life

ทำไมเราถึงติดโซเชียลมีเดีย?

การจะตอบคำถามนี้ อาจต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น คือโซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างมาให้เราเขียน (โพสท์หรือแสดงออกอะไรสักอย่าง)

โดยมีเหยื่อล่อเราผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรู้จัก คนดัง นักการเมือง นักแสดง กระทั่งดาราหนังโป๊ หรือใครก็ตามที่เราชื่นชอบ

แล้วกระตุ้นเร้าให้เราสื่อสารอะไรบางอย่าง ซึ่งตรงนี้คนทั่วไปเข้าใจว่า เราคือ “ผู้สื่อสาร” แต่หารู้ไม่ผู้สื่อสารที่แท้จริงคือแมชชีนหรือคอมพิวเตอร์

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ติดโซเชียล โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์ม social media what's on your mind

“What’s on your mind?” – ประโยคคำถามคุ้นตาที่อยู่ในช่องโพสท์ข้อความของเฟซบุ๊ค น่าจะตอบคำถามนี้ได้ดี

เพราะมันกระตุ้นเร้าให้เรา (ผู้ใช้) สื่อสารบางอย่าง เพื่อที่มัน (ในฐานะแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นผู้ส่งสารที่แท้จริง) จะนำข้อความหรืออะไรก็ตามที่เราส่งออกไปปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ โดยมีจุดประสงค์ที่ซ่อนอยู่ระหว่างที่สารของเราถูกส่งผ่านมันอีกที

นั่นคือการเก็บข้อมูลจากสิ่งต่างๆ ที่เราแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการโพสท์ ไลค์ แชร์ คอมเมนท์ ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลที่เก็บเหล่านั้นไปต่อยอดในการหารายได้เชิงโฆษณาและการตลาด

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก โซเชียลมีเดีย ข้อมูล เฟซบุ๊ค facebook รั่วไหล
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ชี้แจงวุฒิสภาสหรัฐ กรณีข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ครั่วไหลกว่า 87 ล้านราย เพื่อนำไปใช้ในการโฆษณาและหาเสียงให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี (Photo: Rendan Smialowski / AFP)

ดังนั้น ยิ่งเราโพสท์หรือแอ็คชั่นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อโซเชียลมีเดียที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมากเท่านั้น

เพราะพวกเขาจะนำข้อมูลหรือ “ดาต้า” เหล่านั้นไปแปรเป็นรายได้และผลกำไร

ด้วยเหตุนี้ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียจึงพยายามหาวิธีที่จะกระตุ้นเร้าให้เรา ‘แสดงออก’ บางอย่างอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้เก็บข้อมูลของเราเอาไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ

โลกของโซเชียลมีเดียจึงเป็นโลกที่ออกแบบมาให้เสพติดมากกว่าจะให้ลดละเลิก

ติดโซเชียล โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์ม social media
(Photo: pxhere.com)

คำถามต่อมา โซเชียลมีเดียทำให้เรา ‘ติด’ ได้อย่างไร?

keepitusable.com เว็บไซต์ที่ให้บริการออกแบบ UX และบริการต่างๆ โดยอิงหลักความรู้เชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ เคยตั้งคำถามดังกล่าว แล้วให้คำตอบว่า ที่เราติดโซเชียลมีเดียกันงอมแงม เพราะมันออกแบบมาจากสัญชาตญาณของมนุษย์ ที่โดยพื้นฐานเป็นสัตว์สังคม โดยเกี่ยวโยงกับเหตุผล 5 ข้อ ได้แก่

1. การได้รับการชื่นชมหรือยอมรับจากสังคม เช่น กด ‘Like’ ในเฟซบุ๊ค กด ‘Favourite’ ในทวิตเตอร์ ซึ่งเมื่อสังคมให้การยอมรับ ผู้ที่ได้รับก็รู้สึกดี

ไลค์ กด like ติดโซเชียล โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์ม social media
(Photo: Robyn Beck / AFP)

2. ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในกระแสสังคมและกลัวตกข่าว (Fear Of Missing Out) โซเชียลมีเดียก็ใช้หลักการนี้ โดยให้ผู้คนแชร์เรื่องราวต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้คนอื่นๆ แวะเวียนเข้ามาสอดส่องเรื่องราวหรือดราม่าที่กำลังได้รับความสนใจ

3. เรื่อง ‘ตัวตน’ หรืออีโก้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่สนใจและต้องการแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้ ว่าคุณคือใคร อะไรบ้างที่บ่งบอกถึงความเป็นคุณ

4. เมื่ออวดแล้วก็เป็นปกติที่จะอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับผู้อื่น ไม่ว่าเรื่องความคิด มุมมอง จุดอ่อน จุดแข็ง อาชีพ การงาน ฐานะ ไลฟ์สไตล์ ความสำเร็จ ฯลฯ หากเทียบแล้วเราดีกว่า ก็จะนำมาซึ่งความรู้สึกดี แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้าม ความรู้สึกก็จะเหวี่ยงไปอีกทาง

ติดโซเชียล โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์ม social media
(Photo: pxhere.com)

5. การติดโซเชียลมีเดียยังเป็นผลมาจากสมอง จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า การมีตัวตนบนโลกออนไลน์จะทำให้สมองส่วนหนึ่งได้รับการกระตุ้น ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับเวลาเสพยาเสพติดอย่าง ‘โคเคน’

แล้วเราจะเลิกติดโซเชียลมีเดียได้อย่างไร

ดูเหมือนคำตอบของคำถามนี้จะแทบเป็นไปได้ยาก (แน่ละ เพราะโซเชียลมีเดียโดยตัวของมันเอง สร้างมาเพื่อให้เราติด) และจากผลการศึกษาในปี 2015 พบว่าคนส่วนใหญ่ล้มเหลวในการพยายามเลิกเล่นโซเชียลมีเดีย

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจกลุ่มคนที่ลงทะเบียนเพื่อเลิกเล่นเฟซบุ๊คเป็นเวลา 99 วัน แต่คนจำนวนมากกลับอดใจไม่ได้เพียงแค่ผ่านไปสองสามวันแรก ส่วนคนอื่นๆ ที่ทำสำเร็จ ก็หันไปเล่นโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ทวิตเตอร์แทนเป็นต้น

ติดโซเชียล โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์ม social media
(Photo: pxhere.com)

อย่างไรก็ตาม คนที่สามารถอยู่ห่างจากโซเชียลมีเดียได้ มักจะพบว่าตัวเองมีความสุขมากขึ้น และไม่ค่อยสนใจกับความคิดของคนอื่นมากเท่าไหร่

ถึงแม้หลายคนจะรู้ทั้งรู้ว่าการอยู่ห่างจากโซเชียลมีเดียบ้างจะให้ผลในเชิงบวกเช่นนั้น แต่หลายครั้งที่หยิบโทรศัพท์แล้วเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย เรากลับถูกมันดึงดูดเวลาไปอย่างหมดเปลือง

ติดโซเชียล โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์ม social media
(Photo: Miguel Riopa / AFP)

เพราะฉะนั้นคำแนะนำในการลดละเลิกการเล่นโซเชียลมีเดีย นอกจากจะเป็นวิธีการเชิง ‘ฮาวทู’ สารพัดที่คุณสามารถสืบค้นหาได้ตามอินเทอร์เน็ตแล้ว

คือการรู้เท่าทันที่ต้นตอว่าโซเชียลมีเดียนั้นถูกสร้างมาเพื่อ ‘ทำ’ อะไรกับเรา?

 

Fact Box:

  • 9 ชั่วโมง 11 นาที คือเวลาที่คนไทยใช้เล่นอินเทอร์เน็ตในหนึ่งวัน โดยในจำนวนนั้น 5 ชั่วโมง 13 นาทีเป็นการเล่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต

อ้างอิง: