“อิสรภาพทางการเงิน”
กลายเป็นคำคุ้นหูและสิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่อยากได้ อยากมี
หลายคนคิดว่าหนทางสู่ฝันนี้ไม่ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น
แต่ วิกกี โรบิน (Vicki Robin) และ โจ โดมิงเกซ (Joe Dominguez) ผู้เขียนหนังสือ ‘เงินหรือชีวิต’ (Your Money, Your Life) ให้ความเห็นไว้ในผลงานของตัวเองว่า
“ไม่มีคำว่าสายสำหรับการมัธยัสถ์”
แม้หนังสือเล่มนี้จะพูดเรื่อง ‘เงิน’ ล้วนๆ แต่แตกต่างจากไกด์บุ๊กหรือฮาวทูทั่วไป
เพราะชวนคุณตั้งคำถามเรื่อง ‘ความสัมพันธ์ของคุณและเงิน’
นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยความรู้และแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้เงินของตัวเอง
เพื่อสร้างชีวิตที่ ‘ร่ำรวย’ และ ‘รุ่มรวยความสุข’ อย่างแท้จริง
สำรวจความสัมพันธ์กับ ‘เงิน’
ผู้เขียนแนะนำให้ทุกคนหมั่นสำรวจจุดยืน นิสัยทางการเงิน ความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม มายาคติ และความหมายของเงินที่มีต่อตัวเอง รวมทั้งความสัมพันธ์และบุคลิกภาพทางการเงินของตัวเอง
เมเยอร์ สแตตแมน (Meir Statman) และวินเซนต์ วูด (Vincent Wood) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน แบ่งบุคลิกด้านการเงินเป็นคน 4 ประเภทคือ
- ผู้พิทักษ์ คือ คนที่ใช้เงินอย่างระมัดระวังมาก
- ช่างศิลป์ คือ คนที่ชอบเอาตัวเองและการเงินเข้าเสี่ยงแบบไม่ระวัง
- นักอุดมคติ คือ คนที่เน้นเป้าหมายทางจิตวิญญาณ ไมใช่วัตถุ
- คนที่เปี่ยมเหตุผล คือ คนที่ดูข้อมูลก่อนตัดสินใจ
ดังนั้นก่อนวางแผนเกี่ยวกับการเงินใดๆ ลองเริ่มต้นคิดดูว่า คุณมีบุคลิกทางการเงินแบบไหนกัน?
‘อิสรภาพทางการเงิน’ เป็นจริงด้วย 9 ขั้นตอนมหัศจรรย์
แม้ว่าการมีอิสรภาพทางการเงินไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผู้เขียนทั้งสองคนมีทางลัดจากประสบการณ์ทางการเงินหลายสิบปีมาแบ่งปัน
และเน้นย้ำให้นำไปใช้ทุกข้อพร้อมกันๆ แบบองค์รวม
ขั้นตอนที่ 1: ยอมรับอดีต ลองนึกถึงตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมา คุณหาเงินได้เท่าไร และครอบครองทรัพย์สินอะไรบ้าง
ขั้นตอนที่ 2: ใช้ชีวิตกับปัจจุบัน สำรวจดูว่าคุณนำพลังชีวิตแลกกับอะไรบ้าง เช่น คำนวณค่าจ้างต่อชั่วโมงที่แท้จริงของคุณ และติดตามเงินทุกบาทที่่ผ่านเข้ามาและออกไปจากชีวิต
ขั้นตอนที่ 3: ทำรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน ทุกคนสามารถออกแบบหมวดหมู่และรูปแบบการใช้จ่ายในแบบฉบับของตัวเอง
ขั้นตอนที่ 4: ถามคำถาม 3 ข้อกับตัวเอง
- “ฉันได้รับความอิ่มเอม ความพึงพอใจ และคุณค่าสมน้ำสมเนื้อกับกับพลังชีวิตที่ใช้ไปหรือไม่”
- “การใช้จ่ายพลังชีวิตแบบนี้สอดรับกับคุณค่าและความมุ่งหมายในชีวิตของฉันหรือไม่”
- “การใช้จ่ายน่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร หากฉันไม่ต้องทำงานเลี้ยงชีวิตแล้ว”
ขั้นตอนที่ 5: ทำพลังชีวิตให้ปรากฏ ทำตารางข้อมูลรายได้ รายรับ รายจ่ายแปะไว้บนจุดที่เห็นได้ชัด เช่น บนผนัง บนโต๊ะทำงาน
ขั้นตอนที่ 6: ให้คุณค่าแก่พลังงานชีวิต ใช้จ่ายให้น้อยที่สุด เรียนรู้และฝึกฝนการใช้เงินอย่างฉลาดและมีสติ โดยเน้นการลดค่าใช้จ่ายและพยายามเก็บออมให้มากขึ้น
ขั้นตอนที่ 7: ให้คุณค่ากับพลังชีวิตตัวเอง – สร้างรายได้มากที่สุด พยายามมองหาทางเลือกที่ช่วยสร้างรายได้ให้มากขึ้น แต่ควรไตร่ตรองด้วยว่า จุดมุ่งหมายของการทำงานกินค่าจ้างคืออะไร
ขั้นตอนที่ 8: ทุนและจุดที่บรรลุ ในทุกเดือนให้ลองคำนวณทุนรวมที่สะสมไว้และบันทึกไว้ เพื่อมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น
ทุน x อัตราดอกเบื้ยจากการลงทุนระยะยาว / 12 เดือน = รายได้จากการลงทุนประจำเดือน
เช่น เงินฝาก 60,000 บาท x ดอกเบี้ยบัญชีฝากประจำ 3% x 12 เดือน = 81,600 บาท
ขั้นตอนที่ 9 บริหารเงินของตัวเอง ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนที่ช่วยสร้างรายได้ในระยะยาว
ชีวิตรุ่มรวยความสุขด้วยการเป็น ‘FI’
เอฟไอ (FI) เป็นคำสั้นๆ ที่นักเขียนเรียกกลุ่มคนที่มีปัญญาทางการเงิน และกำลังมุ่งสู่อิสรภาพทางการเงิน
ผู้เขียนยืนยันว่า ใครๆ ก็เป็นเอฟไอได้ ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถบรรทุก พ่อครัว ทนาย ฟิตเนสเทรนเนอร์
โดยแนะนำ 10 แนวทางแบบง่ายๆ ที่ช่วยให้ประหยัดเงินได้อย่างแน่นอน
- อย่าไปช็อปปิ้ง
- ใช้ชีวิตกับสิ่งที่มี
- ดูแลสิ่งที่มี
- ใช้ของจนหมดสภาพ
- พึ่งพาตัวเอง
- ล่วงรู้ความต้องการของตัวเอง
- ค้นข้อมูลเกี่ยวกับความคุ้มค่า คุณภาพ ความทนทาน ประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย และราคา
- ซื้อของในราคาที่ถูกลง
- หาวิธีอื่นเติมเต็มความต้องการ
- ทำตาม 9 ขั้นตอนมหัศจรรย์ ก่อนหน้านี้
ในหนังสือ ‘เงินหรือชีวิต’ ยังมีข้อมูล ความรู้ และเรื่องราวความสัมพันธ์ของเงินและผู้คนอีกหลากหลายแบบ ที่อาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเป็นให้กำลังใจในการใช้ชีวิต
ไม่ว่าตอนนี้เราจะมีเงินเพียงน้อยนิดหรือมหาศาล.
หนังสือ ‘เงินหรือชีวิต’ สำนักพิมพ์ Openbooks เขียนโดย วิกกี โรบิน และ โจ โดมิงเกซ แปลโดย ฐณฐ จินดานนท์ หาซื้อได้ที่ร้านหนังสือทั่วไป หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/openbooks2
Fact Box:
- วิกกี โรบิน เป็นนักเคลื่อนไหวแถวหน้าชาวอเมริกัน นักเขียน นักพูดชื่อดัง และนักสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สังคม นอกจากนี้เธอยังให้ความสนใจประเด็นทางสังคมอีกหลายอย่าง อาทิเช่นเรื่องอาหาร ซึ่งวิกกียังเคยขึ้นเวที TEDxSeattle พูดในหัวข้อ ‘การกินเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ชุมชน’
- โจ โดมิงเกซ อดีตนักวิเคราะห์ทางการเงินชาวอเมริกัน ผู้ประสบความสำเร็จในวอลสตรีทเป็นอย่างมากและเกษียณตัวเองเมื่ออายุเพียง 31 ปี พร้อมนำประสบการณ์ต่างๆ มาเขียนเป็นหนังสือ ‘เงินหรือชีวิต’ ร่วมกับวิกกี โรบิน