life

หากนึกถึงประเทศสิงคโปร์ คุณนึกถึงอะไร?

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ, เมอร์ไลอ้อน, มาริน่า เบย์, ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ, ข้าวมันไก่ ฯลฯ

คงน้อยคนนัก ที่จะนึกถึงสิงคโปร์ในฐานะต้นแบบเมืองสีเขียว

แต่รู้ไหมว่า สิงคโปร์ คือ เมืองที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก มากถึง 29.3%

และในพื้นที่ขนาดเทียบเท่าเพียงจังหวัดภูเก็ตของไทย สิงคโปร์มีสวนสาธารณะถึง 350 แห่ง (ข้อมูลเมื่อ มิถุนายน 2017)

เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่มากกว่าถึง 2.5 เท่า เรามีสวนสาธารณะเพียง 37 แห่งเท่านั้น หรือประมาณ 3% ของพื้นที่กรุงเทพฯ

เมื่อศึกษาให้ลึกลงไป ยิ่งพบความน่าสนใจของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์ ว่าแท้จริงแล้วการมุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่คำตอบของเมืองที่ควรจะเป็น

จากประเทศที่กำลังมั่งคั่ง และเกือบจะกลายเป็นป่าคอนกรีตสู่ต้นแบบเมืองสีเขียวของโลก สิงคโปร์ทำอย่างไร?

 

1967: Garden City นโยบายสร้างเมืองจากผู้นำชื่อ ‘ลีกวนยู’

 

นายลี กวน ยู วันปลูกต้นไม้แห่งชาติของสิงคโปร์ (8-11-1999)

 

“ผมเชื่อเสมอว่า เมืองที่เต็มไปด้วยป่าคอนกรีต จะทำลายจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เราต้องการคือธรรมชาติที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของเรา” ลี กวน ยู, 1995

 

เมืองสีเขียวของสิงคโปร์ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน แต่วางแผนมาเป็นอย่างดีในระดับนโยบายผังเมือง ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำชื่อ ‘ลี กวน ยู’  

ลี กวน ยู ประกาศนโยบาย Garden City อย่างเป็นทางการในปี 1967 เพื่อเปลี่ยนสิงคโปร์ให้เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและมีสภาพแวดล้อมที่สะอาด ซึ่งนอกจากจะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนแล้ว เขายังมองไกลว่าสิ่งนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ ให้กลายเป็นเมืองจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

ในช่วงเริ่มต้น สิงคโปร์ดำเนินนโยบาย Garden City ในรูปแบบโครงการปลูกต้นไม้แบบเร่งรัด ให้เรียงรายเต็มสองข้างของถนน เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วหลายๆ แห่ง ที่ลี กวน ยู เคยพบระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ  

 

สิงคโปร์ ต้นไม้ พื้นที่สีเขียว
ถนน Mandai หนึ่งในถนนที่เป็น Heritage Road ของสิงคโปร์

1971-1972: การปลูกต้นไม้คือวาระแห่งชาติ

หลังเดินหน้านโยบาย Garden City ผ่านไปเพียง 3 ปี สิงคโปร์ในปี 1970 มีต้นไม้ปลูกใหม่กว่า 55,000 ต้น

เพื่อความต่อเนื่อง ปี 1971 สิงคโปร์เดินหน้าต่อด้วยการประกาศให้มีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ

ต่อมา ปี 1972 ออกพระราชบัญญัติสวนสาธารณะและต้นไม้ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมทั้งจากภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานเอกชน และประชาชน ในการจัดสรรพื้นที่สำหรับต้นไม้ในทุกโปรเจค เช่น การก่อสร้างที่อยู่อาศัย สร้างถนน หรือแม้กระทั่งสร้างลานจอดรถ

 

สิงคโปร์ พื้นที่สีเขียว

1975: ก่อตั้งหน่วยงานด้านสวนสาธารณะฯ สร้างความยั่งยืนและจิตสำนึก

การปลูกต้นไม้ของสิงคโปร์ไม่ได้ทำอย่างสะเปะสะปะ แต่ต้องให้ ‘คน’ และ ‘ต้นไม้’ ได้อยู่อาศัยร่วมกันอย่างกลมกลืน คนต้องได้ใช้ประโยชน์จากการมีพื้นที่สีเขียวอย่างเต็มศักยภาพ

‘สวนสาธารณะ’ จึงเป็นคำตอบสำหรับ Garden City ของลี กวน ยู

 

สิงคโปร์ พื้นที่สีเขียว

 

ปี 1975 รัฐบาลสิงคโปร์จึงก่อตั้งหน่วยงานด้านสวนสาธารณะและสันทนาการหรือ Parks and Recreation Department เพื่อกำกับดูแลพื้นที่สีเขียวอย่างเป็นระบบ โดยสร้างพื้นที่สีเขียวที่เป็นได้ทั้ง ‘ปอด’ ของประชาชน ที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่นันทนาการของคนในพื้นที่ และสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่สีเขียว โดยการให้ประชาชนเข้ามามีประสบการณ์ร่วมกับนโยบาย Garden City ให้มากที่สุด

ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา Parks and Recreation Department จึงพัฒนาพื้นที่สีเขียวควบคู่กับการคิดแคมเปญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ City Garden ได้ฝังเข้าไปในจิตสำนึกของประชาชน เช่น Clean and Green Week, Community in Bloom หรือโครงการความร่วมมือในชุมชนเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวในแบบของตัวเอง

 

แคมเปญ Community in Bloom สิงคโปร์
แคมเปญ Community in Bloom

 

2017: พื้นที่สีเขียวหนาแน่นที่สุดในโลก

ผลจากการดำเนินนโยบายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนต้นไม้และสภาพเมืองในสิงคโปร์เปลี่ยนไปอย่างมหาศาลนับจากช่วงปี 1974-2014 หรือภายในระยะเวลา 40 ปี พื้นที่สีเขียวในสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ต้นไม้จาก 158,600 ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านต้น

พื้นที่สีเขียวจาก 879 ไร่ เปลี่ยนเป็น 9,707 ไร่  

และสวนสาธารณะจาก 13 แห่ง เพิ่มเป็น 330 แห่ง

ล่าสุดในปี 2017 สิงคโปร์มีสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 350 แห่ง และได้รับการจัดอันดับจาก Sensable Lab ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ทส์ (MIT) และ World Economic Forum (WEF) ให้เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก หรือมากถึง 29.3% ของพื้นที่

 

Green View Index แสดงความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียว
Green View Index แสดงความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียว

2030: More Greenery

ปัจจุบัน สิงคโปร์ต่อยอดวิสัยทัศน์ garden city ของลี กวน ยู ด้วยการประกาศนโยบาย City in a Garden ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทพัฒนาเมือง ปี 2014 – 2030 และจากแผนแม่บทการลงทุนของสิงคโปร์ ในปี 2030 (The Singapore Property Master Plan 2030) ภายใต้แนวคิด More Land, More homes, More Greenery สิงคโปร์ยังคงเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น

สังเกตได้ว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ทิศทาง แต่ถูกกำหนดมาอย่างเป็นขั้นตอนในทุกแผนแม่บทพัฒนาเมือง

 

ต้นไม้ = การพัฒนาที่แท้จริง

 

 

สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีทรัพยากรเหลือเฟือ รายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ฉะนั้นหากมองนโยบายนี้อย่างพิจารณา สิงคโปร์ไม่ได้แค่ปลูกต้นไม้ หรือสร้างสวนให้ประชาชน แต่เขาสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับตนเอง

เริ่มจากประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี

เมืองมีการจัดสรรพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพแวดล้อมน่าประทับใจสำหรับต่างชาติ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากสนามบิน

และท้ายที่สุด ทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ต้นไม้ที่เริ่มปลูกอย่างเป็นระบบเมื่อ 50 ปีก่อน จึงได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และกายภาพ ในคราวเดียวกัน ซึ่งหากจะเปรียบให้ชัด

สำหรับสิงคโปร์ ต้นไม้ในเมือง คือ สัญลักษณ์ของการพัฒนาอย่างแท้จริง 

 

สิงคโปร์ พื้นที่สีเขียว

 

กรุงเทพฯ กับพื้นที่สีเขียวที่น้อยกว่าสิงคโปร์เกือบ 20 เท่า

จากการสำรวจของ Economist Intelligence Unit เมื่อปี 2017 ในขณะที่ประชากรชาวสิงคโปร์แต่ละคนมีพื้นที่สีเขียวถึง 66 ตารางเมตร และค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อคนของประเทศในเอเชียอยู่ที่ 39 ตารางเมตร คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่อคนแค่ 6.23 ตารางเมตร หากนับรวมประชากรแฝงอีกประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวจะอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าสิงคโปร์เกือบ 20 เท่า  

 

คำถาม คือ เกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร?

“ภายใน พ.ศ.2575 กรุงเทพฯ จะต้องมีพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตรต่อประชากรหนึ่งคนตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก และต้องกระจายครอบคลุมไม่น้อยกว่า 40% ของพื้นที่”

 

หากมองจากสิ่งที่ระบุในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) การพัฒนาพื้นที่สีเขียว ก็ดูจะเป็นสิ่งที่กรุงเทพฯ ให้น้ำหนัก แต่จาก พ.ศ.2556 – 2561 ในปัจจุบัน เรายังคงมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3% เท่านั้น

สาเหตุที่พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ไม่ขยับ ในมุมมองของ สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร บอกว่าส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติคนในสังคมที่มีต่อพื้นที่สีเขียว ที่มองว่านำพื้นที่ไปลงทุนทำธุรกิจ ‘คุ้ม’ กว่าการนำไปทำพื้นที่สีเขียว

 

เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ก็พบจุดแตกต่างที่สำคัญทั้งด้านนโยบาย การกำหนดผังเมือง และข้อกฎหมาย

สิงคโปร์จะคิดนโยบาย และทำสาธารณูปโภครองรับก่อน จึงนำคนเข้าไป ผิดกับกรุงเทพฯ ที่มีคนเป็นตัวนำ แล้วค่อยคิดและพัฒนาเมืองตาม

 

กรุงเทพ พื้นที่สีเขียว

 

จากกรณีศึกษาของสิงคโปร์ ถึงแม้นโยบายจะเริ่มจากภาครัฐเป็นตัวกำหนด แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ คือการทำให้ทุกฝ่ายเห็นเป้าหมายร่วมกัน ว่าหากมีพื้นที่สีเขียวแล้วดีอย่างไร

เหมือนที่ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการ ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ ระบุในบทความ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมสีเทาด้วยโมเดลการพัฒนาสีเขียว ที่พูดถึงการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมแต่กลับมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับหัวใจการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองว่า

“การพัฒนาสีเขียวเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องลงมือทำ แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นไปได้จริง เมื่อทุกภาคส่วนตระหนักและปรับตัว เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์”

ฉะนั้น แผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหาคร ตอนนี้เป็นไปอย่างถูกทิศถูกทางหรือไม่

อาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนอย่างเราต้องทบทวน

 

 

อ้างอิง

  • National Parks Singapore. A Special Tribute to Mr Lee Kuan Yew The Man Behind the Greening of Singapore. https://bit.ly/1IB7orq
  • ศิวพงศ์ ทองเจือ. มองย้อนดูถึงอนาคต “การวางยุทธศาสตร์เมืองของประเทศสิงคโปร์ ในปี 2014 – 2030”. http://tatp.or.th/singapore-strategy-2014-2030/
  • เพชร มโนปวิตร. คุณค่าของต้นไม้ริมทาง. http://bit.ly/2PpQYe9
  • กองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ สำนักยุทธศาสตร์และประมวลผล. แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575). https://bit.ly/2Pg9YMg
  • สำนักข่าวอิศรา. กทม.เผยพื้นที่สีเขียวคนกรุงขยับเป็น 6.18ตรม./คน แต่ยังน้อยกว่ามาตรฐานWHO. https://bit.ly/2Pk80uj
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมสีเทาด้วยโมเดลการพัฒนาสีเขียว. https://tdri.or.th/2018/03/green-growth-model/
  • ฐานข้อมูลระบบติดตามและประเมินผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร. รายงานสวนสาธารณะหลักของกรุงเทพมหานคร. https://bit.ly/2RxesiU