pe©ple

กระดูกชิ้นที่หนึ่ง

หกโมงกว่าของเย็นวันศุกร์ หมวยในชุดนักศึกษาแพทย์ปี 2 เดินหอบหิ้วเป้ฝ่าฝูงชนที่กำลังเก็บของปิดร้าน เตรียมกลับบ้านกันวุ่นวาย ซึ่งเป็นภาพชีวิตปกติของซอยมังกร ย่านธุรกิจของเด็กเล่นที่ใหญ่ที่สุดในเยาวราช 

หากสังเกตดีๆ จะพบว่า หมวยคนนั้นดูเป็นห่วงเป็นใยเป้ใบเขื่องของเธออย่างเกินปกติ เพราะภายในเป้ใบนั้นมีวัตถุสำคัญซุกซ่อนอยู่…

นั่นคือภาพในความทรงจำของหมอ เมื่อถูกถามว่า “เริ่มหลงใหลเรื่องสุขภาพมาตั้งแต่เมื่อไหร่” 

แม้จะจำวันและเวลาไม่ได้ แต่ความรู้สึกที่สัมผัสกระดูกครั้งแรก จนต้องขอเอากลับมาลูบคลำต่อที่บ้านนั้น – ยังคงชัดเจน

common think หมอผิง ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล กระดูกและข้อ (คิด) บทความ หลงใหล เรียนรู้ ค้นพบ

Humerus คือชื่อของกระดูก (ปลอม) ชิ้นแรกที่หมอแอบเอากลับมาศึกษาต่อที่บ้าน เป็นกระดูกส่วนที่เชื่อมต่อข้อไหล่กับข้อศอก เป็นกระดูกท่อนยาวทรงสวยที่มีความสง่า แข็งแรงสมกับสถานะการเป็นกระดูกต้นแขนที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคน

การศึกษารูปร่างของกระดูกต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของวิชากายวิภาค ซึ่งบรรจุอยู่ในหลักสูตรชั้นปีที่สองของการเรียนแพทย์ การเรียนวิชานี้นักศึกษาแพทย์ทุกคนจะได้มีโอกาสเห็น จับ ดม และทำความรู้จักชิ้นส่วนต่างๆ ภายในร่างกายมนุษย์โดยละเอียด ผ่านเรือนร่างของผู้อุทิศตนเพื่อการศึกษา หรือที่พวกเราเรียกว่า “อาจารย์ใหญ่” 

อาจารย์ใหญ่ของหมอเป็นผู้ชายมีอายุ ร่างสูงใหญ่ที่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ครั้งแรกที่ต้องลงมีดกรีดหนังเพื่อชำแหละ (dissect) นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำได้ว่าต้องกอบความกล้าที่มีอยู่ทั้งหมดให้มากองรวมกันที่มือขวา ซึ่งเป็นมือที่จับมีดชำแหละ

วันแรกที่เริ่มลงมือ เพื่อนหลายคนออกอาการเสียศูนย์ บ้างอาเจียน บ้างหน้าซีดจนจะเป็นลม ยาดมเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งในวันนั้น แต่หลังจากเรียนไปไม่นาน กลไกทางจิตใจได้ปรับให้เกิดความคุ้นชิน หมอเริ่มสนุกกับการได้สัมผัสอวัยวะแต่ละส่วนจริง ได้เห็นความสวยงามของกล้ามเนื้อแต่ละมัด ได้เห็นว่าเส้นประสาทที่เชื่อมโยงกันทั้งร่างกายนั้นซับซ้อนเพียงใด ได้พบว่าตับของคนเรานั้นหนักและผ่านการทำงานมามากแค่ไหน ได้พบว่าหัวใจคือปั๊มอัจฉริยะที่ทรงประสิทธิภาพยิ่ง 

ร่างกายเราคือสิ่งมหัศจรรย์อันแสนสวยงาม แต่เจ้าของมักมองข้าม และละเลยที่จะดูแล

กระดูกชิ้นที่สอง

โถกระเบื้องลายครามขนาดพอดีอุ้มด้วยสองฝ่ามือ วางตัวนิ่งอยู่บนตักของหมอ ภายในบรรจุ ‘อัฐิ’ สิ่งสุดท้ายที่ยังพอเหลือให้จับต้องได้จากพ่อ

common think หมอผิง ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล กระดูกและข้อ (คิด) บทความ หลงใหล เรียนรู้ ค้นพบ

พ่อของหมอป่วยด้วยโรคเบาหวานตั้งแต่อายุสามสิบต้นๆ เป็นผลจากพันธุกรรม และการรับประทานอาหารตามใจปากแบบเยาวราชสไตล์ ในสมัยนั้นความรู้เกี่ยวกับโภชนาการยังเป็นเรื่องจับต้องยาก ไม่มีแหล่งข้อมูลที่หาได้ง่ายแค่ปลายนิ้วคลิก ไม่มีตัวเลือกอาหารสุขภาพที่หาได้ตามท้องตลาดทั่วไป ไม่มีหนังสือสุขภาพที่เขียนสนุกอ่านเข้าใจง่ายบนแผงหนังสือ

พ่อเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่เน้นรับประทานยา แต่ไม่ปรับไลฟ์สไตล์เท่าใดนัก แน่นอนว่าระดับน้ำตาลในเลือดของพ่อสวิงไปมา บางช่วงที่ระดับน้ำตาลแย่มาก พ่อต้องฉีดยาร่วม และบางวันก็อาการไม่ดีมากจนถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล โรคเบาหวานค่อยๆ กลืนกินร่างกายพ่อทีละส่วน จากผิวภายนอกเปลี่ยนไป ดวงตาเริ่มมีปัญหา จนไปถึงไตที่วายและไม่ยอมทำหน้าที่เครื่องกรองน้ำให้ร่างกายอีกต่อไป

หลังจากทรมานกับการต้องล้างไตที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละสองครั้งอยู่ไม่กี่ปี พ่อก็ตัดสินใจไปรับการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ประเทศจีน โดยไม่ปรึกษาลูกสาวซึ่งกำลังเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่สักคำ ไม่ต้องตรวจยีนส์ก็คงเดาได้ว่า ยีนส์หุนหันพลันแล่นในตัวหมอนั้นได้รับมาจากใคร

ธุรกิจผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ประเทศจีนในสมัยนั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยปริมาณ (เงินหมุนเวียน) มากกว่าคุณภาพการรักษา พ่อได้รับการปลูกถ่ายไตจากนักโทษประหาร ซึ่งความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่ออาจไม่มากนัก แต่แพทย์จีนคาดว่ายากดภูมิคุ้มกันที่ให้ไปน่าจะคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดปฏิกริยาต่อต้านได้

หากความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ร่างกายของพ่อมีปฏิกริยาต่อต้านมากมาย ตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อนครบสูตร

ในวันที่รับพ่อกลับจากสนามบิน หมอนั่งอุ้มเถ้ากระดูกของพ่อบนตัก และเฝ้าถามตัวเองว่า

“เพื่อพ่อแล้ว ได้ทำดีพอหรือยังในช่วงเวลาที่ผ่านมา? และจะมีอะไรที่ทำอีกได้บ้างในอนาคต?”

กระดูกชิ้นที่สาม

หมอที่ขี้เกียจเหมือนแมว ออกหนังสือมา 16 เล่ม เพราะอยากให้คนไทยสุขภาพดี จะได้ไม่มีคนไข้ให้แมว…เอ้ย! หมอตรวจ 

ข้อความด้านบนคือประวัติย่อที่อยู่บนหน้าโปรไฟล์ทวิตเตอร์ @thidakarn ของหมอ ซึ่งบ่อยครั้งที่หมอถูกถามว่า เอาเวลาที่ไหนมาตอบปัญหาในทวิตเตอร์ และบางครั้งก็มีผู้กล้าถามตรงๆ ว่า จะเสียเวลาเล่นทวิตเตอร์ไปทำไม

common think หมอผิง ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล กระดูกและข้อ (คิด) บทความ หลงใหล เรียนรู้ ค้นพบ

ชีวิตในแต่ละวันของหมอ มักเริ่มที่การออกกำลังกาย 30-60 นาที ต่อด้วยการทำอาหารเช้าที่ดีต่อสุขภาพ พร้อมถ่ายภาพลงอินสตาแกรม ตามด้วยกิจกรรมล้างจาน อาบน้ำ ไปทำงานวันละ 7-9 ชั่วโมง เสร็จจากงานประจำจึงเป็นช่วงเวลาของงานเขียนและการตอบปัญหาสุขภาพเท่าที่พอรู้ทางทวิตเตอร์ ก่อนจะอ่านหนังสือและเข้านอน โดยพยายามให้จำนวนชั่วโมงที่นอนในแต่ละคืนไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมงหากทำได้

จะเห็นว่าเวลาส่วนใหญ่ของหมอหมดไปกับการดูแลสุขภาพตัวเองและผู้อื่นสลับกันไป โดยสิ่งที่ร้อยเรียงและขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งหมดเข้าด้วยกัน คือ แรงบันดาลใจจากพ่อ 

หมอเชื่อว่า สุขภาพที่ดีคือต้นทุนชีวิต การที่คนเราจะเดินตามความฝันใดๆ ในชีวิตได้ หากเริ่มต้นด้วยการมีสุขภาพดี ย่อมก้าวเดินไปหาความฝันได้กระฉับกระเฉงขึ้น หากหนังสือที่เขียน ทวีตที่ตอบ ภาพอาหารสุขภาพที่โพส มีส่วนทำให้ใครสักคนมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ หมอไม่คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้คือสิ่งเสียเวลา

อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลลัพธ์เป็นสุขภาพที่ดีเสมอไป เพราะโรคส่วนใหญ่นั้นเกิดจากหลายปัจจัย แม้จะดูแลตัวเองดีทุกด้าน แต่โรคที่เป็นผลจากพันธุกรรมหรือแม้แต่ไลฟ์สไตล์ในวัยเด็กก็อาจจู่โจมได้เสมอ

เมื่อไม่นานมานี้เอง หมอเพิ่งสูญเสียเพื่อนสนิทไปอีกหนึ่งคนเพราะโรคมะเร็งรังไข่ “อ้อ-ภัทริน” เป็นเพื่อนที่เรียนห้องเดียวกันมาตั้งแต่สมัยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถึงเราจะรุ่นเดียวกัน แต่บ่อยครั้งที่อ้อได้สอนอะไรดีๆ ให้กับหมอ แม้จนกระทั่งวันสุดท้ายที่เราได้บอกลากัน

เถ้ากระดูกของอ้อ ถูกนำมาจัดเรียงใหม่ให้เป็นรูปเสมือนคน เพื่อให้ญาติและเพื่อนได้มาประพรมน้ำหอมอำลา ก่อนจะถูกรวบรวมเพื่อนำไปลอยอังคาร

common think หมอผิง ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล กระดูกและข้อ (คิด) บทความ หลงใหล เรียนรู้ ค้นพบ

เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่หมอได้มีโอกาสเห็นกระดูกซึ่งควรจะถูกซ่อนอยู่ภายในร่างกาย และเกิดความคิดบางอย่างขึ้นในสมอง

กระดูกซึ่งเคยเป็นท่อนแข็งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างให้กับร่างกาย ในที่สุดแล้วก็ต้องถูกเผาไหม้กลายเป็นเศษผงที่ประกอบกันมาจากแร่ธาตุต่างๆ ผิวหนัง กล้ามเนื้อ หัวใจ ตับ ไต หลอดเลือด สมอง ทุกสิ่งที่รวมเป็นร่างกายให้เราจับต้องได้และหลงใหล ล้วนประกอบด้วยออกซิเจน คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน แร่ธาตุพื้นฐานบนโลกใบนี้ ไม่ต่างกับดิน น้ำ หรือพืช ช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่นั้น เราเพียงหยิบยืมแร่ธาตุจากโลกใบนี้มาประกอบกัน

ผ่านไปไม่กี่สิบปี แร่ธาตุเหล่านี้ก็ต้องคืนกลับแผ่นดิน ไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่จริง

นอกจากคุณค่าที่เราได้สร้างไว้ในช่วงเวลาที่หยิบยืมธรรมชาติมา – เท่านั้นเอง.