life

The Writer’s Room
No. 17

ห้องธรรมดาที่ไม่มีอะไรนอกจากศรัทธาและความเชื่อของ อลิซ วอล์คเกอร์
นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ ผู้ใช้ตัวหนังสือขัดเกลาใจและเปลี่ยนชีวิตใหม่

Photo: Ana Elena

“อีเลวตาเดียว!” เด็กชายผิวขาวตะโกนเรียก อลิซ วอล์คเกอร์ (Alice Walker) ด้วยความชอบใจ เธอไม่เคยบอกว่าชังชีวิตตัวเองขนาดไหน แต่บางแง่มุมของมนุษย์ มันก็ไม่ได้ยากแท้หยั่งถึงหรือซับซ้อนจนเข้าถึงกันและกันไม่ได้ โดยเฉพาะมุมของความอ่อนแอ ต่อให้เจ้าตัวเก็บงำไว้ในใจโดยไม่คิดปริปากพูดออกมา ก็ไม่อาจปกปิดความเปราะบางได้ตลอด

ครั้นวอล์คเกอร์ยังเป็นเด็กหญิงวัย 8 ขวบ เธอประสบอุบัติเหตุระหว่างเล่นกับพี่ชาย ดวงตาข้างขวาของเธอถูกกระสุนปืนอัดลมของพี่ยิงเข้าอย่างจัง เป็นความเจ็บปวดสุดชีวิตเท่าที่เธอจะรู้สึกได้ในวัยนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมากลับน่าเจ็บปวดยิ่งกว่า เพราะครอบครัวของเธอยากจน พ่อและแม่เป็นเพียงเกษตรกรรับจ้างทำไร่ไถนาให้เจ้าของที่ดิน พวกเขาจึงไม่มีทั้งเงินและรถยนต์ส่วนตัวที่สามารถรีบขับพาลูกสาวคนสุดท้องไปหาหมอได้

Photo: Courtesy of Alice Walker

พ่อของวอล์คเกอร์พยายามโบกรถที่ขับผ่านไปมาแล้ววอนขอความเมตตาให้พวกเขาพาไปโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครสนใจให้ความช่วยเหลือซึ่งทั้งหมดเป็นคนผิวขาว วอล์คเกอร์จึงต้องนอนพักรักษาตัวที่บ้าน อาการบาดเจ็บยังไม่ถึงขั้นรุนแรง แม้ดวงตาไม่ได้บอดสนิท แต่หมอใจดีที่มาดูอาการเธอถึงบ้านกลับบอกว่า หากตาข้างขวาบอด ตาข้างซ้ายอาจบอดตามไปด้วย

เมื่อวอล์คเกอร์ได้ยิน เธอรู้ตัวทันทีว่าชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีก อย่างน้อยกระจกตาที่เสียหายไปก็ทำให้มองเห็นภาพพร่ามัวและใช้ชีวิตยากลำบากกว่าที่เคย เธอสัญญากับตัวเองว่าจะดู จะอ่าน จะสัมผัสกับทุกสิ่งรอบตัวให้ได้มากที่สุดก่อนตาจะมองไม่เห็น

โชคดีที่ตาของเธอไม่ได้บอดสนิท หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้าย วอล์คเกอร์ตระหนักว่าต้นทุนชีวิตที่ขาดตกบกพร่องเพราะเลือกเกิดไม่ได้ทำให้เธอไม่มีทางเลือกมากนัก เธอจึงต้องสร้างทางใหม่ให้ตัวเอง เป็นหนทางที่เธอจะไม่ยอมจำนนต่อชะตาชีวิตอีก

Photo: Courtesy of Alice Walker

ตาที่มองเห็นไม่ชัดเจนจึงกลายเป็นคันเร่งให้เธอเป็นคนใฝ่รู้ วอล์คเกอร์หวังลึกๆ ว่า ความรู้หนังสือหรือการอ่านออกเขียนได้จะช่วยทำให้ชีวิตของเธอสบายในภายภาคหน้า แม่ของเธอเห็นว่าตาลูกผิดปกติ จึงไม่ให้วอล์คเกอร์ช่วยงานบ้านอีกเพราะกลัวเกิดอันตราย และมอบเครื่องพิมพ์ดีดให้แทน เพราะแม่รับรู้ได้ถึงความแน่วแน่ของลูก ส่วนวอล์คเกอร์ก็ตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือและเขียนบันทึกความคิดจนติดเป็นนิสัย

ในชั้นเรียน วอล์คเกอร์เป็นเด็กหัวกะทิและเป็นที่รักของคุณครู ความเพียรทำให้เธอเรียนเก่งจนได้รับทุนศึกษาต่อระดับวิทยาลัยสำหรับสตรีผิวดำ แต่ทุกอย่างไร้ค่าไร้ความหมายในสายตาของเด็กผิวขาวที่รังเกียจเด็กหญิงผิวดำน่าชังเช่นเธอ เขามักจะมองวอล์คเกอร์ด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม และเรียกเธอด้วยคำหยาบว่า “one-eyed bitch!” หรืออีเลวตาเดียว

Photo: Courtesy of Alice Walker

คำพูดพล่อยๆ และทุกการกระทำต่ำช้าของเด็กชายผู้นั้นสั่นสะเทือนและกรีดแทงเป็นแผลลึกเรื้อรังเข้าไปใจหัวใจของวอล์คเกอร์ยิ่งกว่าตำหนิบนกระตกตาจากกระสุนปืนของพี่ชาย เธอทั้งโกรธและโมโห ถึงขนาดอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า ถ้าคำภาวนาของเธอเป็นจริงได้ เธอต้องการความสวยมากกว่าดวงตาที่จะกลับมามองเห็นเป็นปกติเสียอีก

แม้กระทั่งในสายตาของญาติพี่น้อง ทุกครั้งที่มีโอกาสรวมญาติ พวกเขามักจะบอกกับวอล์คเกอร์เป็นเสียงเดียวกันด้วยความไม่ตั้งใจว่า หน้าตาของเธอไม่เคยเปลี่ยนไปเลย หมายถึงตอนเด็กขี้ริ้วขี้เหร่อย่างไร โตมาก็ขี้ริ้วขี้เหร่อย่างนั้น ยิ่งตอกย้ำปมในใจของวอล์คเกอร์ให้ร้าวลึกลงไปอีก เธอกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองและมักจะก้มหน้าหลบตาคนอื่นตลอดเวลา

จนกระทั่งอายุได้ 14 ปี พระเจ้าประทานพรหนึ่งข้อให้วอล์คเกอร์ เพียงแต่เป็นพรคนละข้อกับที่เธอภาวนา หลังจากเธอรับอาสาช่วยเลี้ยงลูกให้พี่ชาย วอล์คเกอร์กับพี่คนนี้สนิทสนมกันมาก เขาจึงรับรู้ความทุกข์ใจของเธอเสมอมา วันหนึ่งเขากับภรรยาตัดสินใจพาวอล์คเกอร์ไปหาหมอเพื่อรักษาดวงตาให้กลับมาบองเห็นได้มากที่สุด

Photo: Courtesy of Alice Walker

กระจกตาของวอล์คเกอร์จากซีดขาวเป็นฝ้ากลับคืนใกล้เคียงปกติ เมื่อเงยหน้ามองตัวเองในกระจกเธอรู้สึกว่ากลายเป็นคนใหม่ เธอได้ความมั่นใจและความเข้มแข็งกลับคืนมาอีกครั้ง จะไม่มีคำพูดใดทำร้ายใจของเธอ และไม่เคยร้องหาความงามอื่นใดอีก

ยามว่างวอล์คเกอร์มักจะเขียนบทกวีเพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก และความในใจ ผลงานเขียนเล่มแรกของเธอจึงเป็นหนังสือรวมบทกวีสะท้อนชีวิต ความรัก และความสูญเสียในชื่อ Once เดิมทีเธอเขียนไว้ในปี 1965 ระหว่างเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ประเทศแอฟริกาใต้ขณะอายุได้ 21 ปี แต่หลังจากอาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ มูเรียล รัคคีย์เซอร์ (Muriel Rukeyser) กวีและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอเมริกันได้อ่านจบจึงส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาจนได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1968

Photo: State Library Archives of Florida via https://goqnotes.com/49600/black-history-month-lgbtq-black-civil-rights-icons/

เมื่อเรียนจบ วอล์คเกอร์ไม่ได้เริ่มเขียนนวนิยายทันที เธอสมัครเข้าทำงานระยะสั้นๆ ที่กรมสวัสดิการแห่งนครนิวยอร์ก ก่อนย้ายไปทำงานด้านสิทธิพลเมืองและต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในสมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของประชาชนผิวสีที่เมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี

จากนั้นจึงค่อยกลับมาเป็น Writer-in-Residence หรือนักเขียนผู้พำนักชั่วคราวในมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาและแบ่งปันประสบการณ์เชิงลึกเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญด้านการเขียนที่ Jackson State University และ Tougaloo College

ในช่วงเวลานี้เอง วอล์คเกอร์ปลุกปั้น The Third Life of Grange Copeland นวนิยายเรื่องแรกของเธอควบคู่ไปด้วย และได้รับการตีพิมพ์ในปี 1970

แต่นวนิยายที่สร้างชื่อให้วอล์คเกอร์เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนคือ The Color Purple เพราะทำให้เธอได้รับ รางวัลพูลิตเซอร์ สาขาวรรณกรรมหรืองานเขียนบันเทิงคดี ประจำปี 1983 แม้ว่าผลงานเล่มนี้ตีพิมพ์ห่างจากนวนิยายเล่มแรกถึง 12 ปี

วอล์คเกอร์เลือกทุ่มเทเวลาช่วงเช้าหลังจากตื่นนอนและทำกิจวัตรเสร็จมานั่งเขียนนวนิยายเป็นประจำ

เธอยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องเขียนงานติดต่อกันทุกวัน เธอเองก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่สิ่งสำคัญที่ห้ามละเลยเด็ดขาดคือการเตรียมพื้นที่ไว้ให้พร้อมเขียนงานเสมอ เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าความคิดดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานเขียนจะผุดขึ้นมาเวลาไหนบ้าง

Photo: https://www.youtube.com/watch?v=6DVAfpwTThU

ด้วยชีวิตที่เรียบง่ายไม่หวือหวา สถานที่จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของวอล์คเกอร์ ภายในบ้านพักส่วนตัวที่เมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี เธอไม่ได้แบ่งห้องไว้เขียนงานเป็นสัดเป็นส่วนด้วยซ้ำ แต่ทุกที่ที่มีโต๊ะล้วนเป็นห้องให้วอล์คเกอร์นั่งเขียนงานได้ทั้งสิ้น แม้กระทั่งในห้องนอน เพียงแต่เธอต้องจัดเตรียมโต๊ะให้เรียบร้อยเสียก่อน

บนโต๊ะของวอล์คเกอร์จึงมีแค่อุปกรณ์ไม่กี่อีกอย่าง แต่ทุกอย่างคือของจำเป็นที่เธอต้องใช้ระหว่างเขียนงาน ทั้งพิมพ์ดีดเครื่องเก่งของ Smith-Corona กระดาษสีเหลือง ปากกา น้ำยาลบคำผิดสำหรับแต้มแก้ไขคำระหว่างพิมพ์ และกล่องกระดาษลูกฟูกขนาดพอดีกับแผ่นกระดาษ

Photo: Bernice B. Perry / Courtesy of the MacDowell Colony
Photo: Courtesy of Alice Walker

วอล์คเกอร์เก็บกระดาษทุกแผ่นที่เธอขีดเขียนเอาไว้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าสิ่งที่อยู่ในนั้นจะถูกนำไปใช้หรือต่อยอดเป็นงานเขียนหรือไม่ เพราะเธอถือว่าสิ่งที่จดลงกระดาษเกิดขึ้นจากการกลั่นกรองด้วยความคิดและความสร้างสรรค์ มันจึงไม่ใช่ขยะที่จะขยำทิ้งได้ง่ายๆ

ในมุมมองของวอล์คเกอร์ การเขียนต้องไม่เกิดจากการบีบบังคับให้ตัวเองหน้าดำคล้ำเครียด เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าตัวเองต้องอดทนและฝืนความรู้สึกเขียนให้จบๆ ไป เธอจะหยุดเขียนทันที แล้วไปทำสิ่งอื่นแทน หาอะไรก็ได้ทำที่ไม่ใช่การเขียน

Photo: Bernice B. Perry / Courtesy of the MacDowell Colony via https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-6-tips-making-artist-residency

หากเลือกออกไปข้างนอก ซึ่งวอล์คเกอร์ทำบ่อยเพราะเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่ง เธอจะพกโน้ตแพดหรือสมุดเล่มเล็กที่ฉีกได้พร้อมปากกาหนึ่งหรือสองด้ามเผื่อไว้จดสิ่งความคิดที่เข้าท่า แต่หลังจากเรียนรู้วิธีการใช้คอมพิวเตอร์เป็น วอล์คเกอร์จึงหันมาพกโน้ตบุ๊กรุ่นน้ำหนักเบาแทนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ถึงอย่างนั้น วอล์คเกอร์ก็ยังชอบความรู้สึกขณะจับปากกาจรดกระดาษมากกว่าใช้ปลายนิ้วสัมผัสแป้นพิมพ์ แม้ว่าการเขียนด้วยมือจะทำให้นิ้วของเธอด้านและเจ็บก็ตาม

Photo: https://www.youtube.com/watch?v=1HCdG58w3xQ

สำหรับวอล์คเกอร์งานเขียนคือความจริงใจและความรับผิดชอบของนักเขียนที่มีต่อผู้อ่าน เมื่อเริ่มต้นเขียนเธอจะคิดก่อนทุกครั้งว่าผู้อ่านจะได้อะไรจากสิ่งที่เธอกำลังจะเขียน วอล์คเกอร์เชื่อว่าเรื่องราวมีพลังในตัวเอง แล้วผู้อ่านจะรับรู้พลังนั้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เขียนถ่ายทอดด้วยความเรียบง่ายและตรงไปตรงมากที่สุด

Photo: https://alicewalkersgarden.com/

ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่เกิดมาเป็นผู้หญิงผิวดำชาวเอริกันเชื้อสายแอฟริกัน ประกอบกับความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน สตรีนิยม และขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง วอล์คเกอร์จึงนำเสนอประเด็นการต่อสู้ดิ้นรนของคนผิวดำโดยเฉพาะผู้หญิง การเหยียดเพศและสีผิวในสังคมเลือกปฏิบัติและเฉยเมยต่อความรุนแรงที่คนผิวขาวกระทำต่อคนผิวดำ รวมถึงการกดขี่ที่คนผิวดำกระทำด้วยกันเอง จนกลายมาเป็นลายเซ็นหรือลักษณะเด่นในงานเขียนของเธอทุกรูปแบบ ทั้งกวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดี

วอล์คเกอร์ตั้งใจบอกเล่าประเด็นปัญหาเหล่านี้ซึ่งไม่เคยหายไปไหนและยังมีให้เห็นทนโท่ในชีวิตจริงของผู้อ่าน ผ่านความเป็นมนุษย์ธรรมดาผู้มีเพียงศรัทธาต่อพระเจ้า ขณะเดียวกันก็ศรัทธาต่อตัวเองและต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันคอยขับเคลื่อนชีวิตไปเดินไปข้างหน้า

ความธรรมดานี้เองทำให้งานเขียนของเธอมีพลังและกินใจผู้อ่าน เพราะเธอเขียนด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การอ่านขัดเกลาใจของคนเราได้ และการอ่านควรทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ดีในความหมายของเธอคือเคารพในความแตกต่าง เข้าใจความหลากหลาย และอยู่ร่วมกันอย่างเห็นอกเห็นใจ

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะวอล์คเกอร์ให้ความสำคัญกับความสงบ จิตวิญญาณ และความเป็นธรรมชาติ เธอไม่เคยละทิ้งตัวตนหรือความเป็นตัวเอง

ในปี 2007 วอล์คเกอร์มอบกล่องกระดาษจำนวน 122 กล่องให้กับหอสมุดและหอจดหมายเหตุของ Emory University ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เก็บรักษาต่อ ภายในแต่ละกล่องบรรจุทั้งต้นฉบับงานเขียน จดหมายปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ บันทึกส่วนตัว รูปถ่าย และกระดาษร่างที่เธอเขียนด้วยลายมือตลอดชีวิตการเป็นนักเขียน ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์เพราะเธอเก็บรักษาไว้อย่างดี

จดหมายปฏิเสธการตีพิมพ์ The Color Purple
Photo: Courtesy of Alice Walker

ในมุมมองของบรรณารักษ์และนักวรรณกรรมศึกษาเห็นตรงกันว่า เอกสารของวอล์คเกอร์จะกลายเป็นหลักฐานเพื่อการค้นคว้าที่มีคุณค่าต่อวงการวรรณกรรมสมัยใหม่ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันผ่านงานเขียน ซึ่งส่งอิทธิพลไปยังนักเขียนรุ่นต่อๆ ไปได้

Photo: Jason Puckett via https://haver.blog/2018/07/23/what-they-learned-abby-cox-18/

ถึงตอนนี้ วอล์คเกอร์ในวัย 77 ปี ไม่มีทีท่าว่าจะวางปากกายุติบทบาทเหมือนนักเขียนคนอื่นๆ ที่รู้สึกว่าถึงจุดอิ่มตัวของอาชีพในช่วงบั้นปลาย เมื่อนึกย้อนกลับไปตลอดเส้นทางอาชีพนักเขียน เธอกลับพบว่าที่ผ่านมาเหมือนเธอไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังทำงาน ทั้งๆ ที่การเขียนจนแล้วเสร็จสักเรื่องเป็นงานที่หนักหนาพอตัว วอล์คเกอร์ยังยืนยันกลับตัวเองว่าจะเขียนต่อไปจนกว่าจะไม่มีแรง

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ อลิซ วอล์คเกอร์

The Third Life of Grange Copeland (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1970)
เรื่องราวชีวิตแต่ละช่วงของ ‘แกรนจ์’ หนุ่มบ้านนอกผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร ช่วงยุคปี 1930 เขาตัดสินใจว่าจะละทิ้งทุกอย่างที่บ้านเกิดในแถบชนบทของรัฐจอร์เจียทางใต้ สหรัฐอเมริกา แล้วไปตายเอาดาบหน้าในเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีงานรองรับจำนวนมาก เพื่อค้นหาความรัก ความสุข และชีวิตใหม่ที่ดีกว่า แต่ความน่าเศร้ากลับอยู่ตรงที่ เขาไม่อาจรู้ล่วงหน้าเลยว่าแต่ละทางที่เลือกเดิน จะนำพาไปยังแห่งหนใดในเส้นทางชีวิต หวังว่าท้ายที่สุด เขาจะพบสิ่งสำคัญที่ชีวิตออกตามหามานาน

Meridian (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1976)
‘เมริเดียน’ คือชื่อของหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิ์มนุษยชนด้วยความกล้าหาญ เธอทุ่มเททั้งชีวิตให้กับสิ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้นจริง แม้ความสัมพันธ์พังลงไม่เป็นท่า ร่างกายอ่อนแอลงด้วยปัญหาสุขภาพ รวมถึงกฏเกณฑ์คร่ำครึในสังคมอเมริกาใต้ช่วงปี 1960 ซึ่งเป็นกำแพงสูงที่ไม่อาจก้าวข้ามและทุบทำลายได้ในเร็ววัน แต่สำหรับเธอแล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อุปสรรค แม้ต้องสู้อย่างโดดเดียว เธอก็ไม่เคยยอมแพ้

The Color Purple (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1982)
หนึ่งในวรรณกรรมอเมริกันระดับคลาสสิก บอกเล่าชีวิตรันทดของสองพี่น้อง เมื่อพ่อของพวกเธอขาย ‘ซีลี่’ ผู้เป็นพี่ให้แต่งงานกับชายแปลกหน้า ‘เนตตี้’ ผู้เป็นน้องจึงถูกกีดกันให้ไปมีชีวิตโดยลำพัง ทั้งคู่จำนนต่อชะตากรรมอย่างไม่เต็มใจ แม้น้องสัญญาว่าจะเขียนจดหมายถึงพี่เสมอ แต่ซีลี่ไม่เคยได้รับสักฉบับ เธอยังคงเฝ้ารอและใช้ชีวิตราวร่างไร้วิญญาณ ยอมเป็นทาสรับใช้สามีเพราะไม่อยากถูกทำร้าย จนกระทั่งได้รู้จักกับ ‘ชัก’ นักร้องสาวผู้ลิขิตชีวิตตามเสียงของใจ พลอยทำให้ใจของซีลี่เปี่ยมด้วยความหวังอีกครั้ง

 

อ้างอิง