©ulture

“ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านต้องการพูด แต่ข้าพเจ้าจะปกป้องสิทธิในการพูดของท่านจนชีวิตจะหาไม่”

อีฟลีน เบียทริซ ฮอล (Evelyn Beatrice Hall) นักเขียนชาวอังกฤษเขียนหนังสือชื่อ The Friends of Voltaire ตีพิมพ์ออกมาในปี 1906 โดยมีข้อความหนึ่งกล่าวไว้เช่นนั้น คำกล่าวนี้กลายเป็นข้อความที่ถูกนำไปอ้างอิงอย่างแพร่หลาย เพราะมันสะท้อนความเชื่อเรื่อง ‘เสรีภาพในการพูด’ (Freedom of Speech) ของนักปรัชญาในยุค ‘แสงสว่างทางปัญญา’ คนสำคัญอย่าง วอลแตร์ (Voltaire) ผู้ทั้งโดนแบน โดนขับไล่ จับขังคุก เพียงเพราะงานเขียนของเขาท้าทายต่อสถาบันหลักอย่าง ศาสนา ชนชั้นปกครอง และความเชื่อเดิมๆ

อีฟลีน เบียทริซ ฮอล

การจำกัด ‘สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก’ (Freedom of Expression) ในทำนองเดียวกับที่วอลแตร์เจอเกิดขึ้นทั่วโลกตลอดรายทางประวัติศาสตร์ เช่น การเผาทำลายหนังสือโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การประกาศให้หนังสือบางเล่มเป็นหนังสือต้องห้าม หรือล่าสุดในประเทศไทยที่มีการบุกยึดหนังสือจำนวนหนึ่งของบางสำนักพิมพ์ หรือการออกมาตรการควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังเข้มข้น

หน้าปกหนังสือ The Friends of Voltaire

คล้ายสังคมของเรายังย่ำอยู่ที่เดิมในยุโรปศตวรรษที่ 18 หรืออาจย้อนไปไกลมากกว่านั้นเสียอีก เพราะหากพิจารณาจากยุคแสงสว่างทางปัญญา ด้วยการเติบโตของการใช้ ‘เหตุและผล’ และการ ‘ตั้งคำถาม’ ถึงสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล การก้าวออกมาจาก ‘พื้นที่ส่วนตัว’ สู่การถกเถียงใน ‘พื้นที่สาธารณะ’ ของผู้คนก็ได้ขยายวงเติบโตอย่างมหาศาล พร้อมกับความรู้และความคิดเห็นที่กระจายสู่วงกว้างในรูปแบบหนังสือ จากเทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนาขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน อันจะเห็นได้จากในฝรั่งเศสที่เหล่านักคิดในยุคแสงสว่างทางปัญญามักจับกลุ่มพูดคุย หรืออ่านหนังสือแลกเปลี่ยนกันในสถานที่ที่เรียกว่า ‘ซาลอง’ (salon) หรือในอังกฤษที่การถกเถียงอย่างเสรีจะเกิดขึ้นในสถานที่ที่ถูกเรียกว่า public-house ซึ่งกร่อนจนกลายเป็นคำว่า ‘ผับ’ อันเป็นชื่อเรียกสถานที่กินดื่มยามราตรีในปัจจุบัน

สถิติชี้ให้เห็นว่า ในปารีสทศวรรษที่ 1720 มีจำนวนร้านกาแฟอันเป็นแหล่งพบปะพูดคุยของผู้คนแค่ประมาณ 280 แห่ง แต่มันกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 600 แห่งในทศวรรษ 1750 และ 900 แห่งในปี 1789 ซึ่งเป็นห้วงปีของการปฏิวัติฝรั่งเศส ก่อนวัฒนธรรมเหล่านี้จะแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคยุโรป

ภาพวาดการพบปะกันในซาลองของปัญญาชนชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 / Photo: snl.on

บันทึกถึงความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกนี้เป็นหลักฐานสำคัญให้นักประวัติศาสตร์รุ่นต่อมาทำความเข้าใจความเชื่อมโยงและอิทธิพลของแนวคิดในยุคแสงสว่างทางปัญญาที่ส่งผลต่อสังคมสมัยใหม่

เจอเกน ฮาเบอร์มาส ในวัยหนุ่ม

หนึ่งในนั้นคือนักปรัชญาชาวเยอรมันนาม เจอเกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Structural Transformation of the Public Sphere ตีพิมพ์ออกมาในปี 1962 นำเสนอแนวคิดของ ‘ปริมณฑลสาธารณะ’ (Public Sphere) ตามอย่างซาลองในฝรั่งเศส ที่ประชาชนจะแสดงความเห็นได้อย่างเสรีเพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของภาครัฐผ่านการ ‘วิพากษ์วิจารณ์’ โดยเขาเน้นย้ำว่ามันต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มี ‘การคุกคาม’ โดยผู้มีอำนาจ ดังที่ปรากฏข้อความท่อนหนึ่งว่า

“เมื่อการสนทนาในที่สาธารณะพุ่งเป้าสู่เนื้อหาอันเกี่ยวข้องกับการกระทำของรัฐ การใช้อำนาจบีบบังคับโดยรัฐจึงเกิดขึ้นคู่กันเสมอ แต่มันก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลสาธารณะแต่อย่างใด”

อาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างหลายอย่างที่ผิดเพี้ยน และจำเป็นต้องปรับตัวตามความคิดที่เปลี่ยนไปของยุคสมัย ล้วนเริ่มต้นมาจากการถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ และหนึ่งในโครงสร้างเดิมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ‘การแยกอำนาจของศาสนาออกจากอำนาจทางการเมือง’ (secularisation) ในศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีแนวคิดของวอลแตร์เป็นตัวตั้งต้นสำคัญ

อำนาจของโลกเผด็จการก่อนโลกสมัยใหม่ยืนอยู่บนพื้นฐานของสองสถาบันหลัก คือรัฐ อันหมายถึงกษัตริย์และชนชั้นปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และศาสนจักร ซึ่งบางครั้งผลของมันก็เลวร้าย เมื่อสงครามบางสงครามถูกอ้างความชอบธรรมในนามของ ‘พระเจ้า’ เช่น ‘สงคราม 30 ปี’ ที่สร้างความเสียหายไปทั่วภูมิภาคยุโรปในศตวรรษที่ 17

วอลแตร์ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการยึดติดกับสิ่งเหนือธรรมชาติและความงมงาย เขาจึงใช้ปริมณฑลสาธารณะในการต่อสู้วิพากษ์วิจารณ์เพื่อขยับขยายขอบเขตเสรีภาพในการพูดอย่างแข็งขัน ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากคัดค้านและพยายามสะกัดกั้นให้โลกหยุดเคลื่อนไหว เพียงเพราะพวกเขามองว่านั่นคือ ‘การปลุกปั่น’ และลบล้างอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตนยึดถือไว้

ภาพวาดแสดงผลกระทบของ ‘สงคราม 30 ปี’ / Photo: commons.wikimedia.org

แน่นอน ความจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ลงร่องลงรอยกับความเชื่อดั้งเดิมและถูกกล่าวออกมาอย่างเสรีทิ่มแทงคนอีกฝ่ายจนรู้สึกรำคาญใจ ผลของมันทำให้วอลแตร์ถูกเนรเทศในปี 1713 ก่อนจะถูกจับขังในคุกบัสตีย์ในปี 1717 เนื่องจากไปวิจารณ์เสียดสีรัฐบาลและ ฟิลิป ชาร์ล ดอร์เลอ็องส์ ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (Philippe Charles d’Orléans, Duc d’Orléans) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของฝรั่งเศสในสมัยนั้นเข้า

แม้จะมีปริมณฑลสาธารณะเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยของเขา แต่วอลแตร์ก็ไม่อาจหลีกหนีผลกระทบอันเลวร้ายในชีวิตจากการพยายามพูดความคิดของตนอย่างเสรีได้ นั่นเพราะผู้มีอำนาจเดิมยังไม่เข้าใจแนวคิดของ ‘ปริมณฑลสาธารณะ’ ที่เรียกร้อง ‘ความใจกว้าง’ จากทุกฝ่าย พวกเขาเจ็บแค้นและอยากลงโทษใครก็ตามที่วิจารณ์หรือเสียดสีตนเจียนตาย

ภาพวาด ฟิลิป ชาร์ล ดอร์เลอ็องส์ ดยุกแห่งออร์เลอ็อง / Photo: commons.wikimedia.org

คำถามคือจะเป็นอย่างไร ถ้าผู้มีอำนาจเข้าใจในคอนเซ็ปต์นี้ และยอมรับได้ว่าการถกเถียงในสังคมหนึ่งจำต้องเกิดขึ้นอย่างเสรี และไร้การแทรกแซง ที่หากยึดตามสำนวนของฮาเบอร์มาสก็ต้องว่า มันก็เพื่อ ‘ผลประโยชน์ของส่วนรวม’ ในสังคมที่ทุกคนต่างกำลังอาศัยอยู่ร่วมกัน

ขออนุญาตอ้างอิงถึงบางข้อความเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะในความเรียง ‘ตอบคำถาม: อะไรคือแสงสว่างทางปัญญา’ (Beantwortung der Frage: Was ist Aufklärung?)  ของ อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) ที่เคยอ้างอิงไว้ทั้งใน แสงสว่าง EP.1 และ EP.2 อีกสักครั้ง โดยคานต์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า

“การเกิดขึ้นของแสงสว่างทางปัญญาต้องการเพียง ‘เสรีภาพ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเสรีภาพที่อันตรายน้อยที่สุด นั่นคือ ‘เสรีภาพในการใช้เหตุผล’ ของตนในที่สาธารณะในทุกเรื่อง” 

และ

“การไม่ยอมให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามอย่างเป็นสาธารณะจากทุกคน จะเป็นการทำลายล้างความก้าวหน้าและการปรับตัวของมนุษยชาติ”

อันจะเห็นได้จากสังคมที่เต็มไปด้วยคำเสียดสี hate speech รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงกระทำต่อผู้เห็นต่างไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะสังคม ‘ไม่มี’ ปริมณฑลสาธารณะที่เราจะเสนอความคิดเห็นและรับฟังกันอย่างมีเหตุมีผล เปิดกว้าง และ ‘ไม่ผิดกฎหมาย’

วอลแตร์

เปรียบเป็นพื้นที่แคบๆ ที่ผู้คนฆ่าฟันกันเพียงเพื่อแค่แย่งชิงอากาศหายใจ เพราะมันไม่มีพื้นที่ในการสูดอากาศบริสุทธิ์ได้มากพอ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมการปฏิวัติชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินจึงเกิดขึ้นในยุคแสงสว่างทางปัญญาและหลังจากนั้น

ในปี 1778 วอลแตร์กลับมาสู่ปารีสอีกครั้งด้วยสภาพป่วยไข้ในวัยชรา หลังจากระหกระเหเร่ร่อนจากผลกระทบของการพยายามขยายขอบเขตของเสรีภาพทั้งในการพูดและแสดงออกมานานถึง 28 ปี 

บนเตียงนอนก่อนเขาจะสิ้นใจ บาทหลวงจากโบสถ์คาธอลิกมาเยี่ยมบ่อยครั้งเพื่อชักจูงให้วอลแตร์ ‘สารภาพบาป’ครั้งสุดท้ายตามหลักศาสนา ทว่านักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่กลับนอนนิ่งไม่ไหวติง และไล่บาทหลวงคนนั้นออกไปด้วยประโยคที่ว่า “กรุณาให้ข้าพเจ้าตายอย่างสงบเถอะ”

ศตวรรษต่อมานักคิดนักเขียนรุ่นน้องอย่าง วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) กล่าวว่า “วอลแตร์คือ 1789” ซึ่งหมายถึงผลงานด้านความคิดของเขาในยุคแสงสว่างทางปัญญามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในปีนั้นนั่นเอง

 

อ้างอิง

  • Chris Zacharia. Enlightenment Ideas That Changed the World. https://bit.ly/3ixmPYc
  • New Hartford Central Schools. Immanuel Kant: What is Enlightenment?. https://bit.ly/36FNa47
  • History.com Editors. Enlightenment. https://bit.ly/2GoWkHx
  • khanacademy.org. The Enlightenment. https://bit.ly/3nTwv33
  • John Robertson. Enlightenment: A Very Short Introduction.
  • วราภรณ์ วนาพิทักษ์. ทฤษฎีวิพากษ์ของเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส : พื้นที่สาธารณะทางการเมือง และเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ต. https://bit.ly/3oalN8s
  • สุรพศ ทวีศักดิ์. Secularism ไม่ใช่การละทิ้งศาสนา.  https://bit.ly/34jaBi5
  • EVAN ANDREWS. 10 Things You Should Know About Voltaire. https://bit.ly/34ioEUM