w©rld

เราทุกคนต่างมีความทรงจำในวัยเด็กเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น แต่ระหว่างทางของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อาจทำให้ใครหลายคนหลงลืมช่วงเวลาเหล่านั้นไปสนิท

จนกว่าจะได้พบกับบางสิ่งบางอย่างที่เคยเห็นคุ้นตาเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก สิ่งนั้นเองจะทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนความจำ ชวนให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ หวนคิดถึงวันวานที่ผ่านพ้นมาแสนนานได้อีกครั้งหนึ่ง

เหมือนกับเรื่องราวของ ยู่ ชิว-หลิง (Yu Chiu-Ling/尤秋玲) นักเขียนวัย 58 ปี ที่เดินทางกลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าสมัยประถมเพื่อรำลึกความหลัง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอริเริ่มโปรเจกต์ที่ชวนทุกคนมารื้อฟื้นความทรงจำร่วมกัน ผ่านการออกตามหา ‘สไลเดอร์ช้าง’ ทั่วไต้หวัน

Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP

ย้อนกลับไปในปี 2010 ยู่ตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองลู่กั่ง เขตจางฮว่า (Lukang Township) ด้วยความรู้สึกโหยหาบรรยากาศในวันเก่า เพราะว่าเมืองที่เธอเกิดและเติบโตเมื่อครั้งยังเป็นเด็กแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในไต้หวัน คือเก่าทั้งในแง่อายุของเมืองและความเป็นเมืองที่อาคารบ้านเรือนและวิถีชีวิตของผู้คนยังคงมนต์เสน่ห์แห่งวันวานราวกับหยุดเวลาในอดีตเอาไว้ได้  

ที่เมืองลู่กั่ง ยู่ได้พบกับเครื่องเตือนความจำที่เธอหลงลืมไปแล้ว นั่นคือ ‘สไลเดอร์ช้าง’ ในสนามเด็กเล่นของโรงเรียนที่เธอจบมา แม้อยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน เพราะผุพังไปตามกาลเวลา แต่นั่นก็เพียงพอทำให้เธอนึกถึงภาพในความทรงจำ แล้วความหลังวัยเด็กของยู่ที่เคยเลือนราง ก็กลับมาเด่นชัดขึ้นทันที เธอจำได้ว่าเคยเล่นสไลเดอร์ช้างกับเพื่อนๆ

Photo: Yan Zhao / AFP

ยู่จึงเกิดความคิดว่า คงเป็นเรื่องสนุกไม่แพ้กัน หากชวนคนอื่นๆ มารื้อฟื้นวันวานวัยเด็ก ด้วยการออกตามหาสไลเดอร์ช้างที่แต่ละคนเลยเล่น เธอจึงสร้างเพจบนเฟซบุ๊ก เอาไว้เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้ทุกคนมาบอกพิกัดสไลเดอร์ช้างทั่วไต้หวันและแบ่งปันความทรงจำร่วมกัน

Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP

เหตุผลที่ยู่ให้ความสำคัญกับโปรเจกต์นี้ เพราะว่าสไลเดอร์ช้างที่ดูธรรมดาและไม่น่าจะมีอะไร กลับแฝงไปด้วยเรื่องราวของยุคสมัยซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของไต้หวันได้ แม้จะไม่มีหลักฐานใดที่สามารถใช้ยืนยันจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการสร้างสไลเดอร์ช้างทั่วไต้หวันได้อย่างแน่ชัด แต่ข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากช้างเอเชียที่มีชื่อว่า หลิน หวัง (Lin Wang/林旺)

Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP
ข้อความสลักระบุปีที่สร้างและปีที่บูรณะ
Photo: Yan Zhao / AFP

หลิน หวังเป็นช้างที่เกิดในปี 1917 ซึ่งกองทัพจีนยึดมาจากกองทัพญี่ปุ่นที่ประจำการอยู่ในประเทศเมียนมาช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วส่งต่อมาให้ไต้หวันเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 1947 เป็นต้นมา คนไต้หวันจึงรู้จักและผูกพันกับช้างเชือกนี้กว่าสัตว์ตัวไหน จนกระทั่งในปี 2003 ด้วยความแก่ชราและสุขภาพที่ร่วงโรย หลิน หวังตายตามอายุขัยที่สวนสัตว์ไทเป รวมอายุได้ 86 ปี

Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP

สไลเดอร์ช้างทั่วไต้หวันก่อสร้างระหว่างปี 1960-1979 คาดว่ามีจำนวนรวมมากถึง 450 ตัว โดยกระจายอยู่ตามสนามเด็กเล่นในโรงเรียนและสวนสาธารณะ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดให้เด็กๆ ขึ้นไปเล่น ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เพราะสไลเดอร์ช้างเหล่านี้สร้างจากหินขัดและคอนกรีตเป็นหลัก เมื่ออยู่กลางแจ้งนานๆ เจอแดด เจอฝน แล้วไม่ได้รับการซ่อมแซมดูแล พื้นผิวจึงค่อยๆ สึกกร่อนจนไม่เรียบเนียนเหมือนอย่างเคย สไลเดอร์ช้างในปัจจุบัน จึงทำหน้าที่เป็นอนุสรณ์หรือสิ่งที่ยังคงเหลือไว้ให้รำลึกถึงความหลังแทน

Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP
Photo: Yan Zhao / AFP

ยู่ยังหวังด้วยว่า สไลเดอร์ช้างทั่วไต้หวันที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ คงจะช่วยสร้างความทรงจำที่ดีให้เด็กๆ รุ่นนี้ต่อไปได้อีก และเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ก็น่าจะมีใครสักคนย้อนกลับมาตามหาสไลเดอร์ช้างในวัยเด็กอีกครั้งเหมือนกับเธอ