ในวันที่ ‘ความจริง’ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่จอโทรทัศน์สี่เหลี่ยม แต่กลับไหลทะลักเข้ามาหาเราได้ทุกช่องทาง ทุกวันนี้แม้เฟคนิวส์จะจุดติดง่ายเหมือนไฟไหม้น้ำมัน แต่ก็ไม่เกินความสามารถของ ‘ความจริง’ ที่จะตามไปดับได้อย่างทันท่วงทีเสมอ
นี่เป็นยุคสมัยที่พรมผืนเก่าคร่ำครึจะถูกรื้อออกไป แม้จะหนาและหนักแค่ไหน แต่ก็ไม่เกินความสามารถของผู้คนที่มี ‘ข้อมูล’ เป็นอาวุธในมือ พร้อมเสมอที่จะงัดพรมผืนนั้นขึ้นมาแล้วกวาดความโสมมที่ถูกซุกไว้ข้างล่างมานานนับศตวรรษทิ้งไป
ในสังคมที่ว่าข้อมูลกำลังเข้ามาท้าทายความเชื่อเดิมของเมื่อวานอยู่ตลอดเวลา มีมนุษย์มากมายที่ตื่นรู้เพราะข้อมูลชุดใหม่ และยังมีมนุษย์อีกมากมายที่ตรงกันข้าม ยอมปิดหู ปิดตา ปิดรับความคิดเห็น บล็อคทุกความเห็นต่าง และเสพแต่ข้อมูลที่หล่อเลี้ยงความเชื่อเดิม แม้นั่นจะเป็นเรื่องโกหกก็ตาม
พฤติกรรมเกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากภาวะที่เรียกว่า Cognitive dissonance หรือ การไม่สอดคล้องกันของความรู้คิด ที่เกิดขึ้นเมื่อความคิดเดิมที่เชื่อมาตลอดทั้งชีวิตถูกท้าทายด้วยความคิดชุดใหม่ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในใจ และต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อขจัดความไม่ลงรอยนั้นทิ้งไป ให้จิตใจที่สั่นคลอนเหมือนเรือลำเล็กที่กำลังเผชิญมรสุมกลับมาแล่นบนผิวมหาสมุทรอันนิ่งสงบได้อีกครั้ง
ทฤษฎีนี้ถูกค้นพบในปี 1957 โดย ลีออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันที่ได้ชักชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกสองคนมาศึกษาปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ ก่อนจะบันทึกออกมาเป็นรายงานวิจัยที่ชื่อว่า When Prophecy Fails หรือ เมื่อคำทำนายผิดพลาด
ปรากฏการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นในปี 1954 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชิคาโกพาดหัวข่าวชวนตะลึงว่า ‘เสียงทำนายจากดาวเคราะห์ถึงเมืองใหญ่: รีบหนีไปก่อนน้ำท่วมเรา 21 ธันวาฯ นี้’ ทีมวิจัยของเฟสทิงเกอร์ไม่นิ่งนอนใจ หลังจากเห็นพาดหัวข่าวก็ได้แฝงตัวเข้าไปเก็บข้อมูลสำหรับการวิจัยอย่างเงียบๆ จนได้รู้จักกับ โดโรธี มาร์ติน (Dorothy Martin) แม่บ้านคนหนึ่งในชิคาโกที่เชื่อว่าน้ำกำลังจะท่วมโลก และมนุษย์ต่างดาวจะพาเราออกไปจากที่นี่ เธอเผยแพร่ความคิดนี้ให้คนในละแวกนั้น จนท้ายที่สุดมีคนจำนวนมากเชื่อในคำบอกเล่าของเจ้าลัทธิคนนี้ บางคนถึงกับขายบ้าน ขายรถ ทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังและเฝ้ารอให้วันนั้นมาถึง
21 ธันวาคม 1954 พวกเขามารวมตัวกันตามนัดเพื่อเตรียมอพยพไปยังดาวอื่น แต่รอแล้ว รอเล่า จวนจะหมดวัน ทุกอย่างก็ยังปกติดี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีน้ำท่วม ไม่มีแม้แต่เงาของมนุษย์ต่างดาว
แต่แทนที่พวกเขาจะผิดหวัง สาปแช่งโดโรธีที่หลอกลวง และโกรธเกลียดตัวเองที่ยอมเชื่อเรื่องพรรค์นี้ ความจริงกลับตรงกันข้าม เพราะพวกเขาเชื่อว่าการมารวมตัวในครั้งนั้นคือการช่วยโลกเอาไว้จากหายนะ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกยังดำรงต่อ นอกจากจะเชื่อแบบนั้นแล้ว พวกเขายังป่าวประกาศให้ผู้คนนอกลัทธิได้รับรู้ในวงกว้างด้วย ท้ายที่สุดแล้วลัทธินี้ยังคงมีคนศรัทธาและยังดำเนินต่อไป
เฟสทิงเกอร์ได้สรุปเอาไว้ว่าความคิดชุดใหม่ที่คนในลัทธิเชื่อนั้น เกิดขึ้นจากภาวะไม่สอดคล้องกันของความคิดเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่ทำนาย พวกเขาจึงพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อชุดเดิมของตัวเอง เพื่อเป็นการปกป้องจิตใจไม่ให้เกิดบาดแผลจากความผิดหวัง และเพื่อหล่อเลี้ยงให้ตัวเองยังคงเชื่อแบบนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ
เฟสทิงเกอร์ยังระบุอีกว่าความไม่สอดคล้องทางความคิดในกรณีดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากปัจจัยทางสังคม เมื่อความเชื่อที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ตรงกับความเชื่อภายในกลุ่มของตน สิ่งที่ต้องทำคือพยายามเผยแพร่เหตุผลที่มาสนับสนุนความเชื่อของตนให้คนภายนอกได้รับรู้ว่าพวกเขาไม่ได้คิดผิด
นอกจากด้านสังคมแล้ว สิ่งที่ทำให้ความคิดของมนุษย์เกิดความขัดแย้งกันยังมีที่มาจากหลายๆ สถานการณ์ ซึ่งเฟสทิงเกอร์สรุปออกมาได้ว่าภาวะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ…
#คนเราต้องตัดสินใจ เลือกบางสิ่งที่มีตัวเลือกมากกว่า 2 ทางขึ้นไป นั่นเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ความคิดในหัวเริ่มแบ่งฝ่ายแล้วเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ภายหลังจากตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งไปแล้ว นี่ยิ่งเป็นวินาทีที่ทำให้ความนึกคิดไม่สอดคล้องกันหนักขึ้น เพราะเราจะถือเอาสิ่งที่เราเลือกเป็นที่ตั้ง เป็นความคิดดั้งเดิมที่ต้องปกป้อง และมนุษย์จะพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนการเลือกในครั้งนั้น เพื่อปลอบใจตัวเองว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
เมื่อ ถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ขัดกับความเชื่อเดิม และพฤติกรรมภายนอกขัดแย้งกับความรู้สึกภายใน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะความคิดไม่สอดคล้องขึ้น ยิ่งถ้าจำเป็นต้องกระทำบางสิ่งแบบไม่มีทางเลือก (เฟสทิงเกอร์อธิบายการไม่มีทางเลือกไว้ว่า ถ้าทำจะมีรางวัลให้ ถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ) ผลสรุปคือมนุษย์จะหาเหตุผลที่สนับสนุนการกระทำเหล่านั้น เพื่อลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในใจของตัวเอง
ในปี 1959 เฟสทิงเกอร์ได้ออกแบบการทดลองหนึ่งโดยเขาให้นักศึกษาจำนวน 71 คนนั่งหมุนหมุดบนกระดานไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง นี่เป็นงานที่น่าเบื่อหน่ายเพราะต้องนั่งอยู่กับที่หมุนสิ่งนี้ไปอย่างไร้จุดหมาย หลังจากนั้นเขาออกอุบายว่าตอนนี้กำลังขาดอาสาสมัครอยู่ 1 คน จึงอยากให้ผู้ร่วมทดลองไปชวนอาสาสมัครมาทำการทดลองนี้โดยโกหกว่านี่เป็นงานที่สนุกมาก โดยที่กลุ่มแรกได้รับค่าจ้าง 20 เหรียญฯ อีกกลุ่มได้รับค่าจ้าง 1 เหรียญฯ
หลังจากที่การทดลองสิ้นสุดลงและเข้าสู่ช่วงพูดคุย เฟสทิงเกอร์สัมภาษณ์ความคิดเห็นอาสาสมัครเกี่ยวกับงานทดลองวันนี้อีกครั้ง ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ได้ค่าจ้าง 20 เหรียญฯ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่ามันไม่สนุกเอาเสียเลย ส่วนกลุ่มที่ได้ค่าจ้าง 1 เหรียญฯ กลับบอกว่าการทดลองวันนี้สนุก ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด นั่นหมายความว่าเงิน 1 เหรียญฯ มีค่าน้อยเกินไปที่จะทำให้พวกเขาโกหกได้ เมื่อความจริงงานนี้น่าเบื่อมาก แต่จำเป็นต้องทำงานนี้ แถมได้ค่าตอบแทนในการโกหกต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพื่อบอกคนอื่นว่าสนุก พวกเขาจึงเลือกหลอกตัวเองว่างานนี้มันสนุกจริงๆ เพื่อลดความขัดแย้งในจิตใจ
สถานการณ์สุดท้ายที่เฟสทิงเกอร์พบว่าเป็นต้นเหตุคือ การรับข้อมูลที่ขัดกับความคิดเดิม ที่จะทำให้ข้อมูลใหม่ขัดแย้งกับข้อมูลเก่าที่ได้รับมา เฟสทิงเกอร์เผยว่าคนเราจึงมักจะเลือกรับข่าวสารที่สนับสนุนข้อมูลดั้งเดิมของตัวเอง มากกว่าจะเปิดใจรับข่าวสารที่นำเสนอความคิดที่แตกต่างออกไป
ยิ่งข้อมูลเก่ากับข้อมูลใหม่ไม่ลงรอยกันมากเท่าไหร่ ความไม่สอดคล้องของความรู้คิดในตัวเราก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น และจะส่งผลทั้งกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์ว้าวุ่นโดยไม่ทันได้รู้ตัว เป็นธรรมดาที่เราจะกลัวความเปลี่ยนแปลง การก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย และทิ้งตัวตนเดิมไว้เบื้องหลัง สิ่งที่คนเราทำคือจะต้องหาวิธีกำจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ไปให้สิ้นซาก เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากความไม่สบายใจเหล่านั้นให้เร็วที่สุด
บางครั้งนั่นเป็นที่มาของปรากฏการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การอ้างแบบไร้เหตุผล การกระพือข่าวเท็จ พร้อมจะเชื่อในสิ่งที่ทำอยู่อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ตราบใดที่ทำแล้วสบายใจ เพราะถือว่าสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมคือสิ่งที่ถูกต้องเสมอ
ทางออกจากความไม่สบายใจเมื่อข้อมูลในหัวขัดแย้งกันของมวลมนุษยชาติมีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน คือ
1.หาเหตุผลมาสนับสนุนพฤติกรรมหรือทัศนคติเดิม เพื่อให้สิ่งที่คิดหรือทำอยู่มีเหตุผลที่จะทำต่อไป เช่น สมาชิกจากลัทธิวันสิ้นโลกที่พยายามงัดเอาเหตุผล (ที่ฟังดูไร้เหตุผล) มากอบกู้จิตใจตัวเองที่พังไปเพราะโลกไม่ได้แตก นอกจากพวกเขาจะสบายใจ ใช้ชีวิตต่อได้แล้ว ยังทำให้ศรัทธาลัทธินี้ต่อไปได้อย่างไม่เคลือบแคลงสงสัยอีกด้วย
2.ลดความสำคัญของทัศนคติหรือพฤติกรรมบางอย่างลงไป หรือเป็นการไม่เห็นความสำคัญของความคิดที่เข้ามาขัดแย้ง เช่น เรารู้กันดีว่าถ้านอนดึก สุขภาพจะเสีย เราอาจตายก่อนวัยอันควรได้จากการนอนไม่พอ แต่เลือกจะยังปลอบให้ตัวเองใจเย็นได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร และเลือกจะเชื่อในมุมกลับกันว่าอดนอนเพื่อมาใช้ชีวิตในวันนี้ ก็ยังดีกว่าตายไปแล้วใช้ชีวิตไม่คุ้ม
วิธีข้างต้นคือวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะขจัดความขัดแย้งในใจออกไปได้ การหลุดออกจากสภาวะดังกล่าวนั้นดีในแง่ที่ทำให้มนุษย์เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้อย่างปกติสุข แต่ถ้าเราทุกคนเลือกจะอยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัยตลอดกาล โลกอาจไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าเดิมได้เลย
ธรรมชาติจึงมอบทางออกสุดท้ายให้มนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าเราไม่จำเป็นต้องลู่ถอยไปสู่ความคิดเดิมเพื่อรักษาพื้นที่ปลอดภัยในใจ แต่เราสามารถก้าวไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ด้วยการ 3.เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติ ซึ่งนี่เป็นทางออกที่ยากที่สุดสำหรับมนุษย์ผู้อยากเป็นอิสระจากความไม่สอดคล้องทางความรู้คิด ทางออกนี้คือการโยนทิ้งความเชื่อเดิมๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลทิ้งไป และรับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ คล้ายกับระบบปฏิบัติการที่อัพเดตเวอร์ชันใหม่แทบทุกไตรมาส
การเติบโตทางความคิด หมายความว่าเรากำลังจะละทิ้งตัวเองคนเก่าไว้เบื้องหลัง แล้วค่อยๆ กลายเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงแค่วันเดียว และไม่ได้ง่ายดายเหมือนการยกเหตุผลอันไม่สมเหตุสมผลที่อาจจะแช่แข็งตัวเองไว้ตลอดกาล มนุษย์ไม่ได้อัพเดตเวอร์ชันใหม่รวดเร็วเหมือน ios14 แต่แน่นอนว่าหากอดทนและใช้เวลา เราจะค่อยๆ เติบโตเป็นตัวเองคนใหม่ที่ดีกว่าเมื่อวานได้เสมอ
อ้างอิง
- Saul McLeod. Cognitive Dissonance. https://bit.ly/2VxUE5C
- ธีระพร อุวรรณโณ. จิตวิทยาการไม่สอดคล้องของการรู้คิด. https://bit.ly/3r14ska
- Kendra Cherry. What Is Cognitive Dissonance?. https://bit.ly/3e4wmqo
- Susan Perry. When facts fail: UFO cults, ‘birthers’ and cognitive dissonance. https://bit.ly/3eaqM5A