©ulture

หลายคนอาจจะส่ายหน้ากับคำมั่นจะเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรีไทยที่เคยประกาศไว้เมื่อกลางเดือนมิถุนายน เพราะเมื่อคิดว่าคำสัญญามี 2 ประเภท คือ 1.ทำได้ และ 2.ทำไม่ได้ คำสัญญาครั้งนี้ดูจะมีแนวโน้มลงเอยด้วยการกลายเป็นคำสัญญาในประเภทหลังเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในหน้าประวัติศาสตร์ของผู้นำโลก มีการลั่นวาจาที่กำหนดจุดหมายปลายทางของความสำเร็จด้วย ‘วัน’ อยู่มากมาย ทั้งในระดับผู้นำประเทศ หรือแม้แต่ผู้นำในฐานะผู้จัดการทีมฟุตบอลสักทีม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นคำสัญญาที่กำหนดภารกิจให้เสร็จสิ้นเป็นรูปธรรมชัดเจนภายใน ‘100 วันแรก’ หลังจากพวกเขาเข้ารับตำแหน่ง และการกำหนดวันเช่นนั้นมักเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตที่ต้องได้รับการคลี่คลายอย่างเร่งด่วน

โจ ไบเดน

ฮือฮาที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคงเป็น โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา ที่ให้คำมั่นในตอนเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2021 ว่า จะทำให้ประชาชนชาวอเมริกันฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสภายใน 100 วันแรกในวาระของตน ซึ่งเขาก็ทำได้ก่อนกำหนดตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนจะเพิ่มเป้าหมายเป็นสองเท่า และทำได้ตามเป้าอีกครั้งในเดือนเมษายน ยังไม่นับนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือการแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในหลายๆ เรื่อง

ว่าแต่การกำหนดเป้าหมายด้วยจำนวนวันที่ชัดเจนเช่นนี้สำคัญอย่างไร?

ย้อนกลับไปปี 1933 ในช่วงเวลามืดมิดที่สุดของเศรษฐกิจโลกและอเมริกาซึ่งได้รับขนานนามว่า Great Depression ตลาดหุ้นดิ่งลงมาถึง 85% จากจุดสูงสุดในปี 1929 ทำให้คนทำงานมากถึง 24.9% หรือ 1 ใน 4 ตกงาน ความอดอยากแผ่ขยาย แต่แล้ว แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 32 ของอเมริกา และเขารู้ดีว่ามันคือหน้าที่ที่จะพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้อย่างเร็วที่สุด

ภายใน 100 วันแรก รูสเวลต์ผ่านร่างกฎหมายหลัก 15 ฉบับที่ออกแบบมาเพื่อเยียวยาผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่โดยเฉพาะ กระทั่งวันที่ 24 กรกฏาคม 1933 เขาก็ออกแถลงการทางวิทยุและได้ริเริ่มคำศัพท์ ‘100 วันแรก’ หรือ ‘first 100 days’ ขึ้น

“เราทุกคนต่างต้องการโอกาสเล็กน้อยที่จะอยู่กับความคิดเงียบๆ เพื่อสำรวจและซึมซับภาพของเหตุการณ์มากมายของหนึ่งร้อยวันที่ถูกอุทิศให้แก่จุดเริ่มต้นของกงล้อแห่งแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (New Deal)”

นับแต่นั้น ‘100 วันแรก’ จึงกลายมาเป็นมาตรฐานการทำงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ รุ่นถัดๆ มา ที่สื่อมวลชนต่างคาดหวัง รวมถึงส่งมาตรฐานนี้ให้กลายเป็นวัฒนธรรมย่อยที่ผู้คนทั่วโลกอยากเห็นจากผู้นำของตนไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับองค์กร หรือประเทศก็ตาม

แน่นอนว่า 100 วันแรกไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราวทั้งหมด จากการสำรวจพบว่า คนที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้นำองค์กรมากถึง 92% รวมถึงคนในองค์กรเองที่ถูกโปรโมตให้ขึ้นมารับหน้าที่ผู้นำถึง 72% ต่างต้องใช้เวลามากกว่า 90 วันในการปรับตัวก่อนจะเดินหน้าบริหารองค์กรได้อย่างเต็มสปีด หลายคนยอมรับว่าพวกเขาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึงจะบรรลุเป้าหมายสำคัญที่วางเอาไว้

คนตกงานจำนวนมากกำลังต่อแถวเพื่อรับซุปฟรี ในช่วงเหตุการณ์
The Great Depression

ใช่ ผู้นำที่เพิ่งเข้าสู่บทบาทใหม่สามารถหกล้ม และมีโอกาสเยียวยารักษาตัวเองให้กลับมาใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม ก้าวแรกก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนสำนวนจีนที่ว่า ‘หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก’ แม้ 100 วันแรกจะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราวทั้งหมด แต่ก็อาจมองได้ว่ามันคือจุดจบของการเริ่มต้นอยู่ดี โดยเฉพาะเรื่องคำมั่นสัญญาที่หากพูดออกมา สิ่งที่ควรทำให้ได้คือการรักษามัน

ผลการวิจัยของนักการตลาด อยีเล็ต กนีซี (Ayelet Gneezy) และ นิโคลัส เอเพลย์ (Nicholas Epley) พบว่า เป็นเรื่องถูกต้องตามสามัญสำนึกที่ผู้คนจะรู้สึกไม่พอใจเมื่อสัญญาของตนถูกทำให้แตกหักพังทลาย แต่ในทางกลับกันการรักษาสัญญาให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ดีกว่านอกเหนือสัญญาก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้คนพึงพอใจ

“เมื่อคุณทำตามสัญญา มันไม่ใช่แค่การทำเรื่องราวดีๆ ให้แก่ใครบางคน แต่คุณยังได้เติมเต็มข้อตกลงทางสังคม และแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนที่น่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจ”

มองในแง่นี้ การรักษาคำมั่นสัญญา ‘100 วันแรก’ สำหรับผู้นำ หรือแม้กระทั่งระดับความสัมพันธ์ในระดับปัจเจกระหว่างคนรัก ครอบครัว มิตรสหาย จึงเป็นประหนึ่งหมุดหมายที่ใช้ตกลงร่วมกันว่าผู้ให้คำมั่นนั้นจริงจังกับคำสัญญาที่หมายถึงการนำมาสู่อนาคตที่ดีกว่ามากเพียงใด

มันทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อคนอื่น เป็นตัวกระตุ้นตัวเอง ผลักดันให้เราเดินไปข้างหน้า เป็นสารตั้งต้นในการกำหนดกลยุทธ์ที่จะลงไปสู่รายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนอีกทีหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน เมื่อไรก็ตามที่คุณผิดคำสัญญาซ้ำๆ ความน่าเชื่อถือและความน่าไว้วางใจก็จะค่อยๆ เลือนหายไปอย่างอัตโมมัติ

“การรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามแบบซูเปอร์ฮีโร่” นิโคลัส เอเพลย์ แสดงความคิดเห็น “ทำในสิ่งที่คุณได้สัญญาเอาไว้ และคนอื่นก็จะพอใจเอง คุณไม่จำเป็นต้องเป็นซูเปอร์ฮีโร่เพื่อจะทำให้คนอื่นซาบซึ้งใจ หรือทำอะไรมากไปกว่าสัญญาที่เคยให้ไว้”

และใช่ ในภาวะวิกฤตที่เราต้องการใครสักคนมาเป็นผู้นำ เราก็ไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องเป็นซูเปอร์ฮีโร่สาดลำแสงเหนือมนุษย์ขจัดภัยร้าย สิ่งที่ผู้คนต้องการนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ แค่ผู้นำสามารถรักษาสัญญาที่เคยมอบไว้แก่ประชาชนให้ได้ก็น่าจะเพียงพอ

100 วันแรกไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราวทั้งหมด แต่มันคือจุดสุดท้ายของการเริ่มต้น และมันคงจะง่ายกว่าที่ผู้นำจะไม่หกล้มตีลังกาตั้งแต่ก้าวขาขึ้นมาเป็นผู้นำในวันแรกๆ นั่นคือความสำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต เมื่อมนุษย์ทุกคนต่างก็มีคำสัญญาในอุดมคติของตนแค่ประเภทเดียว นั่นคือ คำสัญญาที่ ‘ต้อง’ ทำได้

สำหรับผู้นำระดับประเทศ การกำหนดกรอบเวลา เช่น ‘100 วัน’ อาจเป็นแค่ช่วงขณะสั้นๆ ของการดำรงตำแหน่งที่กินระยะเวลาหลายปี แต่นั่นคือช่วงเวลาที่พวกเขาจะแสดงศักยภาพของตนให้ประจักษ์ สร้างความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถนำทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปพร้อมกันภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องมาพูดพร่ำทำสัญญารายวันที่เปลี่ยนผันชนิดรายชั่วโมง หรือออกปากพูดคำมั่นเพ้อพกลอยลมจับต้องไม่ได้ เพราะกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าใครคนนั้นไม่เคยทำตามสัญญาได้เลยสักวินาทีเดียว

 

อ้างอิง