life

หากเจอเหตุการณ์แย่ๆ ผมมักจะซื้อไอศกรีมโคนให้ตัวเอง เป็นวิธีปลอบใจพังๆ ของผมให้กลับมามีความสุขอีกครั้ง ตรงกันข้าม ถ้ามีความสุข ผมก็จะซื้อไอศกรีมเป็นรางวัลให้ตัวเองเหมือนกัน

นะกะจิมะ ชินทะโระ (Nakajima Shintaro) เจ้าของร้าน RINTARO ผู้คิดค้นและสร้างสรรค์เจลาโต้หลากหลายรสชาติ บอกเล่าความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อไอศกรีมตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเปิดร้านไอศกรีมเล็กๆ เป็นของตัวเอง ด้วยแรงบันดาลใจที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อและความชอบ “ผมเชื่อว่าไอศกรีมทำให้เรามีความสุข ร้านของผมจึงทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตความสุขและคอยส่งต่อความรู้สึกดีๆ ให้ทุกคน”

แล้วคุณล่ะ ไอศกรีมทำให้คุณมีความสุขหรือเปล่า” ชินทะโระชวนคุยขณะกำลังขะมักเขม้นจัดไอศกรีมลงตู้เพื่อเตรียมเปิดร้าน อันที่จริง คำถามนี้ตอบได้โดยไม่ต้องเอ่ยออกมาเป็นคำพูดด้วยซ้ำ เพราะสามารถยืนยันได้จากจำนวนคนตรงข้ามหน้าร้าน ซึ่งทยอยกันมานั่งรอคอยช่วงเวลาลิ้มรสชาติแห่งความสุข หลายคนอดใจไม่ไหว ถึงขนาดเปิดประตูเข้ามาถามเวลาร้านเปิดให้แน่ใจอีกครั้ง ยิ่งเพิ่มความใคร่สงสัยว่า ชินทะโระได้ใส่ secret ingredients หรือส่วนผสมลับอะไรลงไป จนทำให้ไอศกรีมของร้าน RINTARO โดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น

 

ความตั้งใจที่เกิดจากความห่วงใยเพื่อนเกษตรกร

ชินทะโระเท้าความถึงก้าวแรกของร้านว่า เดิมทีครอบครัวของเขาทำธุรกิจร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว แต่หลังจากดำเนินธุรกิจไปสักระยะ ทำให้พบความท้าทายข้อหนึ่งว่า หากมองภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกร จนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค ทั้งสองกลุ่มนี้ยังแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้เรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับวัตถุดิบ ส่วนเกษตรกรเจ้าของผลผลิต ก็ขาดแคลนช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค ทำให้ค้าขายวัตถุดิบได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เพื่อช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกับผู้บริโภค ชินทะโระจึงตัดสินใจเปิดร้าน RINTARO สาขาแรกที่บ้านเกิด ในเมืองอะซะฮิ จังหวัดชิบะ  

ครอบครัวของผมมีเพื่อนเป็นเกษตรกรท้องถิ่นหลายคน พวกเขาเป็นเจ้าของผลผลิตคุณภาพเยี่ยมทั้งนั้น โดยเฉพาะผลไม้ประจำถิ่นอย่างสตรอว์เบอร์รี เมล่อน ลูกแพร์ และองุ่น ผมจึงคิดว่า การเปิดร้านใหม่โดยใช้ผลไม้ของพวกเขามาทำไอศกรีม และบอกให้ผู้บริโภครู้ถึงที่มาของวัตถุดิบ เป็นวิธีที่ช่วยสนันสนุนเกษตรกรได้ คล้ายกับว่า ร้าน RINTARO คือเครื่องขยายเสียงความดังให้คนทั่วไปรู้จักเกษตรกรและของดีจากจังหวัดชิบะ

 

Photo: https://japantravel.navitime.com/en/area/jp/spot/02301-3000083/

หลังจากเปิดร้านสาขาแรก เงียบมาก เพราะร้านอยู่ในย่านพักอาศัย ต้องรอเวลานานเป็นปี กว่าคนจะรู้จักและเริ่มมีเสียงตอบรับที่ดี แต่ผมคิดว่าความดังของเสียงยังไม่กว้างพอ จึงเปิดสาขาสองที่ชินจุกุ ในโตเกียว เพื่อขยายความดังไปให้ถึงกลุ่มคนเมือง คนรุ่นใหม่ และนักท่องเที่ยว ซึ่งประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ คนจำนวนมากเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อเจลาโต้จากผลผลิตของจังหวัดชิบะกลายเป็นภาพชินตาของสาขานี้”

 

รสชาติที่เกิดจากความจริงใจในทุกรายละเอียด 

ก่อนเปิดร้าน ชินทะโระรู้ดีว่า การทำไอศกรีมขาย จะอาศัยเพียงความชื่นชอบในรสชาติไอศกรีมของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องรู้หลักการและมีทักษะพื้นฐานสำหรับทำไอศกรีมด้วย เขาจึงไปเรียนวิธีการทำไอศกรีมเพิ่มเติม

ไอศกรีมที่ผมเลือกเรียนเป็นไอศกรีมโฮมเมดสไตล์อิตาเลี่ยนที่เรียกว่า Artisan Gelato ซึ่งต้องทำอย่างพิถีพิถันเสมือนงานฝีมือ เนื้อเจลาโต้ที่ได้ต้องเนียนนุ่ม ให้กลิ่นและรสชาติชัดเจน เป็นที่มาของร้าน RINTARO ที่เรียกไอศกรีมว่าเจลาโต้

ขณะเรียนทำเจลาโต้ ประกอบกับศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ทำให้ชินทะโระพบความจริงที่ซ้อนอยู่ในไอศกรีม ซึ่งเขากินมาทั้งชีวิต นั่นคือการแต่งกลิ่นและสีสังเคราะห์ เพราะไอศกรีมทั่วไปที่ขายตามท้องตลาดนิยมใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีแต่งสีและสร้างกลิ่นเลียนแบบ รสชาติของเจลาโต้ต้องมาจากรสธรรมชาติของวัตถุดิบหลัก ผมจึงเลือกใช้แต่วัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดีตามฤดูกาล แต่กว่าจะสำเร็จเป็นเจลาโต้แต่ละรสชาติ ผมลองผิดลองถูกอยู่นาน เพราะว่าการทำเจลาโต้ให้ได้รสชาติตรงกับรสผลไม้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ผลไม้สดปริมาณเยอะมากๆ อย่างเจลาโต้รสมังคุด 1 ถัง ต้องใช้เนื้อมังคุดมากถึง 100 ลูก หรือรสฟักทอง 1 ถง ต้องใช้เนื้อฟักทองไม่ต่ำกว่าครึ่งกิโลกรัม

ถ้าต้องการเติมความหวาน ผมจะใช้น้ำผึ้งแทน ซึ่งต้องชั่งตวงปริมาณให้ดีและตีผสมให้เนียนไปกับเนื้อเจลาโต้ ไม่อย่างนั้นน้ำผึ้งจะจับตัวเป็นผลึก หากกินเข้าไปจะทำให้รู้สึกว่าเนื้อสัมผัสของเจลาโต้ระคายลิ้นไม่นุ่มละมุน”

นอกจากสารเคมี ผลไม้แช่แข็งยังเป็นของต้องห้ามในสายตาชินทะโระ เขาอธิบายว่า “ในเมื่อความตั้งใจแรกคือสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกร หากนำผลไม้แช่แข็งมาผสมในเจลาโต้ เท่ากับว่าผมทำลายความเชื่อใจของเกษตรกร และหลอกลวงลูกค้า ทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ความจริงใจและความซื่อสัตย์เท่านั้น คือสิ่งสำคัญที่สุด 

 

ขยายสาขาสู่ไทยเกิดจากรสชาติผลไม้ที่ไม่เหมือนใคร 

หลังจากประสบความสำเร็จด้วยดีในประเทศญี่ปุ่น ชินทะโระเกิดความคิดท้าทายใหม่ว่า ต้องการขยายสาขาที่สามในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยคือตัวเลือกเดียวที่ไม่มีคู่แข่ง

ประเทศไทยคล้ายกับประเทศญุี่ปุ่นเรื่องผลผลิต เพราะแต่ละท้องถิ่นมีผลไม้ชื่อดัง แต่ผลไม้ของไทยหลากหลายกว่าและอร่อยมากๆ เป็นรสชาติที่หาไม่ได้จากประเทศอื่น ไม่มีใครเลียนแบบได้ ญี่ปุ่นก็เลียนแบบไม่ได้ (หัวเราะคนไทยเองก็ให้ความสำคัญกับอาหารการกิน และชื่นชอบความเป็นญี่ปุ่น ประเทศไทยยังเป็นเมืองร้อนด้วย เพิ่มโอกาสให้คนกินไอศกรีมมากกว่าเมืองหนาว ทุกข้อคือเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกมาเปิดสาขาที่ไทย 

แม้ว่าร้านจะไม่ได้ตั้งอยู่กลางใจเมือง หรือในย่านแหล่งท่องเที่ยวที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน แต่ด้วยเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างสรรค์รสชาติเจลาโต้ที่ชินทะโระรักษาไว้ตามความตั้งใจแรกเริ่มของ RINTARO ทำให้ทั้งคนไทย และคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต่างแวะเวียนกันมาชิมเจลาโต้ ซึ่งผสมความเป็นวัตถุดิบไทยให้เข้ากับกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างกลมกลืน จนเกิดเป็นความอร่อยที่ถูกบอกเล่ากันปากต่อปาก

ขนมหวานมีฟังก์ชั่นของมัน หน้าที่หนึ่งคือเยียวยาความรู้สึกของเราให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่คำแรก

ผมให้ความสำคัญกับการออกแบบรสชาติ เพราะต้องอ้างอิงวัตถุดิบท้องถิ่นเสมอ ผมคิดรสชาติเจลาโต้ใหม่จากผลไม้ไทย ทั้งมังคุด ลิ้นจี่ แก้วมังกร และเสาวรส รวมถึงรสชาติอื่นๆ ที่สื่อถึงความเป็นไทย เช่น ชาไทยกับโมจิ และชุมพรโกโก้ ผมเลือกใช้โกโก้จากจังหวัดชุมพรของ Kad Kokoa ส่วนเจลาโต้รสชาติเดียวกับสาขาที่ญี่ปุ่น เช่น สตรอว์เบอร์รี องุ่นเคียวโฮ ส้มยูซุ หรือชาเขียว ก็ต้องใช้วัตถุดิบจากแหล่งเดียวกัน จะเปลี่ยนไปใช้ของที่อื่นแทนไม่ได้เด็ดขาด ผมจึงต้องนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นเพื่อรักษามาตรฐานของรสชาติให้เหมือนกัน”

จริงๆ ผมอยากทำเจลาโต้รสทุเรียนเผา คิดไว้นานแล้ว แต่ไม่เคยทำสักที เพราะกลิ่นทุเรียนค่อนข้างแรงมาก กลัวจะติดอุปกรณ์จนปะปนกับเจลาโต้รสอื่น (หัวเราะผมทำเจลาโต้ราชินีผลไม้แล้ว คือรสมังคุด เหลือแต่ราชาผลไม้นี่แหละ ยังไม่กล้าเสี่ยงสักที

 

ความสนุกที่เกิดจากการสร้างสรรค์ความอร่อยด้วยตัวเอง 

ภายในตู้แช่ของร้าน RINTARประกอบด้วยเจลาโต้ทั้งหมด 18 รสชาติ แบ่งเป็นรสพื้นฐาน 14 รสชาติ ซึ่งหมุนเวียนไปตามผลผลิตแต่ละฤดูกาล และรสพิเศษประจำเดือนอีก 4 รสชาติ โดยผลัดเปลี่ยนไปตามเทศกาลหรือโอกาสสำคัญ

ผมต้องการใส่ความสนุกลงไปในเจลาโต้ด้วย เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านของเรามีเซอร์ไพรส์ตลอดเวลา แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนมีรสชาติใหม่ๆ ให้ลอง จะได้ไม่รู้สึกน่าเบื่อหรือจำเจ วิธีสร้างรสชาติใหม่ของผมเกิดจากวิธีคิด 3 ขั้น เริ่มต้นด้วยรสชาติพื้นฐาน จากนั้นคิดต่อไปว่าจะเติมส่วนผสมอะไรในเนื้อเจลาโต้เพื่อสร้างชั้นของรสชาติให้มีมิติมากขึ้น สุดท้ายแบ่งส่วนประกอบของรสออกมาโรยผิวด้านบนเจลาโต้เพื่อชูรสชาติให้กลมกล่อมมากขึ้น เช่น เจลาโต้รสกล้วย คาราเมล อัลมอนด์ (Banana Bitter Caramel Almond) รสชาติหลักคือกล้วย ชั้นของรสชาติคืออัลมอนด์ ส่วนประกอบโรยบนผิวเจลาโต้คือคาราเมล

วิธีคิดนี้ทำให้ผมสร้างรสชาติใหม่ได้หลากหลาย โดยเฉพาะรสชาติแปลกใหม่อย่าง สาเกหวาน มิริน ช็อกโกแลตมิโซะ แอปริคอตโรส (กุหลาบเบอร์รีมะเขือเทศเบซิล (โหระพาอิตาเลียนและ ผักโมฮีโต้ (ค็อกเทล)”

ไม่เพียงแค่คิดค้นรสชาติใหม่ แต่ชินทะโระยังต้องสมดุลรสชาติให้หลากหลายและครบถ้วนด้วย ซึ่งเจลาโต้ทั้งหมด 18 รสชาติในตู้จะต้องมีรสชาติที่ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ รสชาติผลไม้ รสชาติที่มีถั่วเป็นส่วนวัตถุดิบหลัก รสชาติที่สื่อถึงความเป็นญี่ปุ่น และรสชาติที่มีนมสดเป็นส่วนประกอบ

เจลาโต้หนึ่งโคน (120 บาท) จับคู่รสชาติได้ 2 รส ความสนุกจึงเริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้ ว่าแต่ละคนจะเลือกรสอะไรดี ส่วนตัวผมแนะนำให้เลือกรสผลไม้กับรสกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือ เพราะรสผลไม้จะให้ความสดชื่น ส่วนเจลาโต้กลุ่มอื่นจะให้รสละมุน โคนที่ร้านทำจากวาฟเฟิลอบสด มีให้เลือก 2 รสตามความชอบ คือ รสธรรมดาหอมเมเปิลและเนยหมัก และโคนโกโก้

 

ความสุขและรอยยิ้มที่เกิดจากปลายลิ้นสัมผัสเจลาโต้

หากไอศกรีมคือความสุขที่มีวันละลาย แต่เจลาโต้ของร้าน RINTARO นั้นแตกต่าง หลังจากลิ้มรสชาติไปเพียง 10 วินาที กลับทำให้คนกินมีความสุขได้ ที่สำคัญความสุขนั้นยังคงอยู่เป็นประสบการณ์ที่เรียกว่าความประทับใจ

หลักปรัชญาของร้านที่ผมยึดถือตลอด คือ 10 seconds of bless ใครก็ตามหากได้กินเจลาโต้ไปแล้ว ภายใน 10 ินาทีเท่านั้น เขาจะรับรู้ได้ถึงความสุข เพราะขนมหวานมีฟังก์ชั่นของมัน หน้าที่หนึ่งคือเยียวยาความรู้สึกของเราให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่คำแรก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครบางคนจะเสพติดรสชาติ จนกลับมากินซ้ำ เพราะรสชาตินั้นทำให้เขาสุขที่ใจ อาจจะมีบางคนที่กินเจลาโต้แล้วร้องไห้ แต่นั่นคงเป็นน้ำตาแห่งความสุข

การทำเจลาโต้ให้กลายเป็นสิ่งสร้างความสุขไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ผ่านวิธีการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน โดยชินทะโระนำความรู้ด้านจิตวิทยามาประยุกต์ใช้

ในทางจิตวิทยา ประสาทการรับรู้มีผลต่อประสบการณ์ ความรู้สึก และอารมณ์ ผมจึงทำเจลาโต้ให้มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว และพยายามเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เพื่อรอเสิร์ฟให้ลูกค้าแบบโคนต่อโคน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาตักเจลาโต้จึงต้องนวดและตีเนื้อให้เข้ากันอีกรอบ และต้องอบโคนวาฟเฟิลสดใหม่ทุกครั้ง เพราะผมต้องการให้เกิดกลิ่นที่ชัดเจน เมื่อลูกค้ากิน จมูกได้กลิ่นหอม ลิ้นรับรสชาติอร่อย รวมกันเป็นความสุข นี่คือเคล็ดลับของร้าน RINTARO

แต่การเก็บรักษากลิ่นก็มีเวลาจำกัด กลิ่นหอมจะระเหยหายไปภายใน 3 วัน ดังนั้น ผมจึงต้องทำเจลาโต้ใหม่ทุกเช้าก่อนเปิดร้าน และจะกำชับลูกค้าที่ซื้อกลับบ้านว่าต้องกินให้หมดภายใน 3 วัน เพื่อจะได้รับรสชาติเข้มข้น พร้อมกับกลิ่นสดใหม่ของวัตถุดิบ เพราะว่า ถ้าสิ่งที่ทำไม่ตรงกับความตั้งใจที่วางไว้แต่แรก ก็ไม่ควรทำออกมาขาย นั่นเท่ากับว่าผมไม่ได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกค้า เมื่อไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แล้วเขาจะมีความสุขได้อย่างไร ทุกอย่างที่ทำต้องย้อนกลับไปที่คำว่าซื่อสัตย์และจริงใจ

หลังจากชวนชินทะโระคุยมาระยะหนึ่ง จวนถึงเวลาร้านเปิดบริการเต็มที ลูกค้าที่รออยู่ด้านนอกหลายคนเริ่มยืนขึ้น ราวกับส่งสัญญาณให้รู้ว่าเวลาแห่งความสุขกำลังจะเริ่มต้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า 

ชินทะโระบอกทิ้งท้ายว่า “เราจะพยายามอย่างไม่ย่อท้อ ต่อให้ทำสำเร็จแล้วก็ตาม

RINTARO Thailand

โครงการ W District 1595/521 สกายวอล์คคอนโดมิเนียม ยูนิต บี 04-01 ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 

เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 11.00-22.00 น. หรือ 13.00-21.00 (หยุดทุกวันจันทร์)

FACT BOX

  • ชื่อร้าน RINTARO เป็นคำเฉพาะที่สร้างขึ้นใหม่ ระหว่างคำว่า RIN เป็นเสียงอ่านของอักษรคันจิในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง cool หรือ เย็น ส่วนคำว่า TARO ไม่มีความหมายแปล แต่ใช้สื่อถึงความเป็นญี่ปุ่นเท่านั้น
  • Tasty more than real. คือ แนวคิดหลักเบื้องหลังการสร้างรสชาติเจลาโต้ของร้าน โดยใช้วัตถุดิบหลักจากธรรมชาติจำนวนมากเพื่อเพิ่มความเข้มข้นและคงรสชาติให้เหมือนกับวัตถุดิบจริง
  • เจลาโต้ของ RINTARO สามารถซื้อกลับบ้านได้ มีบริการ 2 ขนาด คือ ขนาดเล็ก 100 บาท (120 กรัม) และขนาดใหญ่ 900 บาท (750 กรัม)