life

ขี้เกียจลุกจากที่นอนตอนเช้า เพลียตลอดวัน ตกบ่ายอยากจะงีบหลับเสียให้ได้ แถมยังติดของหวานชนิดห้ามขาด เติมหวานเข้าร่างเมื่อไรค่อยมีเรี่ยวมีแรง

เผลอๆ ยังเกิดอาการเวียนหัวทุกทีที่เปลี่ยนท่านั่งท่ายืน แถมยังออกกำลังกายเท่าไรก็ไม่ผอมเสียที

เชื่อว่าหลายคนกำลังพบเจออาการเหล่านี้ และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทว่านี่เป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่กำลังฟ้องว่า ต่อมหมวกไตของคุณกำลังอ่อนแอ

ต่อมหมวกไตมีไว้ทำไม

ต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) เป็นอวัยวะรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ ที่หุ้มอยู่บริเวณขั้วไตทั้งสองข้าง มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนสำคัญอย่างน้อย 2 ชนิดแก่ร่างกาย ได้แก่

  • ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนความเครียดตัวหลักของร่างกาย มักผลิตขึ้นเป็นปริมาณมากในตอนเช้า เพื่อให้ร่างกายตื่นตัวพร้อมทำกิจกรรมต่างๆ
  • ฮอร์โมนดีเอชอีเอ (DHEA) เป็นฮอร์โมนเพศชนิดหนึ่ง ที่เป็นฮอร์โมนตั้งต้นของทั้งฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย ช่วยกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อ ลดไขมัน กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉง ชะลอริ้วรอยก่อนวัย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ และเป็นฮอร์โมนต้านเครียดที่ช่วยต้านฤทธิ์ของคอร์ติซอลเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด

เมื่อไรต่อมหมวกไตถึงจะเริ่มล้า

ภาวะต่อมหมวกไตล้า (Adrenal Fatigue) เป็นอาการผิดปกติของร่างกายที่มีความเครียดเรื้อรังเป็นตัวกระตุ้น จนทำให้ร่างกายต้องผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาเพื่อจัดการความเครียด ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมและแก่เร็ว

วิถีชีวิตที่เร่งรีบในเมืองใหญ่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตล้าได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่ชอบความตื่นเต้นท้าทายในการเรียนหรือการทำงาน ชอบการแข่งขัน หรือเร่งทำงานให้เสร็จทันกำหนด จนถึงขั้นเสพติดความเครียด (Adrenal Addict) ที่มักไม่รู้ตัว เพราะร่างกายมีความทนทานสูงต่อความเครียดในแต่ละวัน

นอกจากความเครียดทางใจแล้ว พฤติกรรมต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายทำงานหนักเกินไปเช่น นอนดึก ออกกำลังกายหนักเกินไป ไม่กินข้าวเช้าเป็นประจำ กินของหวานหรือน้ำตาลมากเกินไป ฯลฯ ก็ทำให้เกิดความเครียดสะสมจนเป็นสาเหตุของภาวะต่อมหมวกไตล้าได้เช่นกัน

โรคที่ถูกลืม

กล่าวกันว่า ภาวะต่อมหมวกไตล้าจัดอยู่ในกลุ่ม “โรคที่ถูกลืม” เพราะอาการต่างๆ ที่แสดงให้เห็นก่อนเกิดโรคยังไม่มีอันตรายร้ายแรง ทำให้ผู้ป่วยจากภาวะนี้มักไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและทันท่วงที โดยในการวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและดีเอชอีเอ เพื่อนำไปสู่การรักษาซึ่งก็คือ การปรับระดับฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้ให้สมดุล

ดังนั้น ควรสังเกตตัวเองว่าเข้าข่ายภาวะต่อมหมวกไตล้าหรือไม่ หากมีอาการมากกว่า 5 ข้อตามรายการดังต่อไปนี้

  • ขี้เกียจตื่นนอนตอนเช้า
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อยากงีบหลับ ช่วงกลางวัน
  • ง่วงแต่นอนไม่หลับ
  • มีอาการวิงเวียน ศีรษะ หน้ามืด เวลาเปลี่ยนท่าทางลุก-นั่ง
  • อยากของหวานหรือของเค็ม
  • รู้สึกดีขึ้นทันทีเมื่อได้กินน้ำตาล
  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  • ปวดประจำเดือนบ่อย
  • ภูมิแพ้กำเริบบ่อย
  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • ท้องผูก
  • เครียด ซึมเศร้า
  • คุมอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่น้ำหนักไม่ลดลง
  • ผิวแห้งและแพ้ง่าย

5 วิธีรักษาภาวะต่อมหมวกไตล้าด้วยตัวเอง

การรักษาภาวะต่อมหมวกไตล้าทำได้โดยปรับฮอร์โมนต่างๆ ให้กลับสู่ภาวะสมดุล ซึ่งจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย ขึ้นอยู่กับการปรับลดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงปรับพฤติกรรมด้วยวิธีต่อไปนี้

1.

หาวิธีพักสมอง

adrenal fatigue

การห้ามไม่ให้เครียดคงยากเกินไป สิ่งที่ทำได้คือ พยายามเครียดให้น้อยที่สุด เช่น หางานอดิเรกทำ หรือออกเดินทางท่องเที่ยว เพื่อให้สมองได้พักเสียบ้าง

2.

นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

adrenal fatigue

ควรเข้านอนก่อน 5 ทุ่ม เพื่อให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายอยู่ในปริมาณเหมาะสม และนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง

3.

นอนราบระหว่างวัน

adrenal fatigue

หากรู้สึกเพลีย ควรหาพื้นที่สำหรับนอนราบเพื่อพักผ่อนสักครู่ อย่าฝืนทำงานหรือเรียนทั้งๆ ที่อ่อนล้า เพราะนอกจากจะทำให้ผลงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควรแล้ว ยังส่งผลเสียสะสมระยะยาวต่อสุขภาพ

4.

กินให้ดี กินให้ถูกวิธี

adrenal fatigue

ควรกินอาหารเช้าทุกวัน และกินก่อน 10 โมง เพราะคอร์ติซอลจะทำงานดีขึ้นเมื่อมีน้ำตาลในเลือดเพียงพอ ซึ่งหลังจาก 10 โมงเช้าไปแล้วระดับคอร์ติซอลจะลดลง ทำให้ยิ่งอ่อนเพลีย

นอกจากนี้ ระหว่างวันควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ กินให้น้อย แต่กินบ่อยๆ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกาย

5.

ออกกำลังกายเบาๆ

adrenal fatigue

การออกกำลังกายที่หนักเกินไปจะส่งผลให้ต่อมหมวกไตล้ามากขึ้น ควรออกกำลังกายด้วยความเพลิดเพลิน ไม่คร่ำเคร่งจนเกินไป เช่น เดินออกกำลังกายในสวน ฝึกโยคะ ฯลฯ

อ้างอิง

  • ศูนย์สุขภาพนครธน.ขี้เกียจตื่นเช้า ง่วงตอนกลางวัน ชอบขนมหวาน สัญญาณเสี่ยงภาวะหมวกไตล้า.https://bit.ly/3xu4QfB
  • Bangkok Hospital.คุณกำลังเสพติดความเครียดหรือไม่.https://bit.ly/3BQRlcv
  • ThriveWellness Center.Adrenal Fatigue หรือภาวะต่อมหมวกไตล้า.https://bit.ly/3LmTmQO