life

ฮิงาชิยามะ ยุย เป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดาๆ คนหนึ่ง ผู้ตั้งปณิธานเรียบง่ายในการทำงานไว้ว่า “ยังไงฉันก็จะเลิกงานตรงเวลาค่ะ 

แต่ในความเป็นจริง แม้ยุยจะรับผิดชอบงานของตนเสร็จสิ้นเป็นอย่างดีในทุกๆ วัน การเลิกงานตรงเวลาของเธอ (เพื่อจะได้แวะดื่มเบียร์ก่อนกลับบ้านกลับสร้างความไม่พอใจให้เพื่อนร่วมงานอีกหลายราย เพราะพฤติกรรมของยุยขัดต่อขนบการทำงานแบบญี่ปุ่นที่เน้นการทำโอที และทุ่มเทให้การทำงานอย่างบ้าคลั่ง 

เรื่องราวของยุยในนิยายเรื่อง ยังไงฉันก็จะเลิกงานตรงเวลาค่ะ (I will not work overtime) เขียนโดย อาเกโนะ คาเอรุโกะ สำนักพิมพ์ Bibli จึงสะท้อนพฤติกรรมการทำงานของชาวออฟฟิศได้เป็นอย่างดี เพราะหลากหลายตัวละครในเรื่องต่างก็มีสไตล์การทำงานที่ต่างกันออกไป 

และด้วยความที่ยุยคือยืนหนึ่งด้านการจัดการงานแต่ละวันไม่ให้คั่งค้าง ทั้งยังได้ประสิทธิภาพสูง ในตอนหนึ่งของนิยายเธอจึงต้องรับหน้าที่เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของอาซึมะ เพื่อนร่วมงานที่ชอบทำงานล่วงเวลาดึกๆ ดื่นๆ จนเหนื่อยล้า ให้หันกลับมาทำงานเสร็จภายในชั่วโมงทำงาน 

เทคนิคพิชิตงานไม่ให้คั่งค้างทั้ง 5 ข้อนี้ ตัดตอนมาจากสถานการณ์ในนิยายที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง 

1.

ฝึกตัวเองให้เป็นคนตื่นเช้า 

ยุยเคยเข้ารับการฝึกอบรมพนักงานใหม่ โดยถูกกำหนดให้เข้าพักในบิสสิเนสโฮเต็ลราคาถูกที่ประธานบริษัทเป็นคนเลือก 

การฝึกอบรมมีขึ้นในเดือนเมษายน หน้าต่างจึงเริ่มมีแสงสว่างจนตาพร่าตั้งแต่ตีห้า ม่านก็บางจนกั้นแสงแดดยามเช้าไม่อยู่ ช่วงที่การฝึกอบรมใกล้จะสิ้นสุด ยุยและพนักงานใหม่ทุกคนก็ถูกดัดนิสัยให้เป็นคนตื่นเช้าไปโดยปริยาย 

Try: ปรับกิจวัตรประจำวันให้ตื่นนอนตรงเวลา โดยใช้แสงแดดยามเช้าแทนนาฬิกาปลุก อาจจะเปลี่ยนทิศทางของหัวเตียงใหม่ หรือเปลี่ยนม่านให้โปร่งบางขึ้น วิธีนี้ยังเป็นการปรับนาฬิกาชีวภาพในตัวให้ทำงานได้สมดุลขึ้นอีกด้วย 

2.

ตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อกำหนดเวลาทำงานแต่ละชิ้น 

ยุยวางนาฬิกาดิจิทัลไว้ข้างคอมพิวเตอร์ของอาซึมะ โดยตั้งเวลาให้นาฬิกาดังหลังจากนั้นหนึ่งชั่วโมง และต้องทำงานแรกให้เสร็จภายในเวลานั้น 

แถมยุยยังไซโคอาซึมะก่อนเริ่มงานด้วยประโยคที่ว่า “ว่าแต่ ฉันสามารถทำงานนี้เสร็จภายในสามสิบนาที” เท่านี้ไฟการทำงานของอาซึมะก็คุโชน พร้อมลุยงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา 

Try: กำหนดชั่วโมงทำงานของงานแต่ละชิ้น แล้วตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ แต่ถ้าเสร็จไม่ทันก็ไม่ต้องเครียด เพราะอย่างน้อยงานก็คืบหน้าไปมากกว่าการไม่ได้ลงมือกำหนดเส้นตายให้ตัวเอง 

3.

ตอบอีเมลเร่งด่วนก่อนเสมอ 

คั่นจังหวะก่อนเริ่มทำงานชิ้นต่อไปด้วยการเช็กอีเมล โดยกำหนดเวลาให้เสร็จภายในสิบห้านาที ถ้าปริมาณอีเมลมีเยอะมาก ให้เริ่มตอบอีเมลเร่งด่วนก่อน 

ฉบับที่ไม่เร่งด่วนไว้ค่อยตอบตอนบ่ายที่สมาธิลดลงกว่าตอนเช้า ควรเขียนเนื้อหาสั้นๆ ให้ประหยัดเวลาได้ทั้งคนเขียนและคนอ่าน 

Try: ไม่ว่าจะเลือกตอบอีเมลตอนเช้าหรือบ่าย อย่าลืมเรียงลำดับความสำคัญของอีเมลแต่ละฉบับ และอย่าหมดเวลาไปกับการเช็คอีเมลนานเกินไป 

4.

กินข้าวกลางวันอย่างว่องไว 

ยุยไม่อนุญาตให้อาซึมะหนีไปกินมื้อกลางวันข้างนอก เพราะเกรงจะเสียเวลา เธอให้เขากินข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อแทน และควรกินให้เสร็จภายในสามสิบนาที หลังจากนั้นสามารถงีบได้สิบห้านาที เพื่อฟื้นฟูสมาธิมาใช้ช่วงบ่าย 

Try: ไม่จำเป็นต้องกินข้าวกล่องเสมอไป แต่ควรกำหนดเวลากินข้าวกลางวันไม่ให้เสียเวลานานเกินไปจนกระทบกับเวลางานช่วงบ่าย 

5.

ทำงานให้เสร็จไว้ก่อนดีที่สุด 

เมื่องานคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง อย่าเพิ่งคิดว่าพอแล้ว เก็บไว้ค่อยทำวันอื่น ควรทำงานให้เสร็จล่วงหน้าไว้ก่อนดีกว่า พอทำแบบนั้น เวลาไม่สบายหรือเกิดเรื่องที่บ้าน จะได้ลางานโดยไม่ต้องเกรงใจ ในกรณีของยุยคือ “อยากไปบ่อน้ำพุร้อนเมื่อไหร่ก็ไปได้”  

Try: พยายามทำงานให้เสร็จในแต่ละวันให้ได้มากที่สุด เผื่อเวลาไว้สำหรับข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จะได้มีเวลาแก้ไขได้อย่างทันท่วงที