pe©ple

ผมใช้ชีวิตในวัยเด็กของผมที่จังหวัดมุกดาหาร บ้านของผมขายเฟอร์นิเจอร์ จึงค่อนข้างมีบริเวณให้วิ่งเล่น ซึ่งทุกๆ วันเสาร์อาทิตย์ก็จะมีเด็กในละแวกนั้นแวะเวียนเข้ามาเสมอ

สมัยนั้นกิจกรรมสุดฮอตของผมคือการเล่นโรลเลอร์เบลด หรือถ้าอยากจะผจญภัยสักหน่อยก็ต้องปั่นจักรยานไปที่ สวนไหม ใกล้บ้าน

ภาพชีวิตในตอนนั้น สำหรับเด็กต่างจังหวัดอย่างผมช่างดูห่างไกลกับการเป็นนักฟิสิกส์ ราวกับความฝันในจินตนาการ

ชีวิตผมในรั้วโรงเรียน ถือว่าโชคดีได้เพื่อนเป็นกลุ่มเด็กเรียนตั้งแต่ตอน ม.ต้น ดังนั้นเวลาในตอนเที่ยงของผมจึงมักจะหมดไปกับการล้อมวงอ่านหนังสือกับเพื่อนๆ อยู่เสมอ

แต่ถึงแม้จะตั้งใจเรียนอย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเรียนของผมในเวลานั้นก็ไม่ได้มีอะไรชัดเจน และยังไม่มีอะไรเฉียดใกล้โลกของฟิสิกส์เลยแม้แต่น้อย

กระทั่งวันหนึ่ง มีข่าวประกาศว่าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่โดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ในกรุงเทพฯ กำลังรับสมัครนักเรียนชั้น ม.4

ผมก็รู้สึกสนใจทันที แต่พอเห็นโควต้าที่เปิดรับเพียง 250 คนจากจำนวนผู้สมัครร่วมหมื่น ผมก็รู้ตัวว่าความเป็นไปได้ที่จะสอบติดนั้นริบหรี่เหลือเกิน

ยิ่งกว่านั้น ช่วงที่ผมเข้ามาเรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบที่กรุงเทพฯ ครูในคลาสเรียกผมตอบคำถาม แต่ผมตอบผิด ครูเลยแซวกลางห้องว่า “เธอตอบคำถามแบบนี้ ไม่น่าจะสอบผ่านเลยนะ”

แต่แทนที่จะเสียกำลังใจ ผมกลับเกิดความฮึกเหิมคิดการใหญ่ ไม่ว่าอย่างไรผมจะต้องสอบเข้าโรงเรียนแห่งนี้ให้ได้

ผลลัพธ์จากความพยายามทุ่มเทเตรียมสอบอย่างหนักตลอดระยะเวลาสองปีก่อนถึงวันสอบ ทำให้ผมเป็นคนเดียวจากจังหวัดมุกดาหารที่สอบผ่านการคัดเลือกในปีนั้น โดยติดตัวเป็นสำรอง แต่โชคดีที่มีคนสละสิทธิ

ผมย้ายจากบ้านเกิดมาจังหวัดนครปฐม เพื่อเรียนต่อ ม.4 ที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หลังจากผมได้รับโควต้าสอบติดในฐานะตัวสำรอง

การได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์แห่งแรกของไทย ที่มีการจัดตั้งหลักสูตรของตัวเอง เพื่อรองรับเด็กระดับหัวกะทิจากทั่วประเทศ เหมือนเป็นการเบิกเนตรเด็กต่างจังหวัดอย่างผม

ผมได้เห็นคนเก่งที่ “เก่งจริงๆ” เพื่อนบางคนแทบไม่อ่านหนังสือ แต่สอบได้คะแนนเต็ม เพื่อนบางคนเพิ่งอยู่ ม.4 แต่สามารถสอบชนะ ม.6 เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศ

ช่วงเวลานี้เอง ผมก็เริ่มค้นพบว่าตัวเองชอบวิชาฟิสิกส์ เนื่องจากไม่ต้องท่องจำมาก และอาศัยความเข้าใจเป็นหลัก ประกอบกับเรียนตามเพื่อนคนอื่นไม่ทันในวิชาอื่น ผมจึงตัดสินใจสมัครสอบเข้าค่ายฟิสิกส์ โดยหวังว่าอาจจะได้รับการคัดตัวไปแข่งระดับประเทศเหมือนเพื่อนคนอื่นบ้าง

แต่ผลออกมาก็เข้าสูตรเดิม ผมติดในฐานะตัวสำรอง และโชคดีที่มีคนสละสิทธิ์ทีหลัง

การเรียนการสอนในค่ายฟิสิกส์นั้นแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป เพราะเราจะต้องเรียนเนื้อหาในระดับปริญญาตรีอัดแน่นภายในเวลาหนึ่งปี 

พอเริ่มเรียนได้สักพัก ผมก็สังเกตว่าเพื่อนในค่ายหลายคนเริ่มถอย ส่วนตัวผมคิดเพียงว่า ถ้าปกติเราก้าวสองก้าวเท่ากับคนอื่นก้าวหนึ่งก้าว ในเวลาที่หนักหน่วงเช่นนี้ เราก็เพียงแต่ต้องก้าวให้มากกว่าเดิม

ชีวิตในช่วงนั้นของผมจึงไม่ต่างจากนิทานกระต่ายกับเต่า ที่เต่าอย่างผมต้องพยายามค่อยๆ ก้าวด้วยความอดทน จนกระทั่งหนึ่งปีให้หลัง ผมสามารถเป็นตัวแทน 1 ใน 5 ของโรงเรียนได้สำเร็จ

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแลกมาด้วยการสอบตกหลายวิชา

แม้จะได้เป็นตัวแทนโรงเรียนสมใจ แต่พอเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิคระดับนานาชาติ ปรากฏว่าผม “สอบตก” ในรอบสุดท้าย

ปีต่อมา ผมจึงพยายามใหม่อีกครั้ง โดยยอมทิ้งกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เพื่อนๆ ได้ทำ ชีวิต ม.ปลาย ของผมจึงไม่มีปิดเทอม ไม่มีพักร้อน ไม่มีเที่ยวเล่น จนสุดท้ายผมได้ติดเป็น 1 ใน 5 ตัวแทนประเทศไทย และได้รับเหรียญจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิคระดับนานาชาติในปี พ.ศ.2552 ณ เมืองเมอริดา ประเทศเม็กซิโก

หลังจากได้เหรียญรางวัล ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียน ขึ้นกล่าวปรารถในเช้าวันหนึ่งขณะเข้าแถวหน้าเสาธง ซึ่งคำพูดนั้นได้จุดประกายความฝันให้กับผม

“ผอ.มีความยินดีที่นักเรียนของเราได้เหรียญรางวัลโอลิมปิควิชาการระดับนานาชาติ แต่ถ้าให้ ผอ.เลือกระหว่างเหรียญรางวัลกับสิทธิบัตร ผอ.เลือกสิทธิบัตร

“เพราะจุดมุ่งหมายของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ คือการสร้างนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้น เพื่อมาพัฒนาประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงสร้างชื่อเสียงของโรงเรียน”

แม้เวลานั้นผมจะยังไม่รู้ว่าการเรียนฟิสิกส์จะช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร แต่ 10 ปีหลังจากนั้นผมก็พบคำตอบ

ผมตัดสินใจสมัครรับทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชาฟิสิกส์ต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพราะที่นี่ไม่เน้นว่าต้องเก่งภาษาอังกฤษ แค่พอสื่อสารได้ก็พอ

โชคดีขณะที่สอบสัมภาษณ์ อาจารย์ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามที่ผมรู้คำตอบอยู่แล้ว ผมจึงแสร้งทำเป็นไม่รู้ แล้วเพิ่งคิดได้ในเวลานั้น เนื่องจากการสอบสัมภาษณ์ของที่นี่ ไม่อยากได้คำตอบมากเท่ากับทดสอบว่าเราคิดเป็นหรือเปล่า

อาจเรียกได้ว่าผมสอบเข้าเคมบริดจ์ด้วยทักษะการแสดงก็คงไม่ผิด

ผมเรียนอยู่ที่เคมบริดจ์ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาโท ในวันที่เรียนจบผมก็ถามตัวเองอีกครั้ง เราจะนำความรู้ที่มีกลับไปช่วยประเทศได้อย่างไร

คำตอบคือ “ไม่น่าจะได้”

ผมจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก โดยครั้งนี้ผมเลือกเรียนสาขาควอนตัมคอมพิวเตอร์ ณ ศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม ประเทศสิงคโปร์

สาเหตุที่ผมเลือกเรียนที่สิงคโปร์เพราะที่แห่งนี้อยู่ใกล้ประเทศไทย ทำให้ผมสามารถบินมาบรรยายให้กับนักศึกษา รวมถึงพบปะกับอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองไทยได้บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ระหว่างที่เรียนปริญญาเอก ผมก็ไม่เคยลืมปณิธานที่จะนำความรู้มาพัฒนาประเทศ โดยผมได้รวมตัวนักเรียนทุนไทยที่สนใจด้านควอนตัมฟิสิกส์ ซึ่งมีอยู่ราว 50 คนทั่วโลก จนได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์จำนวนหนึ่งร่วมกันจัดตั้ง มูลนิธิ QTFT เพื่อเทคโนโลยีควอนตัมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มนักวิจัยและภาคอุตสาหกรรม

เพราะผมและกลุ่มเพื่อนเชื่อว่าควอนตัมเทคโนโลยีจะมาเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในอนาคตอันใกล้ ที่จะผลักดันเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ บล็อคเชน หรือระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ ให้ก้าวกระโดดขึ้นไปอีกขั้น ผ่านการสร้างงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศอย่างแท้จริง

และทันทีที่เรียนจบ ผมจะกลับมาอยู่ประเทศไทยอย่างถาวร เพื่อผลักดันมูลนิธินี้อย่างเต็มตัว

ตัดภาพย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้นที่จังหวัดมุกดาหาร จากเด็กที่เติบโตในร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ชอบปั่นจักรยานและเล่นโรลเลอร์เบลด

ผมไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งตัวเองจะกลายมาเป็นนักฟิสิกส์ควอนตัม ที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิ QTFT ที่มีจุดมุ่งหมายในการนำความรู้ด้านควอนตัมฟิสิกส์มาพัฒนาประเทศ

ผมคิดว่าสิ่งที่ผลักดันให้ผมมาถึงจุดนี้ แค่ความชอบในวิชาฟิสิกส์คงไม่พอ ถ้าไม่มีความเชื่อมั่นศรัทธาในอะไรบางอย่าง

บางอย่างที่มากกว่าแค่ชื่อเสียงหรือเหรียญรางวัล แต่คือการนำสิ่งที่เรียนรู้มาพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

นี่คือความฝันของนักฟิสิกส์ควอนตัมคนหนึ่ง ที่วันนี้ไม่ได้เดินคนเดียวอีกต่อไป

“Walk on, walk on.

With hope in your heart,

and you’ll never walk alone.”