life

The Writer’s Room
No. 14

ห้องที่วางรูปถ่ายแม่ไว้ตรงตำแหน่งเด่นซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนของ เอมี แทน
นักเขียนเชื้อสายจีนผู้ชิงชังกับชะตาชีวิต แม่ และความเป็นแม่

Photo: Courtesy of Amy Tan

แม่เป็นผู้ให้กำเนิด แต่ในสายตาของลูกทุกคนโดยเฉพาะลูกสาว อาจไม่ได้มองเห็นแม่ของตนคือทุกอย่างหรือเป็นแบบอย่างของชีวิต เพราะความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก นอกจากความเกี่ยวดองทางสายเลือด ก็แทบจะไม่มีหลักประกันอื่นใดที่พอจะเป็นสายใยช่วยยึดโยงคนต่างวัยทั้งสองรุ่นไว้ด้วยกัน เว้นเสียแต่ว่า แม่จะตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวขื่นขมสุดชีวิตในอดีตให้ลูกฟัง

แทนในวัย 3 ขวบ Photo: Courtesy of Amy Tan

ในสายตาของ เอมี แทน (Amy Tan) ซึ่งไม่ใช่ในฐานะนักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายจีนผู้ประสบความสำเร็จในแวดวงนวนิยายระดับโลก แต่เป็นในฐานะลูกสาวผู้รับรู้เรื่องราวทุกข์เข็ญของแม่ จึงมองเห็นหญิงผู้ให้กำเนิดเป็นทุกอย่างของชีวิตเธอ

ประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวเหล่านั้น ทำให้แทนเข้าใจว่า ไม่มีหนทางอื่นใดที่มนุษย์คนหนึ่งจะเอาชนะชะตากรรมได้ นอกจากกัดฟันสู้เพื่อไขว่คว้าโอกาสให้ตัวเองก้าวไปสู่จุดที่ไม่ตกต่ำไปกว่าเดิม

เส้นทางที่แม่เลือกเดินจึงไม่เพียงพลิกผันชีวิตของตนเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ชีวิตเธอ ซึ่งเกินความคาดหวังของคนเป็นแม่ด้วยซ้ำ

แทนเป็นลูกสาวคนกลาง เธอมีพี่ชายและน้องชายที่ใช้ชีวิตวัยเด็กร่วมกันตั้งแต่จำความได้ ทุกคนเกิดและเติบโตในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพราะแม่และพ่อของเธอเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานหลีกหนีภาวะสงครามและความข้นแค้น มาตั้งรกรากเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่บนแผ่นดินที่อยู่ห่างคนละฝั่งฟ้า

ภาพถ่ายปี 1959 แทนและสมาชิกทุกคนในครอบครัวของเธอ
Photo: Courtesy of Amy Tan

จนกระทั่งแทนอายุได้ 15 ปี พี่ชายและพ่อด่วนจากไปในเวลาไล่เลี่ยกันเพราะความรุนแรงของเนื้องอกในสมอง ส่วนแม่ของเธอไม่อาจทำใจยอมรับการสูญเสียนี้ได้ จึงพาแทนและน้องชายย้ายไปที่เมืองมองเทรอซ์ (Montruex) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทุกคนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ต่างจากแม่ผู้มีอดีตเป็นเงาสลัวตามตัวไม่ห่าง จึงบอกความลับให้แทนรู้ เพราะคิดว่าลูกสาวโตพอจะเข้าใจ

แม่ของเธอเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่ง มีลูกกับคนรักเก่าสี่คน พี่ชายคนโตตายตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนลูกอีกสามคนเป็นผู้หญิงทั้งหมด แม่ทิ้งลูกสาวทั้งสามคนให้อยู่ที่ช่างไห่ (Shanghai) ความสัมพันธ์ระหว่างแทนกับแม่หลังเผยความลับจากหนักแน่นกลายเป็นกระท่อนกระแทนแทบจะแตกหักกันให้ได้ เป็นความผูกพันที่รักได้ไม่สุดใจ แต่ก็ชังกันไม่ลง เป็นสายใยยุ่งเหยิงผูกมัดทั้งคู่ไม่ต่างกับเงื่อนตายที่ไม่มีทางดิ้นหลุด เพราะทั้งคู่ไม่มีใครอื่นนอกจากกันและกัน

เมื่อแทนเข้าสู่วัยที่เริ่มมีความรักกับเพื่อนชาย แม่ของเธอรับไม่ได้ถึงขนาดมีปากเสียงกันบ่อยครั้ง ขู่ทำร้ายตัวเอง และพยายามฆ่าตัวตายเมื่อสบโอกาส แทนหัวเสียกับอารมณ์ที่ไม่มั่นคงและความหุนหันพลันแล่นของแม่เสมอ เธอสับสนไปหมด เพราะไม่รู้ว่าแม่ต้องการอะไรกันแน่ หรือเป็นวิธีต่อรองและเรียกร้องความสนใจจากเธอ ถึงอย่างนั้น จากวัยรุ่นที่ดื้อรั้น แทนยอมอดกลั้นความไม่พอใจทั้งหมดเอาไว้ แล้วแสดงออกด้วยท่าทีอ่อนโยนให้แม่เห็น เพราะเธอคิดว่าไม่มีประโยชน์หากใช้ความโกรธโต้กลับไป

ในที่สุด แม่ทำให้แทนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เธอต้องเข้ารับการบำบัดและกินยารักษาอยู่ระยะหนึ่งจนหายดี เธอบอกกับตัวเองทันทีว่าจะไม่มีลูกเด็ดขาด เพราะไม่อยากให้ลูกต้องเติบโตมารับวิบากกรรมเหมือนที่เธอถูกแม่กระทำใส่อย่างไม่ใยดี แทนกลัวว่าตัวเองจะเป็นเหมือนแม่ เช่นเดียวกับแม่ที่เป็นเหมือนคุณยาย เธอทำใจรับไม่ได้จึงตัดจบวังวนความคิดฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองให้หยุดอยู่ที่เธอเพียงผู้เดียว

ระหว่างแทนและแม่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เธอได้เรียนรู้ฉากชีวิตของแม่ตั้งแต่ยังเป็นลูกสาวของคุณยายว่า แม่ของเธอประสบกับสารพัดปัญหาและความยากลำบากเท่าที่ผู้หญิงจีนคนหนึ่งจะต้องเผชิญ ตั้งแต่การทำงานบ้านที่สร้างความเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดโดยไม่ได้รับความเห็นใจเพราะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิงเพียงผู้เดียว การตกเป็นรองเพราะสังคมจีนเชิดชูชายให้เป็นใหญ่ ประสบการณ์ชีวิตที่ถูกกระทำย่ำยี่เพราะค่าความเป็นมนุษย์ถูกกำหนดจากเพศกำเนิด จนถึงความทุกข์ทนจากเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของคุณยาย แทนเข้าใจทันทีว่าทุกเรื่องเล่าคือบาดแผลเรื้อรังในใจของแม่ที่ไม่มีทางหายเป็นปลิดทิ้ง

ความสะเทือนใจจากชีวิตของแม่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอริเริ่มคัดเลือกเรื่องเล่ามาถัดทอเป็นงานเขียน

ภาพถ่ายปี 1989 แทนนั่งฟังแม่แปลจดหมายที่เขียนด้วยภาษาจีนจากกองเอกสารที่แม่ของเธอเก็บติดตัวมาระหว่างย้านถิ่นฐาน
Photo: Courtesy of Amy Tan

แทนต้องการอุทิศงานเขียนของเธอสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกสาว เสมือนบันทึกเรื่องราวของแม่กับเธอ แม้ว่าแทนเรียนจบด้านภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ และเคยใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายดายเพราะเธอไม่เคยเขียนเรื่องในรูปแบบนวนิยายมาก่อนเลย

แทนเริ่มต้นทำงานที่ต้องอาศัยทักษะการเขียนครั้งแรก ตั้งแต่สมัยเรียนปีหนึ่ง เธอรับการเขียนเอกสารเชิงธุรกิจให้บริษัทห้างร้านที่ว่าจ้าง เพราะเธอเคยรับหน้าที่ดูแลงานและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ารายต่างๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจกับบริษัทก่อนหน้านี้ เมื่อทำไปได้สักระยะเธอตัดสินใจลาออกเพราะรู้ว่านี่ไม่ใช่งานที่เหมาะกับเธอ เมื่อหัวหน้ารู้ว่าอาชีพที่เธอปรารถนาจะเป็นคือนักเขียน เขาจึงสบประมาทว่า เป็นไปไม่ได้หรอกเพราะภาษาอังกฤษของเธอมันห่วย แทนเปลี่ยนคำดูถูกเป็นแรงผลัดดันให้เธอตั้งใจศึกษาภาษาอังกฤษและฝึกฝนทักษะการเขียนนับตั้งแต่นั้น

Photo: MasterClass (2021). Amy Tan Teaches Fiction, Memory, and Imagination. Yanka Industries Inc.

ปี 1985 แทนในวัยสามสิบห้ารู้สึกเข้าใกล้ความฝันอีกขั้น เพราะเธอเขียนเรื่องสั้นสำเร็จเป็นครั้งแรกของชีวิตหลังจากเข้าร่วมร่วมเวิร์คช้อปเกี่ยวกับการเขียน ซึ่งมีคนสนใจงานเขียนของเธอไม่น้อย เปิดโอกาสให้เธอได้เขียนเรื่องสั้นและบทความลงนิตยสารต่างๆ ในปีเดียวกันเธอติดตามแม่ไปยังประเทศจีน แม่ของเธอต้องการกลับไปเยี่ยมลูกสาวต่างพ่อ การพบปะเครือญาติในครั้งนั้นคือแรงบันดาลใจที่เติมเชื้อไฟให้เธอเขียนนวนิยายเล่มแรกของชีวิต นั่นคือ The Joy Luck Club

แทนเรียกห้องที่เธอนั่งเขียนงานว่า living room เพราะเธอเชื่อว่าความสบายและความรู้สึกผ่อนคลายจะช่วยให้เขียนได้ลื่นไหล

ภายในห้องเต็มไปด้วยภาพเก่าสีซีเปีย ทุกภาพใส่อยู่ในกรอบรูปอย่างตั้งใจ ส่วนใหญ่คือภาพของแม่ตั้งแต่ยังสาวจนถึงบั้นปลายชีวิตที่มีเธอคอยอยู่เคียงข้างเสมอ บางภาพตั้งอยู่บนโต๊ะและชั้นวางหนังสือ บางภาพแขวนอยู่บนผนัง แต่ทุกภาพมองเห็นได้ชัดเจนจากตำแหน่งที่เธอนั่งเขียนงาน

Photo: Courtesy of Amy Tan

แทนมั่นใจว่าไม่มีใครจะรู้จักแม่ดีไปกว่าเธอ แม้ว่าแม่จะเคยโมโหร้ายแต่ทุกอย่างมีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง เมื่อเธอเข้าใจ แม่ก็ไม่ต่างจากผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง เพียงแต่มีชีวิตที่ระหกระเหิน และต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดในอดีต เรื่องราวของแม่ทำให้เธอรู้สึกเห็นอกเห็นใจอย่างหมดหัวใจ และทำให้เธอคิดได้ว่า ในเมื่อเปลี่ยนชะตากรรมไม่ได้ ก็ขอให้เปลี่ยนที่ทัศนคติหรือมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวแทน

ถ้าหากปราศจากเรื่องของแม่ แทนคงไม่ได้เป็นนักเขียนอย่างที่เธอใฝ่ฝัน เพราะเบื้องหลังการสร้างสรรค์นวนิยายทั้ง 6 เล่ม ล้วนเกิดขึ้นจากเรื่องเล่าของแม่ทั้งสิ้น ผลงานของเธอจึงกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่ผู้ตัวแทนของขนบจีนดั้งเดิมก่อนการอพยพและลูกสาวผู้ตัวแทนของชีวิตที่ถูกกลืนด้วยสภาพสังคมตะวันตกหลังย้ายถิ่นฐาน โดยวางโครงเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างเหตุการณ์ร่วมสมัยในปัจจุบันและการหวนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาขณะสงครามกำลังดำเนินอยู่จนถึงความเปลี่ยนแปลงหลังสงครามยุติลง ทั้งหมดคือจุดร่วมที่นวนิยายทุกเล่มของแทนต้องมีเนื้อหาคาบเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เสมอ

นักวรรณกรรมศึกษาเรียกความหมกมุ่นซึ่งเป็นลักษณะเด่นด้านวรรณศิลป์ของแทนว่า Amy Tan-Syndrome เพราะงานเขียนของเธอเป็นแบบแผนที่ส่งอิทธิพลถึงแนวทางการเขียนวรรณกรรมของนักเขียนผู้หญิงพลัดถิ่นเชื้อสายจีนในรุ่นต่อมาจนถึงปัจจุบัน

Photo: https://www.wsj.com/articles/at-home-with-author-amy-tan-1406744039

แทนคุ้นชินกับการใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์เนื้อเรื่องมากกว่าใช้ปากกาเขียนลงบนกระดาษ อันที่จริงเธอจับดินสอมากกว่าปากกาด้วยซ้ำ เพราะงานอดิเรกยามว่างหลังจากเขียนงานคือการวาดรูปนกและสัตว์อื่นๆ ที่เธอสนใจ

Photo: https://twitter.com/amytan/status/908643487054049280

ช่วงแรกๆ แทนตั้งใจปล่อยให้ living room โล่งที่สุด เพราะขนาดที่แท้จริงของห้องไม่ใหญ่มาก เป็นความพยายามปลอบใจตัวเองด้วยแนวคิดพื้นที่ไม่มีกรอบจำกัดของ อ็องรี มาติส (Henri Matisse) จิตรกรเอกชาวฝรั่งเศส พร้อมเปิดหน้าต่างบานใหญ่ให้แสงแดดส่องเข้ามาทั่วถึงทั้งห้อง

แต่เมื่อนั่งพิมพ์งานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แสงแดดกลับเป็นสิ่งรบกวนใจ เพราะสะท้อนแยงตาจนเธอรู้สึกรำคาญและเสียสมาธิ แทนจึงติดผ้าม่านปิดหน้าต่างทุกบาน ระหว่างใช้จินตนาการแต่งเรื่องราว เธอจะแง้มม่านออกเล็กน้อยให้แสงแดดลอดผ่านเข้ามาไม่มาก พอแค่ทำให้ห้องไม่มืดเกินไป ส่วนบริเวณโต๊ะ เธอเอาโคมไฟมาตั้งไว้เพื่อจะได้มองเห็นตัวอักษรบนคีย์บอร์ดชัดเจน

เวลาผ่านไปแค่ปีเดียว living room ของแทนก็เต็มไปด้วยสิ่งของมากมาย โดยเฉพาะหนังสือของนักเขียนที่เธออ่านเพื่อศึกษาการเขียน เช่น วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) นักเขียนชาวรัสเซีย, ริชาร์ด ฟอร์ด (Richard Ford) นักเขียนชาวอเมริกัน, อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) นักเขียนชาวสกอตแลนด์ และ ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ (D. H. Lawrence) นักเขียนชาวอังกฤษ

Photo: MasterClass (2021). Amy Tan Teaches Fiction, Memory, and Imagination. Yanka Industries Inc.
Photo: https://www.wsj.com/articles/at-home-with-author-amy-tan-1406744039

นอกจากนี้ยังมีเปียโนหนึ่งหลังตั้งอยู่ใน living room ด้วย เพราะแทนหลงรักดนตรีแจ๊สและดนตรีคลาสติก ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเปียโน ในหัวของเธอจะเกิดภาพบางอย่าง ภาพนั้นทำให้เธอแต่งนวนิยายได้ไม่รู้จบ เธอจึงเปิดดนตรีคลอระหว่างเขียนงาน หรือไม่ก็ลงมือเล่นเองระหว่างพักจากงานเขียน ซึ่งแตกต่างกับตอนยังเป็นเด็ก เพราะความรู้สึกของลูกซึ่งถูกพ่อและแม่เขี่ยวเข็ญให้เล่นเปียโน คือภาระของชีวิตมากกว่า แทนแอบคิดติดตลกร้ายด้วยว่า น่าภาคภูมิใจตรงไหน ถ้าบังคับให้เธอเรียนหมอก็พอจะเข้าใจได้ เธอถ่ายทอดความทรงจำไว้ในบทแรกของ The Joy Luck Club ว่า

แม่พยายามบ่มเพาะและค้นหาพรสวรรค์ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวฉัน ยอมแม้กระทั่งทำงานบ้านให้ครูสอนเปียโนปลดเกษียณ เพื่อแลกเปลี่ยนแทนค่าจ้างให้ฉันได้เรียนเปียโน แต่ฉันทำให้แม่ผิดหวัง ไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักร้องประสานเสียงเยาวชนในโบสถ์ ไม่ได้เป็นนักเปียโน นั่นไม่ได้ทำให้แม่ยอมแพ้ แม่บอกว่า คนอย่างฉันเป็นดอกไม้ที่บานช้า เหมือนไอน์สไตน์ ตอนยังเด็กใครๆ ก็คิดว่าเขาปัญญาทึบ จนกระทั่งวันที่เขาค้นพบระเบิดปรมาณูได้สำเร็จตอนโต แม่คิดว่าฉันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น

ทุกครั้งก่อนที่แทนจะเริ่มต้นพิมพ์เนื้อเรื่อง เธอไม่เคยลืมถามตัวเองว่ากำลังจะบอกเล่าเรื่องอะไร เพื่อตั้งสติ รวบรวมสมาธิและความสนใจไว้ที่หน้าจอ เตรียมพร้อมดำดิ่งลงไปสำรวจเรื่องราวของแม่อีกครั้ง

Photo: MasterClass (2021). Amy Tan Teaches Fiction, Memory, and Imagination. Yanka Industries Inc.

แทนบอกว่าคนส่วนมากมักมีภาพจำต่อนวนิยายว่าเป็นแค่เรื่องแต่ง หรือพูดให้จริงที่สุดคือเป็นเพียงเรื่องโกหกเพื่อความบันเทิง แต่สำหรับแทนกลับมองเห็นตรงกันข้าม นวนิยายในความหมายของเธอ คือทางที่จะนำไปสู่การค้นหาความจริงในชีวิต การเขียนและอ่านแต่ละประโยคจึงเป็นการค้นลงไปยังตัวตน เพราะชีวิตทุกคนก็เหมือนกับหนังสือ ยิ่งเปิดยิ่งพบ ยิ่งอ่านยิ่งเข้าใจ

หากได้อ่านนวนิยายของแทนหลายๆ เล่ม ผู้อ่านย่อมเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันว่างานเขียนของเธอเกี่ยวข้องกับครอบครัวและการผลัดถิ่นที่อยู่ แต่สำหรับมุมมองผู้เขียน เธอกลับบอกว่า เรื่องราวทั้งหมดคือ การทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกเพื่ออธิบายว่าเรากลายเป็นเราอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร

ในบทนำของ The Joy Luck Club ได้สะท้อนที่มาที่ไปของชีวิตแม่และแทนไว้อย่างกินใจว่า

แม่เดินทางข้ามทะเลมาเริ่มชีวิตบนแผ่นดินใหม่ เธอหอบหงส์มาด้วย เป็นการบอกกลายๆ ว่าลูกของเธอจะเป็นเหมือนหงส์ ไม่มีใครดูถูกได้ พูดภาษาอังกฤษชัดคล่อง และต้องมีชีวิตที่ดีกว่าแม่อย่างเธอ แต่ของที่รักมักอยู่กับเราได้ไม่นาน หงส์ตัวนั้นถูกเจ้าหน้าที่ยึดไประหว่างตรวจคนเข้าเมือง สิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่กับเธอคือขนของมัน นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่แม่จะเก็บรักษาไว้เพื่อมอบให้ลูก ขนหงส์ที่อาจดูไร้ค่า แต่มันเดินทางมาไกลเหลือเกิน และเปี่ยมด้วยความตั้งใจดีของแม่

แทนเคยสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า ตอนยังเด็ก เธอชังตัวเองมากกว่าใคร เพราะเธอคือเด็กอับโชคที่เกิดผิดครอบครัว ในตอนนั้นเธอเชื่อว่า ถ้าไม่ได้เกิดเป็นลูกของครอบครัวคนจีนผลัดถิ่น ชีวิตก็คงดีกว่านี้

Photo: Jim McHugh, Sundance Institute

แต่ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้กลับหล่อหลอมให้แทนเป็นนักเขียนอาชีพที่ประสบความสำเร็จ เธอเขียนคำอุทิศไว้ในนวนิยายเล่มแรกของเธอว่า

แด่ แม่ของฉัน และ
แด่ ความทรงจำจากแม่ถึงคุณยาย

แม่เคยถามฉันครั้งหนึ่งว่า ฉันจดจำอะไรได้บ้าง
หนังสือเล่มนี้คือคำตอบ มากมายเชียวล่ะ

เมื่อแทนมองไปยังภาพถ่ายของแม่ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ ภาพนั้นสะท้อนกลับถึงเธอเสมอ เป็นความทับซ้อนของประสบการณ์ ความทรงจำ และความรู้สึกทั้งหมดที่เธอไม่มีวันลืม เพราะว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลา

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ เอมี แทน

The Joy Luck Club (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1989)
เรื่องราวชีวิตของผู้หญิงสองรุ่นจากสี่ครอบครัว รุ่นแรกคือ ‘แม่’ ผู้อพยพมาจากจีน เคยกล้ำกลืนฝืนทนกับค่านิยมชายเป็นใหญ่ และความลำบากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนลงหลักปักฐานเริ่มต้นชีวิตใหม่ในซานฟรานซิสโก ส่วนรุ่นสองคือ ‘ลูกสาว’ ผู้เกิดและเติบโตบนแผ่นดินที่ดีกว่า แต่ความผูกพันทางสายเลือดและความเป็นหญิงเหมือนกัน เปิดโอกาสให้แม่และลูกเปิดใจเรียนรู้ชีวิตต่างรุ่น เป็นความงดงามที่สั่นสะเทือนใจในคราวเดียวกัน

The Kitchen God’s Wife (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1991)
ฉากชีวิตอันขื่นขมในอดีตและความเจ็บปวดในรูปแบบความทรงจำที่ผู้เป็น ‘แม่’ เก็บไว้เป็นความลับให้ได้นานที่สุดเพราะคิดเสมอว่า หาก ‘ลูกสาว’ รู้ความจริง มีแต่จะทำร้ายใจให้เจ็บปวดยิ่งกว่าเดิม แต่ชีวิตกลับพลิกผัน เธอจำเป็นต้องเผยความหลังกับลูก อย่างน้อยที่สุด จะได้ไม่มีสิ่งใดติดค้างใจต่อกัน เรื่องราวทั้งหมดจึงสะท้อนชีวิตที่ไร้ตัวตนของผู้หญิงจีน แม้ทำงานหนักในครัวได้ไม่ขาดตกบกพร่อง และเป็นกำลังหลักของบ้าน แต่ไม่มีใครมองเห็นคุณค่าของเธอสักคนเดียว

The Bonesetter’s Daughter (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2001)
ราวกับ ‘แม่’ รู้ตัวว่าอีกไปนานความทรงจำในชีวิตจะค่อยๆ เลือนลางและจางหายไป เธอจึงลงมือเขียนบันทึกเป็นอัตชีวประวัติ เพื่อมอบให้ ‘ลูกสาว’ คนเดียวได้อ่านและร่วมจดจำเรื่องในอดีต โดยเฉพาะเรื่องเมื่อครั้งยังใช้ชีวิตอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเธอไม่เคยปริปากเล่าให้ลูกฟังมาก่อน ต่อให้เวลาจะล่วงเลยผ่านมานาน แต่ประสบการณ์และเชื้อสายที่ไม่อาจสลัดทิ้งได้หมดสิ้น คือสิ่งสำคัญที่พันธนาการแม่และลูก เป็นความสัมพันธ์ระดับจิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยห้วงอารมณ์ลึกซึ้ง

 

อ้างอิง