life

เรื่องราวของการแปรรูปพืช ผัก ผลไม้ เหลือกินเหลือใช้ในแต่ละท้องถิ่นทั่วโลก มาผลิตเครื่องหนังสำหรับชาววีแกน ที่ต่อให้เป็นคนไม่กินผักก็หาซื้อมาใช้ได้เช่นกัน

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า วีแกน หมายถึง คนที่กินมังสวิรัติคนหนึ่ง

ขอบอกว่าถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะวีแกน (Vegan) เป็นวิถีมังสวิรัติที่เคร่งครัดที่สุดเมื่อเทียบกับ Vegetarian กล่าวคือ ชาววีแกนไม่ใช่แค่ไม่แตะต้องเนื้อสัตว์เลย แต่ยังรวมถึงการเลี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสัตว์ หรือเบียดเบียนสัตว์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

vegan

ดังนั้น การกินแบบวีแกน ก็คือ ไม่กินนม เนย ชีส ไข่ ไปจนถึงน้ำผึ้ง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ เน้นรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชที่หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนแทน

ส่วน “ใช้” แบบวีแกน ก็คือ ของใช้ทุกอย่างของชาววีแกน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ของใช้ในห้องน้ำ ฯลฯ จะต้องไม่เป็นผลผลิตจากสัตว์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการทารุณสัตว์โดยเด็ดขาด เช่น ไม่ใส่ชุดผ้าไหม ไม่สวมรองเท้าหนัง ไม่นอนหนุนหมอนขนเป็ด ไม่สักผิวหนัง เพราะในน้ำหมึกมีส่วนผสมของไขมันสัตว์ ไม่ใช่สบู่หรือแชมพูที่ใช้สัตว์เป็นตัวทดลอง ฯลฯ 

vegan

ดังนั้น นอกจากพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินแล้ว ชาววีแกนยังต้องอ่านฉลากก่อนซื้อสินค้าโดยละเอียด ว่ามีส่วนผสมหรือมีขั้นตอนใดที่เกี่ยวข้องกับการทารุณและเบียดเบียนสัตว์หรือไม่

ด้วยเหตุนี้เอง วีแกนจึงดูราวกับเป็นวิถีที่ส่งเสริมให้สมดุลในธรรมชาติค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ทำให้หลายๆ อุตสาหกรรมเริ่มหันมาใส่ใจในการเสาะหาวัตถุดิบทดแทนในการผลิตสินค้าที่เบียดเบียนสัตว์โลกและสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

vegan

หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมฟอกหนังและเครื่องหนัง ที่ใช้หนังสัตว์เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งแน่นอนว่าก่อให้เกิดมลพิษในทุกๆ กระบวนการ ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตที่ต้องใช้สารเคมีเป็นหลัก และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล

ดังนั้น การหาตัวเลือกอื่นมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตหนังจึงถูกคิดค้นขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ตลาดเครื่องหนังที่ถูกต้องตามหลักวีแกนเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

และวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตเป็นเครื่องหนังได้นั้น ก็ทำให้คนที่ไม่ใช่ชาววีแกนต้องทึ่ง เพราะไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ล เห็ด สับปะรด องุ่น ไปจนถึงกระบองเพชร สามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องหนังคุณภาพดี ทนทาน และใช้งานได้จริง

vegan leather
Left, ’Bigroundbikebag’, by Things I Miss. Right, vegan trainers, by Boss, both made of Piñatex
Photo: https://www.wallpaper.com/fashion/sustainable-fruit-and-veg-based-fashion#0_pic_2

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บริษัทส่วนใหญ่ที่ใส่ใจและลงทุนคิดค้นนำธัญพืช ผัก และผลไม้ มาแปรรูปเป็นเครื่องหนัง มักเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในหลายประเทศทั่วโลก ทีมุ่งมั่นในการเป้็นส่วนหนึ่งของการช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของโลกใบนี้ ด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มมูลค่าให้พืช ผัก ผลไม้ที่มีมากมายจนเหลือกินเหลือใช้ในแต่ละท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ต้องปลูกเพิ่มให้เปลืองทรัพยากร

ดังนั้น ถ้าไอเดียของการนำผลิตผลเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้แพร่หลายในวงกว้าง หรือจุดประกายให้สตาร์ทอัพสัญชาตไทย นำกล้วย อ้อย มะม่วง มะพร้าว ฯลฯ มาต่อยอดได้แบบนี้ ต่อให้ยังชอบกินเนื้อย่างอยู่ และไม่ต้องเป็นวีแกน ก็ช่วยโลกได้ในอีกทางเช่นกัน

1.

หนังจากเส้นใยสับปะรด

Piñatex® เป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องหนังที่ถูกต้องตามหลักวีแกนเป็นเจ้าแรกๆ ริเริ่มโดย Dr.Carmen Hijoso ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องหนังชาวสเปน ที่พลิกวิกฤตของการที่อุตสาหกรรมเครื่องหนังทำลายสภาพแวดล้อมในฟิลิปปินส์อย่างหนัก ให้เป็นโอกาสในการหาวัสดุทดแทนอย่าง “สับปะรด” มาผลิตเครื่องหนังแทน

vegan leather
Dr.Carmen Hijoso
Photo: ananas-anam.com

ดร.คาร์เมนเริ่มเป็นที่ปรึกษาให้กับอุตสาหกรรมส่งออกเครื่องหนังของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 และรู้สึกตกใจมากจากการรับรู้ถึงผลกระทบของสารเคมีในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ที่ทำลายสภาพแวดล้อมในฟิลิปปินส์อย่างรุนแรง 

แต่เธอก็ตระหนักดีว่า การจะหาตัวเลือกอื่นมาใช้แทนหนังแท้ และหนังเทียมอย่าง PVC (Polyvinylchloride) แบบปุบปับนั้น ไม่สามารถทำได้ทันที ดร.คาร์เมนจึงเริ่มทำการวิจัยและหาวัสดุทดแทนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

vegan leather
ชุดบารอง ตากาล็อก ตัดเย็บด้วยผ้าใยสับปะรด
Photo: pinterest.com

และแล้ว เธอได้แรงบันดาลใจจากชุดประจำชาติของฟิลิปปินส์อย่าง บารอง ตากาล็อก (Barong Tagalog) ซึ่งตัดเย็บด้วยผ้าใยสับปะรด ดร.คาร์เมนจึงทดลองนำใยสับปะรดมาผลิตเป็นเครื่องหนังอย่างจริงจัง จนสำเร็จในที่สุด ภายใต้ชื่อแบรนด์ Piñatex®

vegan leather
Photo: ananas-anam.com

วัตถุดิบตั้งต้นของ Piñatex® ได้จากใบสับปะรดที่เหลือทิ้งเป็นจำนวนมหาศาล จากการตัดแต่งผลผลิต ก่อนนำไปขายในท้องตลาด ใบสับปะรดเหล่านี้มีลักษณะเรียวยาว เหมาะแก่การสกัดเอาเส้นใยมาผ่านกระบวนการจนออกมาเป็นใยสับปะรดเป็นปุยสีขาวบริสุทธิ์ ที่เรียกว่า PALF

vegan leather
Photo: ananas-anam.com
vegan leather
Photo: ananas-anam.com

เมื่อนำ PALF ผสมกับพลาสติกที่ทำจากส่วนผสมของข้าวโพด แล้วนำมารีดผ่านเครื่องจักรก็จะได้ออกมาเป็น Piñafelt ซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้อตาข่ายแบบนอนวูฟเวน (non-woven) ที่จะถูกขนส่งทางเรือจากฟิลิปปินส์ไปยังสเปนหรืออิตาลี เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟินิชชิ่ง เช่น ใส่สี เคลือบสี ฯลฯ ให้ออกมาเป็นผืนหนังจากใยสับปะรดที่ได้มาตรฐาน และได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์ชั้นนำกว่า 1,000 แบรนด์ทั่วโลกเลือกไปใช้งาน เช่น Hugo Boss, H&M, Hilton Hotel Bankside ฯลฯ

vegan leather
Photo: ananas-anam.com
vegan leather
กระเป๋าถือแบรนด์ Luxtra ที่ผลิตจากหนังเส้นใยสับปะรดของ Piñatex®
Photo: luxtralondon.com

หนึ่งในแบรนด์เครื่องหนังที่ถือเป็นแบรนด์ที่เน้นความยั่งยืนอย่าง Luxtra แห่งลอนดอนก็ใช้หนังเส้นใยสับปะรดของ Piñatex® เป็นวัตถุดิบหลักในการออกแบบเป็นกระเป๋าและรองเท้าในหลายๆ คอลเล็กชั่น รวมถึงการเลือกใช้หนังที่ทำจากเนื้อมะม่วงจาก Fruitleather Rotterdam เช่นกัน

2.

หนังจากเนื้อมะม่วง

เพราะมะม่วงเป็นผลไม้ประจำถิ่นที่มีให้คนไทยกินได้ทุกฤดูกาล ถ้ามีเยอะจนกินไม่ทันก็นำไปแปรรูปเป็นมะม่วงแผ่น มะม่วงกวน เก็บไว้กินเป็นสแน็คแบบไทยๆ ได้อีกต่อ

เรากินมะม่วงกวนแผ่นสีทองจนเคยชิน จนอาจไม่ทันสังเกตว่า จริงๆ แล้วเทกส์เจอร์ความหนึบ แน่น เหนียวของมะม่วงแผ่น สามารถนำไปทำอะไรได้มากกว่าของกิน เหมือนอย่างที่ 2 หนุ่มชาวสเปน เจ้าของสตาร์ทอัพ Fruitleather Rotterdam นำเนื้อมะม่วงเหลือทิ้ง มาแปรรูปเป็นแผ่นหนังที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่เหมาะแก่การนำไปตัดเย็บรองเท้า-กระเป๋าได้อย่างน่าทึ่ง

vegan leather
Photo: materialdistrict.com

Koen Meerkerk และ Hugo de Boon คู่หูดีไซเนอร์ที่จบการศึกษาทางด้าน Spatial Design จากสถาบัน Willem de Kooning แห่งรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีความสนใจตรงกันในแง่การพัฒนาวัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะเจาะจงไปที่การทำธุรกิจหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ

เพราะจากสถิติทั่วโลกพบว่ามีอาหารเหลือทิ้งมากกว่า 1.3 พันล้านตัน โดยเฉพาะผลไม้ที่เราบริโภคกันนั้น ชาวไร่ชาวสวนต้องทิ้งผลผลิตที่ไม่สวย หรือไม่ได้มาตรฐานพอที่จะขายในตลาดไปมากถึง 40% 

โดยเฉพาะขยะที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ผู้บริโภคนิยมซื้ออาหารมากเกินไป ร้านค้าปลีกปฏิเสธการรับซื้อผักผลไม้ที่ไม่สวยไปวางขาย ทำให้ 10% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นหนาแน่นในภูมิภาคนี้ มาจากการเพาะปลูกผักผลไม้ที่ไม่เคยถูกนำมากินนั่นเอง

vegan leather
Koen Meerkerk และ Hugo de Boon
Photo: fruitleather.nl

เมื่อ Koen และ Hugo ตระหนักถึงปัญหานี้ พวกเขาจึงเริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัว อย่างปัญหาผลไม้เหลือทิ้งที่ล้นตลาดรอตเตอร์ดัม พวกเขาเลยทดลองนำมะม่วง ส้ม เนคทารีน แอปเปิ้ล ฯลฯ มาพัฒนาเป็นวัสดุทดแทนชนิดใหม่ ซึ่งจากการลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือน พวกเขาพบว่ามะม่วงมีศักยภาพมากที่สุด ถึงขั้นพัฒนาเป็นผืนหนัง ที่สามารถนำไปตัดเย็บเป็นกระเป๋าและรองเท้าได้ 

ขั้นตอนในการแปรรูปวัตถุดิบคร่าวๆ ก็คือ นำเนื้อมะม่วงที่เหลือทิ้งตามตลาดผลไม้มาบดและต้มเพื่อกำจัดแบคทีเรีย จากนั้นก็ผสมส่วนผสมจากธรรมชาติลงไปอีกหลายชนิด ก่อนนำส่วนผสมที่ได้มาแผ่ให้เป็นผืนและตากให้แห้ง โดยมีแค่กระบวนการทำให้เป็นผืนหนังเท่านั้นที่ต้องผสมโพลีเอสเตอร์ ซึ่งมาจากพลาสติกปิโตรเลียม เข้าไป จึงจะได้ผลัพธ์ออกมาเป็นผืนหนังที่นำไปใช้งานได้

vegan leather
Photo: lifeandsoulmagazine.com

เมื่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ พวกเขาจึงก่อตั้ง Fruitleather Rotterdam ขึ้น ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี โดยมีวิสัยทัศน์ที่ไม่ใช่แค่เผยแพร่การตระหนักรู้ในเรื่องขยะจากอาหารเท่านั้น แต่ยังต้องการแสดงให้เห็นว่า ใครๆ ก็สามารถนำขยะเหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าได้

งานนี้เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะ Fruitleather Rotterdam ไม่เพียงแค่ลดปัญหาขยะจากอาหารได้เท่านั้น แต่ยังลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมฟอกหนังสัตว์อีกด้วย

vegan leather
Photo: fruitleather.nl

ทุกๆ ปี มีสัตว์มากกว่าพันล้านชีวิตถูกฆ่าเพื่อนำหนังมาใช้งาน ซึ่งกระบวนการฟอกหนังทั่วโลกนี่เองที่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 650 ล้านกิโลกรัม

การนำมะม่วงล้นตลาดมาแปรรูปเป็นผืนหนังสำหรับตัดเย็บข้าวของเครื่องใช้ได้ จึงเป็นทางออกที่ลงตัว นำไปสู่เป้าหมายต่อไปของ Fruitleather Rotterdam ที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายในในอนาคต

3.

หนังจากผิวแอปเปิ้ล

ถ้าเนื้อมะม่วงสามารถนำมาทำเป็นหนังได้ แอปเปิ้ลเองก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีไม่แพ้กัน

vegan
สวนแอปเปิ้ลใน South Tyrol ทางตอนเหนือของอิตาลี

Frumat เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค Tyrol ทางตอนเหนือของอิตาลี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกแอปเปิ้ลชั้นดี แน่นอนว่าชาวสวนต่างก็ต้องประสบปัญหาแอปเปิ้ลล้นตลาดมานานปี จนในที่สุด Frumat จึงได้จัดการนำแอปเปิ้ลที่ไม่มีใครต้องการมาสกัดจนได้วัตถุดิบ cellulose-based ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติเด่นอย่างลวดลายบนพื้นผิวที่หลากหลาย และความหนาที่พอดีจนสามารถนำมายิงเลเซอร์ได้อย่างสวยงาม

vegan leather
a prototype bag made of apple skin, a material developed by Italian company Frumat
Photo: www.wallpaper.com

ด้วยคุณสมบัติที่เพีนยบพร้อม หนังจากผิวแอปเปิ้ลจึงเหมาะแก่การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์ สามารถนำไปตัดเย็บเป็นกระเป๋า รองเท้า ซองใส่นามบัตร เบาะหุ้มเก้าอี้ ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นหนัง PU (Poly Urethane) ที่มีส่วนผสม 50% ทำจากเส้นใยจากแอปเปิ้ล และอีก 50% เป็นโพลียูเรเทน 

นอกจากนี้ เส้นใยอีกส่วนยังสามารถนำไปทำกระดาษ ที่เหมาะแก่การนำไปแปรรูปเป็นกระดาษทิชชู และกระดาษห่อผลิตภัณฑ์ได้ดีอีกด้วย

4.

หนังจากกากองุ่น

Vegea เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งขึ้นในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี มาตั้งแต่ปี 2016 เน้นพัฒนาวัสดุชีวภาพสำหรับใช้ในวงการแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และขนส่งมวลชน โดยเป็นการหาสมดุลระหว่างเคมีภัณฑ์และพืชผลทางการเกษตรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

vegan leather
Photo: https://www.instagram.com/p/BvewSjTB4lF/?utm_source=ig_web_copy_link

Vegea จึงเน้นพัฒนาตัวเลือกจากพืชไปจนถึงการสกัดน้ำมันสังเคราะห์ สมความหมายของชื่อ โดย Veg มาจากคำว่า Vegan ผสมกับคำว่า Gea หมายถึง Mother Earth ซึ่งก็คือ การนำทรัพย์ในดินอย่างน้ำมันมาผสานให้เกิดประโยชน์ร่วมกับทรัพย์บนดินอย่างพืช ผัก ผลไม้นั่นเอง

vegan leather
Photo: https://www.instagram.com/p/BvljrEdBHTA/?utm_source=ig_web_copy_link

และแน่นอนด้วยความที่อิตาลีอุดมไปด้วยไร่องุ่นสำหรับผลิตไวน์ จึงมีกากองุ่นเหลือทิ้งจำนวนมาก เหมาะแก่การนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นผืนหนังสีสวยไม่ต่างจากสีของไวน์ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของ Vegea ก็ว่าได้

vegan leather
Photo: https://www.instagram.com/p/B-g9RzGCWQ_/?utm_source=ig_web_copy_link
vegan leather
Photo: https://www.instagram.com/p/B0HBMZWIcWU/?utm_source=ig_web_copy_link

คุณภาพชิ้นงานของ Vegea ได้มาตรฐานจนได้รับคัดเลือกให้เป็นพาร์ทเนอร์กับ H&M ในการผลิตกระเป๋าถือและรองเท้า นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับรถยนต์แบรนด์ลักชัวรี่อย่าง Bently ที่ใช้หนังจาก Vegea บุภายในรถเพื่อฉลองระครบรอบ 100 ปีอีกด้วย

5.

หนังจากดอกเห็ดยักษ์

MuSkin เป็นแบรนด์ที่คิดค้นและพัฒนาโดย Zero Grado Espace บริษัทนวัตกรรมชั้นนำของอิตาลี ที่มุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลัก

vegan leather
Photo: lifegate.com

หนึ่งในนั้นคือ การนำเห็ด Phellinus ellipsoideus ขนาดยักษ์ ที่มีสีน้ำตาลตามธรรมชาติ และเป็นเห็ดชนิดที่กินไม่ได้ พบมากในป่าเขตร้อนแถบมณฑลฟูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน มาผ่านกรรมวิธีจนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผืนหนังทำจากเห็ด ที่มีหน้าตาคล้ายหนังวัวที่เราคุ้นตา ทั้งยังให้สัมผัสที่นุ่ม และมีเฉดสีน้ำตาลไล่โทนอ่อนแก่สวยราวกับแก่นไม้

vegan leather
Photo: facebook.com/mushroomleather

นอกจากจะมีเฉดสีที่สวยงามตามธรรมชาติแล้ว MuSkin ยังมีคุณสมบัติเหมือนกับผ้า คือ ดูดซับและระบายความชื้นได้อย่างรวดเร็ว แม้จะไม่สามารถกันน้ำได้ แต่สามารถเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำได้จากการเคลือบแว็กส์ตามธรรมชาติเพิ่มเข้าไป

vegan leather
Photo: facebook.com/mushroomleather

หนังเห็ด MuSkin สามารถนำมาทำเป็นรองเท้า หมวก กระเป๋า สายนาฬิกา หรือจะเอามาบุด้านในเฟอร์นิเจอร์ก็ทำได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ ด้วยคุณสมบัติจากธรรมชาติแท้ๆ ทำให้ MuSkin สามารถสัมผัสกับผิวหนังได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการแพ้แต่อย่างใด

6.

หนังจากเนื้อและหนามของแคคตัส

เมื่อ 2 ผู้ประกอบการชาวเม็กซิกันอย่าง Adrian Lopez และ Marte Cazarez ตระหนักถึงปัญหาของอุตสาหกรรมผลิตและฟอกหนังที่ก่อมลภาวะเป็นอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่หนังแท้มีสถานะเป็นวัตถุดิบหลักในวงการแฟชั่นอย่างเลี่ยงไม่ได้

vegan leather
Adrian Lopez และ Marte Cazarez
Photo: https://desserto.com.mx/adriano-di-marti

หนังแท้ส่วนใหญ่ในโลกนี้ผลิตจากหนังวัว ซึ่งการจะเลี้ยงวัวให้โตพอที่จะได้ผืนหนังมาเป็นวัตถุดิบนั้นต้องใช้น้ำมากกว่า 1,800 แกลลอนต่อปี จากนั้นก็ต้องมาผ่านกระบวนการฟอกหนังที่ต้องใช้ปริมาณน้ำมากยิ่งขึ้นไปอีก

รวมถึงการต้องใช้สารเคมีเป็นพิษในการฟอกหนังที่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยตรง ที่สำคัญคือ ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ธุรกิจแฟชั่นจึงก่อให้เกิดขยะมากถึง 100 ล้านตันต่อปี

เอเดรียนจึงนำประสบการณ์ที่เคยทำงานในธุรกิจหนังที่ใช้ในแวดวงยานยนต์ มาผนวกเข้ากับองค์ความรู้ของมาร์เต ที่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับหนังในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาก่อน ในการตามหาวัตถุดิบที่จะมาทดแทนหนังวัวได้

สิ่งที่พวกเขาตามหา คือ วัสดุทดแทนจากพืช (plant based) และกลับกลายเป็นว่าพืชที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การนำมาผลิตเป็นหนังมากที่สุด ก็คือ แคคตัส หรือกระบองเพชร พืชท้องถิ่นของเขตทะเลทราย ที่พวกเขาเห็นมาตั้งแต่เด็กจนโตนั่นเอง

พืชชนิดนั้นก็คือ กระบองเพชรที่มีลักษณะเหมือนลูกแพร์ที่เต็มไปด้วยหนาม ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปท่ามกลางความร้อนแล้งของเขตทะเลทรายอย่างเม็กซิโก

vegan leather

แคคตัสที่เหมาะแก่การนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ เป็นแคคตัสลูกแพร์ เลือกเฉพาะตัดเฉพาะส่วนที่แก่จนได้ที่มาใช้งาน เพื่อเปิดโอกาสให้ต้นอ่อนใหม่ได้เติบโตขึ้นทดแทน ทำให้มีผลผลิตพร้อมใช้งานทุก 6-8 เดือน โดยแคคตัสหนึ่งต้นสามารถให้ผลผลิตไว้ใช้งานได้นานถึง 8 ปี

ทั้งคู่ใช้เวลา 2 ปีในการเริ่มต้นก่อร่างสร้าง Desserto ขึ้นมา ด้วยการลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง กว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และเป็นผืนหนังที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นต่างๆ ได้อย่างเนี้ยบ สวย ยืดหยุ่น ระบายอากาศได้ดี ไม่เป็นคราบ และทนทานใช้งานได้นานกว่า 10 ปี  การันตีคุณภาพด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวด International Green Product ครั้งที่ 7 ประจำปี 2020 ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี มาครอง

vegan leather
Photo: desserto.com

ในนามของ Desserto พวกเขาหวังว่า การผลิตหนังจากแคคตัสไม่ได้เป็นการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้านท้องถิ่นในเม็กซิโกอีกด้วย

7.

หนังจากแบคทีเรียเซลลูโลสในน้ำมะพร้าว

หนึ่งในวัสดุที่เป็นความหวังแห่งอนาคต ก็คือ วัสดุคอมโพสิทชีวภาพ (Biocomposite) ที่เป็นการนำเอาพืช สัตว์ เชื้อรา หรือแหล่งเชื้อแบคทีเรียมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างวัสดุที่มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน ใช้งานแทนวัสดุดั้งเดิมอย่างไม้ พลาสติก ปูน ฯลฯ 

และน้ำมะพร้าวคือหนึ่งในส่วนประกอบที่นิยมนำมาใช้เป็นวัสดุคอมโพสิทชีวภาพ และเป็นพระเอกที่แบรนด์ Malai แห่งประเทศอินเดีย เลือกนำมาผลิตหนังทดแทน

vegan leather
Photo: http://made-from-malai.com/

เรื่องราวของ Malai เริ่มต้นในปี 2015 เมื่อ Zuzana Gombosova นักวิจัยวัสดุและดีไซเนอร์จากสโลวาเกีย และ Susmith C S นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย พบกันที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ในช่วงที่ซูซานาทำงานด้านแบคทีเรียเซลลูโลสอยู่ที่นั่นมานานกว่า 3 ปี 

และเมื่อเห็นพ้องต้องกันว่า แบคทีเรียเซลลูโลสคือความหวังของวัสดุทดแทนที่ยั่งยืน ทั้งคู่จึงเริ่มต้นนำมะพร้าวมาทดลองใช้เป็นวัสดุทดแทน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้น้ำมะพร้าวที่มีเหลือมากมายจนต้องทิ้งไปอย่างไร้ค่า

vegan leather
Zuzana Gombosova และ Susmith C S
Photo: http://made-from-malai.com/

ปี 2017 พวกเขาย้ายมาปักหลักที่ Cherthala& Fort Kochi รัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสวนมะพร้าวสมความหมายของคำว่าเกรละ ที่แปลว่า ดินแดนแห่งมะพร้าว ที่ที่พวกเขาจะได้ลงมือสร้างสรรค์ Malai ให้เป็นรูปเป็นร่างยิ่งขึ้น

กรรมวิธีในการผลิตหนังทดแทนจากแบคทีเรียเซลลูโลสในน้ำมะพร้าวเหลือทิ้ง เริ่มต้นด้วยกระบวนการกลั่นและผสมน้ำมะพร้าวเข้ากับเส้นใยธรรมชาติ เช่น กล้วย ปอ กัญชา หรือใบสัก เพื่อให้เกิดผิวสัมผัสที่มีคุณสมบัติทนทานคล้ายหนังให้ได้มากที่สุด โดยไม่ใช้สารที่เป็นพิษ และไม่ฉาบเคลือบพลาสติกเลยแม้แต่ขั้นตอนเดียว 

ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจึงไม่ใช่แค่เป็นมิตรกับชาววีแกนเท่านั้น แต่ยังหมดเปลืองทรัพยากรในการผลิตน้อยกว่ากระบวนการผลิตหนังแท้อีกด้วย

vegan leather
Photo: http://made-from-malai.com/

ความสำเร็จของ Malai พิสูจน์ได้จากรางวัลการันตีจากหลายเวที เช่น รางวัล Elle Decoration  International Design Awards หรือ EDIDA จาก Elle Decor Czech Republic สาขา Talent of the Year ประจำปี 2019 

รางวัล Circular Design Challenge ประจำปี 2020 จาก IMG Reliance และ UN India ซึ่งเป็นรางวัลด้านความยั่งยืนทางแฟชั่นที่สำคัญท่ี่สุดในอินเดีย

vegan leather
Photo: http://made-from-malai.com/

ผลิตภัณฑ์หนังจากแบคทีเรียเซลลูโลสในน้ำมะพร้าวของ Malai ถูกนำเสนอในรูปแบบของแอ็กเซสเซอรี่ที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ Studio Malai ที่มีทั้งกระเป๋า รองเท้า เข็มขัด ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ 

vegan leather
Photo: http://made-from-malai.com/

ล่าสุด Malai เพิ่งระดมทุนเพิ่มเติม ผ่าน crowdfunding บนแพลทฟอร์ม HitHit.cz ในสาธารณรัฐเช็ก ได้เงินมาอีกกว่า 18,000 ยูโร เพื่อเป็นทุนในการใช้พัฒนาเครื่องจักรสำหรับผลิตวัสดุผสมทางชีวภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นำไปสู่โปรเจคท์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อ้างอิง