w©rld

หลังจาก ตอนที่แล้ว common เดินทางไปทำความรู้จักปรัชญา Omotenashi ผ่านร้านชา Yorozu Tea Salon และความเรียบง่ายที่ซ่อนรายละเอียดอย่างลุ่มลึกที่เรียวกัง Otani Sanso

ถึงตอนนี้เราจะพาไปทำความรู้จักเลกซัสอย่างลงลึกไปอีกขั้นถึงโรงงานประกอบรถยนต์ และศูนย์การออกแบบ Lexus Global Design Studio ที่เปรียบเสมือน ‘ห้องแห่งความลับ’ เพราะปกติเลกซัสไม่เปิดให้ใครเข้าออกง่ายๆ แม้ว่าคนนั้นจะเป็นพนักงานของเลกซัสเองก็ตาม

Lexus LC 500

แต่เพื่อค้นหาคำตอบว่า ‘ราก’ ที่หยั่งลึกลงในแบรนด์เลกซัสคืออะไร common และสื่อมวลชนทั่วโลกจึงได้รับโอกาสพิเศษนี้

นักออกแบบรถของเลกซัส ต้องเข้าใจ ‘เทคโนโลยี’ และ ‘เซนส์ของมนุษย์’

งานออกแบบญี่ปุ่นไม่เหมือนของชาติอื่นๆ ตรงที่ญี่ปุ่นไม่ให้ความสำคัญแค่รูปโฉมที่มองเห็นแค่ภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่พยายามจะตอบคำถามอย่างจริงจังว่า สิ่งที่ออกแบบแต่ละชิ้นกำลังตอบโจทย์อะไร 

ดังนั้นกระบวนการผลิตงานแต่ละชิ้นจึงใช้เวลาค่อนข้างนาน

“นักออกแบบรถของเลกซัสต้องเข้าใจ 2 อย่าง คือ เทคโนโลยี และ เซนส์ของมนุษย์โคจิ ซาโตะ หัวหน้าวิศวกรผู้ออกแบบรถสปอร์ตคูเป้สุดหรู LC 500 ยืนยันอย่างหนักแน่น ว่าถ้าขาดความรู้ความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งไป คุณก็ไม่เหมาะกับเลกซัส

คุณโคจิ ซาโตะ หัวหน้าวิศวกรผู้ออกแบบรถ Lexus LC 500
คุณโคจิ ซาโตะ หัวหน้าวิศวกรผู้ออกแบบรถ Lexus LC 500

เทคโนโลยีคือสิ่งที่เรียนรู้ได้ไม่ยาก หากมีความสนใจ แต่จะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรให้พอดีกับเซนส์ของมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ นี่คือสิ่งท้าทาย 

จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมก่อนจะพัฒนารถแต่ละคัน เลกซัสจะต้องลงไปสำรวจพื้นที่แต่ละประเทศ ที่รถจะถูกส่งไปขายว่ามีสภาพการจราจรแบบไหน ภูมิอากาศอย่างไร และพฤติกรรมการขับขี่ของคนแต่ละประเทศเป็นแบบใด

“เลกซัสคิดว่าช้าไปมั้ย ที่เพิ่งเปิดตัว Lexus UX ออกสู่ตลาด ทั้งๆ ที่เทรนด์ของรถยนต์ urban crossover นั้นเกิดขึ้นมานานพอสมควร” เพื่อนสื่อมวลชนที่มาด้วยกันถาม

โคจิ ซาโตะ ตอบอย่างไม่ลังเล “ยอมรับว่าเราเปิดตัวช้ากว่าคนอื่นๆ เพราะมันจำเป็นที่ต้องใช้เวลาคิดและออกแบบให้นานพอ”

Lexus UX รถยนต์ urban crossover รุ่นล่าสุดจากเลกซัส
Lexus UX รถยนต์ urban crossover รุ่นล่าสุดจากเลกซัส

กระบวนการสร้างรถ 1 คันของเลกซัส โดยเฉพาะ Lexus UX ที่เพิ่งเปิดตัวในไทย ใช้เวลากว่า 6 ปี โดยเริ่มจากเดินไปหาลูกค้าที่ใช้รถ crossover ทุกยี่ห้อในหลายประเทศถึงบ้าน เพื่อค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่รถ urban crossover ปัจจุบันไม่สามารถให้ลูกค้าได้

และเมื่อถึงเวลา UX ก็เผยโฉม มาพร้อมกับการกำจัดทุกจุดอ่อนของรถ crossover ที่ใช้ขับในเมือง 

สัมผัสที่มั่นคงนุ่มลึก ทัศนวิสัยที่แทบไม่มีจุดบอด วงเลี้ยวแคบที่สุดในตลาด และจัดวางอุปกรณ์ทุกอย่างตามหลักสรีระศาสตร์ เบาะที่นั่งออกแบบใหม่หมด เพื่อให้เหมาะกับการขับรถในเมือง รวมถึงความเงียบในห้องโดยสารที่ออกแบบมาอย่างดี

“ทุกคนในตลาดรถยนต์พูดถึงเทคโนโลยีกันหมด เลกซัสเองก็ไม่ปฏิเสธ ว่าเราก็ให้ความสำคัญ แต่มันไม่เพียงพอ ถ้ารถยนต์จะให้เราได้แค่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่สัมผัสภายในที่ใส่ใจต่อความรู้สึกของคนขับไม่ถูกพัฒนาคู่ไปด้วย” 

“ผมเชื่อว่า ถ้าทุกคนได้ทดลองขับ Lexus UX จะหมดความสงสัย ว่าทำไมเลกซัสใช้เวลานาน”   

Takumi ช่างฝีมือชั้นครู ความละเอียดอ่อนที่หุ่นยนต์ไม่มีทางทำได้

ถ้า 10,000 ชั่วโมง คือช่วงเวลาที่ใช้ฝึกฝนเพื่อเป็นยอดฝีมือ แต่ถ้าต้องการจะเป็นช่างฝีมือระดับทาคุมิ จะต้องฝึกฝนสิ่งนั้นซ้ำๆ มากกว่านั้น 6 เท่า หรือ 60,000 ชั่วโมง

และช่างฝีมือระดับ ‘ทาคุมิ’ เท่านั้นที่เลกซัสไว้วางใจ

คุณโยชิทากะ ยามาโมโตะ นักปั้นโมเดลรถ (Clay Modeling) ผู้ขึ้นแบบ LC 500 และคุณโยชิยาสึ นากามุระ เจ้าของผลงานแก้วคิริโกะ ที่ใช้ประดับบริเวณแผงประตูในรถยนต์ LS 500h
คุณโยชิทากะ ยามาโมโตะ นักปั้นโมเดลรถ (Clay Modeling) ผู้ขึ้นแบบ LC 500 และคุณโยชิยาสึ นากามุระ เจ้าของผลงานแก้วคิริโกะ ที่ใช้ประดับบริเวณแผงประตูในรถยนต์ LS 500h

เราเชื่อในเซนส์ของมนุษย์ หลายๆ ส่วนที่เห็นอยู่นี้ จะใช้เครื่องจักรทั้งหมดเลยก็ได้ แต่เราไม่ได้เชื่อแบบนั้น

” 

โคอิจิ ซูกะ หัวหน้าดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบรถยนต์ Lexus LS 500h เจนเนอร์เรชั่นล่าสุด อธิบายให้ฟังในขณะที่พาทุกคนชม Design Dome และโรงงานประกอบรถยนต์ของเลกซัสที่โตโยต้าคิวชู (TMK) 

คุณโคอิจิ ซูกะ หัวหน้าดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบรถยนต์ Lexus LS 500h
คุณโคอิจิ ซูกะ หัวหน้าดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบรถยนต์ Lexus LS 500h

ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของรถเลกซัส คือการหยิบงานศิลป์อันทรงคุณค่าของญี่ปุ่นมาผสมผสานไว้กับการออกแบบภายในห้องโดยสาร อาทิ แผงประตูที่ผสานระหว่างศิลปะการตัดแก้วคิริโกะ และผ้าพับจีบด้วยมือจากศิลปะ Origami ใน Lexus LS 500h กระดาษวาชิใน Lexus UX หรือเลเซอร์คัตบนไม้แบบเดียวกับการทำเปียโนใน Lexus RX

สิ่งเหล่านี้ คืองานชั้นสูงที่นอกจากจะสร้างความรู้สึกของการครอบครองสิ่งที่เป็นเซนส์ของลักซ์ชัวรี่ ความละเอียดอ่อนของงานทำมือยังสร้างอารมณ์สุนทรีย์เมื่อได้สัมผัส ที่เป็นการส่งต่อความรู้สึกจากคนสู่คน

แต่คำว่า ทาคุมิ ของเลกซัส ไม่ได้หมายถึง ช่างหัตถศิลป์ชั้นครู ที่ทำงานศิลปะโบราณของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ที่เลกซัสมีช่างทาคุมิอยู่เป็นจำนวนมาก ไล่ระดับความชำนาญจากการฝึกฝน 

ตั้งแต่ส่วนของงานดีไซน์ การทำสี การประกอบ จนถึงตรวจสอบคุณภาพในขั้นตอนสุดท้าย จะเห็นคนยืนแทรกรวมกับเครื่องจักรที่เรียกว่าทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมรถยนต์ อยู่ทุกสเตชั่น ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายของแต่ละสเตชั่น จะมีทาคุมิคอยตรวจสอบความสมบูรณ์แบบ 

เพื่อให้เห็นภาพ เลกซัสยกตัวอย่างช่างเย็บเบาะ ฝีเข็มที่เท่ากันอย่างไม่คลาดเคลื่อน แม้รูปแบบจะซับซ้อนแค่ไหนก็ตาม นั่นเพราะเลกซัสใช้การเย็บมือผสานกับเครื่องจักร 

ช่างเย็บต้องผ่านการทดสอบด้วยการพับกระดาษ Origami ให้เป็นรูปแมว ด้วยมือข้างที่ไม่ถนัดให้ได้ภายใน 90 วินาที หากผ่านจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาเทรนนิ่ง 3 เดือน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะผ่านการฝึก

เพราะฉะนั้น สุดยอดช่างฝีมือเท่านั้นถึงสามารถเข้ามาเย็บเบาะเลกซัสได้ 

ในกระบวนการประกอบรถยนต์ที่โตโยต้าคิวชู (TMK) ซึ่ง Lexus UX, NX, RX และ ES ที่จำหน่ายในไทยก็ประกอบจากโรงงานแห่งนี้

พนักงานของเลกซัสสามารถสั่งหยุดสายการผลิตได้ตลอดเวลาที่เห็นว่าชิ้นงานมีความคลาดเคลื่อนแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งการหยุดสายการผลิต หมายถึงเม็ดเงินไม่ใช่น้อยที่ต้องเสียไป   

แต่ถ้าสัมผัสของพนักงานบอกว่าผิดพลาด ก็ต้องหยุด เพราะรถทุกคันที่ปล่อยออกจากโรงงานแห่งนี้ จะยอมให้มีจุดบกพร่องไม่ได้

คำถามคือ ทำไมเลกซัสถึงเชื่อใจในสัมผัสของมนุษย์ขนาดนั้น? 

“เพราะเราทำรถยนต์ให้คนนั่ง สุดท้ายผู้ที่จะตัดสินว่ารถคันนี้ดีหรือไม่ คือคนที่เป็นเจ้าของรถ เค้าไม่ได้ใช้เครื่องจักรอะไรมาวัด นอกจากประสาทสัมผัสของตัวเอง”

คัตสึอากิ ซูกานูมะ ช่างทาคุมิผู้ตรวจสอบรถเป็นขั้นตอนสุดท้ายให้คำตอบ

ฉะนั้นในขั้นตอนสุดท้ายของการตรวจสอบคุณภาพ จึงต้องเป็นสัมผัสจากคนที่มีความเชี่ยวชาญระดับ ‘ทาคุมิ’ เท่านั้น คนที่สามารถบอกได้ด้วยหู ว่าเสียงของเครื่องยนต์ปกติ หรือห้องโดยสารเงียบพอหรือยัง คนที่สัมผัสได้แม้กระทั่งช่องว่างที่คลาดเคลื่อนเพียง 0.2 มิลลิเมตร คนที่เห็นแม้กระทั่งฝุ่นเม็ดเล็กๆ ที่แฝงอยู่ในสีที่พ่นบนตัวรถ

นี่คือความละเอียดอ่อนที่เป็นความสามารถเฉพาะของมนุษย์ที่เลกซัสให้ค่า และหุ่นยนต์ก็ไม่มีทางแทนที่ได้ 

ท้ายที่สุด ถ้าคนระดับทาคุมิพอใจในสัมผัสรถของพวกเขา ก็เชื่อว่าเจ้าของที่ได้รับรถคันนั้นไป จะพึงพอใจเช่นกัน 

‘รับฟัง’ และ ‘แก้ไข’ สู่ดีไซน์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง   

ความถ่อมตนและไม่โอ้อวด คือคุณสมบัติหนึ่งที่อยู่ใน DNA ของคนญี่ปุ่น 

เลกซัสเองก็เป็นแบรนด์ที่มีความถ่อมตนแฝงอยู่สูงมาก โดยเฉพาะวิธีคิดของผู้สร้างสรรค์

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน แต่การมองหาจุดด้อยเพื่อแก้ไข และแสวงหาความสมบูรณ์แบบนั้นไม่เคยหมดไปจากคนเลกซัส 

นี่อาจจะเป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้เลกซัสพัฒนาและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด แม้จะเป็นแบรนด์ที่เพิ่งถือกำเนิดเพียง 30 ปี 

ในฐานะหัวหน้าดีไซน์เนอร์ โคจิ ซูกะ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าย้อนกลับไปซัก 10 ปีก่อน เลกซัสยังมีดีไซน์ที่ไม่โดดเด่นนัก เลกซัสไม่เคยปฏิเสธ แต่ขอน้อมรับทุกคำติ 

LC 500h โมเดลสปอร์ตคูเป้ระดับหรู ที่ท้าทายทีมดีไซน์ของเลกซัส
LC 500 โมเดลสปอร์ตคูเป้ระดับหรู ที่ท้าทายทีมดีไซน์ของเลกซัส

“จุดแข็งของเลกซัสที่ชนะใจลูกค้าคือรถยนต์คุณภาพสูงในทุกด้าน ความน่าเชื่อถือที่วางใจได้ ห้องโดยสารที่เงียบและการขับขี่ที่สบาย นี่คือ DNA หลัก ที่อยู่ในเลกซัสตั้งแต่วันแรก และไม่เคยเปลี่ยน แต่ในแง่ของดีไซน์ เราพูดได้ไม่เต็มปากว่า เลกซัสเป็นรถที่สวย

“และเราไม่ปฏิเสธครับ”  

แต่คนญี่ปุ่นมีจิตวิญญาณของการพยายามค้นหาสิ่งที่ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจะมองหาพัฒนาการหรือการเติบโตอยู่เสมอ

คำวิจารณ์ต่างๆ จึงไม่เคยถูกทิ้งขว้าง แต่เป็นแรงผลักจนนำมาสู่งานดีไซน์ที่พลิกโฉมเลกซัสอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งทั่วโลกต่างยอมรับว่า นี่คือ ‘Brave Design’ อย่างที่เลกซัสจำกัดความไว้จริงๆ     

“10 ปีหลังมานี้  ดีไซน์ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของเรา”  

แต่กว่าจะมาเป็นปรัชญาแห่งการดีไซน์ที่เลกซัสเรียกว่า L-Finesse ก็ต้องผ่านวิธีการคิดอันซับซ้อน เพราะถึงแม้ดีไซน์จะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ DNA ของแบรนด์ต้องยังอยู่

ฉะนั้นวิถีของความคราฟท์และ Omotenashi ในแบบญี่ปุ่นต้องคงไว้อย่างครบถ้วน จากนั้นหาวิถีผสมผสานเทคโนโลยีและความครีเอทีฟในงานดีไซน์เข้ามาให้ลงตัวที่สุด ภายนอกที่เห็นโฉบเฉี่ยวและดุดัน แต่ภายในต้องให้ความรู้สึกลื่นไหล และสัมผัสที่ผ่อนคลาย 

ในขณะที่ทีมพัฒนาเทคโนโลยีคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ให้รถเลกซัสมีความตื่นเต้นตลอดเวลา งานฝีมือระดับ Craftsmanship เช่น การเย็บเบาะด้วยมือ การบรรจงคัดสรรงานศิลป์ชั้นครูของญี่ปุ่นมาสร้างบรรยากาศภายในรถ ก็ต้องถูกพัฒนาไปพร้อมกัน 

เลกซัสนิยามสิ่งนี้ว่า Yet Philosophy หรือ การผสมผสานสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าอยู่ร่วมกันไม่ได้ ให้ไปด้วยกันได้อย่างลงตัว

มาถึงตอนนี้ทุกคนไม่ตั้งคำถามแล้วว่า ทำไมเลกซัสต้องคิดซับซ้อนถึงขนาดนี้

เพราะนี่คือหัวใจของ Omotenashi ที่แบรนด์ต้องมองให้ขาดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด ที่ลูกค้าของเขาควรได้รับ การแก้ไขดีไซน์ จึงไม่ใช่แค่เรื่องทำอย่างไรให้รถสวยสะดุดตา แต่ยังต้องมองลึกถึงความรู้สึกของคนขับด้วยเช่นกัน   

“เราไม่เคยคิดว่ารถยนต์เป็นแค่ยานพาหนะ แต่รถยนต์คือไลฟ์สไตล์”

คือคำกล่าวที่ โคจิ ซาโตะ หัวหน้าวิศวกรผู้ออกแบบรถสปอร์ตคูเป้สุดหรู LC 500 พูดส่งท้าย ในขณะที่สื่อมวลชนร่วมรับประทานอาหารเย็นกับเลกซัสเป็นมื้อสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ

รถยนต์ได้พาเรามาทานข้าวที่นี่ พาไปท่องเที่ยว พาไปดูงานศิลปะ พาไปชอปปิ้ง ฯลฯ รถอยู่กับคุณตลอดเวลา เราถึงไม่ให้เลกซัสเป็นแค่ยานพาหนะสำหรับลูกค้า แต่ต้องเป็นสิ่งที่ดูแลทุกโมเมนต์ของเขาขณะอยู่ในรถ

 

ดูเหมือนนี่จะเป็นวิธีคิดอันลึกซึ้งที่ฝังอยู่ใน DNA ของคนญี่ปุ่นเท่านั้น จึงไม่แปลกใจที่มักจะมีคำกล่าวที่ว่า 

‘ความเรียบง่ายในแบบญี่ปุ่นนั้นเป็นสิ่งที่เลียนแบบไม่ง่าย’ 

เพราะความสมบูรณ์แบบที่ไร้ส่วนเกินนี้ เบื้องหลังคือความซับซ้อนเชิงแนวคิด 

แต่แม้ว่ากระบวนการจะซับซ้อนเพียงใด แต่เป้าหมายนั้นเรียบง่าย คือ การมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า และต้องเป็นการให้อย่างจริงใจ

นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด ที่ลูกค้าควรได้รับใช่หรือไม่

 

คือคำถามที่เลกซัสถามเสมอ เมื่อจะสร้างสรรค์สิ่งใด เพื่อให้สิ่งนั้นดีที่สุด โดยไม่คิดว่าทำแล้วจะได้เงินกลับมาเท่าไหร่ เพราะการให้อย่างจริงใจ ผู้รับย่อมสัมผัสได้ แล้วประโยชน์ใดๆ จะกลับมาที่แบรนด์เองโดยธรรมชาติ  

การมาสัมผัสเลกซัสด้วยตัวเองในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าเราไม่มีทางเข้าใจหรือเข้าถึงเลกซัสได้แบบ 100% ด้วยการอ่านแคตตาล็อกรถยนต์ 

เพราะนี่คือแบรนด์รถยนต์ที่ประกอบขึ้นจากความหลงใหลอย่างไม่ธรรมดา และมีความลึกของแนวคิดและจิตวิญญาณ ที่แฝงไว้ในรายละเอียดของตัวรถ ที่ต้องลองสัมผัส จับพวงมาลัย และขับดูสักครั้ง จึงจะเข้าใจ

ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อย่าลังเลที่จะไปร่วม Experience Amazing กับเลกซัสด้วยตัวคุณเอง ลงทะเบียนทดลองขับเพื่อสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษนี้ได้ที่  http://bit.ly/2YeyfLh

ร่วมเดินทางกับเลกซัสต่อได้ที่ LEXUS Trip: เจาะลึกปรัชญา Omotenashi การให้บริการแบบญี่ปุ่น ที่ผสานอย่างลงตัวในรถเลกซัส