ช่วงที่ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับเข้มข้น หลายคนอาจกล่าวโทษกรุงเทพฯ ที่มีต้นไม้น้อยเกินไป
ในทางกลับกัน ถึงแม้ว่าจะมีต้นไม้จำนวนมาก แต่หากมีการดูแลรักษาไม่ดี ต้นไม้ที่ผุพังคงไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น
“ต้นไม้ที่มีแผลก็เหมือนมนุษย์เราที่มีแผล ต้องได้รับการรักษาจากหมอ ถ้าเราดูแลรักษาแผลต้นไม้ไม่ดี ก็อาจติดเชื้อและล้มตายได้”
ชัย-คธาวุฒิ ชัยบุตร หนุ่มใหญ่ชาวขอนแก่น ผู้ผูกพันกับต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก เปรียบเทียบให้เห็นถึงความเป็นจำเป็นของอาชีพ ‘รุกขกร’ ผู้มีหน้าที่ดูแลต้นไม้ด้วยวิธีที่เหมาะสม
“ต้นไม้แต่ละเมืองมีความแตกต่างกัน อย่างต้นไม้ในกรุงเทพฯ ก็แตกต่างจากที่สิงคโปร์มาก ต้นไม้ที่นี่ไม่ถูกตกแต่งอะไรเลย ถูกปล่อยให้แห้งตาย อีกหนึ่งปัญหาที่เห็น คือการตัดแต่งด้วยเทคนิคผิดๆ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ต้นไม้เน่าในภายหลัง”
ชัยใช้ชีวิตในฐานะรุกขกรผู้คลุกคลีกับพื้นที่สีเขียวในสิงคโปร์มายาวนานเกือบ 30 ปี และเคยเดินทางไปดูแลต้นไม้มาแล้วในหลายประเทศทั่วโลกจะมาบอกเล่าถึงอาชีพรุกขกรว่าคืออะไร สำคัญอย่างไร และทำไมต้นไม้ในกรุงเทพฯ ถึงต้องการอาชีพนี้
พี่ชัยเริ่มต้นไปทำอาชีพรุกขกรที่สิงคโปร์ได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้ผมทำนาที่บ้านที่ขอนแก่น แล้วมีโอกาสเดินทางไปทำงานที่บริษัทตัดหญ้าที่สิงคโปร์ สมัยนั้นยังตัดต้นไม้ไม่เป็นเลย ไม่มีอุปกรณ์เซฟตี้แบบสมัยนี้ ทำงานด้วยการปีนต้นไม้แบบมือเปล่า งานถนัดของคนไทยแบบเราอยู่แล้ว (หัวเราะ) ตอนหลังผมมารู้จักกับคุณริค โทมัส* ซึ่งเป็นรุกขกรอาวุโสและหมอต้นไม้ชาวนิวซีแลนด์ที่ดูแลต้นไม้ให้รัฐบาลสิงคโปร์ เขามาเช่ารถต้นไม้บริษัทที่ผมทำงานอยู่ตอนนั้น พร้อมขอคนงานไปช่วยงานด้วย ผมก็มีโอกาสได้ไปทำงานกับเขา แล้วเขาสอนให้เราหัดใช้อุปกรณ์เซฟตี้และวิธีตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกวิธี รวมเวลาแล้วผมทำงานตัดต้นไม้อยู่ที่สิงคโปร์นานกว่า 26 ปีได้
สมัยนั้นที่สิงคโปร์มีอาชีพรุกขกรหรือยัง
มีแล้ว แต่สมัยก่อนที่สิงคโปร์ยังไม่มีกฎเคร่งครัดเรื่องการตัดแต่งไม้ในพื้นที่สาธารณะ ช่วงหลังๆ เขาตรวจสอบจริงจังแบบไม่ผ่อนปรนเลย การตัดต้นไม้ต้องมีหมอต้นไม้เข้าไปทำงานร่วมด้วยทุกครั้ง เพื่อบอกเราว่าต้องตัดแต่งแบบไหน ไม่ใช่ว่าอยากตัดแบบไหนก็ตัด และมีหน่วยงานคอยลงพื้นที่ตรวจทุกจุด
หมอต้นไม้กับรุกขกรทำงานร่วมกันอย่างไร
เขาเคร่งครัดเรื่องการรักษากิ่งก้านของต้นไม้ ต้องระวังไม่ตัดให้ฉีกขาด โดยเฉพาะต้นไม้ที่เป็นพันธุ์สงวน เช่น ต้นกานพลู จะตัดทิ้งขว้างไม่ได้ ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลหรือกรมป่าไม้ของสิงคโปร์ก่อน แต่ถ้าเป็นบ้านเราก็คงโดนตัดหมด (หัวเราะ)
การทำงานรุกขกรที่สิงคโปร์เป็นยังไง พี่ชัยต้องทำอะไรบ้าง
ที่สิงคโปร์ เราต้องแต่งกิ่งต้นไม้ทุกวัน ต้องคอยสำรวจว่าต้นไม้ต้นไหนที่ไม่ปลอดภัยกับผู้คน ก็ต้องคอยแต่งกิ่งตลอด เพื่อลดน้ำหนักของกิ่งออกไม่ให้หัก ฉีก หรือโค่นล้ม เพราะสิงคโปร์จะเน้นให้ความสมดุลกับต้นไม้มาก หากมีความจำเป็นต้องตัดต้นใหญ่ทิ้ง เขาจะปลูกต้นเล็กทดแทน 4-5 ต้น ไม่ใช่ว่าตัดแล้วตัดเลยเหมือนบ้านเรา
ที่สิงคโปร์ อะไรคือสาเหตุที่ต้องตัดต้นไม้ใหญ่
ส่วนใหญ่เพราะมีโพรง รากเน่า เป็นรู ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ หมอต้นไม้จะไปตรวจก่อน โดยมีเครื่องตรวจและเจาะติดตัวไปด้วย การตัดต้นไม้ใหญ่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของสิงคโปร์เลย โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวข้องกับระบบรากหรือโคนต้น ไม่ใช่ว่าแค่หมอต้นไม้มาตรวจแล้วตัดได้เลย ต้องขออนุมัติการตัดจากกรมป่าไม้ ถ้าเขาเห็นว่าต้นไม้นี้มีปัญหาจริงๆ ไม่ว่าจะต้นใหญ่แค่ไหน เขาก็จะอนุมัติให้ไปตัดได้ เพราะมันไม่ปลอดภัยแล้ว มิเช่นนั้นเวลาลมพัดมา อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะด้านบนต้นไม้มีน้ำหนักมาก แต่รากฐานและลำต้นเป็นโพรงแล้ว
ทีนี้กระบวนการทำงานของรุกขกรเริ่มต้นอย่างไร
ก่อนปีนขึ้นไป ต้องตรวจเช็คอุปกรณ์ของเราให้พร้อม เพื่อความปลอดภัยที่สุด และวางแผนว่าจะขึ้นไปอยู่จุดไหน จะปีนขึ้นอย่างไร แล้วขึ้นไปแบบไหนถึงจะปลอดภัย แล้วขึ้นไปสำรวจต้นไม้แต่ละส่วนแบบละเอียด สำรวจดูก่อนว่าจะตัดหรือแต่งอะไร เช็คราก ดูลำต้น ไม่ควรตัดแบบสุ่มสี่สุ่มห้า
ในสายตารุกขกร ต้นไม้ที่มีปัญหาจะมีลักษณะแบบไหน
มีกิ่งแห้ง กิ่งผุ เป็นโพรงลึกและกิ่งที่อยู่ข้างในไปสานกันกับกิ่งใหญ่ แบบนี้ต้องแต่งออก เพราะถ้าเราไม่ตัดทิ้ง เมื่อต้นไม้โตขึ้น มันจะเบียดเสียดสีกัน ทำให้กิ่งใหญ่หักและฉีก หรือเมื่อเวลาลมพัดมา กิ่งเสียดสีกัน ทำให้เปลือกเสียหายและผุเป็นโพรง หรือต้นไม้มีรู เพราะการตัดที่ผิดวิธี ทำให้ต้นไม้ไม่สามารถปิดแผลได้เองตามธรรมชาติ เมื่อฝนตกน้ำจึงเข้าไปขังในลำต้น เกิดแบคทีเรีย ผุพัง จนกลายเป็นแค่ไม้ตายต้นหนึ่ง ต้นไม้ที่มีแผลก็เหมือนมนุษย์เราที่มีแผล ต้องได้รับการรักษาจากหมอ ต้นไม้ก็ต้องการหมอเช่นกัน ถ้าเราดูแลรักษาแผลต้นไม้ไม่ดี ก็อาจติดเชื้อและล้มตายได้
ต้นไม้ที่มีแผลก็เหมือนมนุษย์เราที่มีแผล ต้องได้รับการรักษาจากหมอ ต้นไม้ก็ต้องการหมอเช่นกัน
พอมองต้นไม้ในกรุงเทพแล้ว พี่ชัยเห็นอะไรบ้าง
ต้นไม้ในกรุงเทพฯ แตกต่างจากที่สิงคโปร์มาก แทบทุกต้นไม่ถูกตกแต่งอะไรเลย ถูกปล่อยให้แห้งตาย ซึ่งบางทีถ้ามีคนเดินอยู่ใต้กิ่งแห้งนั้น มันอาจจะหล่นลงมาเมื่อไหร่ก็ได้ อีกหนึ่งปัญหาที่เห็นตามต้นไม้ในกรุงเทพฯ คือการตัดแต่งด้วยเทคนิคผิดๆ หรือมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตัดต้นไม้ หลายจุดถูกตัดแบบเหลือกิ่งไว้ยาว ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ต้นไม้เน่าในภายหลัง แต่ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มเข้ามาดูแล ในอนาคตน่าจะดีขึ้น ตอนนี้ผมก็คิดอยากกลับมาช่วยพัฒนางานด้านรุกขกรในบ้านเราเหมือนกัน เพราะดูแล้วยังมีความต้องการคนทำงานที่มีประสบการณ์ด้านนี้อยู่มาก แต่ขอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พี่ชัยคิดว่าทักษะด้านไหนจำเป็นที่สุดสำหรับอาชีพรุกขกร
งานนี้ท้าทายในทุกส่วน ถือว่าเป็นงานที่เสี่ยงมาก เพราะเราขึ้นไปทำงานบนที่สูงตลอดเวลา อุปสรรคเยอะ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือทักษะการปีนป่าย และการใช้อุปกรณ์ให้เป็น โดยเฉพาะพวกอุปกรณ์เซฟตี้
ซึ่งช่วยป้องกันความปลอดภัยให้ตัวเราและคนทั่วไปที่อยู่ด้านล่างต้นไม้ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย.
Fact Box
- ‘รุกขกร’ (arborist) คืออาชีพนักศัลยกรรมต้นไม้ ทำหน้าที่จัดการและดูแลต้นไม้ใหญ่บริเวณในเมืองและอาคารต่างๆ รวมถึงงานปลูก งานตัดแต่ง งานป้องกันและรักษาโรคและแมลง นอกจากนี้ยังรวมถึงงานด้านวางแผน งานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ด้วย
- ริค โทมัส (Rick Thomas) เป็นรุกขกรและหมอต้นไม้อาวุโสสัญชาติออสเตรเลีย และยังนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่แห่ง ArborCulture Pte. Ltd. ประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งอดีตนายกสมาคมรุกขกรแห่งประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดูแลตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียมานานกว่า 30 ปี
- คธาวุฒิ ชัยบุตร หรือ “พี่ชัย” กลับมาประเทศไทยชั่วคราวเพื่อร่วมเป็นกรรมการตัดสิน การแข่งขันปีนต้นไม้นานาชาติประจำประเทศไทย ปี 2561 ซึ่งจัดเกิดขึ้นครั้งแรก ในชื่อ Thailand Tree Climbing Championship (TTCC) ณ เกาะลอย สวนลุมพินี ในงานนี้เกณฑ์การตัดสินคือ ทักษะการปีนต้นไม้ที่ถูกต้อง ปลอดภัย และทักษะการตัดแต่งกิ่งโดยไม่ทำให้ต้นไม้เสียหายภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีกลุ่ม ‘บิ๊กทรี’ (BIG Trees) เป็นหัวเรือใหญ่ https://www.facebook.com/BIGTreesProject
อ้างอิง:
- wikipedia.รุกขกร.https://bit.ly/2AYNfz0