เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ Self-Esteem หรือ การที่เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง ตรงกัน จำเป็นต้องยกบางแนวคิดมาอธิบายให้เห็นภาพกว้างๆ เสียก่อน
แนวคิดแรก มาจาก นีล สเมลเซอร์ (Neil Smelser) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน เขากำหนดว่า Self-Esteem ต้องประกอบไปด้วยปัจจัย 3 ข้อ
(1) ปัจจัยทางความคิด คือ เราให้ความหมายหรือคำอธิบายส่วนต่างๆ ของตัวตนเราได้ เช่น มีอำนาจ มีความมั่นใจ เป็นคนลงมือทำ เหมือนเราถามตัวเองว่า คิดว่าเราเป็นคนยังไง
(2) ปัจจัยทางความรู้สึก เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากได้คำอธิบายให้ตัวเองแล้ว อาจเป็นบวกหรือลบ ตรงนี้เองถ้าเรารู้สึกบวกจะเรียกว่า Self-Esteem สูง ถ้าลบเท่ากับ Self-Esteem ต่ำ
(3) ปัจจัยที่ใช้ประเมิน ข้อนี้เกี่ยวข้องกับข้อสอง เราจะรู้สึกบวกหรือลบขึ้นอยู่กับคุณค่าที่เรายึดถือไว้ด้วย เช่น เราไม่ได้รู้สึกว่าการเป็นคนขยันมันสำคัญ จึงเลือกประเมินตัวเองว่าเป็นคนขี้เกียจ แม้จะมองว่าตนเป็นคนขี้เกียจ แต่กลับไม่ได้รู้สึกลบ เพราะไม่ได้ให้คุณค่ากับความขยัน ดังนั้นต้องดูด้วยว่าเราให้คุณค่ากับสิ่งใด
แนวคิดสอง มาจาก นาธาเนียล แบรนเดน (Nathaniel Branden) นักจิตบำบัดชาวอเมริกันเชื้อสายแคนาดา เขาแบ่ง Self-Esteem ออกเป็นสองแกน
แกนแรก คือ ความสำเร็จและความสามารถ คนเราจะรู้สึกดีกับตัวเองก็ต่อเมื่อมองว่าตนทำอะไรสักอย่างสำเร็จ เมื่อเราทำสำเร็จก็แปลว่าเราเป็นคนมีความสามารถ ดังนั้น เวลาเราทำอะไรไม่สำเร็จ จึงรู้สึกผิดหวังกับตัวเอง ทำให้พยายามเสริมสร้างความภูมิใจในตัวเองด้วยการพิชิตเป้าหมายที่ตั้งไว้
แต่ถ้ามองแกนนี้แกนเดียวจะเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะหากเราเอาความเคารพ ความภูมิใจ ความรู้สึกดีในตัวเองไปผูกไว้กับความสำเร็จแกนเดียวแล้ว ตัวตนจะเปราะบางย่อมเสี่ยงแตกหัก เพราะเราทุกคนต้องเจอความล้มเหลวเสมอ แตกต่างกันที่จะมากจะน้อย ถ้าเป็นแบบนี้ Self-Esteem ไม่มีทางมั่นคงแข็งแรงได้เลย
อีกอย่างคือ หากเรามองแต่แกนความสำเร็จและความสามารถ จะอธิบายไม่ได้ว่าทำไมบางคนประสบความสำเร็จมากมายแต่กลับรู้สึกว่างเปล่าไม่มีความสุขกับตัวเอง กับบางคนที่ทำอะไรบางอย่างไม่สำเร็จแต่กลับไม่ได้รู้สึกแย่ จึงต้องมาพิจารณาแกนที่สองด้วย
แกนสอง คือ คุณค่าในตัวเอง ความเคารพในตนเอง หรือทัศนคติต่อการให้คุณค่ากับสิ่งที่ทำ ที่เป็น และที่มอง
การมองตัวเองว่าเราดีพอ มีคุณค่าเพียงพอ แม้เราอาจไม่ได้สำเร็จหรือไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็ยังมีมิติอื่นๆ ในตัวเราที่ยังมีคุณค่าอยู่ เราจะเห็นความสำคัญของคุณค่าอื่นๆ เหล่านั้น เมื่อหลุดออกมาจากกรอบความสำเร็จแล้ว คุณค่าของเราจึงมีอีกหลายมิติให้มอง เช่น ความสัมพันธ์ หรือกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น Self-Esteem ควรมีทั้งสองแกนควบคู่กันไป ไม่ใช่แกนหนึ่งเป็นศูนย์อีกแกนเต็มสิบนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี
ในเมื่อคุณค่าและความสำเร็จของแต่ละคนนั้นต่างกัน แล้ว Self-Esteem มาจากไหนได้บ้าง?
จากการศึกษาของ คริสโตเฟอร์ มรุค (Christopher Mruk) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกัน บอกว่ามีสาเหตุมากมายที่ส่งผลต่อการมองเห็นคุณค่าในตัวเองหรือ Self-Esteem คือ
(1) ยีน พันธุกรรม เด็กทุกคนเกิดมาย่อมมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน บางคนนิ่ง เลี้ยงง่าย บางคนขี้เล่น ซน เลี้ยงยาก ด้วยธรรมชาติที่แตกต่างเหล่านี้เองที่ส่งผลให้เกิดความเข้ากันได้ดีหรือไม่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติเด็ก ปรับตัวได้ เด็กก็จะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง มีค่าพอที่จะเป็นที่รัก
(2) พ่อแม่มีเวลาให้ ยิ่งพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงดูมีเวลาให้เด็กมาก เด็กจะยิ่งสร้างความรู้สึกมีค่าในตัวเองขึ้นมาว่าตัวเขามีค่าพอที่จะถูกรักและใส่ใจ
(3) การยอมรับ การยอมรับไม่ใช่การอวย เข้าข้าง หรือให้ท้าย การชมไปเรื่อยไม่ได้เสริมสร้าง Self-Esteem แต่จะสร้างบุคลิกแบบหลงตัวเองแทน อะไรที่ทำได้ไม่ดี ไม่ต้องบอกเด็กว่าทำดีแล้ว แค่ไม่ต้องดุด่า พ่อแม่มองเห็นจุดแข็งและยอมรับในจุดอ่อนของเด็ก เด็กมีสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ก็เท่านั้น ไม่ได้แย่อะไรเลย ถ้าการยอมรับจากพ่อแม่หายไป เด็กจะไม่รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง จึงต้องเอาคุณค่าไปผูกไว้กับปัจจัยภายนอก เช่น ความสำเร็จ ซึ่งได้อธิบายไว้แล้วว่า เมื่อเอาคุณค่าไปผูกไว้กับความสำเร็จคุณค่านั้นจึงเปราะบาง
(4) การเลี้ยงดู วิธีการเลี้ยงดูมีผลมากกับมุมมองต่อตัวเอง เช่น พ่อแม่ใช้อำนาจ พูดแล้วลูกต้องฟัง ผู้ใหญ่ถูกเสมอ หรือพ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สิ่งเหล่านี้บั่นทอน Self-Esteem ทั้งสิ้น ส่วนวิธีที่ส่งเสริม Self-Esteem คือ การรับฟัง ใช้เวลาพูดคุยอธิบาย เคารพสิทธิกันและกัน หรือประชาธิปไตยที่เริ่มในบ้าน
(5) สังคม วัฒนธรรม มาตรฐานสังคม ศาสนา และจารีตต่างๆ มีผลต่อตัวตนและพฤติกรรมของเรา เช่นไม่กล้าเลือกทำในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับหรือคนส่วนใหญ่มองว่าไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากอคติเหมารวม ทั้งๆ ที่คุณค่าบางอย่างที่สังคมยึดถือ อาจผิดฝั่งผิดฝาและไม่เป็นที่ยอมรับของสากล
ทั้งหมดคือประสบการณ์ที่ค่อยๆ หลอมรวมเป็นเราขึ้นมา ว่าเราจะมีมาตรฐานในใจแบบไหน ความคาดหวังในตัวเองคืออะไร ให้คุณค่ากับอะไร ปรับตัวกับมาตรฐานสังคมอย่างไร สิ่งที่พ่อแม่บอกข้อไหนเอาไม่เอา จะมองหรือตัดสินตัวเองอย่างไร แล้วจะรู้สึกยังไงกับความเป็นตัวเรา
ถึงอย่างนั้น Self-Esteem เป็นสิ่งที่ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่อาจใช้เวลามากหรือน้อยขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญเราทำงานกับ Self-Esteem ได้เอง โดยไม่ต้องรอให้ดีขึ้นเองหรือให้ใครมาจัดการ เพราะถ้า Self-Esteem ดี เราย่อมมีความสุขกับตัวเอง ตรงกันข้ามถ้าไม่ดี เราก็จะยิ่งรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
นี่คือวิธีการจัดการกับ Self-Esteem ด้วยตัวเอง ที่มรุคแนะนำไว้
(1) ยอมรับในตัวเอง มองโลกตามความเป็นจริงไม่ตัดสินตัวเอง ทำอะไรได้ก็ชื่นชมยินดี อะไรที่ไม่สำเร็จก็ไม่ต้องตัดสินว่าเราห่วย เปลี่ยนเป็นยอมรับในข้อจำกัดว่าเราทำไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นอะไรเลย ค่อยๆ พัฒนาไป เพราะไม่มีใครเก่งทุกอย่าง สมบูรณ์แบบทุกเรื่อง
(2) ทบทวนความคาดหวังหรือเป้าหมาย ความคาดหวังในที่นี้คือทั้งความสำเร็จภายนอก เช่น การงาน กิจกรรม การได้ การมีสิ่งต่างๆ และตัวตนภายใน เช่น อยากเป็นคนขยัน มีวินัย เขียนเป้าหมายให้ชัดเจน สำเร็จในการงานคืออะไร ตำแหน่งอะไร รายได้เท่าไร ได้ทำบริษัทไหน ถ้าเป็นเรื่องตัวตนภายใน เพื่อเป็นคนขยันขึ้นต้องทำอะไรบ้าง อ่านหนังสือวันละกี่ชั่วโมง เมื่อได้เป้าหมายที่ชัดแล้ว จึงประเมินดูว่ามันเป็นจริงได้หรือไม่ด้วยเงื่อนไขในชีวิต ถ้าพบว่าเป็นไปไม่ได้หรือเกินจริงก็ปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไข
(3) โอกาสพัฒนาตัวเอง ถ้าพบว่าความคาดหวังนั้นเป็นจริงได้ แต่เป็นที่เราเองที่ยังทำไม่ได้ ให้ยอมรับ ดูว่าเราพลาดตรงไหน ขาดอะไร แล้วหาจุดบกพร่องและหาจุดที่ควรพัฒนาต่อไป
(4) สนใจข้อดี ไม่ได้ให้มองข้ามข้อเสียหรือจุดอ่อน แต่ให้โฟกัสที่ข้อดีหรือจุดแข็งของเรา เพราะความคิดกับความรู้สึกเชื่อมโยงกันเสมอ เมื่อคิดถึงเรื่องลบ ก็จะรู้สึกลบ ดังนั้น ให้คิดถึงข้อดีไว้ มองหาข้อดีในตัวเอง อะไรที่ตัวเองรู้สึกขอบคุณ ไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ อาจเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้หมด
(5) ให้ความสำคัญที่วิธีการ ถ้าอยากแก้ไขจุดอ่อนแต่ไม่ให้นึกถึงจุดอ่อนแล้วให้นึกถึงอะไร คำตอบคือให้โฟกัสวิธีการที่จะแก้ไขจุดอ่อนแทน ไม่อย่างนั้นเราจะโทษตัวเอง แล้วก็ขุดเอาข้อเสียออกมาเรื่อยๆ ต้องพยายามไม่คิดย้ำว่าเราไม่ดี ให้ความสำคัญกับวิธีหรือเส้นทางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
ทั้งหมดที่ว่ามาก็เพื่อจะต้องการเน้นย้ำว่า เราทุกคนสร้างและจัดการกับ Self-Esteem ของตัวเองได้ แล้ว ‘คุณค่าในตัวเรา’ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘ความสำเร็จ’ เพียงอย่างเดียว
อ้างอิง
- Mruk, C. J. (2006). Self-Esteem Research, Theory, and Practice: Toward a Positive Psychology of Self-Esteem. (3rd edition). New York: Springer Pub.
- Mecca, A. M., Smelser, N. J., & Vasconcellos, J. (1989). The Social Importance of Self-Esteem. Berkeley: University of California Press.
- Branden, N. (1969). The Psychology of Self-Esteem. Los Angeles, CA: Nash Publishing.