life

“เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่หมกหมุ่นกับความเร็ว”

คาร์ล ออนอเร (Carl Honoré) ผู้เขียนหนังสือ In Praise of Slowness พูดประโยคทำนองนี้ใน TED ที่มีชื่อเดียวกับหนังสือ

คาร์ล ออนอเร Carl Honoré
คาร์ล ออนอเร

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกที่หมกหมุ่นกับความเร็ว ตัวเราเองก็หมกหมุ่นที่จะพยายามทำทุกสิ่งให้เร็วขึ้น

ข้อเขียนประเภท 5 เคล็ดลับการลดน้ำหนักให้เร็วที่สุด หรือ how to ที่พยายามบอกทางลัดโดยมีคำว่า ‘เร็วที่สุด’ เป็นตัวอย่างที่ดี

คุณเคยสงสัยไหมว่า เราเร่งรีบกันไปทำไม และโลกเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ร้านหนังสือ อังกฤษ ลอนดอน
(Photo: Vachi)

เมื่อ ‘เวลา’ กลายเป็น ‘เงินทอง’

หลายคนคุ้นเคยกับประโยค ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’ แต่อาจไม่รู้ที่มาของมัน

เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) หนึ่งในผู้สร้างชาติอเมริกา คือคนสร้างคติพจน์นี้ขึ้นเมื่อปี 1748 ในช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม เพื่อสรรเสริญการเข้าคู่กันของผลกำไรกับความเร่งรีบ

เบนจามิน แฟรงคลิน Benjamin Franklin
เบนจามิน แฟรงคลิน

เมื่อเวลาแต่ละนาทีถูกนำไปใช้วัดปริมาณการผลิตและผลกำไร ตั้งแต่วันนั้นธุรกิจและชีวิตผู้คนก็ค่อยๆ เคลื่อนสู่วังวนของการแข่งขันที่ไม่รู้จบ

ยิ่งผลิตสินค้าต่อชั่วโมงได้มากเท่าไหร่ ผลกำไรก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ไม่มากก็น้อยแนวคิดนี้นำมาสู่สำนึก ‘อย่าปล่อยเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์’ ในโลกยุคใหม่ โดยประโยชน์ที่ว่าล้วนตั้งอยู่บนฐานของการผลิตและงาน (ที่สร้างรายได้)

คนงาน Worker ปฏิวัติอุตสาหกรรม ศตวรรษที่ 19
คนงานหญิงโรงงานสิ่งทอในรัฐแอละแบมา เมื่อศตวรรษที่ 19 (Photo: Wikimedia Commons)

ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้สึกผิดที่จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร และรู้สึกดีจนอยาก ‘อวด’ ใครต่อใคร เมื่อได้ใช้เวลาแต่ละนาทีอย่างมีประสิทธิภาพ

แม้แต่ในเวลาว่าง เราก็พยายามใช้เวลาว่างไปกับการสร้างผลผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น อ่านหนังสือ ดู TED หรือนั่งคิดไอเดียใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

ส่วนในเวลางาน เราก็ทุ่มเททำงานให้ได้เยอะที่สุดในเวลาที่จำกัด จนไม่ต่างจากเครื่องจักรในโรงงาน เพื่อจะได้รับคำชื่นชมและรางวัลจากโลกที่บูชาความเร็ว

นาฬิกา ลอนดอน อังกฤษ สถานีรถไฟ subway
(Photo: Vachi)

การแขวนตัวเองไว้กับคุณค่าการผลิตแบบสายพานที่มีนาฬิกาและปริมาณเป็นค่าวัด ทำให้มนุษย์ลืมกิจกรรมง่ายๆ อย่างการ ‘อยู่เฉยๆ’ อันเป็นกิจกรรมธรรมดาแสนสามัญในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

เวลาที่ไม่เคยพอ

ตัดภาพจาก ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’ ในปี 1748 มาที่ปี 1982

แลร์รี ดอสซีย์ (Larry Dossey) แพทย์ชาวอเมริกันได้บัญญัติศัพท์คำว่า ‘โรควิตกจริตเกี่ยวกับเวลา’ (time-sickness) ขึ้นมา เพื่ออธิบายภาวะความเชื่อฝังหัวที่ว่า ‘เวลากำลังผ่านไป เวลามีไม่พอ และเราต้องเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นๆ เพื่อไล่ตามมันให้ทัน’

แลร์รี ดอสซีย์ Larry Dossey
แลร์รี ดอสซีย์

ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เวลากลายเป็นสิ่งขาดแคลนมากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีอันทันสมัยกำลังขับเคลื่อนโลกให้เดินเร็วกว่าเดิม

กฎของมัวร์ (Moore’s Law) บอกว่า ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนแผงวงจร (นัยหนึ่งคือความเร็วในการประมวลผล) จะเพิ่มเป็นเท่าตัวทุก 2 ปี

การส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น ประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราหมดความอดทนกับใครหรือสิ่งใดก็ตามที่ขยับตัวได้ช้ากว่าความเร็วของหน่วยประมวลผล

การซื้อของออนไลน์เป็นภาพสะท้อนความจริงข้อนี้ได้ดี เพราะทุกกระบวนการล้วนแข่งขันกันที่ความเร็ว

ซื้อวันนี้ ส่งของถึงบ้านภายใน ‘…’ ช่องว่างที่เว้นไว้ถูกเติมด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยใช้เวลาหลายวัน กลายเป็นสามวัน หนึ่งวัน จนกระทั่งเหลือหน่วยชั่วโมง

สิ่งที่เคยทันใจวันนี้กลายเป็นความล่าช้าในวันต่อมา เพราะมาตรฐานความเร็วจะถูกถีบให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

เซนต์เจมส์ ปาร์ค สวน ลอนดอน อังกฤษ ผ้าใบ พักผ่อน london
(Photo: Vachi)

กาย แคลกซ์ตัน (Guy Claxton) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือ Hare Brain, Tortoise Mind: Why Intelligence Increases When You Think Less คิดว่าการรีบเร่งเป็นธรรมชาติที่สองของมนุษย์ไปแล้ว

กาย แคลกซ์ตัน Guy Claxton
กาย แคลกซ์ตัน

“เราได้พัฒนาสภาพจิตที่ฝักใฝ่ความเร็ว การประหยัดเวลา และประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับวันก็ยิ่งกล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ”

ความเร็วที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนยุคนี้ใจร้อนขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะสิ่งที่เราพอจะรู้คือ เราไม่ค่อยอยากจะรออะไรแล้ว

ราคาที่ต้องจ่ายให้ความรีบเร่ง

ความเร่งรีบและ ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’ กำลังสะกดมนุษย์ให้มีชีวิตอยู่เพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างผลผลิตและกำไร

ชั่วโมงการทำงานของเรายาวนานขึ้น เทคโนโลยีทำให้งานติดตามเราไปทุกที่ทุกเวลา และแทนที่จะได้ผลผลิตที่ดีและมากขึ้นกว่าเดิม เรากลับไร้ประสิทธิภาพ ผิดพลาดง่าย ไม่มีความสุข และเจ็บป่วย

หลายคนเป็นโรคที่มีสาเหตุจากความเครียด ไม่ว่าโรคนอนไม่หลับ ไมเกรน ความดันโลหิตสูง หืดหอบ โรคกระเพาะ ลำไส้ ฯลฯ

แม้ในเวลาที่ควรได้พัก เราก็ลืมวิธีที่จะใช้เวลาเงียบๆ อยู่กับตัวเอง เราต้องการสิ่งเร้า เราต้องหยิบจับสมาร์ทโฟน หรือเราต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เรากำลังติดกับดักความเร็ว และเสพติดความมีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกัน ชีวิตที่เร็วเกินพอดีก็กำลังกัดกินเราไปเรื่อยๆ

(Photo: Vachi)

ความเนิบช้าอันรื่นรมย์

กระแสสโลว์ไลฟ์หรือที่ตะวันตกเรียกว่า Slow Movement มีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านฟาสต์ฟู้ด เมื่อแมคโดนัลด์มาเปิดสาขาข้างบันไดสเปน (Spanish Steps) ในกรุงโรมเมื่อปี 1986

คาร์โล เปตรินี (Carlo Petrini) นักเขียนด้านอาหารชาวอิตาลีจึงก่อตั้งขบวนการ ‘สโลว์ฟู้ด’ ขึ้นเพื่อสนับสนุนวิถีอาหารแบบดั้งเดิมที่ฟาสต์ฟู้ดไม่มี เช่น ความสดใหม่ ตำรับอาหารที่ดั้งเดิม เกษตรกรรมแบบยั่งยืน การกินอาหารอย่างผ่อนคลายกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ฯลฯ

คาร์โล เปตรินี Carlo Petrini
คาร์โล เปตรินี

แต่ทั้งหมดทั้งมวล หัวใจของสโลว์ฟู้ดคือ ‘ความรื่นรมย์’

เปตรินีคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการรับมือกับความหมกหมุ่นกับความเร็วที่พวกเราเป็นอยู่ หลักการของกลุ่มแถลงไว้ว่า “การปกป้องความพึงพอใจทางวัตถุอย่างแน่วแน่เป็นหนทางเดียวที่จะต่อต้านพฤติการณ์โง่เขลาของชีวิตที่รีบร้อนที่เป็นอยู่ทั่วโลกนี้… การปกป้องของเราควรเริ่มต้นที่โต๊ะอาหารกับสโลว์ฟู้ด”

CIBREO CAFE อิตาลี ฟลอเรนซ์
(Photo: Vachi)

ข้อความข้างต้นอยู่ในหนังสือ In Praise of Slowness ที่เขียนโดย คาร์ล ออนอเร (คนที่เราพูดถึงตอนต้นของบทความ) เขาสารภาพว่า “ผมเป็นโรคติดความเร็ว” แต่การเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาทดลองใช้ชีวิตให้ช้าลง

คาร์ลพูดใน TED ว่า ความช้าอาจถูกมองในแง่ลบในโลกที่ให้ค่ากับความเร็ว แต่การช้าที่ดีมีอยู่ เช่น “การใช้เวลากินข้าวกับครอบครัวโดยไม่เปิดทีวี หรือใช้เวลามองไปที่ปัญหาจากทุกมุม เพื่อจะตัดสินใจอย่างดีที่สุดในการทำงาน หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาให้ช้าลงเพื่อซึมซับชีวิตของคุณ”

CIBREO CAFE อิตาลี ฟลอเรนซ์ italy
(Photo: Vachi)

หลังจากชะลอชีวิตให้ช้าลง คาร์ลพบว่าตัวเองมีความสุขมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น

ส่วนความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ก็ลึกซึ้ง ลุ่มลึก และเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม

“ผมรู้สึกว่ากำลังใช้ชีวิตมากกว่าจะรีบร้อนผ่านมันไป”

ในโลกแห่งความเร็ว คาร์ลไม่ได้หันหลังหรือปฏิเสธความเร็ว แต่เขาพยายามที่จะค้นหาดุลยภาพระหว่างความเร็วกับความช้า

ไม่ใช่มุ่งหน้าที่จะเร็วจนไม่ลืมหูลืมหา หรือถอยกลับไปใช้ชีวิตช้าๆ อย่างไม่ไยโลก

แต่คือการรู้ว่าตอนไหนควรช้า ตอนไหนควรเร็ว

ความเนิบช้าที่พูดถึง จึงหาใช่ความโรแมนติกแบบฝันกลางวัน แต่คือการจัดสมดุลชีวิตในโลกแห่งความจริง ที่พยายามไล่กวดบีบคั้นให้เราต้องเร็ว และเร็วขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อที่จะมีเวลาสูดกลิ่นหอมของชีวา และค้นพบจังหวะที่มีความสุขของชีวิต.

london เซนต์เจมส์ ปาร์ค สวน ลอนดอน อังกฤษ ผ้าใบ พักผ่อน
(Photo: Vachi)

อ้างอิง:

FACT BOX

หนังสือ SLOW เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น
(Photo: สำนักพิมพ์ openbooks)
  • เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น (In Praise of Slowness) คือ หนังสือที่เป็นต้นทางแนวคิดสโลว์ไลฟ์ (Slow Life) ที่พยายามบอกผู้คนให้ละวางความเร็วและชีวิตอันเร่งรีบ เพื่อกลับมาหาความสุขอันเรียบง่าย จากการทำงาน การใช้ชีวิต เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เขียนโดย คาร์ล ออนอเร ผู้สื่อข่าวชาวแคนาเดียน เจ้าของเว็บไซต์ www.inpraiseofslow.com คนที่สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ฉบับแปลภาษาไทย สั่งซื้อได้ที่เพจสำนักพิมพ์ openbooks