©ulture

“หลังจากทำให้ฝูงปศุสัตว์ของตนโง่เง่า และพยายามปกป้องอย่างระแวดระวังไม่ให้ฝูงปศุสัตว์เชื่องๆ เหล่านั้นกล้าเดินออกจากคอกโดยไร้เชือกสนตะพายที่ผูกเอาไว้อย่างแน่นหนา ผู้ปกครองก็จะแสดงให้ปศุสัตว์เห็นถึงอันตรายที่จะคุกคามพวกเขา หากพวกเขาพยายามจะเดินออกจากคอกด้วยตัวเอง”

ปี 1784 นักปรัชญาชาวเยอรมันคนสำคัญอย่าง อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) เขียนความเรียงชื่อ ‘ตอบคำถาม: อะไรคือแสงสว่างทางปัญญา’ (Beantwortung der Frage: Was ist Aufklärung?) โดยในย่อหน้าแรกเขาขึ้นต้นประโยคไว้อย่างทรงพลังว่า 

“แสงสว่างทางปัญญาคือการเติบโตหลุดจากความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาที่ตนเป็นผู้ก่อขึ้น ความอ่อนเยาว์ที่ว่าก็คือภาวะไร้ความสามารถที่จะทำความเข้าใจตนเองโดยปราศการการชี้นำ”

ย่อหน้าถัดๆ มา เขาชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่ทำให้ผู้คนอยู่ในภาวะไร้เดียงสาว่า มันมาจากผู้ปกครองที่พยายามสวมแอกสนตะพายและทำให้มนุษย์กลายเป็นแค่ปศุสัตว์โง่เง่าว่านอนสอนง่าย

ภาพเหตุการณ์ปฏิวัติในฝรั่งเศส / Photo: commons.wikimedia.org

นับตั้งแต่ยุคกรีก การถกเถียงเรื่องที่ว่า ‘ผู้ปกครอง’ แบบไหน หรือ ‘รัฐบาล’ แบบใดคือรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดนั้นมีมาตลอด ทว่ากว่ามันจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น มนุษยชาติก็ต้องรอจนถึงการเข้ามาของ ‘ยุคแสงสว่างทางปัญญา’ ในศตวรรษที่ 18 ที่นักคิด-นักปรัชญาเริ่มต้นตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจในการปกครองแบบเดิมๆ ตามขนบ ดังที่กล่าวไปแล้วใน แสงสว่าง EP.1: มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียม เมื่อยุคเรืองปัญญาดิสรัปพระเจ้า 

การเกิดขึ้นของแนวคิดทางปรัชญาในช่วงนี้เองที่ได้เปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เดิมๆ ที่ผู้คนมีต่อชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ มันทำให้ผู้คนตระหนักว่าตนมีสิทธิและศักดิ์เท่าเทียมกับผู้ปกครองในระบอบเดิมๆ เช่น ระบอบเทวสิทธิราชย์ (Divine Right of Kings) ที่ถือว่ากษัตริย์คือผู้ทรงได้รับ ‘อำนาจเบ็ดเสร็จ’ (absolute power) โดยตรงจากพระเจ้า 

ลอร์ดแอกตัน

จอห์น เอเมอริช เอดเวิร์ด ดัลเบิร์ก-แอกตัน บารอนแอกตันที่ 1 (John Emerich Edward Dalberg-Acton, 1st Baron Acton) นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักการเมืองคนสำคัญของอังกฤษ หรือที่ถูกรู้จักในนาม ลอร์ดแอกตัน (Lord Acton) เขียนจดหมายฉบับหนึ่งในปี 1887 ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่กลายมาเป็นคำอธิบายถึงความฉ้อฉลของอำนาจเบ็ดเสร็จได้อย่างชัดเจนและเป็นถ้อยคำที่โด่งดังที่สุดในการซัพพอร์ตแนวคิด ‘การแบ่งขั้วอำนาจ’ (separation of power) ว่า 

“อำนาจมักฉ้อฉล และอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ”

“Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely.”

ในความคิดของแอกตัน เขาเชื่อว่ามีบางสิ่งเกื้อกูลกันอยู่ระหว่างเสรีภาพและการแบ่งแยกอำนาจ เมื่อมนุษย์เป็นอิสระ พวกเขาก็จะสามารถแบ่งแยกอำนาจในสังคมได้ และเมื่ออำนาจถูกแบ่งแยก ผู้คนก็จะมีอิสระมากขึ้น ในทางตรงข้าม เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปกครองควบรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองมากเกินไป ประชาชนผู้มีสิทธิมีเสียงเป็นของตัวเองก็จะถูกควบคุมสวมแอกได้อย่างง่ายดาย

มงแต็สกีเยอ

ซึ่งหากสืบย้อนกลับไป เราจะพบว่าผู้ที่ริเริ่มแนวคิด ‘การแบ่งขั้วอำนาจ’ นี้คือนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนสำคัญในยุคแสงสว่างทางปัญญาอย่าง มงแต็สกีเยอ (Montesquieu) โดยในหนังสือ The Spirit of Laws ของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 1748 ได้เสนอทฤษฎีที่จะรับประกันได้ว่า จะไม่มีผู้มีอำนาจคนใดถือครองอำนาจจนมากเกินไป โดยเขาเสนอให้แบ่งขั้วอำนาจออกเป็น 1.ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล), 2.ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภา) และ 3.ตุลาการ (ศาล) ไอเดียสำคัญก็คือทั้งสามขั้วอำนาจต้องทำงานอย่างเป็นอิสระจากกัน และสามารถตรวจสอบอีกฝ่ายได้ ทำให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งไม่อาจก้าวล่วงอีกสองอำนาจที่เหลือหรือรวมกันเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ

ต่อมาแนวคิดนี้พัฒนามาเป็นหลักการปกครองที่ป๊อปปูลาร์ทั่วโลกในระบอบประชาธิปไตย ที่เรียกรวมๆ ว่า ‘อำนาจอธิปไตย’ โดยสองขั้วอำนาจหลักคือ ฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัตินั้นจะถูกเลือกขึ้นมาโดยประชาชนเพื่อเป็นตัวแทนของพวกเขา ตามแนวคิดอีกหนึ่งแนวคิดในยุคแสงสว่างอย่าง ‘สัญญาประชาคม’ (Social contract) ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นฐานคิดในการออกแบบ ‘รัฐธรรมนูญ’ อันมีรากมุ่งเน้นสำนึกทางจริยธรรมที่ผู้ปกครองควรตระหนักถึงสิทธิของผู้อยู่ใต้ปกครอง โดยประชาชนสามารถเรียกคืนอำนาจของตนได้หากผู้ปกครองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ประชาคมมีร่วมกัน

ฌอง ฌากส์ รุสโซ

แนวคิดนี้มีที่มาจากนักปรัชญาในยุคแสงสว่างหลายคน และหนึ่งในคนที่โดดเด่นก็คือนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสอย่าง ฌอง ฌากส์ รุสโซ  (Jean-Jacques Rousseau) ผู้เขียนหนังสือ The Social Contract ตีพิมพ์ในปี 1762 โดยมีข้อความในบทเปิดที่เฉียบขาดและถูกอ้างถึงจนถึงทุกวันนี้ว่า

“มนุษย์เกิดมาพร้อมเจตจำนงเสรี แต่มีโซ่ตรวนพันธนาการอยู่ทุกหนแห่ง”

“man is born free, but he is everywhere in chains”

ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เอง ก็ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ซึ่งหมายความว่า ในทางการเมืองประชาชนมีอำนาจสูงสุด

ภาพวาดพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และการแต่งกายอันหรูหราของพระองค์ / Photo: commons.wikimedia.org

ย้อนกลับไปที่ฌอง ฌากส์ รุสโซ เขาแสดงความคิดว่า ปัจเจกไม่ควรถูกบังคับให้มอบ ‘สิทธิธรรมชาติ’ ของพวกเขาต่อผู้ปกครอง เขามองว่า พวกคนรวยและผู้มีอำนาจได้ขโมยที่ดินซึ่งควรเป็นของคนทุกคน และหลอกให้สามัญชนยอมรับพวกเขาในฐานะผู้ปกครอง อันจะเห็นได้จากฝรั่งเศสในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16  (Louis XVI) หรือก่อนหน้านั้น ที่โครงสร้างทางสังคมแบ่งคนออกเป็น 3 ฐานันดร ที่บางฐานันดรมีอภิสิทธิ์อย่างล้นเหลือ ใช้อำนาจสนตะพายสวมแอก ซึ่งมันก็ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ทุกข์ทรมาน อันจะเห็นได้จากโครงสร้างคร่าวๆ ดังนี้

1.ฐานันดรที่ 1: กลุ่มพระของโบสถ์คาธอลิก โดยโบสถ์ในสมัยนั้นถือครองที่ดินราวๆ 15% แม้สมาชิกส่วนใหญ่จะยากจน แต่ยิ่งมีบรรดาศักดิ์สูงเท่าไร พระคนนั้นก็จะยิ่งรวยและมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้น โดยที่พวกเขาไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

ภาพวาดการเรียกประชุมสภาฐานันดร / Photo: commons.wikimedia.org

2.ฐานันดรที่ 2: หมายถึงคนรวยและผู้มีอำนาจ ผู้ถือครองที่ดิน 20% ยังไม่นับรวมพระมหากษัตริย์ที่ถือครองดินแดน 20% ของทั้งประเทศ และไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษี โดยสองฐานันดรแรกนั้นมีจำนวนแค่ 2% 

3.ฐานันดรที่ 3: คิดเป็น 98% ของจำนวนประชากร ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวไร่ชาวนาผู้ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง อาจมีบ้างบางคนที่มั่งคั่ง และบางส่วนที่เป็นชนชั้นกลาง โดยเหล่านี้ถือครองที่ดินราว 50% และจำเป็นต้องจ่ายภาษี ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้คนคิดว่ามันไม่ยุติธรรมก็คือ ภาษีนั้นจะถูกมอบให้แก่สองฐานันดรแรก

ภาพวาดเหตุการณ์ ‘การทลายคุกบัสตีย์’ / Photo: commons.wikimedia.org

จนกระทั่งไอเดียเรื่อง ‘สิทธิธรรมชาติ’ (อ่าน แสงสว่าง EP.1:) รวมถึงสัญญาประชาคมในยุคแสงสว่าง ได้ทำให้ฐานนันดรที่ 3 ลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติ เมื่อรัฐบาลภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุคนั้นมีการโหวตให้เพิ่มอัตราการเสียภาษีในการประชุมสภาฐานันดร ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อฐานนันดรที่ 3 ผู้มีอำนาจในการโหวตน้อยอย่างยิ่ง พวกเขาจึงถอนตัวจากสภาฐานันดร และจัดตั้ง ‘สมัชชาแห่งชาติ’(National Assembly) ของตนเอง อันนำไปสู่เหตุการณ์อันโด่งดังอย่าง ‘การทลายคุกบัสตีย์’  (Prise de la Bastille) ในช่วงเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789  ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ

ภาพสมัชชาแห่งชาติ / Photo: commons.wikimedia.org

แน่นอน ความวุ่นวายหลายประการตามมาอีกมากมายหลังจากนั้น โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ฐานันดรทั้ง 3 สูญสลายหลังจากปฏิวัติสำเร็จ แต่ความโกลาหลก็ต้องการเครื่องมือในการจัดการ โดยเฉพาะอำนาจมหาศาลที่ถูกแย่งชิงมาจากผู้ปกครองกลุ่มเดิมได้แล้ว และกำลังถูกยื้อยุดแย่งชิงจากผู้ปกครองหน้าใหม่ ซึ่งฝรั่งเศสในยุคหลังการปฏิวัตินั้นก็ได้นำแนวคิด ‘แบ่งแยกอำนาจ’ นี้มาปรับใช้

อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดที่ว่า ‘มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน’ เป็นตัวตั้งต้นให้ผู้คนตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลของการถูกริดรอนสิทธิของตนไปโดยผู้ปกครอง ส่วนแนวคิดในการ ‘แบ่งแยกอำนาจ’ คือวิธีจัดการความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจในการอยู่ร่วมกันหลังจากผู้คนตาสว่างเห็นว่าตนมีชีวิตและเสรีภาพเทียบเท่ากับผู้ปกครองแล้ว

ภาพเครื่องประหารกิโยตินอันโด่งดังในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส / Photo: commons.wikimedia.org

ปี 1784 นักปรัชญาชาวเยอรมันคนสำคัญอย่างอิมมานูเอล คานต์เขียนความเรียงชื่อ ‘ตอบคำถาม: อะไรคือแสงสว่างทางปัญญา’ เล่าว่าผู้ปกครองใช้ความกลัวและบริหารอำนาจอย่างไรเพื่อให้ผู้คนอยู่ภายใต้อำนาจของตนอย่างเชื่องเชื่อ เปรียบเทียบประชาชนเป็นฝูงปศุสัตว์ที่ถูกทำให้หวาดกลัวภยันตรายของการเดินออกจากคอกไปด้วยตัวเอง โดยมีท่อนหนึ่งกล่าวว่า

“หลังจากทำให้ฝูงปศุสัตว์ของตนโง่เง่า และพยายามปกป้องอย่างระแวดระวังไม่ให้ฝูงปศุสัตว์เชื่องๆ เหล่านั้นกล้าเดินออกจากคอกโดยไร้เชือกสนตะพายที่ผูกเอาไว้อย่างแน่นหนา ผู้ปกครองก็จะแสดงให้ปศุสัตว์เห็นถึงอันตรายที่จะคุกคามพวกเขา หากพวกเขาพยายามจะเดินออกจากคอกด้วยตัวเอง”

และต่อด้วยอีกท่อนที่ว่า

“ในตอนนี้อันตรายที่ว่านั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร หลังการสะดุดหกล้มบ้างบางครั้ง ผู้คนก็จะเรียนรู้และคาดคะเนถึงวิธีการที่จะก้าวเดินต่อไปได้เอง”

แสงสว่างทางปัญญาตามความคิดเห็นของคานต์ คือการเติบโตหลุดจากความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาและภาวะไร้ความสามารถที่จะทำความเข้าใจตนเองโดยปราศการการชี้นำ ทั้งหมดนั้นนอกจากสามัญชนคนธรรมดาแล้ว ยังรวมถึงผู้มีอำนาจและผู้ใช้อำนาจที่จะต้องกล้าเดินออกจากคอกและตัดเชือกสนตะพายที่ผูกมัดตนเองไว้กับระบอบอันไม่เป็นธรรมอีกด้วย

อ้างอิง