w©rld

เมื่อเอ่ยถึงจักรวรรดิเปอร์เซีย เป็นที่ทราบกันดีว่า นี่คือแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก 

ต้นกำเนิดของศิลปะและวิทยาการหลายๆ อย่าง ที่เป็นมรดกตกทอดมาให้เราได้ใช้ประโยชน์กันถึงทุกวันนี้ 

ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม ภาษา ปรัชญา การแพทย์ การชลประทาน สิ่งทอ ฯลฯ 

เหล่านี้คือสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีในแบบเรียนประวัติศาสตร์

แต่มีบางเรื่องที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบคือ สถานที่ผ่อนคลาย อันเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปทั่วโลกอย่าง ‘สปา’ ก็เชื่อกันว่า น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมการอาบน้ำใน Bathhouse ของคนในแถบเปอร์เซียเช่นกัน 

Vakil Bath ในเมืองชีราซของอิหร่าน เป็นโรงอาบน้ำขนาดใหญ่ที่มีขนาดถึง 11,000 ตร.ม.
ภาพวาดจำลองบรรยากาศใน Bathhouse ของสาวๆ เปอร์เซียในอดีต

หากใครเคยมีโอกาสไปเยือนประเทศอิหร่าน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิเปอร์เซียในอดีต คงจะทราบดีว่าที่นั่นมี Bathhouse หรือ Hammam (อ่านว่า ฮัม-มัม ภาษาท้องถิ่น) กระจายตัวอยู่แทบจะทุกเมือง บ้างอยู่ในสุเหร่า บ้างอยู่ในตลาด หรือบางแห่งก็อยู่ในที่สาธารณะใกล้อาคารบ้านเรือน 

โดยส่วนใหญ่ไม่เปิดให้บริการแล้ว แต่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยว 

(Photo : Wikicommons)

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเปอร์เซียมี Bathhouse มาตั้งแต่ยุคก่อนศาสนาอิสลาม (Pre-Isalamic) หรือถ้านับเป็นตัวเลข อาจจะเกิน 2,000 ปี (เท่าที่มีหลักฐาน)

แต่มาได้รับความนิยมและแพร่หลายในช่วงยุคกลางของศาสนาอิลาม หรือราวๆ ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลทางศาสนา ที่ชาวมุสลิมต้องอาบน้ำให้สะอาดก่อนมาละหมาดที่มัสยิด 

มีบันทึกไว้ว่า เฉพาะในประเทศอิหร่าน เคยมี Bathhouse มากกว่า 10,000 แห่ง ทั้งแบบส่วนตัวของราชวงศ์และพ่อค้าที่ร่ำรวย และแบบสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ 

ฉะนั้น ในเมื่อมุสลิมทุกคนต้องมาอาบน้ำ Bathhouse จึงกลายเป็นแหล่งพบปะของคนทุกอาชีพ 

ภาพจำลองการเจรจาค้าขายของชาวเปอร์เซีย ที่มักจะเกิดขึ้นใน Bathhouse

นอกจากอาบน้ำ ที่นี่จึงเป็นทั้งแหล่งเจรจาการค้า ติวหนังสือ พบปะพูดคุยหรือเมาท์กันในหมู่เพื่อนฝูง เป็นที่สวดมนต์ เป็นที่พักผ่อนจากความเมื่อยล้า ไปจนถึงการเสริมหล่อเสริมสวย รักษาพยาบาล กระทั่งคลอดบุตร 

ในยุคหลังศตวรรษที่ 9 Bathhouse ได้รับความนิยมในหมู่ชาวเปอร์เซีย และพ่อค้ากองคาราวานเป็นอย่างมาก มีการให้บริการแบบครบวงจร 

โดยภายใน Bathhouse จะแบ่งสัดส่วนการใช้งานคล้ายบรรดาสปาในปัจจุบัน มีการแยกชาย หญิง 

ส่วนฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยทั่วไปต้องประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 

ส่วนแรก เป็นส่วนของการเตรียมร่างกายให้พร้อม เมื่อเดินเข้ามาภายในจะพบกับห้องล็อคเกอร์สำหรับถอดเสื้อผ้าและเก็บของเป็นที่แรก ก่อนจะเข้าไปสู่ garmkhaneh หรือห้องอบไอน้ำที่เริ่มปรับอุณหภูมิร่างกาย 

ทางเดินเชื่อมจากห้องเก็บของไปยังภายใน Bathhouse ของ Sultan Amir Ahmad Bathhouse (Photo : Wikicommons)
ห้องอบไอน้ำ ที่ด้านล่างมีการจุดไฟด้วยฟืนและมูลสัตว์ เพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอ

ส่วนที่สอง จะเข้าสู่การให้บริการโดยพนักงานของ Bathhouse โดยจะให้ลูกค้านอนบนผ้าที่ปูบนหินอ่อนร้อนแล้วนวดผ่อนคลาย ในส่วนนี้ยังมีบริการย้อมผม ตัดผม โกนหนวด และตัดเล็บให้ด้วย 

บริการนวด สระผม ตัดผม เล็มหนวด ใน Bathhouse

ส่วนที่สาม คือ khazineh หรือห้องอาบน้ำหลัก ที่จะอยู่ใจกลางของ Bathhouse เสมอ ประกอบไปด้วยบ่อน้ำร้อน น้ำอุ่น น้ำเย็น ให้เลือกอาบกันตามอัธยาศัย 

Ganjali Khan Bath เมืองเคอมาน อิหร่าน (Photo : Wikicommons)
บริเวณที่อาบน้ำตรงกลางของ Sultan Amir Ahmad Bathhouse แห่งเมืองคาชาน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Bathhouse ที่งดงามที่สุดของอิหร่าน

เสร็จแล้วใครจะนอนหลับ หรือนั่งพูดคุยกันต่อก็ทำได้ตามสบาย 

ก่อนออกจาก Bathhouse ลูกค้าจะได้รับผ้าเช็ดตัวสีขาวและบริการนวดครั้งสุดท้ายเป็นเวลา 15 นาที ก่อนจะใส่เสื้อผ้าและกลับออกไป 

หน้า Bathhouse มักจะมีร้านน้ำผลไม้ขาย เพื่อสร้างความสดชื่นก่อนกลับบ้าน หรือเดินทางต่อ 

โดยชาวเปอร์เซียเชื่อว่าการมา Bathhouse อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดี 

ในด้านสถาปัตยกรรม ขึ้นชื่อว่าเปอร์เซีย ไม่มีคำว่าน้อย 

จักรวรรดิที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมพันปี รังสรรค์งานศิลปะและสถาปนิกไว้แบบเหนือชั้น 

ทุกมุมมองล้วนสมมาตร และเต็มไปด้วยลวดลายอันสวยงาม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาอิสลาม โดยรายละเอียดของ Bathhouse แต่ละแห่ง จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ภาพวาดบนผนังปูนเปียก บริเวณทางเข้า Ganjali Khan Bathhouse โรงอาบน้ำในตลาดสดแห่เมืองเคอมานของอิหร่าน (Photo : Wikicommons)
จิตรกรรมฝาผนังของห้องอาบน้ำ ภายในป้อมการิมข่าน ( Karim Khan Citadel) เป็นห้องทรงสำราญส่วนพระองค์และฝ่ายใน สร้างราวๆ ปี 1750
การตกแต่งของ Sultan Amir Ahmad Bathhouse ที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ถือเป็น Bathhouse ที่สะท้อนให้เห็นฝีมือทางสถาปัตยกรรมของชาวเปอร์เซีย (Photo : Wikicommons)
การขึ้นลวดลายอันวิจิตรของ Sultan Amir Ahmad Bathhouse (Photo : Wikicommons)
ภาพเขียนโบราณภายใน Sultan Amir Ahmad Bathhouse ที่แม้จะได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว แต่ยังคงงดงาม
กระเบื้องของเดิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 16
โดมหลังคาของ Bathhouse ที่ใช้การเจาะช่องแสงที่ปลายโดม เพื่อสร้างแสงสว่างภายในห้องอาบน้ำแต่ละห้อง

ปัจจุบัน หากใครอยากลองใช้บริการ Bathhouse ของชาวเปอร์เซีย ที่ประเทศอิหร่านยังพอมีเปิดให้บริการอยู่บ้าง ส่วนใหญ่มักจะเป็นส่วนหนึ่งของ Sport Complex ที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ยังพยายามคงบรรยากาศเก่าๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส 

Bathhouse ภายใน Sport Complx แห่งเมืองอิสฟาฮาน (Photo : 1stQuest.com)

แต่อีกแห่งที่ยังคงมี Bathhouse ลักษณะนี้ให้บริการอย่างแพร่หลาย คือประเทศตุรกี 

เราอาจจะคุ้นเคยกันในชื่อ Terkish Bath ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน โดยมีศาสนาอิสลามเป็นตัวขับเคลื่อนเช่นเดียวกับอิหร่านหรือเปอร์เซีย การให้บริการก็เหมือนกันทุกอย่าง โดยยุโรปเพิ่งจะรับเอาวัฒนธรรมโรงอาบน้ำสาธารณะในลักษณะนี้ไปใช้ในช่วงศตวรรษที่ 19 เท่านั้น โดยบุคคลแรกที่นำไปเผยแพร่คือ David Urquhart ฑูตชาวสก๊อตแลนด์ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตุรกีช่วงปี 1980 

Tergish Bath ในกรุงอิสตันบูล (Photo : turkishbaths.org)

หลังจากนั้น การให้บริการนวด ทำความสะอาด และบำบัดร่างกายด้วยน้ำ ก็แพร่กระจายไปทั่วยุโรป จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘สปา’

อ้างอิง : 

 

FACTBOX

  • ชื่อ ‘สปา’ เชื่อกันว่ามาจากชื่อเมือง SPA ในเบลเยี่ยม มีชื่อเสียงด้านการอาบน้ำแร่ บรรดาทหารหรือขุนนางที่กลับจากทำศึกก็มักจะแวะผ่อนคลายที่เมืองนี้ แต่วิธีการให้บริการในสปานั้นเชื่อว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก Bathhouse ของชาวเปอร์เซียและออตโตมันมากกว่า