‘ความรู้เป็นเหมือนอาหาร’
เมื่อเราอ่านหนังสือสักเล่ม หรือฟังพอดแคสต์สักเรื่องจบ นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้ในทันทีแต่อย่างใด
ความรู้จึงเปรียบเสมือนอาหารที่เมื่อกินไปแล้ว ต้องผ่านกระบวนการย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
รายละเอียดของหนังสือที่เราอ่านอาจเลือนไปจากความทรงจำได้ในระยะเวลาเพียง 1 อาทิตย์ หากไม่ได้เล่าให้ใครสักคนฟัง
มนุษย์จำเป็นต้องนำสิ่งเหล่านั้นไปทบทวนและใช้จริงอีกครั้ง เพื่อให้เกิด ‘การเรียนรู้อย่างแท้จริง’
‘เรียนรู้’ อย่างไรให้สมอง ‘ซึมซับ’ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
‘การเรียนรู้’ ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเราอ่านหนังสือสักเล่มจนจบหน้าสุดท้าย แต่หมายถึงว่าเราจะเข้าใจและจดจำข้อมูลที่เพิ่งได้รับมาได้มากแค่ไหน
ซึ่งขั้นตอนสำคัญที่ทำให้เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คือ การสวมบทบาทเป็น ‘ครูผู้สอน’ ที่สามารถอธิบายสิ่งเหล่านั้นให้ใครสักคนฟังอีกครั้ง
เมื่อเราได้รับข้อมูลบางอย่างมา ก่อนสมองจะบันทึกลงไปให้เป็นความทรงจำระยะยาว เราจะต้องเรียนรู้จากการนำไปใช้จริงก่อนเสมอ นั่นเป็นเหตุผลว่า เมื่อเรียนคณิตศาสตร์ในห้องเรียนจบแล้ว เราก็ยังต้องกลับมาฝึกทำโจทย์หลายๆ รูปแบบภายหลัง
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า หลังจากการฝึกอบรมเป็นเวลายืดยาวถึง 8 ชั่วโมง พนักงานที่ใช้เวลา 15 นาทีต่อวัน เขียนทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา จะทำให้เข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ทบทวนถึง 25 เปอร์เซ็นต์
15 นาทีที่พวกเขาสละไปในแต่ละวัน นับเป็นเพียง 1 ใน 33 ส่วนของเวลาฝึกอบรมทั้งหมด แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม
ทำไมเราต้อง ‘สอน’ ในสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว
เราจะตระหนักได้ว่า เข้าใจความรู้ที่อ่านจริงๆ หรือไม่ เมื่อเราพยายามจะอธิบายบางเรื่องให้คนอื่นฟัง เพราะเป็นโอกาสให้ตัวเราเองได้กลับมาทบทวนความรู้ทั้งหมดใหม่อีกครั้ง และหาวิธีอุดรอยรั่วเพื่อถ่ายทอดได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้การเล่าให้คนรอบข้างฟัง ยังถือเป็นการเปิดรับคำถามและความคิดเห็นใหม่ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาที่เรียนรู้มาอย่างครอบคลุมมากขึ้น
นอกจากนี้ การฝึกอธิบายยังทำให้เรากลายเป็นคนที่สามารถเข้าใจ ‘หลักพื้นฐาน’ ของสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
หลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่า อีลอน มัสก์ เรียนรู้ได้เร็วและดีกว่าคนอื่นๆ คือการที่เขาสามารถเข้าใจหลักการพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เขาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เจ๋งๆ ได้มากมาย
นักศึกษามหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาผลลัพธ์ของการสอนและอธิบาย สรุปได้ว่าเมื่อเราอธิบายเรื่องราวต่างๆ ออกมาได้ดีจะช่วยทำให้เรากลายเป็นคนที่เข้าใจหลักการพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น
ลงสนาม ‘สอน’ จริง
แม้จะไม่ใช่คุณครู แต่เราทุกคนล้วนเป็นผู้สอนได้เสมอ วิธีเหล่านี้เป็นตัวอย่างหนทางที่เปิดโอกาสให้เราได้แชร์ความรู้ไปยังคนรอบข้างอย่างง่ายๆ เช่น
- เล่าเรื่องหนังสือที่เราอ่าน พอดแคสต์ที่ฟัง หรือภาพยนตร์ที่ได้ดูให้เพื่อนฟัง
- แชร์เทคนิคในการทำงานดีๆ ให้กับเพื่อนร่วมงาน
- ให้คำแนะนำเรื่องบทเรียนการใช้ชีวิตกับลูกๆ
- เป็นตัวตั้งตัวตีในการวางแผนโครงการสักโครงการ
- แชร์สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากลูกค้าให้เจ้านายฟัง
- อธิบายเรื่องยากๆ ให้ตัวเองฟัง
นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว ปัจจุบันโลกออนไลน์ทำให้เรามีพื้นที่มากมายสำหรับแชร์เรื่องราวของเราให้กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็น SNS ส่วนตัว หรือบล็อกต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่จะช่วยให้เราฝึกทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในชีวิตประจำวัน เช่น ‘Today I Learned’ บนเว็บไซต์ Reddit แพล็ตฟอร์มให้เราเล่าเรื่องราวที่ได้เรียนรู้มาลงไป นอกจากจะให้ตัวเองได้อ่านแล้วยังเป็นการแบ่งปันให้กับเหล่าผู้คนที่พร้อมจะรับฟังเรื่องราวของเราอีกด้วย
ความรู้ไม่เคยอยู่กับที่ แต่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้เรื่อยๆ ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันและจุดประกายให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้
แต่มันจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย หากปราศจากตัวกลางสำคัญอย่าง ‘ผู้เผยแพร่’ เฉกเช่นมนุษย์เรา
อ้างอิง
- Michael Simmons.These Studies Show The Incredible Power Of Teaching To Learn.https://medium.com/@michaeldsimmons/these-studies-show-the-incredible-power-of-teaching-to-learn-8b023ac4e556
- Michael Simmons.Memory & Learning Breakthrough: It Turns Out That The Ancients Were Right.https://medium.com/accelerated-intelligence/memory-learning-breakthrough-it-turns-out-that-the-ancients-were-right-7bbd3090d9cc
- Michael Simmons.Explanation Effect: Why You Should Always Teach What You Learn.https://medium.com/accelerated-intelligence/explanation-effect-why-you-should-always-teach-what-you-learn-9800983a0ea1#300e