pe©ple

เนื้อร้องและท่วงทำนองของแนวเพลง City pop ไม่เพียงเก็บบรรยากาศของวันวานไว้คล้ายกับเมมโมรี่การ์ดที่รอคอยให้ใครก็ตามเปิดฟังเพื่อระลึกความหลังหรือหวนคิดถึงความทรงจำที่ผ่านพ้น

แต่ยังสะท้อนความสามารถของศิลปินคนเก่ง ผู้ตั้งใจใช้บทเพลง City pop เป็นสื่อกลางถ่ายทอดห้วงอารมณ์บางอย่าง ทั้ง ‘ความรัก’ และ ‘ความเปลี่ยวเหงา’ ให้เข้าไปสั่นไหวถึงในใจของทุกคน จนเกิดเป็นความรู้สึกร่วมตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง

หนึ่งในศิลปินผู้ทำหน้าที่นี้ด้วยดีและโดดเด่นมาตลอด คือ จุนโกะ โอฮะชิ (Junko Ohashi)

Photo: Courtesy of Office Walker

จริงอยู่ว่า หากไม่ใช่คนญี่ปุ่นอาจไม่เคยได้ยินหรือรู้จักชื่อของจุนโกะในฐานะนักร้อง แต่สำหรับคนที่ชอบฟังเพลง City pop เป็นชีวิตจิตใจ ผลงานของเธอ โดยเฉพาะเพลงดังคุ้นหูอย่าง Sweet Love, I Love You So และ Telephone Number ไม่เพลงใดเพลงหนึ่งย่อมต้องติดอันดับท็อปลิสต์เสมอ

ในอดีต ผลงานเหล่านี้คือผลผลิตของแนวเพลง City pop ที่ได้รับความสนใจอยู่ในวงจำกัดแค่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา กลายเป็นเพลงเก่าที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักและไม่มีใครเปิดฟัง จนกระทั่งเพลง Plastic Love ของ มะริยะ ทะเคะอุชิ (Mariya Takeuchi) กลับมาดังเป็นพลุแตก บรรดาเพลง City pop รวมถึงผลงานของจุนโกะที่เคยห่างหายไปจากแวดวงดนตรี จึงเข้ามาอยู่ในกระแสอีกครั้ง เป็นความนิยมระดับปรากฏการณ์ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก

แต่ประเด็นที่น่าสนใจของจุนโกะอยู่ตรงที่ว่า ความโด่งดังของเพลง Sweet Love ที่เกิดขึ้นภายหลังในปัจจุบัน กลับประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำมากกว่าเมื่อครั้งเปิดตัวช่วงแรกๆ ด้วยซ้ำ คำถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้ บางทีเรื่องราวเบื้องหลังนับตั้งแต่ก้าวแรกบนเส้นทางนักร้องอาชีพของจุนโกะน่าจะมีคำตอบที่ช่วยไขความสงสัยข้อนี้

 

เด็กหญิงผู้มีพรสวรรค์

จุนโกะจำได้ว่า สมัยยังเป็นนักเรียนชั้นประถม ตัวเธอเองเริ่มหลงรักเสียงเพลงและสนใจการขับร้อง เพราะรายล้อมไปด้วยสมาชิกครอบครัวผู้มีดนตรีในหัวใจ เริ่มจากพ่อและแม่ของจุนโกะที่ร่วมกันดำเนินธุรกิจร้านอาหาร พวกเขามักจะเปิดดนตรีตะวันตกคลอเบาๆ เพื่อสร้างบรรยากาศโรแมนติกให้อบอวลอยู่ภายในร้าน ส่วนพี่สาวอีก 3 คน ล้วนหลงใหลดนตรีสากลเหมือนกัน พี่สาวคนโตชอบฟังเพลงป็อปของศิลปินชาวอเมริกันช่วงยุค 60 พี่สาวคนรองเล่นแซ็กโซโฟนและทรัมเป็ตได้ พี่สาวคนเล็กมักจะเพลิดเพลินอยู่กับแนวเพลงอาร์แอนด์บีและโซลโดยศิลปินผิวดำของค่าย Motown Records

Photo: Courtesy of Office Walker

ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เธอมักจะฝึกร้องเพลงตามประสาเด็กไร้เดียงสาอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นการร้องออกมาจากความรู้สึกข้างในตามอารมณ์ของเพลง โดยไม่ได้สนใจว่าแต่ละเสียงที่เปล่งออกมาถูกหรือผิดในทางทฤษฎีและหลักการ เพราะจุนโกะเรียนรู้การร้องเพลงผ่านการฟังและจับจังหวะดนตรีด้วยหูทั้งสองข้าง ไม่มีมีใครคอยบอกหรือสอนเป็นกิจจะลักษณะ เธอจึงร้องเพลงเป็นได้ด้วยตัวเอง

แต่ไหนแต่ไรมา จุนโกะรู้แค่ว่าการร้องเพลงคือสิ่งที่เธอทำได้ดี ซึ่งเกิดจากส่วนผสมสองส่วน ส่วนแรกคือน้ำเสียงไพเราะและทรงพลังในคราวเดียวกันของเธอที่สะกดคนฟังได้ราวต้องมนต์ นับเป็น ‘พรสวรรค์’ ที่ติดตัวจุนโกะมาแต่กำเนิด เธอยังเติบโตในสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้รักและคุ้นเคยกับเพลงสากลด้วย อีกส่วนคือ ‘พรแสวง’ ที่เป็นผลจากความพยายามตั้งใจฝึกฝนร้องเพลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเพลงป็อป ซึ่งเป็นแนวเพลงที่เธอชื่นชอบมากกว่าแนวอื่นๆ

เมื่อจุนโกะค้นพบตัวเองเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย เธอจึงวางแผนชีวิตในวันข้างหน้าว่าจะแน่วแน่และเอาดีด้วยการร้องเพลงให้ได้ เพราะเมืองยูบะริ (Yubari) ที่จุนโกะเกิดและเติบโตมาช่วงวัยเด็ก มีดีแค่เมล่อนซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อประจำถิ่น ส่วนชีวิตในโรงเรียนทั้งชั้นประถมและมัธยมก็ไม่มีสิ่งใดให้ทำมากไปกว่าได้เป็นแค่นักร้องประสานเสียง ในสายตาเธอจึงมองเห็นเมืองนี้เท่ากับความน่าเบื่อหน่ายและไร้ซึ่งโอกาสที่จะทำให้เธอได้เป็นนักร้องเดี่ยว

Photo: Courtesy of Philips Records

จุนโกะวาดภาพอนาคตที่สดใสบนเส้นทางดนตรีที่เธอเลือกเดิน และปรารถนาใช้ชีวิตไล่ตามความฝันอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีชีวิตชีวาเพราะติดภาพจำของมหานครนิวยอร์กจากภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s (1961) เธอได้ตัดสินใจไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยและใช้ชีวิตคนเดียวที่เมืองซัปโปโร

 

ร้องนำครั้งแรก

ฝันอันยิ่งใหญ่ของจุนโกะ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อก้าวเข้าสู่รั้ว Fuji Women’s Junior College (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Fuji Women’s University) เพราะที่นั้นเปิดโอกาสให้เธอได้รู้จักวงดนตรีของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮกไกโด จึงสมัครเข้าร่วมเป็นนักร้องนำประจำวง ジェットマシーン หรือ Jet Machine นั่นคือช่วงเวลาของการร้องเพลงอย่างเอาจริงเอาจังของจุนโกะ เธอหวังว่านี่จะเป็นบันไดให้เธอก้าวขึ้นไปเป็นนักร้องอาชีพได้ในสักวันหนึ่ง

แนวเพลงช่วงเริ่มต้นที่จุนโกะต้องร้องในวงคือ ฮาร์ดร็อก ก่อนจะปรับมาเป็นแนวโซลและป็อป โดยศิลปินต้นแบบที่เธอศึกษาวิธีการใช้เสียง คือ Sergio Mendes & Brasil ’66 วงดนตรีแจ๊สและบอสซาโนวาจากการรวมกลุ่มกันของศิลปินชาวบราซิลที่เธอชอบฟังผลงานมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ขณะที่เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันกับฟังแต่เพลงของนักร้องญี่ปุ่นเท่านั้น รวมถึง แจนิส จอปลิน (Janis Joplin) เป็นทั้งนักร้องแนวร็อก โซล และบลูส์ นักแต่งเพลง และร็อกสตาร์ชาวอเมริกันที่เธอชื่นชมความสามารถ

Photo: https://natalie.mu/music/news/322903

จุนโกะเคยเข้าใจว่า การร้องเพลงที่สมบูรณ์แบบต้องร้องให้เหมือนกับศิลปินเจ้าของผลงาน เธอจึงเลียนแบบวิธีร้องและจังหวะการเปล่งเสียงให้เหมือนศิลปินต้นฉบับมากที่สุด ทุกอย่างจึงยากกว่าที่คิด บางเพลงเธอต้องตะเบ็งและเค้นลมมากกว่าเคยจนร้องไม่ออกเพราะเสียงหาย กลายเป็นความยากและเหนื่อยเกินจำเป็นที่เกิดจากการฝืนธรรมชาติของตัวเอง

ประสบการณ์และความผิดพลาดคือบทเรียนให้จุนโกะรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีร้องให้เข้าร่องเข้ารอยในแบบที่เธอเป็น โดยมีเพื่อนๆ และรุ่นพี่ในวงช่วยฝึกฝนและแบ่งปันเทคนิคการร้องให้เธออีกแรง แล้วเธอก็พบช่องเสียงที่ทำได้ดีจนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว คือ เสียงแหลมแฝงความนุ่มนวลแต่แข็งแรงและหนักแน่นไม่ต่างกับเสียงผู้ชาย เพราะศิลปินที่จุนโกะเคยฟังและฝึกร้องเพลงด้วยความคุ้นชินส่วนใหญ่เป็นนักร้องชายแนวเพลงญี่ปุ่นที่เรียกว่า Group sounds เกิดจากการรวมกันระหว่างดนตรีคะโยเคียวคุ (ซึ่งเป็นฐานของดนตรีเจป็อปยุคใหม่) และดนตรีร็อคของฝั่งตะวันตก

 

แจ้งเกิดเพราะเสียงร้อง

ในเมืองใหญ่ สิ่งเดียวที่จุนโกะไม่เคยลดละ คือความพยายามมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่ทำให้ตัวเองได้อยู่ท่ามกลางเสียงเพลงและสังคมของนักดนตรีเสมอ เท่าที่เหตุปัจจัยโดยรอบจะเอื้ออำนวย นี่จึงเป็นเหตุผลให้เธอสมัครทำงานพาร์ทไทม์เป็นนักจัดรายการวิทยุกะดึกประจำสถานี HBC ซึ่งออกอากาศทั่วภูมิภาคฮกไกโด

Photo: Courtesy of Philips Records

แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในญี่ปุ่นช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ส่งผลกระทบถึงชีวิตของจุนโกะจนเกิดการพลิกผันครั้งสำคัญ เมื่อผู้คนต่างหันมาใช้รถยนต์แทนจักรยาน อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนจึงพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการ เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Traffic War ทางการจึงเร่งปรับปรุงและสร้างถนนให้มีมาตรฐานความปลอดภัยทั่วประเทศ

เสียงก่อสร้างกลายเป็นสิ่งรบกวนการฝึกซ้อมของวงในช่วงกลางวัน ประจวบกับเวลานั้น จุนโกะหมดสัญญาจ้างกับสถานีวิทยุพอดี เธอเริ่มกังวลว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะเธอหมายมั่นว่าต้องหาเลี้ยงตัวเองต่อไปให้ได้ แต่การสิ้นสุดลงของบางอย่าง ย่อมเปิดทางให้สิ่งใหม่เริ่มต้นขึ้นเสมอ รุ่นพี่ในวงแนะนำให้เธอทำงานเป็นนักร้องรับจ้างในสถานบันเทิงย่านซุซุกิโนะแทน

จนกระทั่งเรียนจบ จุนโกะมุ่งหน้ามาตามหาความฝันถึงกรุงโตเกียว ไม่รู้ว่าด้วยความบังเอิญหรือจังหวะของชีวิต เธอได้เข้าทำงานเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ที่ Yamaha Music Foundation ได้ปีครึ่ง แต่เสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอ ซึ่งแตกต่างจากศิลปินญี่ปุ่นโดยทั่วไป ดันไปเข้าหูคนที่รู้จักกับค่ายเพลง Philips Records ซึ่งกำลังมองหาศิลปินหน้าใหม่อยู่พอดี เธอจึงได้รับคำแนะนำให้ร่วมออดิชั่น

Photo: Courtesy of Philips Records

ในที่สุดความฝันของจุนโกะก็เป็นความจริง เพราะผลปรากฏว่า เธอผ่านการคัดเลือกและได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินเดี่ยว ปีเดียวกัน จุนโกะวัยยี่สิบสี่เปิดตัวอัลบั้มแรก Feeling Now (1974) ด้วยแนวเพลงโซล เกือบทั้งหมดเป็นเพลงสากลที่นำมาร้องใหม่หรือไม่ก็แปลงเนื้อร้องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาญี่ปุ่น ส่วนเพลงที่ค่ายแต่งขึ้นใหม่มีเพียงสองเพลง แต่กว่าจุนโกะจะมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่คนฟัง ก็อีกสองปีให้หลัง

 

City pop ของจุนโกะ

ปี 1976 จุนโกะออกอัลบั้มที่สองชื่อ Paper Moon เป็นเพลงแต่งใหม่ทั้งหมด แม้จะยังคงแนวดนตรีโซลไว้เป็นหลัก แต่เริ่มมีกลิ่นอายของป็อปเข้ามาผสมอยู่ด้วย ทำให้อัลบั้มนี้ของเธอได้รับผลตอบรับดีกว่ามาก และติดอันดับยอดนิยมเป็นครั้งแรก

ส่วนเพลงที่เปิดทางให้จุนโกะเปลี่ยนแนวทางดนตรีมาเป็นป็อป คือ Simple Love จากอัลบั้ม Rainbow ในปี 1977 ซึ่งเป็นเพลงใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากเธอตั้งวงเฉพาะกิจ Junko Ohashi & Minoya Central Station ร่วมกับเพื่อนศิลปินอีกสองคน คือ มะสะมิ ทึชิยะ (Masami Tsuchiya) และ เคน สะโตะ (Ken Sato) ผู้กลายมาเป็นสามีของเธอในเวลาต่อมา เพื่อร่วมกันทำเพลงป็อปอิงกระแสนิยมในช่วงนั้น

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1980 คือยุคทองของ City pop จุนโกะออกอัลบั้ม Magical ในปี 1984 ซึ่งเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของเธอ เพราะเพลงยอดฮิตอย่าง I Love You So และ Telephone Number ได้สร้างชื่อเสียงให้จุนโกะเป็นหนึ่งในบรรดาศิลปินแนว City pop ผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมดนตรีของญี่ปุ่นนับตั้งแต่นั้น

Photo: Courtesy of Philips Records

เพลง City pop ของจุนโกะ มักจะบอกเล่าความในใจแทนหญิงสาวขี้เล่น ที่ภายในใจเปรียกหาความรักจากใครสักคน เป็นความรักสดใสที่จะเข้ามาเติมเต็มหัวใจแทนความเหงาและความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ต่างจากชีวิตจริงในวันเก่าของเธอ เมื่อครั้งที่ยังตามหาความฝันในเมืองใหญ่

かけよって 抱きしめて
ฉันอยากจะวิ่งเข้าไปหา โอบกอดเธอให้แน่นที่สุด
聞いてよ I need you so
รับฟังหน่อยเถอะนะ ฉันต้องการเธอเหลือเกิน
心から あなたが欲しいの
ทั้งหมดของหัวใจ ฉันต้องการเธอ
振り向いて 気がついて
หันหลังกลับมาสิ มองมาที่ฉันเถอะนะ
今でも I love you so
จนถึงตอนนี้ ฉันก็ยังรักเธอมากมายเหลือเกิน
もう一度 チャンスを与えて
ได้โปรดให้โอกาสฉันอีกสักครั้งได้ไหม

(เนื้อร้องส่วนหนึ่งของเพลง I Love You So)

そう every day
ทุกๆ วัน
ベルを気にしては暮らすわ
ได้แต่เฝ้ารอเสียงโทรศัพท์จากเธอ
この愛に(あ!)、気づいたら (あ!)
ความรักของฉันที่มีให้เธอน่ะ หวังว่าเธอจะเห็นนะ
おほ… loving me
รักฉันเถอะ
あ、うー、56709!
(นี่เบอร์ฉัน) 56709

(เนื้อร้องส่วนหนึ่งของเพลง Telephone Number)

แต่เพลง City pop ของจุนโกะที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Sweet Love เพราะเป็นเพลงแรกและเพลงเปิดอัลบั้ม For Tomorrow ในปี 1995 หากอ้างอิงกับกระแสความนิยม City pop ที่เริ่มเสื่อมลงเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1990 เพลงนี้จึงถูกมองว่าเป็น City pop หลงยุค จึงได้รับความสนใจจากผู้ฟังบางส่วนเท่านั้น

 

(เพลง) รักที่หวานไม่เปลี่ยน

Sweet Love เคยขึ้นชื่อว่าเป็นเพลงที่ดี ต่อให้พ้นสมัยหรือผ่านไปนานมากแค่ไหน ย่อมไม่ได้ลดทอนคุณภาพของเพลงลง ตรงกันข้าม เพลงกลับยิ่งบ่มเพาะคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ไว้จนสุกงอม รอโอกาสให้ผู้คนมาเปิดฟังอีกครั้ง เพื่อดื่มด่ำกับความไพเราะและแต่ละห้วงอารมณ์ที่เพลงต้องการจะสื่อ

เมื่อแนวเพลง City pop กลับมาอยู่ในกระแส ชื่อของ Sweet Love จึงกลับมาอยู่ในความสนใจโดยปริยาย ไม่ใช่แค่เฉพาะคนฟัง แต่สำหรับคนทำดนตรีและศิลปินรุ่นใหม่ ต่างก็ชื่นชอบและชื่นชมผลงานเพลงของจุนโกะเหมือนกัน อย่าง DJ Hasebe ชอบถึงขนาดนำเพลง Sweet Love มาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ในปี 2020 ให้ร่วมสมัยขึ้น แต่ยังคงเสน่ห์แบบ City pop ไว้ได้ไม่ผิดเพี้ยน ที่สำคัญยังได้ร่วมทำงานกับจุนโกะ เพราะเธอกลับมาร้องนำให้ แม้อายุจะล่วงเลยถึงวัยเจ็ดสิบ แต่เสียงของเธอยังชวนฟังและทรงพลังไม่เปลี่ยน

นอกจากนี้ Smoke DZA แร็ปเปอร์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ยังนำ I Love You So ของจุนโกะ มาเป็น บีท (Beat) หรือดนตรีที่ใช้ประกอบการแร็ปในเพลง No Regrets เพื่อช่วยกำหนดจังหวะของเนื้อแร็ปภาษาอังกฤษให้คงที่ กลายเป็นการผสมผสานที่ลงตัวและส่งเสริมให้เพลงน่าฟัง แม้จะอยู่รวมกันก็จริง แต่ทั้งสองเพลงต่างโดดเด่นในแนวทางของตัวเอง

ตลอดเวลาที่จุนโกะอยู่ในวงการ เธอผลิตผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ในปี 2018 เธอจะประสบกับเรื่องเลวร้ายในชีวิต เพราะตรวจพบเซลล์มะเร็งระยะแรกบริเวณหลอดอาหาร จึงจำเป็นต้องพักจากงานเพลงแล้วไปรักษาตัวจนหายดี ซึ่งระหว่างนั้นเธอได้รับกำลังใจจากแฟนเพลงอยู่ตลอด

Photo: Courtesy of Video Audio Project

เพียงปีเดียว จุนโกะกลับมาออกอัลบั้มใหม่ทันที เธอคิดเสมอว่าเพลงและการร้องคือสิ่งที่เธอรัก ราวกับเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอยืนหยัดต่อสู้กับโรคร้าย และมอบความหมายให้เธอมีชีวิตต่อไปได้ จุนโกะจึงไม่เคยทิ้งหน้าที่นักร้องหรือเงียบหายจากวงการอย่างดื้อๆ

หรือต่อให้ถึงวันที่ไม่มีจุนโกะอยู่ เธอยังหวังไว้ว่า อย่างน้อยที่สุดทุกบทเพลงที่เธอตั้งใจร้อง จะคอยขับกล่อมและมอบความสุขให้ทุกคนที่ได้ฟังเหมือนเดิม

 

อ้างอิง