pe©ple

ฌาแวรต์ (Javert) กำลังยืนอยู่บนสะพานเหนือแม่น้ำแซน ภายในใจของเขาสับสนอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาตลอดชีวิตกำลังพังทลาย เขาเป็นตำรวจ เป็นพนักงานสืบสวน ถูก ‘นายสั่ง’ ให้ไล่ล่าคนร้ายคนหนึ่ง ผู้ที่เขาเชื่อว่าทำผิดกฎหมายมายาวนาน แต่กลับกลายเป็นว่า คนร้ายคนนั้นได้ช่วยชีวิตเขาไว้ ฌาแวรต์ไม่เข้าใจ แบกรับความรู้สึกล่มสลายกับสิ่งที่ตัวเองเคยยึดมั่นไม่ไหว เขาคือ ‘เจตจำนงอันแข็งทื่อ’ ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจกระโจนแม่น้ำสู่ความตาย

นั่นคือฉากสุดท้ายของฌาแวรต์ หนึ่งในตัวละครหลักจากนิยายอมตะเรื่อง Les Misérables หรือ เหยื่ออธรรม ในชื่อฉบับแปลภาษาไทย โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นิยายที่บอกเล่าเรื่องราวยาวนานของหลากตัวละคร โดยมีศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ ฌอง วาลฌอง (Jean Valjean) อดีตนักโทษ ผู้ติดคุกเพราะขโมยขนมปังด้วยความอดอยาก ในช่วงที่สังคมฝรั่งเศสกำลังตกอยู่ในวิกฤตความหิวโหย เมื่อชนชั้นผู้ถืออำนาจเก็บเกี่ยวแย่งชิงสิ่งต่างๆ เอาจากคนชั้นล่างอย่างไร้ความยุติธรรม ซึ่งนั่นได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ อย่างการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในศตวรรษที่ 19

ฌาแวรต์ แสดงโดย รัสเซล โครว์ (Russell Crowe) จากหนังเรื่อง Les Misérables (2012)

นิยายเรื่องนี้ต่อมาถูกสร้างเป็นละครเวทีที่มีการแสดงซ้ำมากที่สุดเรื่องหนึ่ง มันถูกดัดแปลงเป็นหนังอีกหลายครั้ง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 19

ในนิยาย Les Misérables ฌาแวรต์มีบทบาทมากขึ้นในช่วงกระบวนการปฏิวัติฝรั่งเศสก่อตัว เมื่อตัวละครเอกอย่างวาลฌองได้ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ มหากาพย์การตามไล่ล่าตัวอาชญากรผู้ถูกตั้งข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐโดยนายตำรวจผู้ยึดมั่นในกฎหมายอย่างฌาแวรต์จึงเกิดขึ้น 

“เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีวันผิดพลาด เจ้าพนักงานผู้ปกครองไม่เคยทำความผิด” นั่นคือความคิดของฌาแวรต์ ชายผู้ประกอบสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาจากความคิดแบบขาวกับดำ เขามีความคิดสุดขั้วและเชิดชูกฎหมายแบบเถรตรงเป็นไม้บรรทัด และในยุคที่การปฏิวัติกำลังก่อตัว การต่อต้านรัฐสำหรับเขาจึงเท่ากับอาชญากรรม

ประเด็นก็คือ แม้เบื้องหลังชาติกำเนิดของตัวละครสองตัวนี้จะไม่แตกต่างกันนัก กล่าวคือพวกเขาต่างเป็นคนชั้นล่างผู้ถูกทำให้ทุกข์ทรมานกับความเหลื่อมล้ำและไม่ยุติธรรม แต่ในขณะที่ฌอง วาลฌอง กลายมาเป็นสัญลักษณ์สากลแห่ง ‘ความหวัง’ ฌาแวรต์กลับกลายเป็นตัวแทนของความสิ้นหวังอย่างน่าสลดหดหู่

นิก กรีนชิลด์ส (Nic Greenshields) ในบท ฌาแวรต์ จากฉบับละครเวที / Photo: Helen Maybanks

ฌอง วาลฌองมีอดีตเป็นนักโทษ ผู้ถูกทำให้หมดความรู้สึกกับทุกสิ่ง ทัณฑ์ทรมานถึง 19 ปีที่เขาต้องเจอจากข้อหาแค่ขโมยขนมปัง ทำให้เขาชิงชังสังคม และคิดว่าตนไม่อาจหลีกหนีจากตราบาปติดตัวพ้น แต่ด้วยโชคชะตาที่นำพาให้เขาได้รู้จักกับความรักและความเมตตาของบาทหลวงคนหนึ่ง เขาจึงกลับมาเป็นมนุษย์ผู้เปี่ยมด้วยความรักได้อีกครั้ง ฌอง วาลฌองลืมตาตื่น รับรู้ถึงโลกอันไร้ยุติธรรม รับลูกของโสเภณีคนหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรม กระทั่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิวัติในที่สุด 

ขณะที่ฌาแวรต์เติบโตมากับอดีตดำมืด เขามีพ่อเป็นอาชญกร มีแม่เป็นยิปซีเร่ร่อน ถูกทิ้งขว้างอยู่ข้างถนนให้เติบโตเพียงลำพัง เขามีชีวิตอยู่ด้วยความอับอายจากการที่รู้ว่าตนเกิดในคุก และทางเดียวที่จะลบความอัปยศของชาติกำเนิดได้ คือการสมาทานกฎหมายมาเป็นความจริงอันสูงสุด ด้วยเขาอาจคิดว่าตัวเองจะกลายเป็นตัวแทนของความถูกต้องดีงาม โดยไม่เคยตระหนักและสงสัยเลยว่า สิ่งที่เขาเชื่อถืออยู่นั้น สุดท้ายแล้วมันอาจนำมาสู่ความผิดพลาดอันใหญ่หลวง — สิ่งที่ฌาแวรต์เชื่อมั่นว่าคือความถูกต้องนี้ กลับเล่นล้ออย่างรุนแรงกับชีวิตของเขา มันนั่นเองที่จะนำความโศกสลดมาสู่เรื่องราวของ Les Misérables ในภายหลัง

หากมองแบบขาวกับดำตามหลักคิดของฌาแวรต์ แม้เขาจะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำคือเรื่องถูกต้อง แต่ในแง่การเล่าเรื่องของวรรณกรรมแล้ว ก็เหมือนว่าฌาแวรต์จะถูกผลักให้เป็นตัวละครฝ้ายร้าย ทว่าก็ราวกับวิกตอร์ อูโกกำลังบอกเราว่า ในเรื่องนี้แล้ว มันไม่เกี่ยวว่าใครคือคนร้ายหรือคนดี นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้ชาญฉลาดเสียดสีแนวคิดของการมองโลกแบบสุดขั้วเช่นนั้นไว้อย่างแยบคาย ด้วยการทำให้มันสะท้อนกลับไปมาอยู่ในเรื่องราวของความสับสนอลม่านภายในจิตใจของตัวฌาแวรต์เอง…

Les Misérables, Paris, Eugène Hugues, 1879-1882, 5 volumes.

ฌาแวรต์ตะกายขึ้นมาจากโคลนตม จนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้น่านับถือ มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อพ่ายแพ้—เขาอาจเชื่อเช่นนี้ และเจตจำนงเสรีที่ทำให้เขามองสูงขึ้นไปข้างบนก็ได้พาเขามาอยู่ในสถานะที่เขามีอยู่ในปัจจุบัน ทว่าข้อบกพร่องหนึ่งเดียวของฌาแวรต์นั่นก็คือ เขาไม่เคยหยุดคิดเพื่อตั้งคำถาม ว่ากฎหมายเหล่านั้นคือความยุติธรรมจริงๆ หรือไม่ ในความคิดของเขา วาลฌองมีความผิดเมื่อกฎหมายบอกว่าผิด และเมื่อวาลฌองพิสูจน์ให้เห็นว่า ‘มนุษย์ไม่ได้โดนสาปมาให้เป็นสิ่งชั่วร้ายโดยไม่มีทางเลือกอื่น’ เพียงเพราะ ‘กฎหมายบอกว่าเขาเป็น’ ฌาแวรต์ก็ไม่สามารถทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ได้

ฌาแวรต์ไม่เคยมองเห็นว่าถนนสายเดียวที่ตนเชื่อถือ บางทีอาจไม่ได้ทอดยาวไปข้างหน้าเป็นเส้นตรง แต่มันกลับถูกทำให้บิดเบี้ยวด้วยอำนาจอันฉ้อฉล หรือถึงแม้มันจะเป็นเส้นตรง แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะถูกต้องเสมอมาและตลอดไป

ในท่อนหนึ่งของหนังสือ อูโกเขียนถึงฌาแวรต์ไว้ว่า “เขาเห็นถนนสองสายเบื้องหน้า ทั้งสองเส้นนั้นตรงดิ่งพอๆ กัน และสิ่งนั้นสั่นประสาทเขา ตลอดชั่วชีวิต เขาไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าจะมีถนนที่ทอดตรงมากกว่าหนึ่งสาย และสิ่งที่ทำให้ความเจ็บปวดของเขาเจ็บแปลบยิ่งขึ้นก็คือ ถนนทั้งสองสายกลับเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างเหลือร้าย แต่ละเส้นปฏิเสธซึ่งกันและกัน แล้วเส้นไหนกันเล่าคือหนทางที่แท้จริง?”

ในท่อนหนึ่งของเพลงในละครเวทีเรื่อง Les Misérables ในฉาก Javert’s Suicide หรือ ‘การฆ่าตัวตายของฌาแวรต์’ มีเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาประมาณว่า

“ข้าคือกฎหมาย และกฎหมายไม่ควรถูกท้าทาย

ข้าจะถ่มถุยความเมตตาของเจ้านั่นกลับไปใส่หน้าเขา

ไม่มีอะไรบนโลกใบนี้ที่เราจะแบ่งปันร่วมกัน

มันควรมีแค่วาลฌอง หรือไม่ก็ต้องเป็นเพียงฌาแวรต์”

เราทุกคนอาจเคยตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องดีงามแบบ all or nothing หลงละเมอว่าตนยืนอยู่ในฝ่ายคุณธรรม เมื่อนายสั่งให้ไล่ล่าก็ต้องไล่ล่า แต่บางครั้ง คุณธรรมกลับกลายเป็นการละเมิด ‘มนุษยธรรม’ อย่างเลวร้ายโดยไม่รู้ตัว

ภาพประกอบโดย Brion Gustave

เราอาจเคยพบกับความเสียดทานของคำถามที่ว่า ‘เราเคยเป็นใคร’ และ ‘เราคือใคร’ และ ‘เราสามารถเป็นใคร?’ สะท้อนสะเทือนอยู่ในหัว มันอาจอยู่ในความคิดของตำรวจชาวพม่า ผู้ตัดสินใจหันโล่กลับเข้าหาฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อร่วมสู้กับเพื่อนร่วมชาติหลังเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อคำถามที่ว่าเราเคยเป็นใครไม่ได้นิยามตัวตนของเราในปัจจุบัน และสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ใ่ช่กรงขังที่กักเราไว้จนไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปสู่ตัวตนรูปแบบอื่น—ตัวตนที่ตื่นขึ้นเพื่อมองเห็นความผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวของความอยุติธรรม และเลือกจะพลิกตัวยืนหยัดต้านทานมันอย่างกล้าหาญ

แต่ก็มีหลายครั้งที่เราอาจไม่สามารถตัดสินใจก้าวข้ามตัวตนเดิมๆ ได้ อดีตไล่ล่าเราเสมอ ความยึดมั่นถือมั่นประทับแน่นหนักอยู่บนบ่า ซึ่งมองในแง่นี้ ชีวิตของฌาแวรต์อาจเทียบได้กับความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐไทยหลายครั้งต่อประชาชนผู้ออกมาเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมี ลงมือกระทำกับมนุษย์ด้วยกันโดยคิดไปว่า ‘คำสั่ง’ คือ ‘กฎ’ ที่ไม่อาจขัดคืนแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดูโหดเหี้ยมเพียงใดก็ตาม

“และตอนนี้ข้าเริ่มสงสัย

ในสิ่งที่ไม่เคยสงสัยตลอดมา

หัวใจของข้าแข็งแกร่งดุจหินผา แต่เหตุใดมันกลับสั่นไหว

โลกที่ข้าเคยคุ้น

สูญสลายหายไปในเงา

ชายคนนั้นมาจากนรกหรือสวรรค์กันแน่?”

ฌาแวรต์คือมนุษย์ผู้มีชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยกฎ และยึดมั่นกับกฎเหล่านั้นมากเกินไปจนทำให้มันกลายเป็นข้อเท็จจริงของจักรวาลอันไม่อาจต่อต้าน โดยไม่เปิดโอกาสให้แก่หนทางรูปแบบอื่น ไม่เคยเผื่อใจว่าบางครั้งกฎก็คือสิ่งที่อาจถูกทำให้กลายเป็นความไม่ถูกต้องได้ด้วยอำนาจอันฉ้อฉล ซึ่งหากนำเขาไปวางเทียบเคียงกับชีวิตของวาลฌอง เราจะพบว่า ภูมิหลังของฌาแวรต์ก็ไม่ได้แตกต่างจากชายที่เขากำลังไล่ล่าแต่อย่างใด ทั้งคู่เติบโตมาจากโคลนตม และหลุดพ้นมาได้ด้วยเจตจำนงที่แข็งแกร่งของตัวเอง แต่ขณะที่ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงความคิด จนมองเห็นความรักและเมตตาในเพื่อนมนุษย์ของวาลฌองคือ ‘เจตจำนงแห่งความหวัง’ ความยึดมั่นถือมั่นของฌาแวรต์อันนำมาซึ่งความสับสนอลม่านในจิตใจ จนเขารับตัวเองไม่ได้ที่เลือกปล่อยให้วาลฌองหนีไป และนำมาสู่การตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมในท้ายที่สุด กลับกลายเป็น ‘เจตจำนงอันแข็งทื่อ’

 

อ้างอิง

Byers, Andrew. Faith Without Illusions: Following Jesus as a Cynic-Saint.

Victor Hugo. Les Misérables.