w©rld

ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปในประเทศอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะชีวิตในกรุงคาบูลที่ต้องดิ้นรน ต่อสู้ และยอมจำนนเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

หลังจากกลุ่มตาลีบันประกาศชัยชนะต่อสาธารณะในวันที่ 16 สิงหาคม 2021 ว่าเข้ายึดและปกครองเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงสนามบินแห่งชาติได้สำเร็จ เป็นผลให้สงครามและการต่อสู้ที่กินเวลายาวนานถึง 20 ปีสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ นับตั้งแต่การเข้ารุกรานของสหรัฐอเมริกาที่ร่วมมือกับรัฐบาลพลเรือนคอยปกป้องสันติภาพของประเทศจากกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์วินาศกรรมในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001

กลุ่มตาลีตั้งใจเปลี่ยนแปลงประเทศอัฟกานิสถานเป็น Islamic Emirate หรือรัฐอิสลามบริสุทธิ์มีกฎการปกครองตามหลักศาสนาทุกประการ เช่น ห้ามเสพสิ่งบันเทิงเริงรมย์ ตีกรอบและจำกัดสิทธิของสตรีเพศ ผู้หญิงต้องใส่ผ้าคลุมมิดชิดเผยให้เห็นแค่ดวงตาเท่านั้น ใครก็ตามหากฝ่าฝืนหรือไม่อยู่ในกฎกรอบ ต้องถูกลงโทษขั้นเด็ดขาด ร้ายแรงที่สุดคือการถูกสังหาร

แม้จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ หวังสลัดภาพจำในอดีตว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่โหดเหี้ยม โดยโฆษกของกลุ่มตาลีบันประกาศรับรองความปลอดภัยทุกคน เคารพสิทธิสตรี และนิรโทษกรรมศัตรู แต่ทั้งหมดกลับตรงกันข้ามกับการกระทำอย่างสิ้นเชิง

ผู้นำฝ่ายพลเรือนที่ถูกโค่นล้มไปแล้วและประชาชนที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันที่เคร่งศาสนาแบบไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของสากลโลก จึงหนีออกนอกประเทศทันที ส่วนคนที่อยู่คือคนที่ไม่มีทางหนีทีไล่ แต่ลึกๆ ในใจยังหวังว่าสักวันจะได้ลี้ภัยไปอยู่ในที่ที่ดีกว่านี้

ทั้งหมดนี้คือชุดภาพที่พาไปสำรวจความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปของกลุ่มตาลีบัน ผู้สนับสนุน ผู้ยืนหยัดต่อสู้ และผู้จำยอม ในวันที่ทุกอย่างในชีวิตไม่เหมือนเดิม

Photo: Wakil Kohsar / AFP, Scene by Emmanuel Duparcq
Photo: Wakil Kohsar / AFP, Scene by Emmanuel Duparcq

สมาชิกกลุ่มตาลีบันใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายภายในคฤหาสน์ของ อับดุล ราชิด ดอสตุม (Abdul Rashid Dostum) ที่พวกเขาบุกยึดมาได้ เพราะดอสตุมเป็นหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธชาวอุซเบก หนึ่งในผู้นำที่พยายามปกป้องกรุงคาบูลจากการพยายามรุกรานเพื่อยึดครองของกลุ่มตาลีบัน ปัจจุบันดอสตุมหลบหนีออกจากประเทศได้สำเร็จ

Photo: Karim Sahib / AFP

นักรบตาลีบันปั่นจักรยานตรวจดูความเรียบร้อยทั่วไปในเขตเมือง

Photo: Karim Sahib / AFP
Photo: Karim Sahib / AFP

กลุ่มนักรบตาลีบันลาดตระเวนโดยรอบสนามบินในกรุงคาบูล ทั้งวิธีการเดินตรวจตรา และใช้รถหุ้มเกราะขับสำรวจ

Photo: Javed Tanveer / AFP

มองไปทางไหนก็มีแต่คนถือปืน พวกเขาคือนักรบและแนวร่วมกลุ่มตาลีบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พ่อค้าชาวอัฟกานิสถานคนนี้กำลังจัดเรียงอาวุธปืนแบบต่างๆ ในร้านของตน หวังรอให้ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อเอาไปครอบครอง ร้านของเขาตั้งอยู่ในย่านค้าขายของเขตปันจไว (Panjwai) ในเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงคาบูล

Photo: Aamir Qureshi / AFP

ประตูทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงคาบูลปิดลงทันที เพราะศิลปวัตถุหลายพันชิ้นกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงว่าอาจจะถูกทำลายและถูกโจรกรรมได้ทุกเมื่อ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จึงร่วมกันเร่งขนย้ายโบราณวัตถุบางส่วนไปยังสถานที่อื่น เพื่อเก็บรักษาวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่ประเมินค่ามิได้เหล่านี้ให้อยู่รอดปลอดภัย แต่ยังเหลือโบราณวัตถุอีก 2 ใน 3 จากจำนวนทั้งหมดที่ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เพราะขาดสถานที่จัดเก็บคอยรองรับ

Photo: Karim Sahib / AFP

กำแพงบริเวณข้างสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงคาบูล ถูกทาสีใหม่เป็นธงตาลีบัน คือคำประกาศศรัทธาของชาวมุสลิมในพระคัมภีร์กุรอ่านที่เขียนด้วยอักษรอารบิกสีดำบนพื้นสีขาว ธงตาลีบันกลายเป็นสินค้าขายดีที่สุดในช่วงเวลานั้น ทุกพื้นที่จึงมีแต่คนเดินขายธง

Photo: Aamir Qureshi / AFP
Photo: Karim Sahib / AFP

ชายคนหนึ่งกำลังทาสีบนกำแพง ส่วนข้อความที่ปรากฏเป็นภาษาอาหรับ หากแปลเป็นภาษาไทย จะได้ความว่า “เพื่อเอกราชของรัฐอิสลาม ทุกคนต้องก้าวผ่านการทดสอบครั้งนี้ไปให้ได้ และจงอดทนอดกลั้น”

Photo: Hoshang Hashimi / AFP

ริมถนนในกรุงคาบูล ยังคงมีผู้คนออกมาทำมาค้าขายกันเป็นปกติ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีคนซื้อ

Photo: Hoshang Hashimi / AFP

ชายคนหนึ่งเดินขายขนมสายไหมไปตามถนนในกลางกรุงคาบูล

Photo: Bulent Kilic / AFP

เด็กผู้หญิงยืนเฝ้าแผงลอยของเธอ หวังว่าจะมีคนมาช่วยอุดหนุน

Photo: Wakil Kohsar / AFP, Focus by James Edgar
Photo: Wakil Kohsar / AFP, Focus by James Edgar

หญิงนิรนามกำลังเลือกดูของมือสองที่วางขายอย่างเกลื่อนกลาดตลาดในย่านคาอีร์ คานา (Khair Khana) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงคาบูล ส่วนใหญ่เป็นของที่ชาวอัฟกานิสถานนำมาขายในราคาไม่แพง หวังใช้เป็นเงินทุนสำหรับเดินทางออกนอกประเทศ หรือไม่ก็ใช้ซื้ออาหารหรือเป็นค่าใช้จ่ายประทังชีวิตให้อยู่รอรอดไปวันๆ

Photo: Wakil Kohsar / AFP, Focus by James Edgar

ชายชาวอัฟกานิสถานเจ้าของร้านของมือสองกำลังถือตุ๊กตามาวางขายรวมกับของชิ้นอื่นๆ

Photo: Bulent Kilic / AFP

เมื่อถึงเวลาเลิกเรียน บรรดานักเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะนักเรียนหญิง ต่างรีบเร่งฝีเท้าเดินกลับบ้าน

Photo: Hoshang Hashimi / AFP

ส่วนเหล่าเด็กๆ พลัดถิ่น คือ เด็กที่ต้องระหกระเหินออกจากบ้านตนแล้วย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง และการถูกคุกคามสิทธิมนุษยชน เพื่อรอคอยการช่วยเหลือด้านต่างๆ จากทางการและองค์การสากลอย่าง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ถือเป็นกลุ่มเด็กที่เปราะบางมากที่สุดในโลก

Photo: Aamir Qureshi / AFP, Focus by James Edgar

ชายชาวอัฟกานิสถานเชื้อสายฮาซารารวมตัวกันในมัสยิดเขตชานเมือง เพื่อละหมาดในที่แจ้งร่วมกันประจำสัปดาห์ เชื้อสายที่แตกต่าง ทำให้รูปลักษณ์ดูชัดเจนว่าเป็นคนเอเชียกลางมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ จึงมักถูกเพ่งเล็งและตกเป็นเหยื่อความรุนแรงโดยชาวอัฟกานิสถานที่นับถือนิกายซุนนี

Photo: Aamir Qureshi / AFP

สมาชิกของ บาดรี 313 หรือหน่วยรบพิเศษ ซึ่งเป็นทหารแนวหน้าของกลุ่มตาลีบัน เดินสำรวจพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐอเมริกา ในเขตเดห์ เสบซ์ (Deh Sabz) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงคาบูล ซึ่งถูกทำลายไม่เหลือชิ้นดี หลังกองทัพและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดถอนกำลังกลับสหรัฐอเมริกา

Photo: Wakil Kohsar / AFP, Focus by Emmanuel Duparcq

เนมาทุลลา นัคดี (Nematullah Naqdi) (คนซ้าย) และ ทาคี ดาร์ยาบี (Taqi Daryabi) นักข่าวจาก Etilaatroz หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของประเทศ เปิดเผยบาดแผลและรอยฟกช้ำทั่วร่างกาย เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาถูกกลุ่มตาลีบันควบคุมตัวไปรุมทำร้าย โดยถูกทุบตีอย่างรุนแรง ด้วยกระบอง แส้ และสายไฟ โทษฐานที่รายงานข่าวการประท้วงของกลุ่มผู้หญิงในกรุงคาบูล กลายเป็นหลักฐานชัดเจนที่ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตาลีบันคุกคามและควบคุมสื่อ

Photo: Aamir Qureshi / AFP

บรรยากาศในห้องเรียน ของมหาวิทยาลัยอาวิเซนนา ในกรุงคาบูล แม้ว่ากลุ่มตาลีบันอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าเรียนได้ตามเดิม และสั่งให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดห้องเรียนใหม่ ห้ามไม่ให้นักศึกษาต่างเพศนั่งร่วมกันเด็ดขาด แต่มหาวิทยาลัยไม่มีทรัพยากรเพียงพอ จึงแก้ปัญหาโดยใช้ผ้าม่านมากั้นแทน ซึ่งกลุ่มตาลีบันอนุโลมและยอมรับได้ เพราะเห็นว่าแบ่งเพศแยกจากกันชัดเจน

Photo: Hoshang Hashimi / AFP

ผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานจำนวนหนึ่งร่วมตัวกันเดินขบวนต่อต้านความรุนแรงและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในชีวิตให้ตนเอง โดยไม่สนใจนักรบตาลีบันที่ถือปืนดูแลความเงียบสงบใกล้กับสถานทูตปากีสถานในกรุงคาบูล หลังจากกลุ่มตาลีบันพยายามกดขี่ ลิดรอนสิทธิ และบังคับให้ผู้หญิงทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวด ไม่นานบรรดานักรบจึงยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายการชุมนุม

Photo: Aamir Qureshi / AFP

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยยอมรับและปฏิบัติตนตามกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด พวกเธอสวมบุรเกาะอ์ปิดบังทั้งร่างกายและถือธงตาลีบันขณะฟังตัวแทนผู้หญิงกล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนกลุ่มตาลีบันที่มหาวิทยาลัย Shaheed Rabbani Education University พร้อมทั้งตำหนิและว่าร้ายต่อผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานทุกคนที่ต่อต้านหรือหนีออกนอกประเทศว่าไม่ใช่สตรีในอุดมคติของอัฟกานิสถานอีกต่อไป

Photo: Karim Sahib / AFP, Focus by Mohamad Ali Harissi
Photo: Karim Sahib / AFP, Focus by Mohamad Ali Harissi

สุนัขจำนวนมากถูกทิ้งไว้ให้โดดเดี่ยวอยู่ในกรง ก่อนหน้านี้มันเคยเป็นสัตว์เลี้ยงของใครสักคน แต่หลังจากเกิดเหตุวุ่นวายในสถานบินเพราะกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครอง ทำให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ไม่ถูกขนส่งทางอากาศไปพร้อมกับเจ้าของ บางตัวมีคนอื่นรับไปเลี้ยงดู บางตัวที่มีหน่วยก้านดีถูกนำไปฝึกให้ดมกลิ่นหาระเบิด และบางตัวก็ไม่มีใครมาเหลียวแลมัน

Photo: Aamir Qureshi / AFP
Photo: Karim Sahib / AFP

ผู้โดยสารภายในสนามบินถ่ายรูปเล่นกับครอบครัว บางส่วนกำลังเข้าแถวรอขึ้นเครื่องของสายการบินนานาชาติปากีสถาน (Pakistan International Airlines) นับเป็นเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศเที่ยวบินแรกที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา หลังกลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมพื้นที่ในสถานบินได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม

 

อ้างอิง