w©rld

‘436 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 13,000 ล้านบาท’ คือมูลค่าการส่งออกพรมเปอร์เซียของอิหร่านไปยังสหรัฐอเมริกา ในปี 2018 

ใครจะเชื่อว่าท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่าง 2 ชาติ 

พรมเปอร์เซียกลับลอยตัวอยู่เหนือประเด็นดังกล่าว 

ชวนให้นึกถึงสุภาษิตละตินที่ว่า “Ars longa, Vita brevis” หรือ “ศิลปะยาว ชีวิตสั้น”

ศิลปะบนผืนพรมของเปอร์เซีย ยาวแค่ไหน 

หากนับเฉพาะที่พอมีหลักฐานปรากฏ คนเปอร์เซียรู้จักการทอพรมมากว่า 2,500 ปีแล้ว อาจจะก่อนอาณาจักรเปอร์เซียด้วยซ้ำ 

(Photo : 27carpets)

จากจุดเริ่มต้นแสนเรียบง่าย ที่เหล่าชนพื้นเมือง ต้องมีพรมปูพื้นเพื่อป้องกันความชื้นและหนาวเย็น 

นานวันเข้า เริ่มมีการพัฒนาลวดลายจนเกิดเป็นเรื่องราวและความสวยงาม ที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น 

ประกอบกับคุณภาพชั้นยอดของขนแกะและแพะในแถบเปอร์เซีย จากของจำเป็นที่ทุกบ้านต้องมี เริ่มกลายเป็นของมีค่าที่ทั้งขุนนางจนถึงกษัตริย์ต้องมีไว้ประดับบารมี 

แต่กว่าพรมเปอร์เซีย จะเป็นพรมเปอร์เซียที่เห็นกันอย่างทุกวันนี้ ก็ล่วงมาจนถึงศตวรรษที่ 16 ในสมัยของพระเจ้าซาห์อับบัส (Shah Abbas) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ (Safavid) 

ถือเป็นยุคที่การค้าและงานฝีมือของเปอร์เซียรุ่งเรืองที่สุด เพราะหลังจากที่ทรงตั้งเมืองอิสฟาฮานเป็นเมืองหลวงของเปอร์เซีย พระองค์ก็ตั้งเป้าจะให้ที่นี่เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุด จึงเริ่มฟื้นฟูศิลปะการทอพรม ฝึกฝนช่างทอและดีไซน์เนอร์เก่งๆ ขึ้นมา รวมถึงใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงอย่างเส้นใยไหมแซมด้วยด้ายเงิน ด้ายทอง จนเกิดลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ 

จากนั้นสนับสนุนให้เกิดการค้าขายกับชาติตะวันตก ทำให้ทั่วโลกเริ่มรู้จักพรมเปอร์เซียกันอย่างแพร่หลาย 

เรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของพรมเปอร์เซีย 

ปัจจุบัน มีพรมจากยุคราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ หลงเหลืออยู่ประมาณ 1,500 ผืน กระจายตัวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ บ้าง และอยู่ในคอลเลคชั่นส่วนตัวของนักสะสมบ้าง    

พรมจากขนแกะและเส้นไหม ในสมัยปลายศตวรรษที่ 16 ของราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ ถูกประมูลไปที่ราคา 2,729,250 ปอนด์ หรือราวๆ 106 ล้านบาท (Photo: elogedelart.canalblog.com)

และไม่ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมากี่ยุคสมัย ศิลปะบนผืนพรมของชาวเปอร์เซีย ไม่เคยเสื่อมถอย มีแต่จะทวีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

อาจเรียกได้ว่า นี่คือสิ่งทอเพียงอย่างเดียว ที่ราคาทวีคูณไม่ต่างจากอัญมณี 

หากคุณคือคนที่ครอบครองพรมเปอร์เซียผืนละ 10 ล้านบาท จงรู้ไว้เลยว่า ปีถัดไป ราคาอาจจะพุ่งเป็น 12 ล้านบาทก็เป็นไปได้ 

ทำไมพรมเปอร์เซีย ถึงมีมูลค่าขนาดนั้น 

ความโดดเด่นของพรมเปอร์เซีย ที่ทำให้มีมูลค่ามากกว่าพรมใดๆ บนโลก คือเป็นงานทำมือ 100% บางผืนทอด้วยคนเพียงคนเดียว ที่อาจใช้เวลายาวนานถึง 10 ปี กว่าจะเสร็จออกมาสักผืน 

(Photo: persiansarenotarabs.com)

สีสันบนพรมล้วนเกิดจากสีของธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ รากไม้ หรือใบไม้ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสีของพรมเปอร์เซียจะไม่มีสีที่ฉูดฉาด สวยงามสบายตา และเปี่ยมด้วยมิติ 

สีเขียวธรรมชาติบนพรมเปอร์เซีย ที่ปัจจุบันกลายเป็นสีเขียวที่นิยมในโลกแฟชั่น

ลวดลายที่อยู่บนผืนพรม คือสิ่งที่สืบทอดและพัฒนากันมาจากรุ่นสู่รุ่น พรมเปอร์เซียไม่ใช่แค่สิ่งที่ไว้ปูพื้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนพื้นที่แสดงวิถีชีวิต ความคิด และความทรงจำของผู้ทอ 

ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของพรมแต่ละเมือง (Photo : Art on da Floor)

ยิ่งเป็นพรมที่เรียกกันว่า Nomadic Rugs หรือพรมที่ทอโดยคนพื้นเมือง ลายที่เห็น จะยิ่งสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยไม่มีการขึ้นแพทเทิร์นเหมือนพรมที่ทอในอุตสาหกรรม แต่จะสืบทอดกันด้วยบทเพลง ที่แต่ละรุ่น จะร้องและจำต่อกันมา 

เอ-จิตรกร มงคลธรรม นักสะสมพรมเปอร์เซียและผู้ก่อตั้ง Art on da Floor (อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์) คอมมิวนิตี้ของคนรักงานศิลปะ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันตลาดของพรมเปอร์เซียนั้นใหญ่มาก เฉพาะปี 2018 เพียงปีเดียว อิหร่านทำรายได้จากการส่งออกพรมไปสหรัฐอเมริกาได้ถึง 436 ล้านเหรียญ 

คุณจิตรกร มงคลธรรม

“พรมเปอร์เซียไม่ใช่แค่ของแต่งบ้าน เราซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่แค่สะสม เราสามารถเก็งกำไรได้ เพราะราคาจะขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 20%” 

โดยพรมเปอร์เซียที่บรรดานักสะสมเลือกเก็บ คือพรมที่ผลิตในช่วงปี 1920 – 1970 ถือว่าเป็นพรมคุณภาพพรีเมี่ยมที่หาไม่ได้แล้วในยุคหลังจากนี้ เพราะอิหร่านไม่สามารถเลี้ยงแกะให้ออกมามีสุขภาพที่ดีเทียบเท่าสมัยก่อนได้  

ซึ่งหากมองในฐานะของใช้ พรม คือสิ่งที่ช่วยเติมเต็มฮาโมนีของห้อง เพิ่มความสวยให้สมบูรณ์

“ถ้าในห้องนี้มีแค่เปียโน แล้วเอาพรมออก ความสมบูรณ์ของความงามที่ส่งมาถึงเรานี่ด้อยไป 50% เลยนะ”

ในขณะเดียวกัน ความสวยสมบูรณ์นั้น สามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้ ในจังหวะที่เหมาะสม

“การซื้อพรมเปอร์เซีย บางคนอาจเห็นว่าแพงหรือฟุ่มเฟือย แต่จริงๆ แล้วมันคือ passion investment คือสินค้าที่มีมูลค่าและมีความเป็นทรัพย์สินอยู่ข้างใน ขายเมื่อไหร่ก็ได้กำไร แต่หากยังขายไม่ได้ เราก็ยังมีความสุขที่จะได้เก็บ” 

พรมขนแกะจากตระกูลอะมอกรู ที่ผลิตพรมให้กับพระราชวังของอิหร่าน อายุ 90 ปี ปัจจุบันสนนราคาที่ 10 ล้านบาท

ประโยชน์สองส่วนที่มาบรรจบกันอย่างพอดีนี้เอง ที่ทำให้พรมเปอร์เซียไม่เคยเสื่อมมูลค่า และยังเป็นที่ต้องการของผู้ที่ชื่นชมในงานศิลปะอยู่เสมอจนถึงวันนี้ 

สำหรับผู้ที่สนใจ หรือกำลังหาพรมเปอร์เซียเพื่อสะสม เก็งกำไร หรือตกแต่งบ้านก็ตาม สามารถขอคำปรึกษา หรือเข้าไปชมได้ที่ Art on da Floor (อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์) 

 

อ้างอิง :