w©rld

ผมไม่เคยลืมเรื่องราวในอดีต ผมขอค้อมตัวและก้มศีรษะเพื่อขอโทษเหยื่อชาวโปแลนด์ทุกคนผู้เสียชีวิตเพราะความโหดร้ายของชาวเยอรมนี และผมปรารถนาว่าชาวโปแลนด์จะให้อภัยกับความผิดมหันต์ครั้งนั้น”

ในปี 2019 แฟรงก์ วอลเตอร์ สไตน์เมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวขอโทษด้วยความจริงใจกรณีที่ทางการเยอรมนีทิ้งระเบิดใส่เมืองไวลัน ประเทศโปแลนด์ ในวันที่ 1 กันยายน 1939 ซึ่งเป็นสาเหตุที่สนับสนุนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในฐานะผู้นำสูงสุด ในฐานะชาวเยอรมนีผู้กล้ำกลืนฝืนทนกับประวัติศาสตร์ที่ตอกสลักกลางหน้าผากเป็นตราบาปว่าสร้างความรุนแรงในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (holocaust) และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งผู้รู้สึกละอายใจและสำนึกผิดกับสิ่งเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้น

Photo: Menahem Kahana / AFP

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นและจบลงไปแล้ว หากสำรวจท่าทีของผู้นำระดับประเทศทั่วโลกจะพบว่า การขอโทษต่อสาธารณชน หรือ Public Apology คือวิธีการและเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงความสำนึกผิด และประกาศเจตจำนงคล้ายกับการปฏิญาณตนว่า แม้คำขอโทษเหล่านี้จะไม่สามารถหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่น่าเศร้าเสียใจในอดีตได้ แต่เป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจจริงเพื่อยอมรับผิดโดยไม่ต้องการแก้ต่างหรือแก้ตัว เพราะเกิดการเรียนรู้แล้วว่าการกระทำของผู้คนในกาลก่อนเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่านับจากนี้ต่อไปจะไม่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นซ้ำอีก

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา สังคมโลกเริ่มตระหนักรู้ถึงความผิดพลาดและทบทวนการกระทำที่ผ่านมาว่า มีความขัดแย้งใดบ้างที่ยังเป็นปมปัญหาคอยสร้างความรู้สึกบาดหมางระหว่างกลุ่มสังคม เพื่อนำไปสู่การขอโทษต่อผู้ได้รับผลกระทบ เพราะต้องการใช้คำขอโทษเป็นวิธีแสดงออกถึงการสำนึกผิด โดยหวังว่าจะช่วยผ่อนปรนการถือโทษโกรธแค้นและคลายปมปัญหาให้หมดสิ้นไป

นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า Age of Apology หรือ ยุคสมัยของการขอโทษ เพราะเป็นช่วงเวลาที่รัฐและสถาบันการเมืองสืบทอดอำนาจหน้าที่บริหารและปกครองประเทศ โดยเฉพาะประเทศในสังคมตะวันตก เริ่มแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้นื่งเฉยต่อความผิดในอดีต จึงพยายามและกระตือรือร้นเพื่อขอโทษต่อสาธารณชน

เช่น ปี 1995 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II) ทรงลงพระนามขอโทษกรณีอังกฤษฆ่าคนพื้นเมืองชาวเมารีเพื่อยึดครองดินแดน (ปัจจุบันคือประเทศนิวซีแลนด์)

Photo: AFP

ปี 1997 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) ขอโทษกรณีสหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้องกับการค้าทาสชาวแอฟริกัน

Photo: Stephen Jaffe / AFP

ปี 2008 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (United States House of Representatives) แถลงการณ์ขอโทษกรณีรับรองกฎหมายจิม ครอว์ (Jim Crow Laws) เพื่อแบ่งแยกให้คนผิวขาวและคนผิวดำใช้บริการสาธารณะและสาธารณูปโภคต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การสร้างอคติกีดกันคนต่างสีผิว

รวมถึงเกิดกระแสกดดันให้ทางการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดในอดีตออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษมากขึ้นด้วย อย่างการเรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด (John Howard) ขอโทษกรณีใช้นโยบายระหว่างปี 1950-1972 บังคับให้เด็กชาวอะบอริจินจำนวนมากกว่าหมื่นคนต้องพลัดพรากไปจากครอบครัว หรือการเรียกร้องให้สมเด็จพระจักรพรรดิหลวงอากิฮิโตะ (Akihito) ทรงขอโทษกรณีมีส่วนรู้เห็นในกระทำต่อเชลยสงครามชาวอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างป่าเถื่อน จนเสียชีวิตจำนวน 6,540 คน

‘ทำผิดต้องขอโทษ’ หรือ ‘ขอโทษเมื่อทำผิด’ จึงเป็นความคิดรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองที่อยู่ในสามัญสำนึกพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งย้ำเตือนว่าเราทุกคนมีโอกาสทำพลาดกันได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ‘คำขอโทษที่ออกมาจากใจ’ ของผู้กระทำผิด ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าคนคนนั้นสำนึกผิดจริง และรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่ได้ทำลงไป ไม่ว่าจะเกิดจากเจตนาหรือความประมาทเลินเล่อก็ตาม และพร้อมรับผิดชอบในผลลัพธ์ที่ตามมาจากความผิดที่ตนเป็นคนก่อ

Photo: Kim Hong-Ji / Pool / AFP

เดิมที การขอโทษ (Apology) เริ่มต้นได้รับความสนใจในระดับบุคคลก่อน คือ การขอโทษต่อความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล (Interpersonal Apology) ซึ่งแตกต่างจากการขอโทษต่อสาธารณชน โดยเออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) นักสังคมวิทยาชาวแคนาเดียน-อเมริกัน ผู้บุกเบิกและวางรากฐานการศึกษาด้านการสื่อสารซึ่งหน้า (face-to-face communication) และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการขอโทษว่า ไม่เพียงแค่ช่วยลบภาพจำด้านลบของผู้ทำผิด แต่ยังเป็นวิธีกอบกู้ภาพจำที่ดีให้เกิดขึ้นมาแทนที่ด้วย เพราะการขอโทษเป็นกลไลหนึ่งที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมเลือกใช้เพื่อลบล้างความรู้สึกผิดของตัวเอง และปรับความเข้าใจและมุมมองใหม่ให้ผู้อื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันในสังคมต่อไปได้

ส่วนมุมมองด้านจิตวิทยาอธิบายว่า การทนอยู่กับความผิดเป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวดใจในชีวิต โดยเฉพาะเมื่อหวนนึกถึง ความผิดนั้นจะกลายเป็นตราบาปที่หลอกหลอนใจได้ไม่จบสิ้น และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากสร้างผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้างทั้งทางตรงและทางอ้อม จนกว่าจะสารภาพผิดและได้รับการอภัยหรือยกโทษให้ การขอโทษจึงเป็นหนทางแรกที่ผู้ทำผิดควรกระทำ เช่นเดียวกันกับการขอโทษต่อสาธารณชน

เมื่อความจริงในอดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่พอจะทำได้ในปัจจุบันคือ จัดการกับความผิดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ให้กลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ โดยในภาษาเยอรมันมีคำศัพท์เฉพาะว่า Vergangenheitsbewältigung ซึ่งการขอโทษต่อสาธารณชนนับเป็นหนึ่งในวิธีการจัดการแรกๆ ที่ถูกเลือกมาใช้อยู่บ่อยครั้งในการจัดการดังกล่าว

Photo: Toru Yamanaka / AFP

นอกจากนี้การขอโทษต่อสาธารณชนยังเป็น วิธีการจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management) ตั้งแต่ระดับบุคคลที่มีชื่อเสียงจนถึงองค์กร เมื่อเกิดปัญหาจากการกระทำผิดพลาดบางอย่างจนสร้างความไม่พอใจให้คนในสังคม เพราะการโกหกแฝงองค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยพลิกสถานการณ์ที่แย่ที่สุดให้กลับมาแย่น้อยที่สุดหรือกลายเป็นดีขึ้นได้ ซึ่งมีทั้งหมด 5C ได้แก่

(1) Compassion หรือการแสดงออกถึงความรู้สึกสะเทือนใจและเสียใจอย่างสุดซึ้ง โดยเฉพาะกรณีมีคนบาดเจ็บทั้งทางกายและทางใจ หรือถึงขั้นเสียชีวิตจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

(2) Concern หรือแสดงความกังวลและไม่ได้นิ่งนอนใจถึงความผิดที่สร้างผลกระทบทางความรู้สึกกับผู้คนในสังคม ซึ่งนำไปสู่การหาทางแก้ไขและบรรเทาความกังวลใจเหล่านี้

(3) Communication หรือสื่อสารอย่างชัดเจน ตรงประเด็น และเป็นประโยชน์ มองหาช่องทางต่างๆ ที่ช่วยส่งต่อการขอโทษให้ครอบคลุมได้มากที่สุด

(4) Control หรือควบคุมผลกระทบและรับผิดชอบต่อความผิด โดยเร่งแก้ไข ยับยั้ง และให้การตอบสนองต่อผลที่ตามมาแล้ว หรือกำลังจะตามมาอีกอย่างทันท่วงที

(5) Commitment หรือให้คำมั่นสัญญาว่าต่อจากนี้ไปจะระมัดระวังอย่างมาก รวมถึงสร้างหลักการบางอย่างขึ้นมาเฝ้าระวังหรือเป็นสัญญาณเตือนไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีกในอนาคต

ท้ายที่สุด แม้ว่าการขอโทษต่อสาธารณชนจะตั้งอยู่บนคำถามหรือความสงสัยระหว่างการแสดงความรู้สึกผิดจากใจจริงและการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางสังคมเพื่อจัดการภาวะวิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ถึงอย่างนั้น มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกร่วมและมีความซับซ้อนด้านอารมณ์ ทำให้รู้สึกถึงกันและกันหรือสัมผัสได้ว่าการโกหกทั้งในระดับบุคคลและต่อสาธารณชนนั้นจริงใจ หรือแค่ทำให้ผ่านพ้นไปเท่านั้น

 

อ้างอิง