนทุกคนไปหาคำตอบกัน

 

ทำไมเราถึงชื่นชอบ ‘คนหน้าตาดี’ 

มนุษย์เข้าใจ ‘ความงาม’ มาได้ตั้งแต่กำเนิดโดยไม่ต้องมีใครสอน แม้แต่ทารกแรกเกิดก็มักจะชื่นชอบคนหน้าตาดีมากกว่าอยู่แล้ว

การศึกษาของ อลัน สเลเตอร์ (Alan Slater) จากมหาวิทยาลัยเอ็กซ์เทอร์ เผยว่าทารกจะใช้เวลามองใบหน้าที่สวยงามเป็นเวลานานกว่า และความงามที่ทารกรับรู้ได้หมายถึงความ ‘สมมาตร’ ของใบหน้านั่นเอง กล่าวคือ หากนำใบหน้าของมนุษย์ทั้งโลกมาทับซ้อนกันแล้วหาค่าเฉลี่ย คนหน้าตาดีคือคนที่มีใบหน้าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยมากที่สุด สมมาตรที่สุด เครื่องหน้าพอดี ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด

สิ่งนี้คือสัญชาตญาณการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ เนื่องจากใบหน้าที่ดีก็หมายถึง ยีน (Gene) ที่ปกติ สมบูรณ์ มนุษย์เราจึงชอบคนหน้าตาดีโดยสัญชาตญาณและมักจะเลือกเป็นคู่ เพื่อทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอดต่อไปได้

นอกเหนือจากสัญชาตญาณแล้ว นิยาม ‘ความสวย’ ของคนเรายังหล่อหลอมขึ้นได้จากสังคม เพราะในแต่ละสังคม แต่ละพื้นที่ก็จะมี beauty standard ของตัวเอง ที่ทั้งหลากหลายและเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย เช่น ผู้หญิงเอเชียต้องรูปร่างผอมบาง ผิวขาวกระจ่างใส ถึงจะสวย ส่วนชาวอเมริกันในบางพื้นที่อาจมองว่าสาวๆ ต้องสะโพกสะบึ้ม ผิวสีแทนถึงจะฮ็อตปรอทแตก

 

ไม่ว่าในสังคมไหน ‘คนหน้าตาดี’ ก็มักได้รับสิทธิพิเศษ

คิม โมมี จากซีรีส์ Mask Girl (Photo : Jun Hea-sun / Netflix)

คนหน้าตาดีมักได้รับสิทธิพิเศษจากสังคมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในวงการไหนๆ 

งานวิจัยจาก สมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน (American Sociological Association) พบว่านักเรียนหน้าตาดีและมีเสน่ห์จะได้รับความเอ็นดูจากคุณครูผู้สอนมากกว่านักเรียนคนอื่นๆ ในขณะเดียวกันเมื่อครูผู้สอนหน้าตาดี เด็กๆ ก็จะมองว่าครูคนนั้นสอนดีไปด้วย

ในโลกของการทำงาน หากมีผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติเท่ากัน คนหน้าตาดีจะมีโอกาสได้รับเลือกเข้าทำงานมากกว่า อีกทั้งยังมีโอกาสเรียกเงินเดือนได้สูงกว่าอีกด้วย รายงานใน Journal of Economic Psychology ยังพบว่าเด็กเสิร์ฟที่หน้าตาดีมักจะได้ทิปมากกว่าคนอื่นๆ เฉลี่ยประมาณปีละ 1,200 เหรียญฯ (~41,900 บาท)

ตลกร้ายยิ่งกว่านั้น ผลการศึกษาพบว่าคณะลูกขุนมักไม่เชื่อว่าคนหน้าตาดีๆ จะก่ออาชญากรรมเป็นผู้กระทำความผิดได้

 

Halo Effect 

อคติทางความคิดที่ทำให้คนเรามองว่า ‘สวย = ดี’

คิม โมมี จากซีรีส์ Mask Girl (Photo : Netflix)

ความลำเอียงที่ว่ามาเหล่านั้น ในทางจิตวิทยาสามารถอธิบายได้ด้วย Halo Effect ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ อคติทางความคิด (Cognitive Bias) 

คำนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1920 เมื่อ เอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดก์ (Edward Thorndike) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ทำการศึกษาและบันทึกลงในรายงาน ‘The Constant Error in Psychological Ratings’ พบว่า หากมนุษย์รับรู้ถึงคุณสมบัติเพียงข้อเดียวของคนคนหนึ่ง จะทำให้เกิดอคติในอื่นๆ ตามไปด้วย

เช่น เมื่อเราเห็นคนหล่อ คนสวย เราอาจเชื่อว่าเขาเป็นคนดี เป็นมิตร อัธยาศัยดีตามหน้าตา ไม่แปลกที่คนเราอยากจะมอบสิทธิพิเศษให้กับคนหน้าตาดีโดยที่เราเองก็ไม่ทันได้รู้ตัว เพียงเพราะเราเชื่อว่าคนหน้าตาดีเป็นคนดีและสมควรได้รับแต่สิ่งดีๆ

ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าเกิดเป็นคนสวยมันดีจริงๆ แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป เพราะในขณะเดียวกัน ‘สิทธิพิเศษ’ ของคนสวยหล่อก็ไม่ได้ใช่เรื่องดีๆ พวกเขาถูกมองในแง่ร้ายได้ เช่น คนหน้าตาดีมักตื้นเขิน สวยแต่ไร้ความสามารถ คนสวยหยิ่ง ไม่เป็นมิตร บางครั้งก็ทำให้ถูกเกลียดโดยไม่มีเหตุผล นั่นคือกลไกของ Halo Effect

 

หน้าตาดีมีชัยไปกว่าครึ่ง (จริงหรือ ?)

เด็กๆ ที่หน้าตาน่ารัก น่าเอ็นดูมักจะได้รับคำชื่นชมจากคนรอบข้างเสมอ นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขาได้ เมื่อคนเราเติบโตมาอย่างมั่นใจและมีความภูมิใจแห่งตน (Self-Esteem) คุณสมบัตินี้ก็จะเป็นรากฐานอันแข็งแรงที่ให้เขาทำมุ่งมั่นทำสิ่งต่างๆ จนประสบความสำเร็จในชีวิตได้

แม้ว่าการมีหน้าตาสวย หล่อ จะทำให้คนเรามั่นใจและได้รับการยอมรับ แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนเราเติบโตมาอย่างมั่นใจ สำหรับมนุษย์ทุกคนแล้ว หากรู้สึกเห็นคุณค่าตัวเอง ภูมิใจในความสามารถและความสำเร็จของตัวเอง มี Support System ที่ยอมรับตัวตนของเราได้ มีครอบครัวที่เลี้ยงดูอย่างดีและคอยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ เราก็รู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองและประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ ได้เช่นกัน

(ต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาซีรีส์เรื่อง Mask Girl ในบางส่วน)

คิม โมมี จากซีรีส์ Mask Girl (Photo : Netflix)

เราขอแนะนำ ‘คิม โมมี’ (Kim Mo-mi) จากซีรีส์เรื่อง Mask Girl ให้ทุกคนรู้จัก คิมโมมี เป็นเด็กที่ฝันอยากเป็นนักแสดงมาตั้งแต่เด็ก แต่แม่ของเธอและสังคมไม่เห็นด้วยเพราะเธอหน้าตาขี้เหร่ ไม่ตรงกับ beauty standard แม่เอาแต่ดุด่าเพียงเพราะเธอไม่สวย แถมสังคมก็ไม่เคยปฏิบัติดีๆ กับเธอเลยสักครั้ง คำพูดดูถูก สายตาเหยียดหยาม โดยเฉพาะจากคนในครอบครัว กัดกินจิตใจของเธอมาตั้งแต่เด็กๆ จนทำให้เมื่อเติบโตขึ้น ชีวิตของเธอก็เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางแห่งความหายนะในที่สุด 

คิม โมมี จากซีรีส์ Mask Girl (Photo : Netflix)

หากเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นอีกแบบ หากแม่ของโมมีรักและยอมรับในตัวเธอ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับเธอ ไม่แน่เราอาจได้เห็นตอนจบของเรื่องที่ต่างออกไปก็เป็นได้ 

เพราะมันไม่สำคัญว่าโมมีจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือ ‘เธอมองเห็นตัวเองอย่างไร’ ต่างหาก

ดร.แมกซ์เวลล์ มอลทซ์ (Maxwell Maltz) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน และนักเขียนหนังสือ Psycho – Cybernetics (1960) หนังสือหมวด Self Help เล่มแรกๆ ของโลก ค้นพบว่า คนไข้ศัลยกรรมของเขาจำนวนหนึ่งไม่เคยรู้สึกพอใจกับหน้าตาของตัวเอง แม้จะเหลาคาง เสริมจมูก ทำตาสองชั้นจนสวยราวกับเทพสร้าง แต่พวกเขาก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สวยอยู่ดี

หนังสือ Psycho – Cybernetics (1960)

แมกซ์เวลล์พบว่าต่อให้สวยแค่ไหน แต่ถ้าคนคนนั้นมอง ภาพแห่งตน (Self-Image) ว่าไม่สวย  ความไม่สวย ไม่มั่นใจก็จะเป็นผีตามหลอกหลอนอยู่แบบนั้น ตรงกันข้าม แม้ว่าคนคนหนึ่งจะมีหน้าตาไม่ตรงตาม beauty standard ถ้าเขามองว่าตัวเองสวยแล้ว พอใจแล้ว เขาก็จะเชื่อมั่นในตัวเองได้มากกว่า

และแม็กซ์เวลล์ยังเผยอีกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะรู้สึกประสบความสำเร็จในชีวิตได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองภาพตัวเองอย่างไร และเรา ‘เชื่อมั่น’ ในตัวเองได้มากแค่ไหน

‘หน้าตา’ ไม่ใช่ทุกอย่าง

ซีรีส์ Mask Girl (Photo : Netflix)

จริงอยู่ที่ว่าใบหน้าอันสวยสด งดงาม ราวเทพสร้างนั้นเป็นของขวัญที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์บางคน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่ที่ว่าคนคนนั้นใช้ประโยชน์จากข้อดีนี้อย่างไร

แม้ว่าคนหน้าตาดีจะมีใบเบิกทางที่อาจทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าการประสบความสำเร็จนั้นปราศจากความพยายาม และความสัมพันธ์ที่ครองคู่ยืนยาวไม่ได้อาศัยเพียงความงดงามของหน้าตาเพียงอย่างเดียว 

มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตาแบบไหน เราทุกคนต่างก็มีความทุกข์ ความสุข อุปสรรค และโอกาสเป็นของตัวเองทั้งสิ้น 

และต้องไม่ลืมว่าเราทุกคนต่างก็มีข้อดีอันมีคุณค่าไม่แพ้กับความหน้าตาดี ที่เราสามารถงัดมันออกมาใช้เป็นใบเบิกทางให้กับชีวิตและสร้าง ‘ความมั่นใจ’ ให้กับตัวเองได้เช่นกัน

 

อ้างอิง