w©rld

อนาคตไม่ใช่เรื่องไกลตัว และวันพรุ่งนี้ก็มาถึงเร็วกว่าที่เราคิดเสมอ

เมื่อเวลานำพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า สิ่งเดียวที่เราทำได้ในปัจจุบันคือเตรียมตัวเองให้พร้อมรับมือกับทุกความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

โดยเฉพาะในโลกของการทำงาน ซึ่งเป็นมากกว่าโลกของการแข่งขันและขับเคี่ยวด้วยความเก่ง แต่ยังต้องการคนที่มี Soft Skills หรือทักษะชีวิตที่เราใช้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์

becommon จึงคัดเลือกทักษะแห่งอนาคตทั้ง 5 ทักษะ จากนักคิดนักเขียนคนสำคัญผู้เฝ้ามองความเป็นไปของโลก มาทำเป็นเช็กลิสต์ให้ทุกคนได้เตรียมพร้อม

⬜ ทักษะที่ 1: ความเฉลียวฉลาดด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence)

ขณะที่มนุษย์คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีให้รุดหน้ามากเท่าไหร่ แต่มนุษย์กลับหลงลืมสิ่งที่อยู่ภายในใจตัวเอง คือการดูแลอารมณ์และความรู้สึกของกันและกัน Emotional Intelligence หรือ ความเฉลียวฉลาดด้านอารมณ์ จึงเป็นทักษะสำคัญในอนาคตที่หลายคนมักจะมองข้ามไป

ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) นักประวัติศาสตร์และนักปรัญชาชาวอิสราเอล ผู้เขียนหนังสือที่ได้รับความสนใจจากนักอ่านทั่วโลกอย่าง 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ถึงขนาดยกให้ Emotional Intelligence เป็นทักษะที่จำเป็นมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 เหตุใดเขาถึงคิดเช่นนั้น?

จากการค้นคว้าและวิเคราะห์ความเป็นมนุษย์นับตั้งแต่อดีต ทำให้ยูวัล โนอาห์ แฮรารีเห็นว่า เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงเราให้สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบภายนอกมากกว่าตัวเอง เมื่อเราเลือกไม่รับรู้อารมณ์ เราจะไม่รู้จักอารมณ์และไม่เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ และขาดการร่วมมือ

Photo: Olivier Middendorp / Companhia das Letras

แต่ถ้าเราเฉลียวฉลาดด้านอารมณ์ คือควบคุมและจัดการอารมณ์ของตนได้ รวมถึงคาดเดาและเข้าใจอารมณ์ของคนรอบข้าง จะทำให้เราเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้ มีสติ มีเหตุมีผล และมีความเข้าอกเข้าใจ เป็นความละเอียดอ่อนที่เทคโนโลยีทำไม่ได้

ความเฉลียวฉลาดด้านอารมณ์ยังทำให้เราตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่ง ขัดเกลาให้มนุษย์อ่อนโยนและสร้างการร่วมมือเพื่อช่วยกันเปลี่ยนแปลงชีวิต สังคม และโลกไปสู่จุดที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่า สำหรับการทำงาน ความเฉลียวฉลาดด้านอารมณ์จะสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ส่งเสริมให้ทำงานกับคนอื่นได้ดี รู้จักอดทน อดกลั้น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์

⬜ ทักษะที่ 2: กรอบคิดแบบพัฒนาได้ (Growth Mindset)

แค่ปรับกรอบความคิด ชีวิตจะดีขึ้นทุกๆ ด้าน และทิศทางของชีวิตในวันข้างหน้า จะสำเร็จลุล่วงหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า ก็ดูได้จากกรอบความคิดปัจจุบันว่าเป็น Growth Mindset แบบเติบโตที่พัฒนาได้ หรือเป็น Fixed Mindset แบบตายตัวไม่ยอมเปลี่ยนแปลงใดๆ

อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ แครอล เอส. ดเว็ค (Carol S. Dweck) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันและ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาศักยภาพของมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทุ่มเทศึกษาเรื่องนี้มากกว่า 30 ปี จนพิสูจน์ได้ว่า Growth Mindset คือกรอบความคิดของคนประสบความสำเร็จ ที่สำคัญยังเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้

โลกในอนาคต ซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ ดเว็คยืนยันว่า Growth Mindset คือจุดเริ่มต้นของความคิดพลิกแพลงที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี กรอบความคิดแบบเติบโตจึงเป็นทักษะที่ช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ โดยเฉพาะแวดวงการทำงาน

Photo: https://www.tes.com/news/growth-mindset-where-did-it-go-wrong

องค์กรต่างๆ จะมองหาแต่คนที่เตรียมพร้อมพัฒนาตัวเองเพื่อการเติบโตตลอดชีวิต เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อมั่นว่าทุกอย่างพัฒนาได้ด้วยความพยายามตั้งใจลงมือทำ พวกเขาหมั่นเรียนรู้เป็นนิสัย ชอบความท้าทายใหม่ๆ และไม่หวาดกลัวความล้มเหลว หากล้มก็จะลุกขึ้นมาแล้วหาหนทางสร้างการเติบโตใหม่โดยไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำสอง ในมุมมองขององค์กร จึงสนใจคนที่มี Growth Mindset มากกว่าใคร เพราะกรอบความคิดนี้จะสร้างโอกาสให้องค์กรเติบโตขึ้นตามไปด้วย

หากต้องการสร้าง Growth Mindset ให้ตัวเอง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ทบทวนกรอบความคิดของเราก่อนว่าเป็นแบบไหน ลองคิดว่าถ้าต้องทำในสิ่งที่รู้ตัวว่าทำได้ไม่ดีหรือไม่ถนัดมากๆ เราจะตอบตัวเองอย่างไร พยายามลองสักตั้งหรือหันหลังบอกลา หากเลือกอย่างแรก คือ Growth Mindset ถ้าเป็นอย่างหลังให้ปรับความคิดใหม่ว่า นี่เป็นบททดสอบให้พิสูจน์ตัวเอง ต้องไม่ดูถูกความสามารถและความมุมานะของเรา แล้วลงมือทำอย่างจริงจังและเรียนรู้ตลอดกระบวนการ

⬜ ทักษะที่ 3: ความสนใจใคร่รู้ (Curiosity)

ครั้งหนึ่ง บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เคยถูกถามว่า คนในปัจจุบันจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะอะไรเพื่อสร้างความได้เปรียบในการทำงานให้ก้าวไปสู่จุดที่ดีกว่าในโลกอนาคต เขาตอบโดยอ้างอิงจากประสบการณ์ชีวิตและมุมมองส่วนตัวว่า ความสนใจใคร่รู้ คือต้องเป็นผู้ใฝ่หาความรู้ที่เปี่ยมด้วยความอยากรู้อยากเห็น (curious learner) ถึงจะอยู่รอด

นับวันโลกจะยิ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น ผ่านช่องทางหลากหลาย โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวการสร้างเครื่อข่ายขยายพรมแดนความรู้ แต่หนึ่งในวิธีที่ทำได้ง่ายกว่าและเริ่มได้ทันทีคือการอ่าน เกตส์อ่านหนังสือมากกว่า 50 เล่มต่อปี เขารู้สึกว่าการอ่านให้คำตอบในสิ่งที่อยากรู้ได้เสมอ

Photo: Tim Sloan / AFP

เมื่อธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดได้และช่างสงสัยตลอดเวลา เกตส์จึงเชื่อมั่นว่าความอยากรู้อยากเห็นที่มีอยู่ในตัวทุกคนทำให้เรากลายเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะความใคร่รู้คือก้าวแรกหรือพื้นฐานสำคัญที่ทำให้แต่ละคนได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งความรู้เหล่านี้จะกลายตัวชี้วัดความสำเร็จในอนาคตต่อไป โดยเฉพาะความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ Harvard Business Review ยังระบุว่า คนที่มี Curiosity Quotient หรือระดับความอยากรู้อยากเห็นสูง (อธิบายอย่างเข้าใจง่ายที่สุดคือเป็นคนขี้สงสัย) ย่อมรู้จักคิดในเชิงสร้างสรรค์ได้มากกว่า และนำความคิดนั้นต่อยอดนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น หาวิธีแก้ปัญหายากๆ ได้ด้วยวิธีการเรียบง่ายโดยใช้เวลาไม่นานและให้ผลลัพธ์น่าพอใจ ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นในการทำงาน

เกตส์เชื่อด้วยว่า คนอยากรู้อยากเห็นที่มี Growth Mindset หรือกรอบคิดแบบพัฒนาได้ จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตได้ดี เพราะพวกเขาไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และกล้าเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนมากกว่าใคร

⬜ ทักษะที่ 4: การตัดสินใจ (Decision-Making)

วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ในช่วงเวลาที่กดดันและบีบคั้นให้มนุษย์ต้องเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร การตัดสินใจผ่านระบบการคิดเป็นเหตุเป็นผลซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งของผู้นำ คือสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในอนาคตซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบได้

ต่อให้มนุษย์จะสร้างปัญญาประดิษฐ์ให้รู้จักตัดสินใจแทนได้ในหลายๆ เรื่อง จากการรับชุดข้อมูลที่เราป้อนและสอนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ แต่ในความเป็นจริงการตัดสินใจถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะหากเรื่องนั้นข้องเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต หรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตัวเราจะยังคงต้องทำหน้าที่ตัดสินใจในขั้นสุดท้ายอยู่ดี

แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2002 จากการศึกษาเรื่องการใช้วิจารณญาณพินิจพิเคราะห์และการตัดสินใจ นำไปสู่การวางรากฐานความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจึงเชื่อมั่นว่ามนุษย์ยังต้องการ Decision-Making หรือทักษะการตัดสินใจ และจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

Photo: Richard Saker / https://www.theguardian.com/books/2015/jul/18/daniel-kahneman-books-interview

คาฮ์นะมัน อธิบายว่า มนุษย์ต้องตัดสินใจอยู่ตลอด ตั้งแต่เรื่องกิจวัตรทั่วไป การทำงาน จนถึงเรื่องใหญ่ในชีวิตที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่อาจพลิกผันอนาคต การตัดสินใจแต่ละครั้งจึงอาศัยข้อมูลประกอบต่างกัน เราจำเป็นต้องเรียนรู้เติมเต็มข้อมูลให้ได้มากที่สุด ในรูปแบบประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง คือบรรลุเป้าหมายหรือความต้องการ

แต่สิ่งที่เราต้องระมัดระวังทุกครั้งเมื่อตัดสินใจ คืออคติเอนเอียงเพราะจะทำให้เราไม่ได้ตัดสินตรงตามความเป็นจริง จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าเรื่องไหนควรเชื่อข้อมูลสติถิ เรื่องไหนต้องอาศัยความกล้าหาญ และความเร็วก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเสมอไปสำหรับการตัดสินใจ เพราะคาฮ์นะมันให้ข้อคิดในประเด็นนี้ว่า การตัดสินใจถึงแม้จะช้าแต่ถ้าให้ให้ผลลัพธ์ด้านบวกย่อมดีกว่าการตัดสินใจรวดเร็วแต่กลับเป็นความบกพร่องที่สร้างความเสียหายผิดพลาด

⬜ ทักษะที่ 5: ความมีใจตั้งมั่นไม่วอกแวก (Indistraction)

โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย เท่ากับว่าในชีวิตประจำวันของทุกคนกำลังใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย เราต่างใช้งานเทคโนโลยีด้วยความคุ้นชินจนไม่ทันได้รู้ตัวว่า ตกอยู่ในความเสี่ยงสูญเสียสิ่งที่มีค่าไปโดยไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้อีก นั่นคือ เวลา

เนียร์ อียาล์ (Nir Eyal) นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายอิสราเอล และนักลงทุนผู้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความเห็นว่า คนยุคใหม่ถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งล่อตาล่อใจรอบตัวได้ง่ายมากๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการแจ้งเตือนจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นความรู้สึกลวงว่า หากละเลยไม่สนใจ จะทำให้เราพลาดข่าวสารต่างๆ จนไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงสังคม

ซ้ำร้าย โลกยุคดิจิทัลจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเราให้กลายเป็นคนสมาธิสั้น สนใจอะไรได้ไม่นาน วอกแวกตลอดเวลา เพราะเราไม่อาจควบคุมตัวเองให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องสนใจมากที่สุดในช่วงเวลานั้น เช่น เอาเวลาไปใช้กับเรื่องอื่นจนทำงานไม่เสร็จตามกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมาเป็นปัญหาที่สร้างความวุ่นวายให้ชีวิต

ในทางตรงกันข้าม คนที่ควบคุมตัวเองได้ มีใจจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า ไม่ยอมให้อะไรก็ตามซึ่งไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ณ เวลานั้นมาขโมยความสนใจไป ย่อมมีชีวิตที่ดีกว่า เป็นชีวิตที่วางแผนและออกแบบได้เพราะรู้จักจัดสรรเวลา อียาล์จึงให้น้ำหนักกับ Indistraction หรือ ความมีใจตั้งมั่นไม่วอกแวกต่อสิ่งที่เข้ามารบกวนใจว่าคือทักษะที่จำเป็นอย่างมากต่อการทำงานเพื่อสร้างความสำเร็จในอนาคต

Photo: https://www.npr.org/2019/07/12/740824015/nir-eyal-how-easy-is-it-to-unhook-ourselves-from-our-devices

อียาล์อธิบายเพิ่มเติมว่า การวอกแวกเท่ากับเวลาที่ต้องเสียไป แล้วการวอกแวกนี้เกิดจาก 2 ส่วน คือ ความคิดของเรา และสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น ระหว่างทำงานเราอดใจไม่ไหวจนหยิบสมาร์ทโฟนมาเล่น เพราะความน่าเบื่อของงาน ซึ่งเราคิดเข้าข้างตัวเอง และเสียงดังแจ้งเตือนว่ามีคนรู้จักส่งข้อความมาหา

แต่ถ้าเราฉุกคิดว่า เวลามีค่า นี่คือเวลาทำงาน ไม่ใช่เวลาเล่นโทรศัพท์ เราจะควบคุมตัวเองให้มีสมาธิได้ดีกว่า และไม่ยอมให้สิ่งใดเข้ามารบกวนใจ รวมถึงปิดการแจ้งเตือนหรือตัดสิ่งกระตุ้นออกไป เช่น ไม่หยิบจับสมาร์ทโฟนเลย จนกว่าจะทำงานเสร็จ

Indistraction จึงเป็นทักษะที่คนส่วนใหญ่คิดไม่ถึงว่าสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว

 

อ้างอิง

  • แครอล เอส. ดเว็ค (2561). Mindset: How You Can Fulfil Your Potential [Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา] (พิมพ์ครั้งที่ 1). วีเลิร์น.
  • Eyal, N., & Li-Eyal, J. (2019). Indistractable: How to Control Your Attention and Choose Your Life. Dallas, Texas: BenBella Books, Inc. 
  • Haris Mohammad. The Two Most Important Skills, If You Want to Thrive in the 21st Century. https://bit.ly/3ucOdkc 
  • John Baldoni. What Daniel Kahneman Knows About Your Gut (Decisions). https://bit.ly/2T8t2CU 
  • Lakeside School. The Centennial Dan Ayrault Memorial Endowed Lecture featuring Bill Gates ’73. https://bit.ly/2SeeX6f 
  • Marcel Schwantes. Bill Gates Predicted People with This Critical Skill will Thrive in the Future of Work. https://bit.ly/3v9bBQI 
  • OurCrowd. Prof. Daniel Kahneman: Art & Science of Decision Making. https://bit.ly/3wjPGGE 
  • Tomas Chamorro-Premuzic. Curiosity is as Important as Intelligence. https://bit.ly/3hFCWGd