ไอเดียเริ่มต้นจากปัญหาที่ว่า ในโลกนี้มี ‘แรงงานไร้ทักษะ’ มากมายเหลือเกินที่ไม่สามารถรับโอกาสที่ดีกว่าในที่ทำงานของตนได้เพียงเพราะพวกเขาไม่มีทักษะเฉพาะทางและดีกรีจากมหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่มีตำแหน่งงานว่างอยู่เสมอ เพราะการจะใช้จ่ายไปกับการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามีราคาแพง ซึ่งนั่นยิ่งทำให้โอกาสดังกล่าวเป็นไปไม่ได้เลย
เอาแค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทั้งที่บริษัทจำนวนมากมีนโยบายมอบทุนช่วยเหลือสำหรับค่าเล่าเรียนแก่พนักงานมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ ราเชล โรเมอร์ คาร์ลสัน (Rachel Romer Carlson) ผู้คิดค้นนวัตกรรมด้านการศึกษาชื่อ Guild ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขา Education จากเวที Fast Company World Changing Ideas Awards ในปีนี้ก็บอกว่า สวัสดิการพวกนั้นถูกจำกัดไว้แค่กลุ่ม ‘พนักงานออฟฟิศ’ (white-collar jobs) เพียงเท่านั้น
ผลการศึกษาพบว่ามากกว่า 60% ของนักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชน (ที่มีค่าเล่าเรียนถูกกว่า วิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัย และส่วนใหญ่หมายถึงนักเรียนที่ต้องกู้ยืมเงิน) ไม่สามารถเรียนจบและรับใบประกาศนียบัตรได้ภายในกำหนดระยะเวลา 6 ปี เพราะพวกเขาไม่สามารถชำระเงินกู้ยืมได้
“เรื่องเล่าต่างๆ บอกว่า เพราะพวกเขาดรอปเรียน เพราะพวกเขาไร้ความสามารถ และไม่ได้เตรียมตัวเพื่อศึกษาในระดับวิทยาลัยมากพอ” คาร์สันอธิบาย “แต่นั่นไม่จริงเลย พวกเขาไม่ได้อยากดรอปเรียน พวกเราต่างหากที่ผลักพวกเขาสู่วังวนเหล่านั้น”
Guild เกิดขึ้นจากปัญหานี้ โดยในปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็นบริษัทระดับโลกมากมาย เช่น Chipotle, Disney และ Walmart ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีวิธีการในการปรับปรุงสวัสดิการเพื่อการศึกษาต่อพนักงานแตกต่างกันไป เช่น Disney จะจ่ายค่าเล่าเรียนให้พนักงาน 100% ส่วน Walmart ให้พนักงานจ่ายเพียงแค่วันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่พวกเขาลงเรียนคอร์สต่างๆ โดยพาร์ทเนอร์ของ Guild ก็เป็นระดับมหาวิทยาลัยคุณภาพ เช่น University of Arizona, Southern New Hampshire University, Bellevue University เป็นต้น
สถิติแสดงให้เห็นชัดเจนว่า โปรแกรมการศึกษาของ Guild ช่วยเพิ่มระดับคุณภาพของพนักงานได้มากถึง 25% เพื่อตอบรับกับความต้องการทักษะต่างๆ ในตำแหน่งที่สูงขึ้น
แนวคิดง่ายๆ ของ Guild ทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ เริ่มจากบริษัทจ่ายค่าเรียนให้พนักงานในราคาที่ถูกลงจากการลดราคาของสถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่นำเงินซึ่งเคยเป็นงบโปรโมตเดิมมาใช้ โดยที่มหาวิทยาลัยก็จะได้นักศึกษามาเข้าเรียนอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อโปรโมตตัวเองอีกต่อไป ส่วน Guild ก็จะได้รับสิ่งที่คล้ายๆ ค่านายหน้าจากเทคโนโลยี และบริการด้านอื่นๆ ในการสนับสนุนนักศึกษา เช่น การวางแผนตารางเรียนเพื่อให้สอดรับกับเวลาการทำงาน และแน่นอน ลูกจ้างก็จะไม่ต้องกังวลกับการต้องเป็นหนี้ทางการศึกษาอีกด้วย
จึงอาจกล่าวได้ว่า Guild ได้เปลี่ยนวิธีคิดแบบเดิมๆ ต่อสวัสดิการเพื่อการศึกษาในบริษัทต่างๆ ที่ไม่ครอบคลุม เปลี่ยนค่าใช้จ่ายที่บริษัทเคยคิดว่าตนต้องเสียไปฟรีๆ (แม้จะใช้ยื่นหักภาษีได้) มาเป็นการ ‘ลงทุน’ ที่ผลกำไรคือคุณภาพที่สูงขึ้นของบุคลากร
อ้างอิง
- https://www.guildeducation.com
- Kristin Toussaint. How Guild Education is making continuing education a workplace perk. https://bit.ly/2HwJdUM
- Martin J. Smith. Rethinking Workplace Education. https://stanford.io/33XH9g3