ใครเป็นแฟนเพลงของเบเกอรี่มิวสิคมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ต้องรู้จัก นภ พรชำนิ นักร้องมาดนุ่ม น้ำเสียงอบอุ่น
พี่นภเป็นนักร้องที่เรียกได้ว่า ‘เก็บเนื้อเก็บตัว’ คนหนึ่ง ไม่ให้สัมภาษณ์หากไม่ใช่เรื่องงาน ไม่รับงานร้องเพลงในอีเวนต์หรือผับบาร์
วันนี้เป็นโอกาสดีของ common ที่ได้มาพูดคุย เพราะพี่นภกำลังมีงานคอนเสิร์ต Past Perfect คอนเสิร์ตการกุศล ที่พี่นภรวบรวมพี่น้องศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล มาร่วมกันหาทุนให้กองทุนศิษย์คิดถึงครู และกองทุนช่วยเหลือครูเกษียณโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
ที่ผ่านมา เราได้ยินแฟนเพลงและสื่อต่างๆ ให้ฉายาผู้ชายคนนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘A Man of Smile’ หรือ ‘ราชาเพลงรัก’ แต่ยังไม่เคยได้ยินเขานิยามตัวเอง ว่าจริงๆ แล้ว…
แก่นแท้ของ นภ พรชำนิ คือใคร?
นภ Nobody – นิยามนี้ไม่เคยเปลี่ยน
“นภ Nobody ครับ พี่ไม่มีตัวตน ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น เป็นแค่จิตวิญญาณที่อยู่ในร่างนี้ แล้วทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ถ้าต้องร้องเพลงก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่พี่จะทำได้ ต้องมาสัมภาษณ์วันนี้ พี่ก็ต้องทำเต็มที่ อย่างที่สัญญาไว้ ถ้าอันไหนทำไม่ได้ ก็จะต้องบอกเขาและไม่ฝืนทำ นี่คือสิ่งที่พี่บอกตัวเองเสมอ”
หากใครติดตามผลงานของพี่นภ พรชำนิ จะทราบดีว่าเขาเพิ่งกลับมาอยู่ไทยเป็นการถาวรได้เพียงปีกว่าๆ หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกากับภรรยาร่วม 10 ปี
ในวันที่ตัดสินใจลาวงการเพลงไทยไปชั่วคราวนั้น พี่นภบอกว่าเกิดจากเหตุผลหลายอย่าง
และหนึ่งอย่างที่เขาไม่ปฏิเสธคือ ‘หมดไฟ’
“พี่ทำงานหนักมา 12 ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 1994 – 2005 มันเหมือนเราถูกดูดพลังงานไปหมดละ แล้วก็เป็นจังหวะเดียวกับที่เบเกอรี่มิวสิคปิดตัวลง ก็ค่อนข้างเคว้ง พี่ทำอัลบั้มสุดท้ายก่อนไปอเมริกา คือ A Man of Smile ในปี 2005 ทุกอย่างที่เราเข้าใจมาในชีวิตตอนนั้น มันรวมอยู่ในอัลบั้มเลยครับ ทุกวันนี้เวลาพี่กลับไปฟังอัลบั้มนี้ พี่จะจำความรู้สึกนั้นได้ โดยเฉพาะเพลงสุดท้าย ‘เดินต่อไป Life Goes On’ นี่เหมือนร้องให้ตัวเองฟังเลย”
แล้วพี่นภก็ร้องท่อนหนึ่งของเพลงนี้ขึ้นมา ในขณะที่เรานั่งคุยกัน
“หากว่าวันนี้เรา เหนื่อยกับเรื่องมากมาย พักก่อนมั้ย พักให้ใจมีแรง พักให้ใจเข้มแข็ง ขึ้นใหม่… ”
“แล้วภาพของ Front Man แบบนภ พรชำนิ ในเวอร์ชั่นที่ยังไม่มีครอบครัว ก็ปิดลงอย่างสมบูรณ์ครับ”
สิ่งที่พี่นภเล่า ชวนให้เราอยากย้อนกลับไปในช่วงไฟลุกโชนของเขา อะไรคือสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตของผู้ชายคนนี้ แก่นความคิดแบบไหนที่หล่อหลอมความเป็นนภ พรชำนิ บนถนนสายดนตรีมาอย่างเข้มข้นถึง 12 ปีเต็ม
เด็กอ้วนหูดี ในห้องรวมนักดนตรีที่เซนต์คาเบรียล
พี่นภพาเราย้อนไปไกลตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ว่านั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นความเป็นนภ ที่ชอบสร้างสรรค์และคิดต่าง
“ตอนเด็กๆ พี่ก็ยังไม่ได้รู้จักดนตรีอะไรมากมาย เป็นเด็กอ้วนคนหนึ่งที่ชอบไปดูดนตรี ส่วนใหญ่ก็ไปกับป๊อด (พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก) สนิทกันมาก พี่นภเป็นหัวหน้าห้อง ป๊อดเป็นรองหัวหน้า เวลาไปฟังดนตรีพี่ชอบจับผิด เอ๊ะ! คนนี้ร้องเพี้ยนนี่ ไลน์ประสานไม่ตรง คือฟังออก หูดีมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้คิดเรื่องทำงานด้านดนตรีอะไรกันในตอนนั้น แต่ในห้องนี่เต็มไปด้วยนักดนตรีเลยนะ มีพี่อ้วน อาร์มแชร์ พี่บ๊อบ อดีตมือเบสวงโมเดิร์นด็อกด้วย แต่ที่แน่ๆ คือเราชอบคิดต่าง ไม่ชอบทำอะไรที่ซ้ำรอยคนอื่น พยายามจะทำอะไรใหม่ๆ กันตลอด”
หลังจากจบชั้นประถม นภ ป๊อด และเพื่อนๆ ก็แยกย้ายกันไป จนมาเจอกันใหม่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย
“พี่กับป๊อดมาเจอกันอีกครั้งตอนมหาวิทยาลัยเลย เรียนคนละที่ด้วย แต่มันแปลกตรงที่พอมานั่งคุยกัน เรากลับชอบอะไรเหมือนๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องดนตรี พี่เป็นกองเชียร์รุ่นแรกของโมเดิร์นด็อกเลยนะ ไปเชียร์ทุกเวที จนถึงเค้าบันทึกเสียงชุดแรกก็ตามไปดู”
ช่วงนั้นพี่นภเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ หลังจากเรียนจบเขาเกือบต้องทำอาชีพวิศวกรไปตลอดชีวิต หากพี่ป๊อดไม่มาชวนไปดูโมเดิร์นด็อกบันทึกเสียงที่เบเกอรี่มิวสิค
Season Change เพลงที่ change ชีวิตของ ‘นภ หนุ่มวิศวกร’ ไปตลอดกาล
“ตอนนั้นกะไปเชียร์เพื่อนเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไรเลย บังเอิญว่าพี่บอยกำลังหาคนร้องเพลง Season Change ป๊อดก็ตามสไตล์ บอกพี่บอยเลยว่า เนี่ยพี่ ไอ้นภมันร้องเพลงได้นะ เลยได้เข้าไปร้อง พี่ว่าพี่บอยก็ไม่ได้กะจะจริงจัง เผอิญผมว่างและอยู่ตรงนั้นพอดี แล้วร้องได้ แต่เพลงเดียวนี่อัดอยู่ 3 เดือนครับ ร้องยากมาก ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าความบังเอิญตรงนั้นจะทำให้มาถึงวันนี้ได้ 25 ปีแล้วนะ”
หลังจากอัลบั้ม Rhythm & Boyd และเพลง Season Change ถูกปล่อยออกไป ก็ประสบความสำเร็จทันที ด้วยเนื้อหาใหม่ กินใจ เมโลดี้ไพเราะ ต่างจากเพลงรักๆ ใคร่ๆ ที่มีอยู่ในตลาดขณะนั้น เพียงท่อนเริ่มของเพลง
“อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง…”
ก็ทำให้ทุกคนจำเพลงนี้ได้ และชื่อของนภ พรชำนิ ก็กลายเป็นที่สนใจขึ้นมาพร้อมๆ กัน
แต่ถึงจะมีคนชื่นชอบแค่ไหน พี่นภกลับบอกว่าเขาไม่ชอบเสียงร้องของตัวเองในตอนนั้น
ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา “ผมร้องเพลงไม่ดี”
“Season Change พี่ยกเครดิตให้เพลงครับ เพลงดี แต่ถามว่าพี่ร้องดีรึยัง ก็ยังไม่ดีครับ พี่บอยเค้ามีภาพในหัวว่า “อดทนเวลาที่ฝนพรำ” แกอยากให้ออกมาเป็นยังไง บางทีเราร้องไม่ได้อย่างที่พี่บอยตั้งใจ พี่รู้ว่าตัวเองร้องไม่เก่ง คอนโทรลเสียงก็ยังไม่ดี ร้องไปแล้วมีแผล ซึ่งตัวเราได้ยิน เช่น เพลงดอกไม้ ฟังดีๆ จะได้ยินว่าพี่ร้องเพี้ยน แต่สมัยนั้นการกลับมาร้องใหม่มันลำบาก เพี้ยนคำว่า ‘เธอ’ คำเดียวต้องเริ่มใหม่ทั้งประโยค จำเป็นต้องปล่อยผ่าน พี่จะใช้วิธีอัด 2 แทร็ค ร้องเป็น double line ไว้ อันนึงเพี้ยน อีกอันนึงไม่เพี้ยน มันก็ยังไปด้วยกันได้ ก็กลายเป็นสไตล์ไป โอ้…เท่จัง แต่จริงๆ เป็นเพราะพี่ร้องห่วย”
พี่นภเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี แถมยังชี้ช่องให้ด้วยว่า ถ้าอยากฟังเสียงเพี้ยนๆ ของเขา ให้กลับไปฟังคำว่า ‘เธอ’ ในเพลงดอกไม้
กระทั่งเริ่มทำอัลบั้ม era อัลบั้มแรกในนาม P.O.P พี่นภถึงได้เริ่มพอใจเสียงร้องของตัวเอง
“เป็นเพลงที่เราทำเองทั้งหมด พี่เป็นโปรดิวเซอร์เองด้วย ดีไซน์การร้องเอง ก็รู้ว่าจะร้องยังไง แล้วทีนี้มันจะร้องออกมาจากความรู้สึกข้างใน เวลาอัดเสียงพี่ก็มีเวลาในการฝึกและร้องคำเดิมๆ จนกว่าจะพอใจ”
ไม่เพียงเท่านั้น อั้ลบัม era นี้เองที่พี่นภบอกว่า นี่คือจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของชีวิตนภ พรชำนิ
ลาออกจากงานวิศกรแบบถาวร เริ่มงานประจำใหม่ในสายดนตรี
ช่วง 2 ปีแรก พี่นภสวมหมวกอยู่ 2 ใบ ใบหลักคือวิศวกร ส่วนงานเพลงเป็นเพียงหมวกใบรอง หรือพาร์ทไทม์เพื่อคลายเครียดจากงานหลักเท่านั้น
ตอนที่เขาเริ่มทำอัลบั้มในนาม P.O.P พี่นภตัดสินใจลาออกจากงานวิศวกร แล้วเริ่มต้นงานดนตรีอย่างเต็มตัว ทั้งๆ ที่เขาเองก็ยอมรับว่า ไม่มีความมั่นใจ
คำถามคือ ถ้ายังไม่มั่นใจ แล้วพี่นภลาออกมาทำงานดนตรีเต็มตัวทำไม ?
“พี่รู้สึกว่าการทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ถึงเราจะทำได้ดีสุดๆ แต่ความทุ่มเทของเราก็มีแต่ทำให้บริษัทเติบโต ส่วนตัวเราไม่ได้เป็นอะไรเลยนะ ทำงานนี้สำเร็จ ก็มีงานใหม่ต้องทำต่อ วนไปอย่างนั้น ทำประโยชน์ให้เค้าโดยที่เราก็ไม่ได้รู้จักอะไรเค้าเลย
“ก็มาคิดว่าทำไมเราไม่ไปทำอะไรที่มันเกิดประโยชน์ต่อสิ่งที่เรารักล่ะ เรารักเบเกอรี่มิวสิค เราก็ควรมาช่วยเค้า เอาความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยวางแผนการทำงานให้เป็นระบบ ทำให้บริษัทเติบโต พี่เลยตัดสินใจว่าอยากมาทำหน้าที่นี้”
ตอนนั้นคือ ปี 40 ช่วงฟองสบู่แตก พี่นภและ P.O.P จึงรีบทำอัลบั้ม era ออกมาขายเพื่อช่วยให้มีเงินมาหมุนเวียน ให้เบเกอรี่มิวสิคเดินต่อไปได้
12 ปีในเบเกอรี่มิวสิค หากจะเปรียบ ที่นี่คงเป็นทั้งโรงเรียน ที่ทำงาน และบ้านอีกหลังของพี่นภ
ที่ได้เรียนรู้ ทดลอง และค้นพบความสามารถใหม่ๆ ของตัวเอง แต่แน่นอนว่าในหลายอย่างที่เขาต้องทำ ก็มีทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ
แต่ทุกอย่างคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งพี่นภบอกว่า ต้องทำให้ดีที่สุด
ทุกอย่างคือหน้าที่ ต้องทำให้ดีที่สุด
“พี่ชอบทำเบื้องหลัง ชอบเขียนเพลง ทำเพลง แต่ถ้าต้องขึ้นเวที อันนี้จะไม่ใช่ตัวพี่เลย ไม่ใช่สิ่งที่ชอบ”
การเป็นนักร้อง แต่ไม่ชอบขึ้นเวทีของพี่นภ ดูจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันพอสมควร แต่พี่นภบอกว่า
“พี่ไม่เคยคิดว่าตัวเองต้องเป็นนักร้องดัง เรื่องพวกนี้ไม่เคยอยู่ในหัวพี่เลย พี่ร้องเพราะเป็นหน้าที่ของพี่ ที่ต้องทำเพลงหนึ่งเพลงให้สมบูรณ์ พี่ถือว่าเราคือทีมโปรดักชั่น มาทำเพลงให้เสร็จ หน้าที่ของพี่ก็ไม่ได้ต่างจากคนเป่าแซกโซโฟนหรือเล่นกีตาร์ แค่เราใช้เสียงของเราเอง”
ด้วยความคิดแบบสตูดิโอแมน ที่ถนัดทำงานในห้องอัดมากกว่า บวกกับนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนขี้อาย ทำให้พี่นภอึดอัดทุกครั้งที่ต้องขึ้นโชว์บนเวที แต่นี่ก็เป็นหน้าที่ ที่เลี่ยงไม่ได้
“มันเป็นไฟท์บังคับ บริษัทฯ บอกว่าถ้าเราร้องเพลงสดนะ มันจะไปได้อีก เพลงก็จะขายดีขึ้นอีก อึดอัดมากครับ แต่ก็เต็มใจทำนะ เพราะเรารู้สึกว่าโอเควะ ช่วยบริษัท ทุกวันนี้พี่ก็ยังอึดอัดอยู่ครับ ยังไม่ชอบเหมือนเดิม แต่ก็เต็มใจทำถ้ามันเป็นคอนเสิร์ตแบบที่คนเค้าตั้งใจมาฟังเราจริงๆ หรืองานการกุศล หรือพวกเฟสติวัล ที่ทำแล้วมันได้อะไรบางอย่าง พี่จะไม่ได้คิดในเชิงชื่อเสียง เราคิดแค่ว่าการที่เราไป มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โชว์นั้นสมบูรณ์ แบบนั้นก็พอจะลดความอึดอัดได้
“แต่ถ้าจ้างไปร้องในผับบาร์ พี่ไม่อยากทำ เพราะรู้สึกว่าทำไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา คนที่มานั่งฟังเราเค้าก็ไม่ได้ดื่มด่ำอะไรกับเพลงของเราหรอก P.O.P จึงรับโชว์น้อยมาก”
Show Director หน้าที่สุดท้ายที่เบเกอรี่มิวสิค
จากศิลปินที่ไม่ชอบขึ้นโชว์ สุดท้ายพี่นภกลับค้นพบว่าเขาชอบทำโชว์
“มันเริ่มจากคอนเสิร์ตแรกของ P.O.P ในปี 1999 ด้วยความที่มันเป็นคอนเสิร์ตของเราเอง มีแฟนเพลงที่เค้ารักเราจริงๆ ยอมซื้อบัตรราคาเป็นพันมาดู พี่ก็อยากให้มันออกมาดี เลยดีไซน์เองทุกอย่าง ช่วยกันคิดทั้ง 3 คน ว่าเราจะเล่นแบบไหน ลำดับโชว์ยังไง และจากงานนั้นแหละครับ ก็รู้สึกชอบเลย และอยากทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ
“ตั้งแต่ปี 1999 – 2004 พี่เลยรับหน้าที่เป็นโชว์ไดเรคเตอร์ ของเบเกอรี่มิวสิคมาตลอด โชว์สุดท้ายที่พี่ทำคือ B DAY คอนเสิร์ต 10 ปีเบเกอรี่มิวสิค”
จบคอนเสิร์ต ก็จบหน้าที่ของพี่นภที่เบเกอรี่มิวสิคไปด้วย พี่นภเล่าให้ฟังว่า จบลงพร้อมน้ำตาและความรู้สึกหลากหลายในใจ
“ตอนนั้นเบเกอรี่กำลังจะปิดตัว ในใจพี่คือแล้วยังไงต่อวะเนี่ย เราทำงานกันมาเพื่อจะได้มีเบเกอรี่ที่เข้มแข็ง แต่สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการปิดตัว”
พี่นภรู้สึกว่าเขาเดินทางมาถึงจุดที่ เหนื่อย และ หมดไฟ
จึงตัดสินใจหยุดพัก จบหน้าที่ ‘Front Man’ แล้วเปลี่ยนมาทำหน้าที่ ‘Supporter’ ให้กับภรรยาได้ตามความฝันของตัวเอง ในการเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา
ระหว่างนั้นพี่นภทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนให้กับทุกคน ทั้งที่บ้าน ภรรยา และมากลับช่วยพี่บอยทำเพลงและคอนเสิร์ตเป็นครั้งคราว
หมดไฟแต่ไม่หมดใจ กลับมาอีกครั้งพร้อมขุมพลังใหม่
การอยู่อเมริกา 10 ปี เหมือนเป็นการได้ชาร์จพลังสำหรับพี่นภ เขากลับมาครั้งนี้พร้อมกับโปรเจคมากมาย ที่ดูเหมือนจะไปไกลกว่าแค่เรื่องดนตรี ทั้ง LIFEis และโครงการอีกมากมายในอนาคต ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้น
แต่พลังแบบไหน ที่พี่นภได้กลับมา ?
“มันคือ source ของความคิดใหม่ๆ ตอนเราอยู่ไทย เปิดทีวีมาก็เจอคนนี้นินทาคนนั้น พรรคการเมืองด่ากัน ส่วนอีกช่องก็ข่าวคนฆ่ากัน แต่พอเราไปอยู่ที่อื่น เปิดทีวีมาจะเจอเรื่องบริษัทนี้กำลังทำวิจัยนี้เพื่อสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง อีกช่องมีคนเอาไมค์ไปถามเด็ก เด็กสามารถพูดได้ว่าเค้าต้องการอะไร เค้าอยากจะเป็นนักบัลเล่ต์เพราะอะไร เด็กอีกคนศึกษาการบินของนก เพราะอยากจะทำอะไรที่บินได้เหมือนนก ทำไมบ้านเราไม่ค่อยมีเรื่องพวกนี้
“มองกลับมาที่บ้านเรา ถ้าเอาไมค์ไปจ่อปากผู้หลักผู้ใหญ่ ถามแค่ว่า ‘พี่อยากทำอะไร’
‘เอ่อ..ผมคิดว่านะครับ การเกษตรในปัจจุบันนี้ได้รับการเชื่อมโยง….’ อะไรอ่ะ คือคนพวกนี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังพูดอะไรอยู่ มันคนละเรื่องกับเด็กอายุ 9 ขวบที่นู่นเลย”
พี่นภเลยสังเกตการณ์ American Culture ด้วยจิตวิญญาณแบบไทยๆ บรรยากาศใหม่ ความรู้ใหม่ ได้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขากลับมาสร้างงานในไทย
“เรารู้ว่าขุมพลังของเราคืออะไร ก็ไปเติมมันมา แต่ไม่ใช่ว่าหนีไปอยู่กับขุมพลังเลย ทำอย่างนั้นก็ได้ แต่พี่รู้สึกว่ามันก็ไม่แฟร์กับบ้านเกิดของเรา
ควรกลับมาทำหน้าที่เราให้ดี พี่ยังมั่นใจว่าประเทศเราพัฒนาได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในแง่ของความเท่าเทียมกัน”
สิ่งที่พี่นภอยากจะทำหลังจากนี้คือ พยายามให้ทุกคนมีทุนตั้งต้นในสังคมเท่าๆ กัน ทลายค่านิยมที่ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่อดีต ว่าลูกกรรมกรกับลูกเจ้าของโรงสีนั้นคนละชั้น สร้างค่านิยมใหม่ด้วยการให้โอกาสอย่างเท่าเทียม ซึ่งคนเหล่านั้นแหละจะเป็นกำลังในการสร้างอะไรใหม่ๆ ให้บ้านเมืองได้
โดยเริ่มต้นจากการใช้เพลงเป็นตัวเชื่อม
“พี่ใช้เพลงเป็นตัวเริ่มต้น แล้วค่อยนำไปสู่การสร้างงานอื่นๆ เน้นไปที่คนครับ เพราะพี่เชื่อว่าสังคมจะดีได้ คนมันต้องมีคุณภาพ ล่าสุดพี่ไปปลูกป่าล้อมเมืองที่ขอนแก่น ก็ใช้ดนตรีนำเพื่อดึงแฟนเพลงไปช่วยกันปลูกต้นไม้รอบๆ ขอนแก่น สนุกกว่าการแค่มาฟังเพลง กินเหล้า กลับบ้าน นอนหลับ ตื่นมาก็ลืม”
การทำงานดนตรีในช่วง 12 ปีแรกของพี่นภ จึงเหมือนการเพาะเมล็ดพันธ์ุบางอย่าง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเติบใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปเป็นอย่างอื่นอีกมากมาย ที่ไกลกว่าแค่เสียงเพลง
ปลูกอะไร ได้อย่างนั้น
“ลำพังตัวพี่คงเปลี่ยนสังคมไม่ได้หรอก แต่เราอยากเห็นสังคมเป็นยังไง ต้องเริ่มทำจากตัวเราก่อน อยากได้มะม่วง ต้องปลูกต้นมะม่วง ถ้าอยากได้สังคมที่ไม่เอาเปรียบกัน ก็ต้องสร้างตั้งแต่วันนี้ ทำตัวเป็นตัวอย่าง”
LIFEis จึงเกิดขึ้น เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ปลูกสิ่งดีๆ ให้สังคม ซึ่งสิ่งที่พี่นภเน้นตลอดเวลาที่เราพูดคุยกัน คือ การมองคนทุกประเภทอย่างให้โอกาส เพราะโอกาสนี่แหละ จะทำให้เราได้เมล็ดพันธุ์ดีๆ เพิ่มขึ้น
“พี่มองว่าทุกคนมีความเก่งนะ แต่บางคนถูกระบบทางสังคมผลักดันให้เค้าต้องไปอยู่ในทางที่เค้าไม่มีทางเลือก เราพยายามทำตรงนี้ พี่น้อย (วงพรู) ก็กำลังทำเรื่องคนคุก น้องเพลิน ภรรยาพี่ก็ทำเรื่องเด็กพิเศษ ก็หวังว่าพี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มเมล็ดพันธุ์ดีๆ ให้บ้านเรา ซึ่งเรามีส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ฟังของเราอยู่แล้ว พี่เชื่อว่าแฟนเพลงของพี่เค้าคือเมล็ดพันธุ์ดีทั้งสิ้น การที่เค้าจูนมาเจอเรา เพลงของเรามันต้องมีอะไรบางอย่างที่มีเคมีตรงกัน เป็นทัศนคติดีที่มีอยู่ในตัวเค้าเอง พี่ก็เขียนเพลงเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อไปกระตุกต่อมในตัวเค้าว่า You can do it คุณเปลี่ยนโลกเปลี่ยนสังคมได้นะ”
ตั้งแต่เด็กชายนภ จนถึง ‘นภ พรชำนิ’ ในวันนี้ บางสิ่งคงอยู่และไม่เคยจางหาย
“อะไรที่ไม่เคยหายไปหรอ…พี่ไม่โกหกตัวเอง จริงใจกับสิ่งที่ทำ และไม่มีอะไรปิดบัง จะเห็นว่าเวลาสัมภาษณ์ทั้งเรื่องงานเรื่องส่วนตัว พี่ก็พูดความจริงหมด เราสบายใจแบบนั้น แล้วก็ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจอย่างไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง อันนี้เป็นเส้นบางๆ ที่พี่ใช้เป็นขีดวัดความสำเร็จของพี่เองว่า ถ้าเราทำสิ่งนี้แล้วมันทำให้ดีขึ้นอีกได้มั้ย ความเต็มที่และตั้งใจของเรามันทำให้เกิดประโยชน์ได้จริงรึเปล่า คิดแบบนี้มาตลอด”
คุยกันจนใกล้จบบทสนทนา สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ พี่นภเป็นคนที่ทำอะไรโดยไม่ตั้งต้นจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ เขายินดีทำ หากสิ่งนั้นเกิดประโยชน์อะไรบางอย่าง คนเราสามารถข้ามผ่านโฟกัสตัวเอง แล้วทำอะไรเพื่อคนอื่นตลอดเวลาได้ยังไง
“พี่รู้สึกว่าพี่มีครบแล้วครับ มีพ่อแม่ มีบ้าน มีภรรยา ครอบครัวอบอุ่น ฐานะทางการเงินไม่ลำบาก พี่ยังจะต้องการอะไรอีกล่ะ
พี่จะลงทุนหุ้นเพื่อให้ได้เงินพันล้านหรอ พี่ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร ชีวิตหรูหราไม่ใช่คำตอบของพี่ สู้เอาเวลามาคิดงานให้มันเกิดประโยชน์กับคนที่เค้าไม่มีโอกาสเหมือนเราดีกว่า ให้เค้าได้เห็นค่าตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพ แล้วคนพวกนี้จะช่วยสังคมให้ดีขึ้นเอง”
1 เพลงแทนใจ
ผ่านร้อน ผ่านหนาว จนชีวิตตกผลึก พี่นภในวัย 45 กำลังจะกลับไปเจอเพื่อนๆ ในชั้นประถม และน้องๆ รุ่นใหม่ ในคอนเสิร์ต Past Perfect ถ้าวันนั้นพี่นภเลือกได้ 1 เพลง เขาก็อยากร้องเพลงหนึ่งให้เพื่อนๆ ฟัง
“เพลงเสียงข้างในจิตใจครับ หรือภาษาอังกฤษคือ Belief อยากให้ทุกคนมีความเชื่อว่าเราทำได้ เราสามารถทำตามเสียงข้างในใจเราได้
“พี่คิดว่ายังมีเพื่อนๆ น้องๆ อีกเกินครึ่งที่ยังไม่ได้ทำตามเสียงในจิตใจตัวเอง ศักยภาพของเราจาก 100 บางคนอาจได้ทำแค่ 15 หรือ 20 มันก็เซฟดี สบายๆ ไม่ต้องเหนื่อยมาก ไม่ผิดนะครับ แต่เพลงเสียงข้างในจิตใจอยากไปกระตุกความคิด บอกเค้าว่า ทำซักหน่อยโว้ย ตอนนี้ชีวิตเราสั้นลงเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำมันก็หมดไปอีกวัน เราก็จะอดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปอีกวัน จาก 15 อาจจะขยายเป็น 25 หลายๆคนรวมกันก็เพิ่มอีกไม่รู้กี่ทวีคูณ โลกไม่รู้จะดีขึ้นกี่เท่า
“ถ้าฟังเสียงในใจได้ชัด มีเป้าหมาย ความสงสัยที่ว่ามันเวิร์คมั้ยนะที่ทำอยู่นี้ มันจะหายไปเลย เพราะถ้าชัดแล้ว นั่นก็คือสิ่งที่เราต้องทำอยู่ดี ไม่ว่าจะยาก-ง่าย ใกล้-ไกล เราก็ทำเรื่องนี้อยู่ดีถูกมั้ย ทำไปเลย ได้ไม่ได้ไม่เป็นไร
“ถ้าเราทำสิ่งที่เราเชื่อมั่นแล้ว ก็ขอให้ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ในระยะเวลาที่ได้รับมา”
ภาพการแสดงสดเพลง ‘เสียงข้างในจิตใจ Belief’ จากวง P.O.P
FACTBOX :
คอนเสิร์ต Past Perfect เป็นคอนเสิร์ตที่จัดโดยศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ตั้งแต่ นภ พรชำนิ โมเดิร์นด็อก อดุลย์ ฟรายเดย์ & บอย-ตรัย และศิลปินชื่อดังอีกมากมาย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 2562 นี้ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปมอบให้กองทุนศิษย์คิดถึงครูและกองทุนครูเกษียณ ร.ร. เซนต์คาเบรียล ดูรายละเอียดเพิ่มเติม และซื้อบัตรได้ที่ http://www.thaiticketmajor.com/concert/past-perfect-concert-2019-th.html