life

รู้สึกไหมว่ากระอักกระอ่วนใจทุกครั้งที่ต้องบอกใครสักคนว่า ‘สิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง’  

แม้การบอกให้เจ้าตัวรู้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดแต่ยังมีความกลัวหลายอย่างที่มารั้งเอาไว้ไม่ยอมให้พูดออกไป เช่น กลัวเสียเพื่อน กลัวกระทบความสัมพันธ์ กลัวอีกฝ่ายเสียเซลฟ์ กลัวอีกฝ่ายเสียใจ 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ปล่อยเบลอไปตลอดเห็นทีจะไม่ได้ เพราะรักจึงต้องบอก เพราะยังอยากเป็นเพื่อนด้วยจึงต้องพูดความจริง แล้วเราจะพูดความจริงกันอย่างไรไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์อย่างที่กลัวกันเสมอมา 

becommon ขอชวนมาดู วิธีตักเตือนแบบรักษาน้ำใจเพื่อให้อีกฝ่ายเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม 

 

1.

หลังไมค์ไปเตือนส่วนตัว 

หากอยากตักเตือนแบบรักษาน้ำใจควรชวนมาคุยกันแบบส่วนตัว เพราะการตำหนิใครสักคนในที่สาธารณะ ก็ไม่ต่างอะไรกับการลากมาประจากลางสี่แยก ทำให้คนถูกตำหนิสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง อีกทั้งยังชวนให้บรรยากาศในวงสนทนาอึดอัด การลงโทษด้วยการทำให้เกิดความอับอายนั้นไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ยั่งยืนนัก อีกทั้งยังสร้างแผลในใจให้กับคนที่ถูกตักเตือนอีกด้วย 

2.

ถามถึงต้นตอของปัญหา 

ถามก่อนเตือน ลองโยนคำถามง่ายๆ ให้อีกฝ่ายเล่า เพื่อนำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจถามว่า “ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง?” เผื่อมีปัญหาส่วนตัวอันเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมด ข้อเท็จจริงจะทำให้เข้าใจพฤติกรรมต่างๆ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่าการตักเตือนโดยที่อีกฝ่ายยังไม่มีโอกาสได้พูดเรื่องของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการแสดงควมใส่ใจ 

หากเป็นการตักเตือนในที่ทำงาน เอ็ดเวิร์ด นาวิส (Edvard Navis) ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลในเมืองลิตเติลฟอลส์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ให้ความเห็นว่า “พนักงานอาจมีปัญหาที่เราสามารถช่วยให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ อีกทั้งคำอธิบายของพนักงานอาจฟังดูสมเหตุสมผลกับปัญหาที่เกิดขึ้น 

 

3.

ตำหนิการกระทำ ไม่ใช่ตัวบุคคล 

หัวหน้ามักบอกว่าคนนี้ทัศคติไม่ดีหรือเป็นคนขี้เกียจ นั่นเป็นการโจมตีตัวบุคคลและทำให้เขาสร้างกำแพงขึ้นมา” เพนนี มิลเลอร์ (Penny Miller) ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลของ Venture HRO LLC ในเมืองวิชิต้าฟอลส์ รัฐเท็กซัส กล่าว 

แทนที่จะตำหนิตรงๆ ควรชี้ให้เขาทบทวนถึงการกระทำของตัวเองว่านั่นทำให้เกิดปัญหาอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจึงค่อยชวนมาแก้ไขปัญหา การตำหนิตัวบุคคลจะทำให้อีกฝ่ายสูญเสียความมั่นใจ จนอาจสร้างกำแพงมาป้องกันตัวเองและไม่ยอมพูดถึงปัญหาก็เป็นได้ 

ทางที่ดีอย่าเพิ่งตัดสินว่าใครเป็นอย่างไรจากความผิดแค่ไม่กี่ครั้ง หากจะชี้ให้เห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ควรเจาะจงเหตุการณ์ไปเลย เช่น มาสายเป็นจำนวนกี่วัน เป็นเวลากี่นาที ไม่ควรเหมารวมว่า ‘คุณเป็นคนมาสาย’ หลักฐานที่ชัดเจนเช่นนี้จะทำให้เห็นว่าเราเองก็มีเหตุผลรองรับ ไม่ได้ตำหนิจากอารมณ์ส่วนตัว 

4.

ช่วยเหลือและแนะนำ 

หากรู้เหตุผล เข้าใจเจตนาของอีกฝ่ายแล้ว ชี้ให้เขาเห็นว่าการกระทำที่เหมาะสม หนทางที่ดีกว่าคืออะไรเห็นว่าสิ่งที่ดีควรเป็นอย่างไร หากเป็นการทำงานชี้ให้เห็นมาตรฐานของการทำงาน หากเป็นเรื่องมารยาท ชี้ให้เห็นมารยาทในสังคม ชี้ให้เห็นมาตรฐานที่ควรจะเป็น และให้เหตุผลว่าหากไม่เป็นไปตามนี้จะเกิดผลเสียอะไรตามมาได้อีก จากนั้นแสดงทีท่าว่ายินดีทุกเมื่อที่จะช่วย และช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ เพื่อเป็นการแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราไม่ได้ตักเตือนเพื่อดูถูก หรือทำให้อับอาย 

5.

ใช้คำพูดและภาษากายที่เป็นมิตร 

ค่อยๆ พูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่พูดห้วน สามารถใช้ภาษากายเข้ามาช่วยด้วยการนั่งให้สบายๆ ไม่กอดอกหรือเบือนหน้าหนีเพราะนั่นแสดงออกว่าเรากำลังป้องกันตัวเองจากสถานการณ์ตรงหน้า นอกจากนี้หากจะชักชวนให้อีกฝ่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควรพูดในเชิงช่วยเหลือ ไม่ใช่สั่งการ ให้ใช้สรรพนามว่า ‘พวกเรา’ แทนคำว่า ‘คุณ’ เช่น “พวกเรามาแก้ไขเรื่องนี้กันเถอะ” วิธีนี้จะทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ต้องแบกรับความผิดนี้คนเดียว แต่จะรู้สึกว่ามีเราเป็นเพื่อนที่ช่วยข้ามผ่านเรื่องเหล่านี้ไปด้วยกัน

อ้างอิง